xs
xsm
sm
md
lg

‘ญี่ปุ่น’ รุกหนักกระชับสัมพันธ์เศรษฐกิจ หลังควง ‘อาเซียน’ พูดต้าน ‘เขตการบินจีน’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกรัฐมนตรี เหวียน เติ๋นหยูง ของเวียดนาม (ซ้าย) จับมือกับนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่น ในตอนเริ่มต้นการเจรจาซัมมิตของพวกเขา ที่กรุงโตเกียวเมื่อวันอาทิตย์ (15)
เอเจนซีส์ – ญี่ปุ่นเปิดการเจรจาซัมมิตรายทวิภาคีกับบรรดาชาติสมาชิกสมาคมอาเซียนในวันอาทิตย์ (15 ธ.ค.) โดยสัญญาที่จะเพิ่มพูนความผูกพันระหว่างกันทั้งทางเศรษฐกิจและความมั่นคง หลังจากที่การประชุมสุดยอดแดนอาทิตย์อุทัย-อาเซียนโดยรวมในวันเสาร (14) มีการออกคำแถลงร่วมย้ำถึงความสำคัญในการรับประกันเสรีภาพในการเดินอากาศ อันเป็นการพาดพิงอย่างอ้อมๆ ถึงการประกาศเขตป้องกันภัยทางอากาศของจีน แล้วจากนั้นนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ก็รีบกล่าวผ่านโทรทัศน์ วิพากษ์วิจารณ์จีนแบบเอ่ยชื่อ รวมทั้งระบุว่า ญี่ปุ่นกับอาเซียนเป็น “หุ้นส่วนพิเศษ” กัน

พวกเจ้าหน้าที่บอกว่า ในการหารือทวิภาคีเหล่านี้ ซึ่งเป็นการปิดฉากซัมมิตญี่ปุ่น-สมาคมอาเซียนครั้งพิเศษที่ดำเนินมา 3 วันคราวนี้ บรรดาผู้นำได้พูดจากันเรื่องการเพิ่มการพบปะแลกเปลี่ยนการเยือนกัน ระหว่างนักการทูตระดับสูงและเจ้าหน้าที่ทางการทหาร รวมทั้งการกระชับความร่วมมือในการตรวจตราชายฝั่ง

โดยที่ในการเจรจาทวิภาคีระหว่างอาเบะกับประธานาธิบดีเต็งเส่ง ของพม่านั้น ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบในข้อตกลงการลงทุน ซึ่งจะทำให้ธุรกิจแดนอาทิตย์อุทัยได้รับการปฏิบัติและได้รับสิทธิต่างๆ เท่าเทียมกับธุรกิจท้องถิ่น

ส่วนในการประชุมซัมมิตระหว่าง อาเบะ กับนายกรัฐมนตรีทองสิง ทำมะวงของลาว ได้เห็นชอบให้เริ่มเจรจาทำข้อตกลงการบินพลเรือน ที่จะปูทางสู่การเปิดเที่ยวบินตรงลาว-ญี่ปุ่น

ผู้นำสองประเทศยังตกลงสานต่อการหารือกรอบโครงการเจรจาความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่การทูตและการทหาร

สำหรับการเจรจากับนายกรัฐมนตรี เหวียน เติ๋นหยูง ของเวียดนามนั้น อาเบะได้หารือเพื่อกระชับความร่วมมือด้านการรักษาชายฝั่ง โดยที่ประเทศทั้งสองต่างมีข้อพิพาทด้านอธิปไตยกับจีน
ประธานาธิบดีเต็งเส่ง ของพม่า (ซ้าย) กับ นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่น ขณะแถลงข่าวร่วมกัน ภายหลังพบปะหารือทวิภาคีในวันอาทิตย์ (15) ที่โตเกียว
นอกจากนี้ในระหว่างหารือทวิภาคีกับผู้นำของเวียดนาม ลาว และพม่าในคราวนี้ อาเบะยังหยิบยกประเด็นการประกาศเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศของจีนขึ้นมาพูดคุยด้วย สำนักข่าวจีจิเพรสของญี่ปุ่นรายงานโดยไม่ได้อ้างแหล่งข่าวใดๆ แต่ระบุว่า นายกฯเวียดนามแสดงทัศนะว่า ประเด็นนี้ควรได้รับการแก้ไขโดยอิงกับกฎหมายระหว่างประเทศ ขณะที่ผู้นำลาวเน้นความสำคัญในการแก้ปัญหาอย่างสันติ

พวกเจ้าหน้าที่บอกด้วยว่า ในกรณีซัมมิตทวิภาคีกับผู้นำของกัมพูชา ซึ่งเป็นประเทศที่พึ่งพิงทางเศรษฐกิจกับจีนอย่างมากนั้น ก็เป็นที่คาดหมายว่าญี่ปุ่นจะหารือเรื่องสนธิสัญญาด้านการบิน และการขยายการแลกเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ทางการทหาร

ซัมมิตญี่ปุ่น-อาเซียนครั้งนี้ เป็นการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 40 ปีความสัมพันธ์ระหว่างกัน โดยโตเกียวคาดหวังที่ได้รับการสนับสนุน ในกรณีข้อพิพาทที่ตนมีอยู่กับปักกิ่ง เกี่ยวกับอธิปไตยเหนือหมู่เกาะในทะเลจีนตะวันออก ซึ่งญี่ปุ่นเรียกชื่อว่าเซงกากุ แต่จีนขนานนามว่าเตี้ยวอี๋ว์

ทั้งนี้ มี 4 ชาติอาเซียน ได้แก่ ฟิลิปปินส์, เวียดนาม, มาเลเซีย, และบรูไน ก็มีข้อพิพาทกับจีนจากการอ้างอธิปไตยทับซ้อนกันเหนือดินแดนในทะเลจีนใต้อยู่แล้ว ยิ่งเมื่อปักกิ่งประกาศเขตป้องกันภัยทางอากาศครอบคลุมทะเลจีนตะวันออกตอนปลายเดือนที่ผ่านมา ท่ามกลางเสียงประท้วงของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ตลอดจนสหรัฐฯ ก็ยิ่งทำให้หลายชาติอาเซียนเกิดความกังวลว่า ปักกิ่งจะประกาศเขตป้องกันภัยทางอากาศในทะเลจีนใต้ ในเร็วๆ นี้ด้วย

ประเด็นดังกล่าวกล่าวเป็นสิ่งที่ครอบงำซัมมิตญี่ปุ่น-อาเซียนคราวนี้อย่างชัดเจน โดยในคำแถลงร่วมหลังประชุมผู้นำญี่ปุ่น-สมาคมอาเซียนโดยรวม เมื่อวันเสาร์ (14 ธ.ค.) นั้น มีการให้คำมั่นที่จะร่วมมือกันเพื่อรับประกันเสรีภาพและความปลอดภัยในการบินตามหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศที่ได้รับการยอมรับ

ถึงแม้คำแถลงร่วมดังกล่าวไม่ได้พาดพิงถึงจีนโดยตรง แต่อาเบะได้กล่าวในที่ประชุมแถลงข่าวภายหลังการประชุม ซึ่งโทรทัศน์ญี่ปุ่นถ่ายทอดไปทั่วประเทศว่า “สำหรับจีนนั้น เราขอเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรการทั้งหมดที่ละเมิดหลักการทั่วไปเหล่านี้” และเสริมว่า ญี่ปุ่นจะยึดมั่นในการตัดสินใจแนะนำให้สายการบินของตนดำเนินการตามที่เคยปฏิบัติก่อนที่จีนจะประกาศเขตป้องกันภัยทางอากาศ

“ความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศใดในภูมิภาคนี้” อาเบะกล่าว และระบุว่า ญี่ปุ่นเป็น “หุ้นส่วนพิเศษ” กับอาเซียน

ก่อนออกคำแถลงร่วมคราวนี้ โตเกียวยังประกาศให้ความช่วยเหลือ 2 ล้านล้านเยน (1,900 ล้านดอลลาร์) ในระยะเวลา 5 ปี เพื่อลดช่องว่างความแตกต่างในด้านการพัฒนาของบรรดาประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งเพื่อยกระดับการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ ตลอดจนยังให้คำมั่นที่จะจัดหาการสนับสนุนอีก 100 ล้านดอลลาร์ให้แก่กองทุนบูรณาการญี่ปุ่น-อาเซียน (Japan-ASEAN Integration Fund)

ญี่ปุ่นนั้นได้ร่าง “ประเด็นเร่งด่วน” สำหรับความช่วยเหลือ ประกอบด้วยการปรับปรุงความปลอดภัยทางทะเล กองกำลังรักษาชายฝั่งที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ความปลอดภัยทางไซเบอร์และการต่อต้านการก่อการร้าย การเชื่อมต่อระบบสื่อสาร

“บทบาทของอาเซียนในฐานะศูนย์กลางการเติบโตทางเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับเสรีภาพทางทะเลและอากาศ” อาเบะย้ำ
กำลังโหลดความคิดเห็น