Q: ทำงานโครงการเร่งด่วน จำเป็นต้องจ้างพนักงานใหม่ที่มีประสบการณ์เพิ่มเติม เพื่อดำเนินงานให้ทันตามสัญญา แต่ภายหลังสัมภาษณ์ หัวหน้าไม่อนุมัติ เนื่องจาก เรียกเงินเดือนสูงกว่า มาตรฐานของพนักงานเดิมที่มีอายุงานและ ประสบการณ์เท่ากัน อย่างนี้ควรทำอย่างไรดีครับ
A: ทำ 3 อย่างครับ
1. คุยกับหัวหน้าให้ชัดเจนก่อนว่า หัวหน้าเห็นด้วยหรือไม่ว่า โครงการที่ทำอยู่นี้ จำเป็นต้องจ้างพนักงานใหม่เพิ่ม หากเห็นด้วย ควรพูดคุยให้เข้าใจตรงกันว่า พนักงานที่จ้างใหม่นี้ จะมาทำงานเป็นพนักงานประจำหรือ พนักงานชั่วคราว (บ่อยครั้ง งานที่มีลักษณะเป็นโครงการ มักมีระยะเวลาเสร็จสิ้นชัดเจน ดังนั้นหากไม่ตกลงกันตั้งแต่แรก เมื่อจบโครงการ บุคลากรที่จ้างมาใหม่นี้ อาจกลายเป็นส่วนเกิน ที่ต้องหาทางกำจัด ทำให้เสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายและ เสียความรู้สึกกันไปทุกฝ่าย) นอกจากนั้น ควรตกลงกับหัวหน้า ให้ชัดเจนด้วยว่า คุณสมบัติของพนักงานใหม่ที่จะจ้างนี้ ควรเป็นอย่างไร หน้าที่หรือ งานที่ต้องรับผิดชอบคืออะไรและ ที่สำคัญค่าจ้างหรือเงินเดือนเท่าไรที่หัวหน้ารับได้ ปัญหาที่เกิดขึ้นตามที่เล่ามาให้ฟังข้างต้น ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะคุณไม่ได้คุยกับหัวหน้าในประเด็นต่างๆ ให้ชัดเจนก่อนตัดสินใจ ดังนั้นเมื่อตัดสินใจไปแล้ว จึงมาพบภายหลังว่าหัวหน้าไม่เห็นด้วย
2. หลังจากทำข้อ 1 แล้ว หากหัวหน้าเห็นด้วยว่าควรจ้างคนเพิ่ม ลองมองหาผู้สมัคร (Candidate) คนอื่นๆ เพิ่มเติมสักอีกสัก 3 - 4 คน ลองสัมภาษณ์พูดคุยดู อาจโชคดีได้คนที่มีความสามารถ ในราคาที่บริษัทจ่ายไหว ก็เป็นได้
3. หากพยายามทำข้อ 2 แล้ว ไม่ได้คนที่ถูกใจ หรือพบว่าคุณสมบัติของคนที่ต้องการ ไม่สามารถจ้างได้ ในราคาที่หัวหน้ากำหนดไว้ ให้หาหลักฐานเพิ่มเติม แล้วกลับไปพูดคุยโน้มน้าว (Convince) หัวหน้าอีกครั้ง โดยใช้ทักษะการขายขั้นเทพ ที่เรียกว่า F.A.B.E ( อ่านว่า ฟาเบ้ ซึ่งเป็นแนวทาง ที่พนักงานขาย ชั้นยอดในหลายองค์กรใช้กัน ) โดยมีรายละเอียดดังนี้
F (Fact) : พูดถึงความจริงที่เกิดขึ้น เช่น " พี่ครับ ผมมีโอกาสสัมภาษณ์ผู้สมัคร ตามคุณสมบัติที่เรากำหนดมา ทั้งหมด 10 คน พบว่า คนที่คิดว่าน่าสนใจและ ทำงานให้เราได้ มีเงินเดือนสูงกว่าที่กำหนดไว้ทั้งหมด ผมจึงอยากเสนอให้ ขยับงบเงินเดือนที่ตั้งไว้ เพิ่มอีกสัก 3,000 บาท " เป็นต้น
A (Advantage) : พูดถึงข้อดี หากทำตามที่เสนอข้างต้น เช่น " เพราะการปรับเงินเพิ่มอีก 3,000 บาท จะทำให้เรา ได้คนที่มีประสบการณ์ ในงานนี้โดยตรง เข้ามาช่วยเราได้ทันที โดยไม่ต้องเสียเวลาสอนงานอีก ในทางกลับกัน หากเราจ้างคนที่มีเงินเดือน ถูกกว่านี้เข้ามา จะได้คนที่ไม่มีประสบการณ์ ทำงานไม่ได้ ต้องเสียเวลาสอน กว่าจะเป็นคงต้องใช้เวลาอีก 2 เดือนเป็นอย่างน้อย " เป็นต้น
B (Benefit) : พูดถึงประโยชน์ที่ผู้ฟังหรือ องค์กรจะได้รับ หากตัดสินใจเลือกทางที่เสนอ เช่น " หากเราได้คนนี้เข้ามา ผมเชื่อมั่นว่า งานจะเสร็จทันตามสัญญา ทำให้ไม่ต้องเสี่ยงที่จะถูกปรับ ซึ่งเงินค่าปรับ อาจสูงกว่าเงินที่เสียไป เพื่อจ้างคนๆ นี้ เสียอีก " เป็นต้น
E (Evidence) : หาหลักฐานต่างๆ มาประกอบการพูด เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ เช่น " ผมได้นำข้อมูล รายละเอียดของผู้สมัครทั้ง 10 คน ที่มีโอกาสพูดคุย มาให้ดู ซึ่งจะเห็นได้ว่า ทุกคนรับเงินเดือนในปัจจุบัน สูงกว่าเงินเดือน ที่เราตั้งไว้อีกครับ " เป็นต้น
การพยายามนำเสนอตามรูปแบบ F.A.B.E นี้ อาจไม่สามารถการันตีได้ว่า จะได้รับอนุมัติตามที่เสนอ แต่รับรองได้ว่า " โอกาสที่จะได้รับการอนุมัติ " มีมากขึ้น กว่าการนำเสนอ ด้วยวิธีการอื่นๆ พิสูจน์มาแล้วครับ
อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา
apiwut@riverorchid.com