xs
xsm
sm
md
lg

รู้สึกท้อ เพราะทำงานที่รักและ เต็มที่กับมัน แต่ผลลัพธ์กลับไม่เป็นไปอย่างที่คิด โดย อ.อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อ.อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา กรรมการบริหาร บ.ออคิด สลิงชอท จำกัด
Q: ผมได้รับเชิญให้ไปทดลอง นำเสนอหลักสูตร การอบรมหลักสูตรหนึ่ง กับบริษัทที่ปรึกษาชื่อดัง ซึ่งผมคิดว่าตัวเองทำได้ดี สามารถถ่ายทอดเนื้อหา จากประสบการณ์ตรงได้อย่างชัดเจน แต่ผลลัพธ์ที่ออกมา กลับไปไม่เป็นอย่างที่คาด ผมได้รับการตอบปฏิเสธ ซึ่งก็พยายามทำใจให้เข้าใจว่า อย่างไรเสีย ธุรกิจก็คือธุรกิจ แต่อาจารย์เคยรู้สึกอย่างผมไหมว่า บางทีเมื่อเรามีความรักให้อะไรสักอย่าง เราก็พร้อมที่จะทุ่มเททั้งชีวิตให้ แบบไม่มีคำว่า เหนื่อย เบื่อ รำคาญและ กลัว ที่จะทำเลยด้วยความที่เรามีดี คิดดี ทำดี รักดี สุขดีนั้น แต่สิ่งที่ตอบกลับมา มันไม่เป็นไปเหมือนที่เรารัก เราทำ เราเป็น เราใช่ในทุกเรื่อง อาจารย์คิดว่ายังไงครับ

A: ตอนแรกที่อ่านความในใจของคุณ ก็ตั้งใจจะรับทราบและ แสดงความเข้าใจเพียงอย่างเดียว แต่พออ่านจบ คิดเอาเองว่า คุณอาจอยากได้คำแนะนำด้วย (ถ้าผิดขออภัย)

ดังนั้นขออนุญาตแสดงความคิดเห็นดังนี้ครับ

- เมื่อผมอ่านข้อความและ พยายามจินตนาการ ความรู้สึกของคุณระหว่างที่เขียนข้อความนี้ ดูเหมือนคุณมีความรู้สึก ผิดหวังในสิ่งที่ตั้งใจไว้ คงเป็นเพราะผลลัพธ์ไม่เป็นไปอย่างที่อยากเห็น ประกอบกับฟังดูเหมือน มีความท้อใจเล็กๆ แฝงอยู่ในข้อความที่เขียนด้วย

- ผมเคยผ่านกระบวนการเหล่านี้มาก่อนและ เข้าใจดีในความรู้สึกของคุณ ผมก็เคยรู้สึกเช่นนี้เหมือนกัน เมื่อครั้งเริ่มต้นอาชีพนี้ใหม่ๆ รู้สึกผิดหวังและ สับสนในผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น เมื่อเทียบกับความตั้งใจที่มี แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผมเริ่มเข้าใจแล้วว่า "ผลลัพธ์เป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ การกระทำของเราต่างหาก ที่ควบคุมได้ จึงควรดีใจ หรือเสียใจกับการกระทำ แต่ปล่อยวาง ในผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น"

- ในสถานการณ์ของคุณ ผมอยากเสนอแนวทางดังนี้

1. มองด้วยใจเป็นกลางว่า ในการนำเสนอ เราทำอะไรได้ดีและ ยังทำอะไรได้ไม่ค่อยดี

2. สอบถามผู้ที่มีโอกาสได้ร่วมสัมมนาว่า สิ่งที่เขาชอบคืออะไรและ สิ่งที่เขาไม่ค่อยชอบคืออะไร ถ้าเป็นไปได้ เขาอยากให้เราทำอะไรให้มากขึ้น (Do more) อยากให้ทำอะไรให้น้อยลง (Do less) และ อะไรที่ทำได้ดีอยู่แล้ว อยากให้รักษาไว้ (Continue) และ ไม่ว่าเค้าจะบอกว่าอะไร ให้รับฟัง เสร็จแล้วกล่าวคำขอบคุณ โดยไม่ต้องบอกว่า "เห็นด้วย" หรือ "ไม่เห็นด้วย" และ ไม่ต้อง "อธิบาย" แค่รับฟังอย่างเดียว

3. จากนั้น นำสิ่งที่เค้าบอกมาพิจารณา หากเห็นด้วย ก็หาทางปรับปรุงแก้ไข หากไม่เห็นด้วย ก็ทิ้งไป อย่าไปใส่ใจ เก็บมาคิดให้ปวดสมอง

4. หาโอกาสฝึกฝนบ่อยๆ และ ที่สำคัญทุกครั้ง ขอ Feedback จำกติกาที่แนะนำไว้ข้างต้น ไม่ต้อง "เห็นด้วย" หรือ "ไม่เห็นด้วย" และ ไม่ต้อง "อธิบาย" แค่รับฟังและ ขอบคุณทุกครั้ง คุณจะค่อยๆ เก่งขึ้นและ เป็นคนที่น่าทำงานด้วย ผมเรียนรู้สิ่งนี้ในช่วงแรกๆ ของการเริ่มต้นอาชีพนี้ ใหม่ๆ ก็มีความรู้สึกไม่ต่างจากคุณ

5. เปลี่ยนความ "ไม่สำเร็จ" มาเป็น "พลัง" ในการผลักดัน ให้พยายามมากยิ่งขึ้น ปรัชญาจีนโบราณบอกว่า "ความสำเร็จ อยู่เลยจากความล้มเหลว ไปนิดเดียว" ดังนั้น หากครั้งนี้ไม่สำเร็จ ก็หมายความว่า คุณเดินทางเข้าใกล้ความสำเร็จแล้ว เพียงแต่เรียนรู้และ ปรับปรุง เพื่อจะได้ไม่ Repeat ความผิดพลาดเดิม

6. เปลี่ยนจาก "อัตตา" มาเป็น "ความมุ่งมั่น" ที่จะเอาชนะ อย่าเดินจากไปเพียงเพราะถูกปฏิเสธ แต่จงตั้งปณิธานไว้ว่า "เราจะกลับมาอย่างผู้ชนะ"

ใน วงการนี้ ความสำเร็จของวิทยากร ไม่ได้อยู่แค่ "มีความมุ่งมั่น" และ "อยากทำ" เพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับว่า "ลูกค้าชอบ" สไตล์และ วิธีการนำเสนอของเราด้วยหรือเปล่า วิทยากรหลายคน เก่ง มีความสามารถ มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ แต่โชคไม่ค่อยดี สไตล์ของเขา ไม่คลิ๊กกับลูกค้า และ ที่สำคัญเค้าไม่ยอมปรับเปลี่ยนจึง "ไม่สำเร็จ" อย่างที่ตั้งใจ

ผมเป็นกำลังใจให้นะครับ ชีวิตการต่อสู้เพิ่งเริ่มต้น ไม่กี่ยกเอง อย่าเพิ่งยอมแพ้ เอาความผิดพลาด มาเป็นบทเรียน ให้เรามีความมานะมากยิ่งขึ้น ขอให้โชคดีและ ขอให้ประสบความสำเร็จอย่างที่ตั้งใจในเร็ววัน

อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา
apiwut@riverorchid.com
กำลังโหลดความคิดเห็น