xs
xsm
sm
md
lg

สั่งงานอย่างไร ให้ลูกน้องยอมรับ โดย อ.อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อ.อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา กรรมการบริหาร บริษัท ออคิด สลิงชอท จำกัด
Q : ลูกน้องมักชอบบ่นทุกครั้งที่มอบหมายงานให้เพิ่มเติมหรือบอกให้ทำงานให้ละเอียดขึ้น รบกวนช่วยบอกวิธีการสั่งงานให้ลูกน้องยอมรับหน่อยค่ะ

A : ผมว่าคำถามนี้แบ่งปัญหาออกเป็น 2 ประเด็น เรื่องแรกเป็นประเด็นเรื่องการมอบหมายงานแล้วลูกน้องบ่น ส่วนอีกเรื่องเป็นประเด็นการให้ Feedback เรื่องการทำงานไม่ละเอียด ขอตอบแยกประเด็นนะครับ

กรณีแรก : การมอบหมายงาน

ผมคิดว่าต้องมองหาสาเหตุก่อนว่าเขาบ่นว่าอะไร เช่น บ่นว่างานเยอะ บ่นว่างานยาก บ่นว่าทำไมเป็นเขาไม่เป็นคนอื่น หรือบ่นว่ามีเวลาน้อยไปในการทำ เป็นต้น ดูก่อนว่าเขามีปัญหาอะไร พนักงานบางคนบ่นเพราะมีปัญหาจริงๆ แต่บางคนบ่นเพราะเป็นนิสัย ออกแนวบ่นไปทำไป ขอให้ได้บ่น หากเป็นแบบแรกคงต้องหาทางแก้ไข พูดคุยกันว่าปัญหาคืออะไร มีอะไรที่พอจะช่วบบรรเทาหรือทุเลาได้บ้าง การบ่นแบบนี้ไม่ควรถูกมองในแง่ลบเพราะพนักงานติดปัญหาจริงๆ ไม่ควรโกรธหรือไม่พอใจเขา ในทางกลับกันควรขอบคุณด้วยซ้ำที่ช่วยบอกจะได้หาทางแก้ไข แต่หากเป็นแบบที่สองคือเป็นนิสัย อันนี้คงต้องค่อยๆ หาทางพูดคุย สอนและตักเตือน ผมเห็นพนักงานหลายคนที่เป็นคนทำงานดีทำงานเก่งแต่ขี้บ่น บางคนหากสนิทกันผมจะบอกเลยครับว่าถ้าเขาทำแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ก็จะกลายเป็น "คนเก่งที่ไม่น่ารัก" ในสายตาคนอื่น

กรณีสอง : การทำงานให้ละเอียดขึ้น

ความเห็นผมคล้ายๆ กับกรณีแรกคือต้องหาสาเหตุก่อนว่าเขาบ่นเพราะอะไร แต่มีเพิ่มเติมนิดหน่อย อันที่จริงความละเอียดนี่วัดยากเพราะละเอียดของคุณกับละเอียดของเขาอาจจะไม่เท่ากัน บางทีพนักงานอาจคิดว่าที่ทำมานี่ก็ละเอียดที่สุดแล้ว แต่คุณอาจจะเห็นว่าน่าจะละเอียดได้กว่านี้ อันนี้ผมมีประสบการณ์ตรงเลยครับ ผมเคยมีหัวหน้าคนหนึ่ง สไตล์การทำงานของเธอต้องเรียกว่า "ซุปเปอร์อภิมหาละเอียด" งานทุกๆ งานต้องแก้อย่างน้อย 3-4 ครั้งกว่าจะคลอดออกมาได้ อันที่จริงก็ยอมรับว่าผมไม่ได้เป็นคนทำงานละเอียด แต่ตั้งแต่มาอยู่กับเธอก็คิดว่าตนเองละเอียดขึ้นมาก ที่สำคัญเครียดสุดๆ ไม่ชอบเลย คิดอยากจะลาออกหลายครั้ง แต่ในที่สุดได้มีโอกาสคุยกันตอนประเมินผล หัวหน้าตำหนิผมเรื่องนี้ ก็เลยมีโอกาสได้พูดความรู้สึกของเราบ้าง ใหม่ๆ ก็กลัวๆ แต่พี่เขารับฟังเป็นอย่างดีและพยายามแสดงความเข้าใจในความรู้สึกของผม ตอนนั้นผมรู้สึกว่าบรรยากาศการพูดคุยดีมาก ในที่สุดเราตกลงกันได้ว่าผมจะเพิ่มความละเอียดขึ้นโดยเฉพาะเรื่องตัวสะกดและเครื่องหมายวรรคตอนในจดหมายและบันทึกทุกๆ ฉบับที่ต้องส่งออกไปนอกหน่วยงาน ส่วนพี่เขาก็ตกลงที่จะอะลุ่มอล่วยบ้างในกรณีที่เป็นเอกสารที่สื่อสารกันภายในหน่วยงานเอง แม้เธอจะดูไม่ค่อย Happy นักกับการที่ต้องลดมาตรฐานความละเอียดลง แต่เธอก็ยอมถอยกันคนละก้าว

ดังนั้นเรื่องนี้ผมจึงอยากแนะนำให้ทำอย่างหัวหน้าเก่าของผมครับ เปิดใจรับฟัง แสดงความเข้าใจในความรู้สึกของพนักงาน (การแสดงความเข้าใจไม่ได้แปลว่าต้องเห็นด้วยกับสิ่งที่พนักงานพูดเสมอไป) และหาทางปรับจูน "ความละเอียด" ในการทำงานร่วมกัน ในช่วงแรกๆ อาจยอมถอยสักก้าว เพื่อที่จะเดินหน้าต่อไปด้วยกันได้ดี เมื่อพนักงานรู้สึกว่าหัวหน้ารับฟังและพยายามเข้าใจ ผมเชื่อว่าต่อไปพนักงานก็จะเปิดใจรับฟังมากขึ้นครับ

อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา
apiwut@riverorchid.com
กำลังโหลดความคิดเห็น