เอเอฟพี – ขณะที่การค้นหาเครื่องบินโดยสารโบอิ้ง 777 ในเที่ยวบิน 370 ของมาเลเซีย แอร์ไลน์ คืบคลานเข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 ข้อมูลชิ้นเล็กชิ้นน้อยซึ่งค้นพบจากการปฏิบัติการค้นหาที่ถือเป็นหนึ่งในความร่วมมือระดับนานาชาติซึ่งตึงเครียดมากที่สุดครั้งหนึ่งในความทรงจำนี้ ทำให้สถาบันและหน่วยงานของภาครัฐช็อกไปตามๆ กัน และอาจบีบให้มีการทบทวนครั้งใหญ่เกี่ยวกับแนวทางด้านความปลอดภัยในเรื่องการบิน
ผู้เชี่ยวชาญด้านการบินชี้ว่า ลำพังข้อเท็จจริงที่ว่า โบอิ้ง-777 ซึ่งติดตั้งเทคโนโลยีให้ข้อมูลระบุตำแหน่งเพื่อการติดตามอันทันสมัยที่สุด กลับหายสูญไปได้นานถึงเพียงนี้ ก็ทำให้เกิดความตระหนกตกใจมากพอที่จะกระตุ้นเปลี่ยนแปลงวิธีการติดตามตรวจสอบเครื่องบินพาณิชย์ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้กันอยู่
เป้าหมายสำคัญอันดับแรกอาจเป็นการขยายขอบเขตการติดตามในสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้กว้างไกลกว่าเขตซึ่งสัญญาณของระบบเรดาร์ธรรมดาในปัจจุบันครอบคลุมถึง
ทั้งนี้ ระบบที่สามารถบ่งชี้ให้คณะเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวน MH370 สนใจอาณาบริเวณอันห่างไกลในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งอยู่ราว 2,500 กิโลเมตรทางตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองเพิร์ต ประเทศออสเตรเลีย คือ ระบบภาพถ่ายดาวเทียมอันไฮเทคทันสมัย แต่การค้นหาให้พบร่องรอยจริงๆ ในบริเวณดังกล่าว ยังคงต้องพึ่งพิงวิธีการที่โลว์เทคกว่ามาก นั่นคือ กล้องส่องทางไกลจากหน้าต่างเครื่องบิน
หากที่สุดแล้วสามารถระบุบริเวณที่เครื่องบินตกได้ เจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนจะต้องรีบเร่งไปยังจุดดังกล่าวเพื่อค้นหา “กล่องดำ” ก่อนที่อุปกรณ์สำคัญนี้จะหยุดแพร่สัญญาณการระบุตำแหน่ง
“ไม่ต้องสงสัยเลยว่า สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนี้คือหนึ่งในปริศนาลึกลับที่สุดในอุตสาหกรรมการบินสมัยใหม่ และจะมีผลต่ออุตสาหกรรมการบินและสายการบินทั่วโลก
“ผมคาดว่า จะมีการตรวจสอบเทคโนโลยีการบันทึกข้อมูลต่างๆ ที่ติดตั้งอยู่ในเครื่องบินในปัจจุบันอย่างจริงจัง และมีการถกเถียงเกี่ยวกับวิธีการออกแบบตลอดจนจะให้เทคโนโลยีนี้จะคงทนยาวนานแค่ไหนก่อนที่จะเสื่อมสลายไป" โจนาธาน กาลาวิตซ์ หุ้นส่วนบริษัทที่ปรึกษาด้านการเดินทางและการบิน โกลบัล มาร์เก็ต แอดไวเซอร์ส ในอเมริกา แสดงความเห็น
กาลาวิตซ์เสนอว่า ควรมีการหารือเกี่ยวกับการสตรีมข้อมูลดังกล่าวผ่านดาวเทียมแบบสดๆ เพื่อให้สามารถติดตามตำแหน่งเครื่องบินอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบัน กล่องดำซึ่งก็คือเครื่องบันทึกข้อมูลการบินและเครื่องบันทึกเสียงในห้องนักบิน สามารถส่งข้อมูลได้ประมาณ 30 วัน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่อาจต้องมีการทบทวนใหม่ เมื่อพิจารณาถึงระยะเวลาการค้นหา MH370 ที่ยาวนานอย่างไม่เคยมีมาก่อน
ปริศนา MH370 ส่วนใหญ่เกิดจาก "การหายไป” อย่างกะทันหัน กล่าวคือหลังทะยานขึ้นจากสนามบินไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง ระบบส่งสัญญาณอัตโนมัติทั้งหมดของเครื่องหยุดทำงานและเครื่องบินหายไปจากจอเรดาร์ภาคพลเรือน
สมมติฐานเบื้องต้นคือ เครื่องบินตกลงในทะเลจีนใต้ก่อนที่จะทันส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ
ทว่า ภาพถ่ายดาวเทียมและเรดาร์ทางการทหารกลับพบว่า เครื่องบินออกนอกเส้นทางโดยหันหัวกลับและบินผ่านคาบสมุทรมาเลเซีย และอาจบินต่อไปทางเหนือหรือทางใต้ไม่แน่ชัด อีกหลายๆ ชั่วโมง
ปัจจุบัน มีเทคโนโลยีซึ่งสามารถส่งสัญญาณในกล่องดำของเครื่องบินโดยสาร ผ่านทางดาวเทียมแบบสดๆ ได้อยู่แล้ว ติดที่ว่าสายการบินพาณิชย์ส่วนใหญ่คัดค้าน เพราะการลงทุนในระบบนี้มีแนวโน้มว่าต้องใช้เงินนับล้านดอลลาร์ โดยพวกเขาบอกว่ากำลังถูกกดดันหนักอยู่แล้วจากต้นทุนเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น
นอกจากนั้น แม้สายการบินขนาดใหญ่ๆ ซึ่งรวมถึงมาเลเซียแอร์ไลน์ จะมีการใช้ระบบจัดการการสื่อสารและการรายงาน (ACARS) หรือระบบเชื่อมโยงข้อมูลดิจิตอลผ่านดาวเทียม หรือสัญญาณวิทยุ VHS เพื่อส่งข้อความขนาดสั้นจากเครื่องบิน ทว่า ระบบนี้ย่อมไม่สามารถเทียบได้กับขนาดขอบเขตของข้อมูลซึ่งบรรจุอยู่ในเครื่องบันทึกข้อมูลการบิน
ในกรณีของเที่ยวบิน 370 นั้น ACARS ที่ควรส่งข้อมูลทุก 30 นาที ไม่สามารถส่งข้อมูลได้หลังจากเครื่องบินหายไปจากเรดาร์พลเรือน
แอนดริว เฮิร์ดแมน ผู้อำนวยการใหญ่ของสมาคมสายการบินแห่งเอเชีย-แปซิฟิก กล่าวว่าต้นทุนกล่องดำชนิดที่เชื่อมโยงกับดาวเทียมอาจลดลงไปได้ หากมีการตั้งโปรแกรมให้อุปกรณ์นี้ส่งสัญญาณไปยังหอควบคุมการบินภาคพื้นดินเมื่อตรวจพบว่า มีความผิดปกติในการบินเท่านั้น
ความผิดปกติดังกล่าวอาจรวมถึงการปิดใช้งานระบบสื่อสารหรือการออกนอกเส้นทางกะทันหัน
ทั้งนี้เฮิร์ดแมนอธิบายว่า แนวคิดในการสตรีมสัญญาณกล่องดำแบบสดๆ ย่อมหมายถึงการส่งข้อมูลจำนวนมาก จนกระทั่งกลายเป็นภาระหนักในด้านลอจิสติก ดังนั้นจึงควรต้องมีการกรอง เพื่อให้มีการสตรีมสัญญาณในบางกรณีเท่านั้น
ทางด้าน เกร็ก วาลดรอน บรรณาธิการบริหารฝ่ายเอเชียของ “ไฟลต์โกลบัล” นิตยสารในอุตสาหรกรรมการบิน เสริมว่า การทำความเข้าใจและยอมรับเทคโนโลยีดังกล่าวของสายการบินอาจเป็นขั้นตอนที่ต้องใช้เวลา
กระนั้น สายการบินอาจเคลื่อนไหวเร็วขึ้น หากผู้คุมกฎการบินพลเรือนชั้นนำ เช่น สำนักงานบริหารการบินของสหรัฐฯ และสำนักงานความปลอดภัยการบินแห่งยุโรป ตัดสินใจกำหนดให้ระบบดังกล่าวเป็นระบบบังคับสำหรับเขตอำนาจศาลของตนภายในกรอบเวลาที่กำหนด
ด้านกาลาวิซเพิ่มเติมว่า เหตุการณ์อย่างเช่น การหายไปอย่างลึกลับของ MH370 มักก่อให้เกิดผลพลอยได้ที่สำคัญและสร้างสรรค์ อย่างเช่น เกิดการถกเถียงกันอีกครั้งเรื่องความปลอดภัยในการบิน
“นอกเหนือจากโศกนาฏกรรมทั้งหลายทั้งปวง และคำถามที่ไม่มีคำตอบแล้ว บางที ณ เวลานี้ เราจำเป็นต้องถอยออกมาและรับทราบว่า ถึงแม้จะมีสิ่งต่างๆ ดังที่กล่าวมานี้ แต่ก็ยังอาจจะมีสิ่งดีๆ บางอย่างจากเหตุการณ์นี้อยู่เหมือนกัน”