xs
xsm
sm
md
lg

พ่อแม่เลี้ยงบวก : เล่นกับลูก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พ่อ : เล่นอะไรอยู่ลูก?

ลูกสาว : หาจุดผิดในภาพค่ะ หนูหาเจอแล้ว 2 จุด

พ่อ : มาพ่อเล่นด้วย

ลูกสาว : ได้สิค่ะ

พ่อ : อ๊า!!! พ่อเห็นแล้ว อยู่ตรงใกล้ๆมุมขวา เห็นหรือยัง?

ลูกสาว : ตรงไหนคะ? หนูไม่เห็นอ่ะ

พ่อ : ตรงนี้ไง!

ลูกสาว : จริงด้วยสิ พ่อเก่งจัง (เริ่มหวั่นไหว)

พ่อ : พ่อเห็นอีกสองจุดแล้วนะ นี่ไง! ตรงนี้! แล้วก็ตรงนี้! ลูกวงสองจุดนี้ไว้สิ มาเร็วลูก มาช่วยกันหา อ๊ะ! อ๊า! พ่อเก่งจริงเห็นอีกแล้ว

ลูกสาว : ตรงไหนคะ? หนูมองไม่เห็น (น้ำเสียงเริ่มไม่มั่นใจ)

พ่อ : ตรงข้างนี่ไง! อยู่นี่! แล้วก็ตรงนี้! ตรงนั้น! วงเลยลูก ตรงมุมซ้ายบนด้วยลูก เราหาได้กี่จุดแล้วเนี่ย?

ลูกสาว : เก้าจุดแล้วค่ะ (น้ำเสียงเซ็งๆ)

พ่อ : ว๊าว!!!! เหลืออีกจุดเดียว ลูกเห็นหรือยังเอ่ย? พ่อจะเฉลยแล้วน้า อยู่ตรงนี้ไง! เกมนี้สนุกดีเนอะลูกเนอะ

ลูกสาว : พ่อสนุกอยู่คนเดียว! หนูไม่เล่นแล้ว!!! (เคืองๆ แล้วเดินกระแทกเท้าออกไป)

พ่อ : (บ่นพึมพำกับตัวเอง) เอ๊ะ! เราทำอะไรผิดไปหว่า! ก็หมอบอกอยากให้ลูกอีคิวดีพ่อแม่ต้องมีเวลาเล่นกับลูกนี่นา!?! (บ่นงึมงำอย่างงงๆ)

หมอเหมียวชวนคุย

เวลาพ่อแม่เล่นกับลูกไม่ควรชี้นำให้เล่นตามแนวทางที่ตนต้องการ เพราะทำให้เด็กขาดโอกาสในการพัฒนาความคิด การตัดสินใจ พ่อแม่ต้องเป็นผู้กระตุ้นการเล่นที่ดีที่ให้ลูกได้คิด หรือเล่นด้วยตนเองในบรรยากาศการเล่นที่สนุก ซึ่งเด็กจะพัฒนาความสามารถและมีประสบการณ์การเรียนรู้ที่เพิ่มขึ้นค่ะ

เล่นกับลูกให้สนุก

การเล่นกับลูกช่วยสร้างสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน นอกจากความใกล้ชิดสนิทสนมที่เพิ่มมากขึ้น พ่อแม่ยังใช้การเล่นเป็นช่องทางในการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์หรืออีคิวให้ลูกได้อีกด้วย

เด็กเรียนรู้ผ่านการเล่นเหมือนกับผู้ใหญ่ที่เรียนรู้จากการทำงาน เช่นเมื่อเด็กเล่นหมากกระดานอย่างหมากฮอส หรือหมากรุก เด็กกำลังเรียนรู้การคิดวางแผน การตัดสินใจ วิธีการเล่น การประเมินผู้เล่นฝ่ายตรงข้าม การคิดแก้ไขปัญหาเมื่อเพลี่ยงพล้ำ การมีสมาธิ การควบคุมอารมณ์ ความซื่อสัตย์ และรู้แพ้รู้ชนะ ทุกครั้งที่เด็กเล่น ไม่ว่าในเกมที่แพ้หรือชนะ เด็กกำลังเรียนรู้ทักษะที่กล่าวมานี้ได้ดีขึ้นเรื่อยๆ การเล่นจึงเป็นการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์หรือที่เรียกว่าอีคิวนั่นเอง พ่อแม่ที่เข้าใจถึงสาระสำคัญที่ซ่อนอยู่ในการเล่น จึงมักให้ความสำคัญในการเล่นกับลูก และส่งเสริมให้ลูกได้เล่นอย่างเต็มที่ทั้งการเล่นในร่มและการเล่นกลางแจ้ง การเล่นบทบาทสมมติ การทำของเล่นเล่นเองฯลฯ ความหลากหลายของการเล่นก็จะช่วยฝึกเด็กให้มีความสามารถรอบด้าน

ในการเล่นกับลูกให้สนุก พ่อแม่ไม่ควรชี้นำการเล่น สั่งสอน หรือขัดจังหวะการเล่นของเด็ก แต่ควรปล่อยให้เด็กได้เล่นได้คิดด้วยตัวเอง ช่วยกระตุ้นความคิดให้เด็กได้ลองเล่นหลายๆวิธี เด็กจะเกิดความสนุกและความท้าทาย ยิ่งทำสำเร็จหรือชนะ เด็กจะเกิดความภูมิใจ ในเวลาเล่นกับลูกอย่าเผลอเล่นสนุกคนเดียว ทิ้งลูกให้คิดตามหลังหรือเล่นไม่ทันพ่อแม่ ทำให้ลูกไม่อยากเล่นด้วย เพราะไม่สนุกและรู้สึกผู้ใหญ่ไม่ยุติธรรมกับเขาซึ่งเป็นเด็กกว่า

ควรทำ

• การเล่นเป็นหนทางพัฒนาลูกและพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกัน พ่อแม่ที่บอกลูกว่ารักลูกที่สุดในชีวิต ก็ควรแบ่งเวลามาเล่น พูดคุยกับลูก ในช่วงที่เด็กอยากได้เวลาจากพ่อแม่ แล้วพ่อแม่บอกว่าไม่มีเวลา ในทางกลับกันเมื่อถึงเวลาที่พ่อแม่อายุมากแล้ว อยากให้ลูกมาอยู่ด้วย เด็กก็อาจไม่มีเวลาให้พ่อแม่เช่นกัน

• การเล่นกับลูก นอกจากจะช่วยให้พ่อแม่เข้าใจลักษณะเฉพาะ เข้าใจความคิด ความฝัน จินตนาการของเด็กแล้ว พ่อแม่ยังเป็นผู้ที่จุดประกายความคิดอย่างสร้างสรรค์ การเล่นผ่านประสบการณ์เดิมที่พ่อแม่เคยเล่นมาก่อน ทำให้เด็กสนุก เรียนรู้ได้เพิ่มขึ้น รู้สึกใกล้ชิดพ่อแม่เพิ่มขึ้น เข้าใจความรู้สึกกันและกันมากขึ้นโดยเฉพาะเมื่อเล่นอยู่ในทีมเดียวกัน แพ้ก็แพ้ด้วยกันมา มีความรู้สึกร่วมกัน จะเสริมให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น รักกันเพิ่มขึ้น

• ถึงแม้ว่าของเล่นนั้นพ่อแม่ไม่เคยเล่นมาก่อน แต่ก็พยายามศึกษา ไม่อายที่จะบอกว่าไม่รู้ และยอมรับการบอกเล่าวิธีการเล่นจากเด็ก ซักถามเด็กได้โดยไม่รู้สึกอาย ก็เท่ากับเป็นต้นแบบของคนที่ใฝ่รู้ ทดลอง สนใจที่จะปรับตัวต่อสิ่งใหม่ๆ ขณะเดียวกันเด็กก็ได้โอกาสเล่นบทผู้รู้ คอยสอน คอยชี้แนะ ทำให้ได้มุมมองและเรียนรู้เทคนิคในการสอนคนอื่นเพิ่มขึ้น

* หัวใจการเลี้ยงดู

บทบาทพ่อแม่ในการเล่นกับลูก คือ ไม่ควรชี้นำการเล่นของลูก

จัดทำข้อมูลโดย : นพ.ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข แผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อสุขภาวะสังคมไทย

สนับสนุนโดย : สำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 167 พฤศจิกายน 2557 โดย แผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อสุขภาวะสังคมไทย)
กำลังโหลดความคิดเห็น