xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนอนุรักษ์พลังงาน ผลงานอยู่ที่ไหน ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คนที่ต้องควักกระเป๋าจ่ายค่าน้ำมันทุกประเภทจะมีสักกี่คนที่รู้ว่าเงินค่าน้ำมันที่จ่ายออกไปทุกลิตรจะถูกหักไว้ประมาณหนึ่งสลึงต่อลิตรเพื่อสมทบเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน

เงินแค่หนึ่งสลึงต่อลิตรเป็นเงินน้อยนิดเกินกว่าจะสนใจ แต่เมื่อมองในภาพรวมถึงปริมาณการใช้น้ำมันต่อเดือน เดือนหนึ่งๆ จะมีเงินถูกหักเข้ากองทุนเดือนละ 700 ล้านบาทโดยเฉลี่ยปีหนึ่งรวมกันแล้วเกือบ 10,000 ล้านบาท เป็นเงินจำนวนมาก และเป็นเงินของประชาชนผู้บริโภคน้ำมันโดยแท้จริง

แต่ไม่มีใครรู้หรอกว่าเงินก้อนใหญ่นี้ถูกใช้จ่ายไปอย่างไรบ้าง เกิดประโยชน์สมตามเจตนารมณ์ของกองทุนที่ต้องการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน การวิจัยพัฒนาการใช้พลังงานหมุนเวียน พลังงานทดแทนหรือไม่

นับตั้งแต่การตั้งกองทุนขึ้นมาเมื่อ พ.ศ.2535 ผ่านไป 22 ปีจนถึงปัจจุบันกองทุนนี้มีเงินทุนอยู่ประมาณ 30,000 กว่าล้านบาท ในแต่ละปี กองทุนฯ จ่ายเงินออกไปปีละเกือบหนึ่งหมื่นล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายสนับสนุนโครงการต่างๆ ที่มีการขอเข้ามาโดยหน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงพลังงาน เช่น สำนักปลัดกระทรวง สำนักนโยบายและแผนพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทน ฯลฯ

ทันทีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ปลดนายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ พ้นจากตำแหน่งปลัดกระทรวงพลังงาน และแต่งตั้งนายอารีพงษ์ ภู่ชอุ่ม อดีตปลัดกระทรวงการคลังและ เลขา กพร. มาดำรงตำแหน่งแทน ภารกิจแรกของนายอารีพงษ์คือการตรวจสอบโครงการที่หน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงพลังงานจะเอาเงินกองทุนไปใช้

ในการประชุมกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานนัดแรก หลังจาก คสช.แต่งตั้ง พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร เลขาธิการ คสช.เป็นประธานกองทุน เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติให้ทบทวนโครงการ 23 โครงการที่ยื่นขอใช้งบกองทุนอนุรักษ์ฯ ในปีงบประมาณ 2556-2557 เพื่อตรวจสอบความเหมาะสมของการใข้งบประมาณ โครงการใดไม่เหมาะสม ให้ยกเลิกทันที โดยให้ปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธานการพิจารณาทบทวน

ทั้ง 23 โครงการนี้ ใช้งบประมาณรวม 1 หมื่นล้านบาท เป็นของ 4 หน่วยงานในกระทรวงพลังงาน คือ สำนักปลัดกระทรวงพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กรมธุรกิจพลังงาน และสำนักนโยบายและแผนพลังงาน

นับว่าเป็นครั้งแรกที่มีการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ เพราะที่ผ่านมา การบริหารจัดการเงินกองทุนฯ เป็นเรื่องที่คนในกระทรวงพลังงานทำกันเองเงียบๆ เงินกองทุนที่เป็นเงินของประชาชนกลายเป็นกระเป๋าส่วนตัวของหน่วยงานในกระทรวงไปโดยปริยาย

สำนักข่าว ไทยพับลิก้า (Thaipublica.org) ได้เผยแพร่บทความเรื่อง “กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เงินหมื่นล้านที่ถูกใช้อย่างเงียบๆ” ของผู้เขียนที่เป็นผู้อ่าน ซึ่งใช้นามแฝงว่า “ Policy Meddler “ โดยได้สะท้อนภาพของกองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน อย่างน่าสนใจ ดังนี้

“ในยุคที่ภาคประชาชนให้ความสนใจกับผลประโยชน์จากสัมปทานปิโตรเลียม โครงสร้างค่าน้ำมัน ค่าแก๊สแอลพีจี และมุ่งประเด็นไปที่การถูกเอารัดเอาเปรียบของประชาชน น้อยคนนักที่จะสังเกตว่า รายได้จากภาษีน้ำมันนั้น ทำให้เกิดกองทุนสำคัญหนึ่งกองทุน ที่โดยวัตถุประสงค์แล้วน่าจะทำให้เกิดประโยชน์กับประเทศและประชาชนโดยตรง แต่ด้วยข้อจำกัดด้านการบริหารจัดการ ทำให้ผลการดำเนินการของกองทุนดังกล่าวยังไม่เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน ซ้ำยังเป็นแหล่งเงินมหาศาลที่มีโอกาสเป็นช่องทางแสวงหาประโยชน์อย่างไม่เป็นธรรมโดยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกลุ่มเล็กๆ

กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (กองทุนฯ) จัดตั้งในปี พ.ศ. 2535 ภายใต้ พระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 รายได้ของกองทุนมาจากภาษีที่เก็บจากน้ำมันค้าปลีก ทุกครั้งที่ประชาชนไปเติมน้ำมันที่ปั๊มน้ำมัน จะต้องเสียเงินเข้ากองทุนฯ ในอัตรา 0.07-0.25 บาทต่อลิตร กองทุนฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานหมุนเวียน เป็นเงินให้เปล่าสำหรับโครงการหลายรูปแบบ เช่น โครงการศึกษา วิจัยและพัฒนา โครงการอนุรักษ์พลังงานของอาคาร โรงงาน โครงการพลังงานหมุนเวียน โครงการพัฒนาบุคคลากร โครงการประชาสัมพันธ์ เป็นต้น ในปี พ.ศ. 2556 กองทุนมีค่าใช้จ่าย 30,942 ล้านบาทซึ่งให้กับโครงการที่ได้รับการอนุมัติ

แม้จะเป็นวงเงินปริมาณมหาศาลที่มาจากภาษีน้ำมันจากประชาชน แต่ผลประโยชน์ที่ประเทศได้รับจากกองทุนฯ หลังจากการดำเนินงานเป็นเวลา 20 ปีมาแล้ว ยังไม่เป็นที่ประจักษ์ ประเทศไทยมีการพึ่งพิงพลังงานฟอสซิลเพิ่มขึ้น มีมลพิษจากการเผาผลาญพลังงานเพิ่มขึ้น ความต้องการพลังงานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนถึงจุดที่กระทรวงพลังงานต้องออกประชาสัมพันธ์ว่าพลังงานกำลังจะหมดประเทศไทย

ในขณะเดียวกันเงินหลักหมื่นล้านต่อปี ไม่ได้ก่อให้เกิดการคิดค้นเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะทำให้ประเทศไทยพึ่งตนเองทางด้านพลังงานได้มากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าการบริหารจัดการกองทุนฯ ไม่ได้ผลสัมฤทธิ์ที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์


ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบกับความไม่สำเร็จดังกล่าว คือ การบริหารจัดการที่ไม่มุ่งเน้นผลลัพธ์ ความไม่โปร่งใส โอกาสในการแสวงหาประโยชน์จากกองทุนดังกล่าวโดยผู้เกี่ยวข้อง และโอกาสการแทรกแซงจากนักการเมือง

จากการสัมภาษณ์ข้าราชการปัจจุบันของกระทรวงพลังงาน ซึ่งไม่ประสงค์ออกนาม ได้ให้ความเห็นว่า กองทุนเพื่อการอนุรักษ์พลังงานเป็นเหมือนอู่ข้าวอู่น้ำของข้าราชการระดับสูงและนักการเมือง โดยนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงมีอิทธิพลในการกำหนดกรอบวงเงินที่จะอนุมัติในแต่ละปี และลักษณะโครงการที่ได้รับเงินสนับสนุน และมีบริษัท “ขาประจำ” ที่เกาะกินอยู่กับกองทุนฯ ดังกล่าวปีแล้วปีเล่า ด้วยการริเริ่มโครงการ ขอทุนจากกองทุนฯ และใช้เส้นสายกลุ่มข้าราชการที่ทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดการอนุมัติโครงการ โดยมีธรรมเนียมตอบแทนผลประโยชน์ให้แก่ข้าราชการหรือนักการเมืองทั้งในรูปแบบเงินสด การจัดทริปไปเที่ยวต่างประเทศโดยอ้างว่าไปศึกษาดูงาน รวมถึงการตอบแทนในรูปแบบอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ วงเงินค่าตอบแทนมีอัตราระหว่าง 20-30% ของงบโครงการและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ผลงานที่ผลิต บางครั้งไม่เกิดขึ้นจริง และบ่อยครั้งที่ด้อยคุณภาพ ทำให้ประเทศเสียประโยชน์

นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจส่งส่วย กล่าวคือ ข้าราชการที่รับเงินสินบน จะส่งต่อขึ้นให้เจ้านายเป็นทอดๆ ทำให้เกิดการโยงใยของกลุ่มข้าราชการภายในกระทรวงที่มีความสัมพันธ์อันดีต่อกันในลักษณะ “น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า” เนื่องจากต่างรู้เห็นในสิ่งที่กระทำจนพัฒนาเป็นวัฒนธรรมองค์กร นำมาสู่ผลกระทบกับการบริหารราชการแผ่นดินด้านอื่นๆ ด้วย

อย่างไรก็ตาม ข้อกล่าวหาข้างต้นนี้ ไม่อาจพิสูจน์ได้ด้วยข้อมูลที่เป็นที่ปรากฏต่อสาธารณะทางเว็บไซต์ กองทุนเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นมาตรฐานสากลสำหรับกองทุนขนาดใหญ่เช่นนี้ เช่น ไม่มีการเปิดเผยรายงานผลการดำเนินงานประจำปี ไม่มีการเปิดเผยรายงานการประเมินผล ไม่มีการแสดงข้อมูลลักษณะโครงการที่ได้รับการสนับสนุนและรายชื่อโครงการอย่างครบถ้วน และไม่มีการนำผลการศึกษา หรือผลการดำเนินงานของโครงการแต่ละโครงการมาเปิดเผยให้ประชาชนรับรู้ มีเพียงการรายงานสถานะการเงินในแต่ละปีเท่านั้น

ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะระบบการจัดการความรู้และเปิดเผยข้อมูลของราชการไทยยังไม่ได้มาตรฐาน แต่ก็เป็นประเด็นที่พึงระวังว่า การผูกขาดการตัดสินใจโดยกลุ่มคนเพียงไม่กี่คน ความไม่โปร่งใส และการไม่ต้องรับผิดรับชอบ จะเอื้อให้เกิดการแสวงหาผลประโยชน์”
พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร เลขาธิการ คสช. ประธานกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
กำลังโหลดความคิดเห็น