xs
xsm
sm
md
lg

ความสำเร็จของธุรกิจสายการบิน ต้องบริหารต้นทุนให้เหนือคู่แข่ง (ตอนที่ 2)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ความสำเร็จของธุรกิจสายการบิน ต้องบริหารต้นทุนให้เหนือคู่แข่ง (ตอนที่ 2)

เฮย์กรุ๊ป เผยกลยุทธ์ ต้องบริหารต้นทุนให้เข้มงวดทั้งทรัพยากรบุคคล เครื่องบินและน้ำมัน ระบบงานพื้นฐาน รวมทั้งผลิตภัณฑ์/ การจัดจำหน่าย/ ค่าโสหุ้ย

นายอริยะ ฝึกฝน ที่ปรึกษาบริหารของบริษัท เฮย์กรุ๊ป เปิดเผยว่าการบริหารทรัพยากรบุคคลที่ดีคือความแตกต่างของสายการบินต่างๆ ซึ่งการแข่งขันของธุรกิจสายการบิน ในอดีตมีการจำกัดการบินทับเส้นทางการบินเดียวกัน (คล้ายๆ กับการให้สัมปทานเส้นทาง) รวมถึงการจำกัดการบินผ่านน่านฟ้าของประเทศต่างๆ เพื่อปกป้องธุรกิจสายการบินที่มีการลงทุนสูง และมักจะเป็นสายการบินแห่งชาติ (National Flag Carrier) เพราะธุรกิจนี้มีส่วนสนับสนุนโดยตรงกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ต่อมาการทำข้อตกลงนโยบายเปิดเสรีทางการบินขยายตัวมากขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ธุรกิจนี้มีความคล่องตัว ปลอดภัย และเอื้ออำนวยต่อผู้บริโภคมากขึ้น แต่ในทางกลับกันก็ทำให้เกิดการแข่งขันที่รุนแรงมากหากมองในมุมของสายการบิน

การแข่งขันที่รุนแรงทำให้เกิดการแบ่งระดับของการบริการ (Market Segmentation) เพื่อสร้างทางเลือกที่ชัดเจนให้กับผู้บริโภค โดยเกิดสายการบินต้นทุนต่ำ (Low Cost Carriers : LCC) ซึ่งตรงข้ามกับสายการบินที่ให้บริการเต็มรูปแบบ (Full Service Carriers: FSC) ซึ่งต่อมาได้มีการแบ่งระดับการบริการให้ถี่ยิ่งขึ้น เช่น สายการบินราคาประหยัด (Budget Airline) สายการบินกึ่งพรีเมียม (Light Premium) เป็นต้น

นอกจากนั้น จากการแข่งขันยังพบอีกว่าในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ราคาตั๋วเครื่องบินลดลงกว่า 50% เมื่อเทียบกับค่าเงินตามอัตราเงินเฟ้อ และมีแนวโน้มลดลงอีกอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การเติบโตของธุรกิจนี้นอกจากจะขึ้นอยู่กับการเปิดเส้นทางบินใหม่ๆ การออกแคมเปญเพื่อแย่งชิงลูกค้าแล้ว ยังขึ้นอยู่กับการบริหารต้นทุนอย่างเข้มงวดด้วย

จากการวิเคราะห์ของ เฮย์กรุ๊ป พบว่าต้นทุนรวมต่อหน่วยที่นั่งกิโลเมตร (ASK) ของสายการบินในประเทศและภูมิภาคมีต้นทุนต่างกันเกือบ 3 เท่า
ในกรณีของ AirAsia มีการบริหารต้นทุน 4 ด้านคือ ทรัพยากรบุคคล เครื่องบินและน้ำมัน ระบบงานพื้นฐาน รวมทั้งผลิตภัณฑ์/ การจัดจำหน่าย/ ค่าโสหุ้ยต่างๆ อย่างเข้มงวด ทำให้มีต้นทุนรวมต่อหน่วยที่นั่งกิโลเมตร ต่ำที่สุดในภูมิภาคเอเซีย

กลยุทธ์การลดต้นทุนต่อหน่วยของสายการบินต้นทุนต่ำแบ่งออกเป็น 2 ด้าน คือ การบริหารลดต้นทุนสินทรัพย์ ประกอบด้วยการลดค่าใช้จ่ายในการจัดหาเครื่องบิน และการลดต้นทุนการซ่อมบำรุง ในอีกด้านหนึ่ง คือ การบริหารต้นทุนการดำเนินงาน ประกอบด้วย การลดต้นทุนการจัดจำหน่าย การลดต้นทุนน้ำมัน การลดค่าใช้จ่ายลูกเรือ การลดค่าใช้จ่ายในการบริการภาคพื้น และการลดค่าใช้จ่ายด้านอาหารและเครื่องดื่มบริการบนเครื่อง โดยจะขออธิบายรายละเอียดวิธีการนำมาปฏิบัติในตอนที่ 3 เรื่องการออกแบบระบบงานพื้นฐาน และตอนที่ 4 การบริหารทรัพยากรบุคคลต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น