xs
xsm
sm
md
lg

บริหารจัดการคนที่แตกต่างกัน ทำอย่างไรดี โดย อ.อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อ.อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา กรรมการบริหาร บริษัท ออคิด สลิงชอท จำกัด
Q: ที่ทำงานค่อนข้างให้ความสำคัญในเรื่องเวลาการเข้างานมากค่ะ โดยมีกฎอยู่ว่าหากขาดลามาสายไม่เกิน 4 ครั้ง /เดือน ก็จะมีเงินพิเศษให้รายเดือน จากการที่ บริษัทให้ความสำคัญในเรื่องเวลาการเข้างาน จึงทำให้เกิดประเด็นดังนี้ค่ะ

1. ลูกน้อง A พนักงานขาย คนนึง มาประมาณ 8.15 เกือบทุกวัน แต่ทำงานได้ดี ไม่รู้จะตักเตือนอย่างไร พูดจนเหนื่อย พอโบนัสปลายปี ไม่ดี ก็งอนเพราะเค้าคิดว่าเค้าทำงานดี แต่ทำไม ได้เงินน้อยกว่าอีกคนที่ทำงานปานกลาง แต่ลืมไปว่าอีกคนนั้นทำทุกอย่างเข้าเกณฑ์ที่จะได้โบนัส ที่ตั้งเอาไว้

2. ลูกน้อง B พนักงานขาย ก็จะมาสายเฉพาะวันจันทร์ 9-10 โมง ไม่เกรงใจ แต่วันที่เหลือมาเร็วปกติ คำนวณแล้วเดือนนึงสาย 4 ครั้งพอดี ก็จะได้เงินพิเศษไป

3 ลูกน้อง C คนขับรถ จะลาออกอยู่เรื่อย ต้องคอยเพิ่มเงินเดือน ชักยังไงๆ อยู่ เนื่องจากคนขับรถหายาก ก็ต้องง้อ พอขึ้นคนนี้ ก็ต้องพลอยขึ้นคนอื่น เพราะว่ากลัวอีกคนน้อยใจ

จะบริหารจัดการอย่างไรดีคะ รบกวนขอความคิดเห็นด้วยค่ะ

A: การบริหารจัดการคนแต่ละคน ต้องมีหลักการเดียวกันแต่ปรับวิธีการให้แตกต่างกันตามปัญหาของแต่ละคน เช่นหากการมาทำงานตรงเวลาเป็นเรื่องสำคัญ ก็ควรเป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกคนไม่มีใครควรได้อภิสิทธิมากกว่าคนอื่นๆ แต่วิธีการพูดคุยและบริหารจัดการแต่ละคนต้องแตกต่างกันไปตามปัญหาและลักษณะเฉพาะตนของคนๆนั้น

1. สำหรับลูกน้อง A : ผมเสนอว่า "หยุดพูด" ได้แล้วครับ การพูดคงใช้ไม่ได้ผลกับเธอ (เพราะถ้าได้ผลเธอคงน่าจะดีขึ้นไปนานแล้ว) ใช้วิธีอย่างนี้ดีไหมครับ กำหนดไปเลยว่าโบนัสสำหรับคนมาทำงานตรงเวลา 100% จะได้เท่าไร เช่นได้ 1 เท่าของเงินเดือน ในแต่ละปีมีเวลาทำงานประมาณ 52 สัปดาห์ คิดง่ายๆ ก็ 50 สัปดาห์แล้วกัน เพราะฉะนั้นแต่ละสัปดาห์ก็เท่ากับ 2% (คิดว่าเงินเดือนหนึ่งเดือนเท่ากับ 100%) จากนั้นบอกพนักงานทุกคนว่าโบนัสส่วนนี้ของเขาเริ่มต้นที่ 100% เท่ากันทุกคน สัปดาห์ใดมาไม่ตรงเวลา (เกินกว่า 1 ครั้ง) สัปดาห์นั้นๆ ก็จะไม่ได้โบนัสส่วนของสัปดาห์นั้นไป (คือหัก 2%) หากสัปดาห์ใดมาตรงเวลาครบตามกำหนดก็จะได้ส่วน 2% ของสัปดาห์นั้นๆ จากนั้นให้พนักงานแต่ละคน มีสมุดบันทึกโบนัสส่วนนี้ของตนเอง ให้ทำการบันทึกเวลาที่มาทำงานตรงเวลา/มาทำงานสาย ในแต่ละอาทิตย์ แล้วนำมาให้คุณลงนามทุกๆ อาทิตย์ การทำแบบนี้พนักงานจะรับทราบเองว่า อาทิตย์ไหนเค้าจะได้เงินโบนัสหรือไม่ ลองดูครับ บางบริษัทใช้วิธีการคล้ายๆ กันแบบนี้ แล้วดีขึ้น

2. สำหรับลูกน้อง B : ผมมีความเห็นว่า หากคนที่มาสายครบตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ 4 ครั้ง พวกเขาไม่ควรได้เงินพิเศษเท่ากับคนที่ไม่มาสายเลย เพราะหากไม่เช่นนั้นจะทำให้พนักงานรู้สึกว่าการมาทำงานตรงเวลาทุกวัน กับการมาสายอาทิตย์ละครั้ง จะได้รับรางวัลเท่ากัน เสนอว่าควรปรับเป็นแบบนี้ดีไหมครับ หากไม่สายเลย (มาตรงเวลา 100%) ได้รับรางวัลเต็มจำนวน หากมาสาย 1 ครั้งได้ 75% ของจำนวนเงินรางวัล หากมาสาย 2 ครั้งได้ 50% มาสาย 3 ครั้งได้ 25% และหากมาสายครบ 4 ครั้ง ก็จะไม่ได้เงินรางวัลเลย หรือถ้าสงสารก็ให้สัก 10% ส่วนสายครั้งที่ 5,6,7... จะมีผลต่อโบนัสปลายปี ตามข้อ 2

3. สำหรับลูกน้อง C : การขึ้นเงินเดือนให้เมื่อพนักงานจะลาออก (ไม่ว่าพนักงานคนนั้นเป็นใคร) เป็นการกระตุ้นให้พนักงานใช้การลาออกมาเป็นเครื่องมือ ในการต่อรองเงินเดือน ซึ่งเป็นเรื่องไม่สมควร ผมคิดว่ากรณีนี้ พนักงานขับรถคงเรียนรู้แล้วว่า หากอยากได้เงินเพิ่มก็มาบอกว่า "จะลาออก" ที่สำคัญคงรู้ว่า คุณยังไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องพึ่งพาเขา ดังนั้นในระหว่างนี้ผมคิดว่าคุณควรมองหาคนขับรถคนใหม่ไปพร้อมๆ กัน ผมว่าคนขับรถหาไม่ยากนะครับ บางทีอาจจะยอมใช้บริษัทจัดหางานบ้าง ยอมจ่ายเงินให้เขานิดหน่อยเป็นค่าหา หรือไม่ก็ใช้บริษัท Outsource สำหรับคนขับรถไปเลย พอคนขับรถลาออก ทางบริษัทก็จะจัดคนใหม่มาให้ ยอมจ่ายแพงกว่าอีกนิด เอาเวลาที่ต้องปวดหัวไปทำอย่างอื่นที่มีประโยชน์และ ได้เงินมากกว่า ดีกว่าต้องมาเสียเวลาและ เสียอารมณ์กับเรื่องที่ไม่ค่อยเป็นเรื่องเท่าไร หากอยากได้ข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทจัดหางานหรือบริษัท Outsource ลองค้นหาดูจาก Internet มีให้เลือกมากมายเลยครับ

ลองดูครับ ได้เรื่องหรือไม่อย่างไร ส่งข่าวด้วยนะครับ เผื่อเป็นประโยชน์กับคนอื่นๆ

อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา
apiwut@riverorchid.com
กำลังโหลดความคิดเห็น