สำนักงาน ก.พ.ร. ใช้กลยุทธ์สร้างแรงจูงใจส่วนราชการ มอบรางวัลทรงคุณค่าเพื่อเป็นแบบอย่างความดีงาม ส่งเสริม ผลักดัน และกระตุ้นให้หน่วยงานต่างๆ พัฒนาคุณภาพการให้บริการและระบบงานของหน่วยงาน มุ่งสู่การบริหารราชการภายใต้หลักธรรมาภิบาล เผยปี 2557 นี้ มีหน่วยงานได้รับรางวัลทั้งสิ้น 107 รางวัล ใน 3 กลุ่มประเภทรางวัล คือรางวัลบริการภาครัฐแห่งชาติ รางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ และรางวัลความเป็นเลิศด้านการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม
นายพงษ์อาจ ตรีกิจวัฒนากุล รองเลขาธิการ ก.พ.ร. รักษาราชการแทนเลขาธิการ ก.พ.ร. เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) มุ่งมั่นพัฒนาระบบราชการมาอย่างต่อเนื่อง โดยสนับสนุนให้ส่วนราชการและหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ ร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาระบบราชการไทย เพื่อมุ่งสู่การบริหารราชการภายใต้หลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
โดยการทำงานของหน่วยงานรัฐต้องเป็นที่ยอมรับของประชาชน มีการปรับปรุงคุณภาพการให้บริการ ปรับรูปแบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศด้วยการได้รับรางวัลในระดับนานาชาติ และทำให้ระบบราชการมีความโปร่งใส รวมทั้งสร้างขวัญกำลังใจของข้าราชการในการปฏิบัติงาน
ดังนั้น สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ใช้กลยุทธ์สร้างแรงจูงใจให้แก่ส่วนราชการ โดยจัดให้มีการมอบรางวัลอันทรงคุณค่าให้แก่หน่วยงานของรัฐทั้งส่วนราชการ จังหวัด รัฐวิสาหกิจ สถาบันอุดมศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์การมหาชน เพื่อเป็นแบบอย่างแห่งความดีงาม เชิดชูเกียรติ สร้างขวัญกำลังใจให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบการปฏิบัติงานและหน่วยงานที่สามารถพัฒนาคุณภาพการให้บริการ การบริหารจัดการองค์กร และพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมในการบริหารราชการของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังช่วยส่งเสริม ผลักดัน และกระตุ้นให้หน่วยงานต่างๆ ได้พัฒนาคุณภาพการให้บริการและระบบงานของหน่วยงาน เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว โปร่งใส เป็นธรรม และเป็นที่พึงพอใจให้ดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
การจัดพิธีมอบรางวัลได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 รางวัลที่มอบให้แก่หน่วยงานต่างๆ 3 กลุ่มประเภทรางวัล ประกอบด้วย รางวัลบริการภาครัฐแห่งชาติ รางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ และรางวัลความเป็นเลิศด้านการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ในปี พ.ศ. 2557 นี้ มีหน่วยงานที่ได้รับรางวัลจำนวนทั้งสิ้น 107 รางวัล สรุปได้ ดังนี้
หนึ่ง รางวัลบริการภาครัฐแห่งชาติ เป็นรางวัลบริการภาครัฐแห่งชาติที่มอบให้สำหรับส่วนราชการที่มีความมุ่งมั่น ตั้งใจในการพัฒนาคุณภาพการให้บริการประชาชนทั้งด้านมาตรฐานการให้บริการ ด้านบูรณาการการให้บริการ และการสร้างสรรค์นวัตกรรมการบริการ ให้สามารถให้บริการประชาชนอย่างเป็นเลิศ จำนวน 76 รางวัล ประกอบด้วย 5 ประเภทรางวัล ได้แก่
1) รางวัลเกียรติยศ จำนวน 2 รางวัล มอบให้แก่หน่วยงานที่ได้รับรางวัล United Nations Public Service Awards 2014 ขององค์การสหประชาชาติ คือสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค ในผลงาน Community Participation for Effective Malaria Management in Tha Song Yang Di และโรงพยาบาลขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ในผลงาน One Stop Crisis Centre
2) รางวัลภาพรวมมาตรฐานการบริการที่เป็นเลิศ จำนวน 5 รางวัล อยู่ในระดับดีเด่น 3 รางวัล ตามลำดับ ได้แก่ ลำดับที่หนึ่ง การออกใบอนุญาตเคลื่อนย้ายสัตว์และซากสัตว์ภายในราชอาณาจักร กรมปศุสัตว์ ลำดับที่สอง โครงการพัฒนาการจัดการศึกษาในเขตพื้นที่ภูเขาสูงและถิ่นทุรกันดาร สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และลำดับที่สาม การเสริมสร้างความเข้มแข็งของสหกรณ์ด้วยระบบ CPS กรมส่งเสริมสหกรณ์
3) รางวัลบูรณาการการบริการที่เป็นเลิศ จำนวน 10 รางวัล อยู่ในระดับดีเด่น 6 รางวัล ได้แก่ ลำดับที่หนึ่ง “การพัฒนาระบบบริการรากฟันเทียมในประเทศไทย” สถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ ลำดับที่สอง “ศูนย์เครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเด็กป่วยในโรงพยาบาลตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์
ลำดับที่สาม “การบูรณาการการส่งเสริมพัฒนาอาชีพตามแนวพระราชดำริจากศูนย์ฯ สู่ชุมชน” ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ลำดับที่สี่ “การพัฒนาข้าวดินเค็มอย่างมีส่วนร่วม” สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 ขอนแก่น กรมพัฒนาที่ดิน ลำดับที่ห้า “การฝึกอบรมทักษะคนตาบอดในบริบทพื้นที่สถานการณ์ความไม่สงบชายแดนภาคใต้” โรงพยาบาลตากใบ จังหวัดนราธิวาส และลำดับที่หก “การพัฒนางานบริการบำบัดรักษายาเสพติด” โรงพยาบาลชุมแพ จังหวัดขอนแก่น
4) รางวัลนวัตกรรมการบริการที่เป็นเลิศ จำนวน 16 รางวัล อยู่ในระดับดีเด่น 7 รางวัล ได้แก่ ลำดับแรก “อุปกรณ์ช่วยพ่นยาที่สามารถประดิษฐ์ได้ด้วยตนเอง (DIY SPACER)” โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลำดับที่สอง “การพัฒนาการกำกับดูแลเครื่องชั่งวัดอัตราส่วนร้อยละของแป้งในหัวมันเพื่อสร้างความเป็นธรรมในทางการค้าต่อเกษตรกร” สำนักกำกับและตรวจสอบเครื่องชั่ง กรมการค้าภายใน ลำดับที่สาม “คลินิกสมุนไพรรักษาโรคผิวหนังในสัตว์เลี้ยง” โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ลำดับที่สี่ “นวัตกรรมการค้นหาภาวะข้อไหล่ติด หลังการผ่าตัดมะเร็งเต้านม” สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ ลำดับที่ห้า “เครื่องจักรกลในไร่อ้อย แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน” ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุพรรณบุรี กรมวิชาการเกษตร ลำดับที่หก “รามาธิบดียางครอบท่อแทงเจาะเพื่อป้องกันลมรั่วขณะผ่าตัดผ่านกล้อง” คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และลำดับที่เจ็ด “ชุดสวนสารทึบรังสีสำหรับการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องท้องส่วนล่างและช่องท้องทั้งหมด” ศูนย์รังสีวินิจฉัยก้าวหน้า (ศูนย์ไอแมค) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
5) รางวัลการพัฒนาการบริการที่เป็นเลิศ จำนวน 43 รางวัล อยู่ระดับดีเด่น 12 รางวัล ได้แก่ 1. การพัฒนางานปศุสัตว์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้สถานการณ์ความไม่สงบ สำนักงานปศุสัตว์เขต 9 กรมปศุสัตว์ 2. ต้นแบบระบบ thaismartfarmer.net สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 3. การให้บริการองค์ความรู้ โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา สำนักพระราชวัง 4. โครงการการจัดบริการที่เป็นมิตรสำหรับเยาวชน สำนักโรคเอดส์ กรมควบคุมโรค 5. การพัฒนาระบบคลังข้อมูลธุรกิจ (Business Data Warehouse) สำนักข้อมูลธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า 6. ระบบรายงานผลการตรวจสภาพรถสำหรับสถานตรวจสภาพรถผ่านทางระบบสารสนเทศ (Inspection Online) และการกำกับดูแลการปฏิบัติงานของสถานตรวจสภาพรถด้วยระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) สำนักวิศวกรรมยานยนต์ กรมการขนส่งทางบก
7. รูปแบบการดำเนินงานควบคุมวัณโรคอย่างมีส่วนร่วม โดยใช้โปรแกรมบริหารงานคลินิก วัณโรคในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จังหวัดเชียงใหม่ กรมควบคุมโรค 8. การบริการรักษาพยาบาลที่เป็นเลิศ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 9. การพัฒนาระบบทางด่วนพิเศษสำหรับสตรีตั้งครรภ์เสี่ยงสูง (High Risk Pregnancy) โรงพยาบาลขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น 10. Mobile pap smear เคลื่อนที่สู่ชุมชน โรงพยาบาลตากใบ จังหวัดนราธิวาส 11. โครงการแพทย์แผนไทยสู่ศูนย์การเรียนรู้ เทศบาลเมืองบุรีรัมย์ และ12. ระบบการบังคับคดีแพ่งทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Civil Case Management System) ศูนย์สารสนเทศ กรมบังคับคดี
สอง รางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ เป็นรางวัลที่มอบให้แก่หน่วยงานที่สามารถพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการองค์การไปสู่องค์การที่เป็นเลิศในแต่ละด้านเทียบเท่ามาตรฐานสากล จำนวนทั้งสิ้น 13 รางวัล ได้แก่ 1) กรมควบคุมโรค 2) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ในหมวด 1 ด้านการนำองค์การและความรับผิดชอบต่อสังคม 3) กรมควบคุมโรค 4) กรมธนารักษ์ 5) กรมปศุสัตว์ 6) จังหวัดตาก ในหมวด 2 ด้านการวางแผนยุทธศาสตร์และการสื่อสารเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ 7) กรมชลประทาน 8) กรมปศุสัตว์ 9) กรมพัฒนาธุรกิจการค้า 10) กรมสรรพสามิต 11) สำนักงานส่งเสริมและพัฒนา คุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ในหมวด 3 ด้านการมุ่งเน้นผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 12) กรมสรรพากร ในหมวด 4 ด้านการวิเคราะห์ผลการดำเนินงานขององค์การและการจัดการความรู้ และ13) กรมบัญชีกลาง ในหมวด 6 ด้านกระบวนการคุณภาพและนวัตกรรม
สาม รางวัลความเป็นเลิศด้านการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม เป็นรางวัลที่มอบให้หน่วยงานที่มีการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารราชการได้อย่างโดดเด่น มีจำนวน 18 รางวัล แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1) ประเภทขยายผลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ระดับดีเยี่ยม 2 รางวัล ดังนี้ 1 สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โครงการพัฒนาการเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ โดยยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และ2สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โครงการการลดมลพิษทางน้ำโดยชุมชน
2) ประเภทพัฒนาการส่งเสริมการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ระดับดีเยี่ยม 4 รางวัล ดังนี้ 1 กรมป่าไม้โครงการป่าชุมชน 2 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โครงการชุมชนคู่อุตสาหกรรม 3 กรมสุขภาพจิต โครงการพัฒนาเครือข่ายสุขภาพอำเภอเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพอำเภอเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพจิตชุมชนที่ยั่งยืน และ4 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนโดยคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจ (กต.ตร.) (กต.ตร. กรุงเทพมหานคร และกต.ตร. สถานีตำรวจนครบาล 9 แห่ง สังกัดกองบัญชาการตำรวจนครบาล) ส่วน 3) ประเภทภาพรวมองค์กร ในปีนี้ไม่มีหน่วยงานที่ผ่านการประเมิน