xs
xsm
sm
md
lg

ถ้าหากลูกน้องของคุณไม่ถูกกันจะจัดการอย่างไรดี โดย อ.อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อ.อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา กรรมการบริหาร บริษัท ออคิด สลิงชอท จำกัด
Q: ในแผนกมีลูกน้อง 2 คนที่ไม่ถูกกัน ทำให้คนอื่นในทีมพลอยมีปัญหาในการทำงานไปด้วย อยากให้อาจารย์แนะนำว่าจะจัดการกับเรื่องนี้อย่างไรดี

A: ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดา อยากให้ทุกคนมีทัศนคติที่ถูกต้องในเรื่องของความขัดแย้งเสียก่อน อันที่จริงความขัดแย้งเป็นเรื่องดี หากอยู่ภายใต้การควบคุม เพราะความขัดแย้งนำมาซึ่งแนวทางใหม่ๆ ยกตัวอย่างเช่นในสมัยก่อนทุกคนเชื่อว่าโลกแบน หากเดินทางไปสุดทะเลจะตกโลก ลองคิดดูว่าถ้าทุกคนเชื่อตามนั้น ไม่มีใครคิดเห็นขัดแย้งเลย เราคงไม่รู้จักทวีปอเมริกา !

ดังนั้นเมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้น อย่ากดความขัดแย้งไว้ แต่ต้องบริหารความข้ดแย้งนั้น จำไว้อย่างหนึ่ง “เป็นไปไม่ได้หรอกที่จะทำให้คนทุกคนรักกันและไม่ขัดแย้งกันเลย” ดูง่ายๆ พี่น้องเกิดมาจากท้องพ่อท้องแม่เดียวกัน ขัดแย้งจนฆ่ากันตายมีให้เห็นเยอะแยะ นับประสาอะไรกับคนที่เกิดมาจากคนละพ่อละแม่ แต่เผอิญมาทำงานที่เดียวกันจะไม่ให้ขัดแย้งกันเลย .... คงจะยาก !

แนวทางในการบริหารความขัดแย้งที่อยากแนะนำคือ

1. ฟังทั้งสองฝ่ายทีละคน ซึ่งอาจพบว่าเรื่องราวต่างกันเหมือนหนังคนละม้วน...การแก้ปัญหาโดยการเรียกคู่กรณีมาคุยพร้อมๆ กัน มักไม่ค่อยได้ผลกับคนไทย เพราะถ้าไม่ทะเลาะกันจน บ้านแตก ก็อาจจบลงด้วยการที่ไม่มีใครอยากพูดอะไร

2. ใช้วิจารณญาณ ค้นหาสาเหตุของความขัดแย้ง ว่าเกิดจากเรื่องอะไร...ปกติความข้ดแย้งมักมีสาเหตุมาจากเรื่องใดเรื่องหนึ่งดังต่อไปนี้

     ก. การสื่อสารที่คลาดเคลื่อน เช่นใครสักคนไปได้ยินมาว่า คนนั้นพูดกับคนโน้นว่าคนนี้ไม่ดีเรื่องนี้ เป็นต้น

     ข. ผลประโยชน์ขัดกัน เช่น KPI ของคนสองคนหรือสองหน่วยงานขัดแย้งกัน หากคนหนึ่งทำได้สำเร็จตาม KPI จะทำให้อีกคนไม่สำเร็จ เป็นต้น

     ค. สไตล์การทำงานไม่เหมือนกัน เช่นคนหนึ่งช่างพูด อีกคนหนึ่งเงียบๆ คนหนึ่งละเอียดมาก อีกคนหนึ่งไม่ค่อยลงรายละเอียด เป็นต้น

     ง. ไม่ถูกกันเป็นการส่วนตัว เช่น มีปัญหาแย่งแฟนกัน หรือ ไม่ชอบขี้หน้ากันซะงั้น

3. พิจารณาหาวิธีการไกล่เกลี่ย โดยดูจากต้นตอของปัญหาเป็นหลัก

4. หากไม่สำเร็จ ก็ยอมรับว่าคนสองคนนี้คงไม่รักกันเป็นแน่แท้ ดังนั้นขออย่างเดียวอย่าสร้างปัญหาในการทำงานและอย่าสร้างความเดือดร้อนให้กับคนอืี่นเท่านั้น ... เอางานเป็นเส้นแบ่ง

5. หากก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือความเสียหายขึ้น ก็ดำเนินการทางวินัยตามขั้นตอนที่เหมาะสมต่อไป

หวังว่าพอได้แนวทางบ้าง

อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา
apiwut@riverorchid.com
กำลังโหลดความคิดเห็น