ทางรอดของธุรกิจสายการบิน ต้องบริหารต้นทุนสินทรัพย์/ต้นทุนดำเนินงาน เผยข้อแตกต่างระหว่างสายการบินที่ให้บริการเต็มรูปแบบ กับสายการบินต้นทุนต่ำ อยู่ที่การบริหารจัดการธุรกิจ เน้นการบริหารทรัพยากรบุคคล
จากตอนที่ผ่านมา นายอริยะ ฝึกฝน ที่ปรึกษาบริหาร บริษัท เฮย์กรุ๊ป ได้เผยถึงความสำคัญของการบริหารคนในธุรกิจสายการบินและการแข่งขันในธุรกิจนี้ไปแล้ว ในตอนนี้จะนายอริยะ จะเล่าถึงวิธีการนำกลยุทธ์การลดต้นทุนต่อหน่วยของสายการบินต้นทุนต่ำ ซึ่งได้แก่ การบริหารต้นทุนสินทรัพย์และการบริหารต้นทุนการดำเนินงาน โดยจะเจาะรายละเอียดด้านการออกแบบระบบงานพื้นฐาน และการบริหารทรัพยากรบุคคล ซึ่งจะขออธิบายควบคู่ไปกับแนวคิดการบริหารต้นทุน
จากการวิเคราะห์ของบริษัทเฮย์กรุ๊ปพบว่า การบริหารต้นทุนสินทรัพย์ที่สายการบินต้นทุนต่ำนำมาใช้นั้น มีหลักการง่ายๆ 3 ข้อ คือ ซื้อให้ถูก ใช้ให้คุ้ม และซ่อมให้ประหยัด การซื้อให้ถูกเริ่มจากการซื้อเองโดยตรง ซื้อจำนวนมาก และสั่งก่อนล่วงหน้านานๆ เนื่องจากธุรกิจนี้ผู้ผลิตมีน้อยราย ทำให้ต้องเข้าคิวซื้อหลายปี หากบางสายการบินต้องการเครื่องบินเร็วจึงต้องซื้อในราคาที่สูงขึ้นโดยใช้วิธีซื้อผ่านคนอื่น สำหรับบางสายการบินที่มีทุนน้อย มีสภาพคล่องต่ำ การสั่งก่อนล่วงหน้าโดยต้องเสียเงินค่ามัดจำไว้ก่อนนานๆ อาจไม่คุ้มต้นทุนทางการเงิน จึงซื้อผ่านคนอื่นเพื่อนำเครื่องบินมาสร้างรายได้เลย ซึ่งสายการบินต้นทุนต่ำก็เจอปัญหาเงินมัดจำเช่นกัน แต่มีการแก้ปัญหาที่ต่างไป โดยใช้วิธีเอาเงินล่วงหน้าจากผู้โดยสารไปหมุนก่อน ผ่านโปรโมชั่นแสนจูงใจที่ต้องจองกันก่อนล่วงหน้าเป็นปี ซึ่งทำให้สามารถทำเงินได้ตั้งแต่เครื่องยังประกอบไม่เสร็จเลยทีเดียว
นอกจากนั้นยังเป็นการดักความต้องการล่วงหน้าของลูกค้า ปิดทางคู่แข่งอื่น และสร้างจุดเด่นทางการตลาดอีกด้วย และเพื่อให้ราคาต่ำสุดจึงพยายามลดระยะเวลาการประกอบลง โดยการออกแบบห้องโดยสารที่เน้นแบบที่เรียบง่ายที่สุด ตกแต่งน้อยเน้นใช้งานทนทาน มีชั้นที่นั่งแบบเดียวทั้งลำ ลดพื้นที่ส่วนที่ไม่จำเป็นต่างๆ เพื่อให้มีพื้นที่นั่งมากที่สุด ซึ่งใช้เวลาประกอบรวดเร็ว ซ่อมบำรุงง่าย แตกต่างจากสายการบินที่ให้บริการเต็มรูปแบบที่เน้นการสร้างความแตกต่างทางการตลาดเป็นจุดแข่งขัน จึงจำเป็นต้องมีการออกแบบที่มีเอกลักษณ์ เบาะนุ่มสบายหรูหรา ซึ่งใช้ระยะเวลาการประกอบนานภายใต้ต้นทุนที่สูงกว่า
สำหรับการวางแผนการบินของสายการบินต้นทุนต่ำนั้น จะกำหนดอัตราการใช้งานให้เครื่องบินจอดนิ่งๆ บนพื้นดินสั้นที่สุด โดยเลือกทำการบินขึ้นหรือลงจอดในสนามบินที่เล็กกว่า มีความคับคั่งของจราจรทางอากาศน้อย เพื่อให้ประหยัดเวลาในการบินขึ้นหรือลงไม่ต้องเสียเวลาคอย และค่าบริการก็ต่ำกว่าด้วย ซึ่งหลังจากที่เครื่องลงจอดแล้ว ลูกเรือก็จะทำการเก็บขยะหรือสิ่งของต่างๆ ให้เรียบร้อย ซึ่งเบาะและการจัดเรียงที่นั่งของสายการบินต้นทุนต่ำจะเน้นเรียบง่าย บางสายการบินเก้าอี้ด้านหน้าจะไม่มีกระเป๋าใส่ของหรือนิตยสาร มีเพียงช่องเล็กๆ สาหรับเสียบคู่มือความปลอดภัยตามมาตรฐานการบินเท่านั้น ทำให้การเก็บทำความสะอาดใช้เวลาสั้นลงมาก
ในขณะที่สายการบินที่ให้บริการเต็มรูปแบบ จะมีความยุ่งยากกว่า จึงจำเป็นต้องมีทีมแม่บ้านเข้ามาทำความสะอาดหลังเครื่องลงจอด ซึ่งใช้เวลาและมีต้นทุนที่แพงกว่า สำหรับนักบินของสายการบินต้นทุนต่ำ หลังเครื่องจอดก็จะเตรียมการสำหรับเที่ยวบินถัดไปเลย มีเวลาเหลือระหว่างเที่ยวบินไม่มากนัก แต่ตามกฎการบินจะกำหนดให้นักบินมีชั่วโมงบินต่อปีไม่เกิน 1,000 ชั่วโมงบิน หรือประมาณ 80 กว่าชั่วโมงบินต่อเดือน เพื่อป้องกันความล้า สายการบินต้นทุนต่ำจึงจัดกะของนักบินให้มีช่วงระยะเวลาบินต่อช่วงระยะเวลาพักแบบ 3x4 (บิน 3 วันพัก 4 วัน) ในขณะที่สายการบินที่ให้บริการเต็มรูปแบบ บางสายอาจจัดแบบ 5x2 ข้อแตกต่าง คือ แบบ 3x4 ไม่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนนักบินระหว่างเที่ยวบิน สามารถย่นระยะเวลาการเตรียมการลงได้ ในขณะที่แบบ 5x2 นักบินจะบินต่อวันไม่มากนัก แต่ระยะเวลาพักน้อยกว่า
อีกส่วนหนึ่งที่เป็นปัจจัยให้ระยะเวลาในการอยู่บนพื้นดินน้อยลงคือกระบวนการนำผู้โดยสารขึ้นเครื่อง ซึ่งพบว่าการไม่ระบุเลขที่นั่ง นอกจากประหยัดต้นทุนในการบริหารจัดการและลงทุนระบบแล้ว ยังลดระยะเวลาการนำผู้โดยสารขึ้นเครื่องให้สั้นลง ในขณะที่สายการบินที่มีการแจกเลขที่นั่งผู้โดยสารแต่ละคนจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาค้นหาที่นั่งของตัวเองนานกว่า หลักการง่ายๆ คือหลักเก้าอี้ดนตรี ซึ่งพบว่าการวิ่งขึ้นเครื่องแล้วแย่งกันนั่งจะทำให้มีระยะเวลาที่สั้นที่สุด และยังสามารถนำเลขที่นั่งดีๆ มาเก็บเงินเพิ่มได้อีกด้วย ตัวแปรสำคัญอีกตัวหนึ่งที่ทำให้ระยะเวลาสั้นลงคือกระบวนการบริการภาคพื้น ซึ่งใช้ระยะเวลาสั้นลงหากมีสัมภาระที่ต้องโหลดใต้ท้องเครื่องลดลง
ในส่วนของการซ่อมบำรุงให้มีประสิทธิภาพถือเป็นปัจจัยหลัก กระทบโดยตรงกับธุรกิจทั้งในด้านความปลอดภัย อัตราการใช้งาน และต้นทุน ซึ่งต้นทุนการซ่อมบำรุงถือเป็นต้นหลักของต้นทุนการดำเนินงาน เพราะหากตัดต้นทุนด้านน้ำมันออกแล้ว ต้นทุนการซ่อมบำรุง และต้นทุนพนักงานถือเป็นต้นทุนการดำเนินงานหลักของธุรกิจการบินตาม แต่ทั้งนี้ ต้องเข้าใจก่อนว่าการซื้อเครื่องบินทุกลำจะมีข้อตกลงกันระหว่างผู้ผลิตกับผู้ซื้อว่า ผู้ซื้อจะต้องทำการซ่อมบำรุงตามมาตรฐานที่ผู้ผลิตแนะนำอย่างเคร่งครัด โดยมีหน่วยงานของรัฐช่วยควบคุมกำกับดูแลอีกทางหนึ่ง สาเหตุหลักมาจากเรื่องความปลอดภัยในการบิน ซึ่งทำให้มั่นใจว่าทุกสายการบินไม่ว่าสายการบินที่ให้บริการเต็มรูปแบบ หรือสายการบินต้นทุนต่ำ จะมีมาตรฐานความปลอดภัยแบบเดียวกัน หากปฏิบัติตามมาตรฐานของผู้ผลิตอย่างเคร่งครัด
เนื่องจากความพยายามในการทำให้เครื่องบินพร้อมใช้งานมากที่สุด การซ่อมบำรุงที่มีประสิทธิภาพเริ่มต้นจากการกำหนดอายุเฉลี่ยของเครื่องบินให้ลดลง อายุเฉลี่ยของเครื่องบินที่สายการบินสายการบินที่ให้บริการเต็มรูปแบบ จะอยู่ที่ประมาณ 12–15 ปี ในขณะที่สายการบินต้นทุนต่ำ จะอยู่ที่ประมาณ 5-9 ปี โดยต่ำสุดอยู่ที่ 2.3 ปี ซึ่งเป็นของสายการบิน AirTran โดยอาศัยหลักการคือ ยิ่งซื้อถูก ใช้งานมาก ก็ยิ่งถึงจุดคุ้มทุนเร็ว ต่อมาคือการสร้างความเรียบง่ายโดยทำให้แต่ละเครื่องเหมือนกันมากที่สุด ซึ่งจะทำให้ซ่อมบำรุงได้เร็ว ประหยัด บริหารอะไหล่ได้ง่าย หลายสายการบินเลือกใช้บริการภายนอกในการซ่อมบำรุง แต่เรื่องการวางแผนการซ่อมบำรุงจะถูกกำหนดเองโดยสายการบินนั้นๆ
ตัวอย่างเช่นกรณี Singapore Airline ซึ่งแม้ว่าจะมี SIA Engineering แยกออกไปเป็นบริษัทลูกเพื่อให้บริการด้านซ่อมบำรุง แต่การวางแผนการซ่อมบำรุงยังอยู่ที่บริษัทแม่เพราะกระทบโดยตรงต่อการวางแผนการบินโดยตรง ซึ่งสายการบินต้นทุนต่ำ มีเครื่องบินที่มีผู้ผลิตเดียวกัน รุ่นเดียวกัน เครื่องยนต์เหมือนกัน สิ่งที่ตกแต่งภายในเหมือนกัน ฯลฯ ทำให้สามารถบริหารการซ่อมบำรุงได้สะดวกและประหยัดกว่า ในขณะที่สายการบินที่ให้บริการเต็มรูปแบบ จะมีข้อจำกัดกว่าเพราะอายุเครื่องบินมากกว่า มาจากหลายผู้ผลิต หลายรุ่น หลายเครื่องยนต์ อุปกรณ์ตกแต่งแตกต่างกัน อุปกรณ์บางอย่างหรือบางรุ่นผู้ผลิตก็เลิกทำการผลิตแล้ว ฯลฯ ทำให้การวางแผนการซ่อมบำรุงมีปัญหามากกว่าหลายเท่า
ในส่วนของการบริหารต้นทุนการซ่อมบำรุงสายการบินต้นทุนต่ำ บางแห่งเลือกทำเฉพาะการซ่อมบารุงพื้นฐานที่เรียกว่า A-Check เนื่องจากไม่ต้องมีการลงทุน ในขณะที่การซ่อมบำรุงอื่นๆ จะใช้บริการภายนอก เพราะอุปกรณ์เครื่องมือบางอย่างต้องลงทุนสูง หากทำเองก็ต้องเสียค่าเสื่อมราคาและซ่อมบำรุงมาก หากใช้ของบริษัทภายนอกก็จะมีคนช่วยหารต้นทุนพวกนี้ โอกาสเกิดความคุ้มทุนด้านขนาดมากกว่า โดยสายการบินจะเลือกติดต่อมากกว่า 1 ราย เพื่อให้เกิดการแข่งขันและกระจายความเสี่ยง
อาทิ สายการบินไทยแอร์เอเซียเลือกใช้บริการซ่อมบำรุงกับบริษัทเอกชนภายนอกทั้งที่ประเทศมาเลเซีย และสิงคโปร์ โดยใช้บริการการบริหารอะไหล่และวางแผนการซ่อมบำรุงจากบริษัทอื่นในเครือที่ทำหน้าที่รวมศูนย์การให้บริการ เพื่อสร้างอำนาจต่อรองให้ได้ราคาที่ประหยัดมากขึ้นไปอีก ซึ่งเครื่องบินในเครือ AirAsia ในประเทศอื่นๆ ก็เป็นเครื่องแบบเดียวกัน การบริหารจัดการซ่อมบำรุงก็ง่ายกว่า นอกจากนั้น การซ่อมบำรุงก็เป็นการซ่อมแบบเอาอะไหล่ไปให้ ไม่โดนบวกเพิ่ม คิดแค่ค่าแรงและค่าใช้อุปกรณ์ และบางครั้งยังใช้คลังของบริษัทที่รับซ่อมเครื่องบินเก็บอะไหล่ซึ่งทำให้ประหยัดการลงทุน ไม่เสียค่าขนส่งอีกด้วย
จากรายละเอียดข้อมูลของเฮย์กรุ๊ปข้างต้นพบว่า สิ่งที่เป็นข้อแตกต่างหลักระหว่างสายการบินที่ให้บริการเต็มรูปแบบ กับสายการบินต้นทุนต่ำ ไม่ได้อยู่ที่เครื่องบินแต่อยู่ที่แนวคิดของการบริหารจัดการธุรกิจโดยเฉพาะด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความแตกต่างให้แต่ละสายการบินในการแข่งขันทางธุรกิจที่รุนแรงมากขึ้นเช่นทุกวันนี้ โดยในตอนต่อไปจะอธิบายเพิ่มเติมถึงรายละเอียดด้านทรัพยากรบุคคลของธุรกิจสายการบิน รวมทั้งตัวอย่างของอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมทางการเงินอีกด้วย