Q : องค์กรมีการเปลี่ยนแปลงมาจากระดับบนค่อนข้างบ่อย นโยบายไม่ค่อยต่อเนื่อง จนทำให้คนในทีมเริ่มท้อและ เหนื่อยหน่ายกับการเปลี่ยนแปลง เพราะเหมือนทำไปสักพักก็คงมีการเปลี่ยนอีก ควรมีแนวทางการสื่อสาร กับทั้งคนในทีม หรือกับระดับบนอย่างไรดีครับ
A : การเปลี่ยนแปลงมีเหตุผลหลายอย่าง เป็นไปได้ไหมที่สถานการณ์บางอย่างเปลี่ยนไป สิ่งที่เคยคาดคิดไว้จึงใช้ไม่ได้ "ต้องเปลี่ยน" หรือเป็นไปได้ไหม ที่ผู้บริหารได้ข้อมูลบางอย่างเพิ่มขึ้น จึงทำให้การตัดสินใจที่ผ่านมาใช้ไม่ได้ "ต้องเปลี่ยน" หรือเป็นไปได้ไหมแนวทางก่อนหน้านี้ ที่เคยคิดว่าจะใช้ได้และ ให้ผลเร็ว กลับใช้ไม่ได้ หรือไม่เร็วอย่างที่คิด จึง "ต้องเปลี่ยน" หรืออาจเป็นไปได้ที่คนตัดสินใจ เป็นคนโลเลเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ไม่ค่อยอยู่กับร่องกับรอย เลย "ต้องเปลี่ยน" บ่อยๆ เป็นต้น ดังนั้นอยากให้เริ่มต้นมองหาสาเหตุที่แท้จริงก่อนว่า เปลี่ยนเพราะอะไร ไม่อยากให้ทึกทักเอาเองในเชิงลบเพียงอย่างเดียว
จากนั้นต้องเข้าใจว่า เราอยู่ตรงกลางคล้ายหมูแฮมในขนมปังแซนวิช ข้างบนมีเจ้านาย ข้างล่างมีลูกน้อง หากวางตัวไม่ดี อาจซวยทั้งขึ้นทั้งล่อง หากพูดเข้าข้างพนักงานมากเกินไป อาจถูกผู้ใหญ่มองว่าเป็นคนทัศนคติไม่ดี เป็นหัวหน้าแก้งค์ ในทางกลับกัน หากเข้าข้างผู้บริหารมากเกินไป ก็ไม่ได้ใจลูกน้อง ทำงานลำบากวันหลังจะเรียกใช้ก็คงยาก
ดังนั้นต้องวางตัวให้พอดี เข้าใจบทบาทและ หน้าที่ของตนเองให้ชัดเจน เท่าที่ฟังดู อย่างน้อยในเรื่องนี้คุณมี 2 บทบาท บทบาทแรกคือเป็น "ลูกน้อง" ของคนข้างบน ส่วนอีกบทบาทเป็น "หัวหน้า" ของคนข้างล่าง ในฐานะ "ลูกน้อง" ต้องเข้าใจว่าคุณมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็น หากไม่เห็นด้วยกับหัวหน้า ในการเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจบ่อยๆ ก็เป็นสิทธิที่คุณจะพูดอย่างสุภาพ อธิบายให้เห็นถึงผลกระทบ ของการเปลี่ยนแปลงที่บ่อยเกินไป อ้างผลกระทบที่จะเกิดกับ "ลูกค้า"
ฟังดูดีที่สุด อย่าอ้างตัวเอง อย่าอ้างลูกน้องหรือ ทีมงาน เมื่อพูดจบก็ถือว่า ได้ใช้สิทธิที่มีอย่างเต็มที่แล้ว ส่วนคนข้างบนจะฟังหรือไม่ เห็นด้วยหรือเปล่าและ จะดำเนินการอย่างไร ก็เป็นสิทธิของเขา
จากนั้นก็เป็นหน้าที่ในฐานะ "หัวหน้า" ของพนักงานในทีมบ้าง ต้องเข้าใจว่า หัวหน้ามีหน้าที่สร้างความเข้าใจและ ทัศนคติที่ถูกต้องต่อผู้บริหารและ องค์กรให้กับลูกทีม แม้จะเป็น "สิทธิ" ของคุณที่จะไม่เห็นด้วยกับ การเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่เกิดขึ้นในองค์กร แต่หน้าที่ของคุณคือ การสร้างความเข้าใจให้ทีมงาน ดังนั้นหากไม่เห็นด้วยให้สื่อแต่ข้อเท็จจริง (Fact) ส่วนความเห็น หรือความรู้สึก (Feeling) ไม่ต้องพูดถึง
ยกตัวอย่างเช่น องค์กรต้องการปรับโครงสร้างอีกครั้ง หลังจากที่เพิ่งปรับมาเมื่อไม่กี่เดือนก่อน ซึ่งคุณไม่เห็นด้วยที่จะมีการปรับเปลี่ยนในตอนนี้ อยากให้ระยะเวลาผ่านไปสักหน่อยให้โครงสร้างองค์กรที่เพิ่งปรับมามีโอกาสได้แสดงผลเสียก่อน สิทธิของคุณคือการแสดงความคิดเห็นคัดค้านการเปลี่ยนแปลงนี้ กับผู้ใหญ่โดยใช้เหตุผลและ ข้อมูลประกอบ รวมทั้งใช้ท่าทางและน้ำเสียงที่สุภาพ ไม่ดูก้าวร้าวเกินไป อย่างไรก็ตามเมื่อได้แสดงความคิดเห็นแล้ว หากผู้บริหารยืนยันที่จะเปลี่ยนแปลง ด้วยเหตุผลบางประการ ต่อไปก็เป็นหน้าที่ของคุณในฐานะหัวหน้า ที่จะกลับไปสร้างความเข้าใจกับทีมงาน ถึงเหตุผลที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอีกครั้ง โดยไม่ต้องแสดงความคิดเห็นว่า "เห็นด้วยหรือไม่" ที่สำคัญใช้น้ำเสียงและ ท่าทางที่เหมาะสม อย่าประชดประชัน หรือพูดจาแดกดัน จนทำให้ลูกน้องจับความรู้สึกได้ว่าอันที่จริง "คุณไม่เห็นด้วย"
แบบนี้จึงเรียกว่า "มืออาชีพ" เพราะสำหรับผม คำว่ามืออาชีพหมายความว่า "การตั้งใจทำในสิ่งที่ไม่เห็นด้วยอย่างสุดความสามารถ" ครับ
อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา
apiwut@riverorchid.com