xs
xsm
sm
md
lg

MUSASHI-มิยาโมโตะ มุซาชิ ภาค 2 น้ำ ตอน คัปปะเจ้าพรายน้ำ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นวนิยายอิงประวัติศาสตร์
ตำนานนักดาบผู้ก่อกำเนิดสำนักนิเท็นอิจิริว และ คัมภีร์ห้าห่วง
บทประพันธ์ของ โยชิกาวะ เออิจิ (1892-1962)
-แปลและเรียบเรียงโดย ฉวีวงศ์ อัศวเสนา

1

“ทาเกโซ”แม่เฒ่าโอซุงิเรียกชื่อเจ้าหนุ่มนักดาบอีกครั้ง แล้วเชือดเฉือนด้วยคำพูดก่อนที่จะลงดาบ

“ฮะ...ลืมไปแล้วรึว่าคนที่หมู่บ้านเรียกเอ็งว่าทาเกโซ เจ้าทาเกโซเด็กเกเร และข้า...แม่เฒ่าคนนี้เรียกเอ็งว่า ไอ้ทาเกโซเด็กวายร้าย ไหนเขาว่าเดี๋ยวนี้เอ็งเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น มิยาโมโตะ มูซาชิงั้นรึ ช่างใหญ่โตเสียจริง...โฮะ โฮะ โฮะ” แม่เฒ่าหัวเราะหัวสั่นหัวคลอนจนเหนียงใต้คางไหวตามไปด้วย

“คิดว่าเปลี่ยนชื่อแล้วคนอย่างข้าจะหาเอ็งไม่เจอละซีไอ้หน้าโง่ เบิ่งตามองบนฟ้าเหนือกระบาลเอ็งเสียมั่ง เทพเจ้าเหล่าเทวดาท่านส่องแสงรัศมีนำทางข้าให้ตามเอ็งมาติด ๆ ไม่มีทางหนีแล้วไอ้ทาเกโซเด็กวายร้าย...เข้ามา วันนี้จะได้รู้กันไปข้างหนึ่งว่าเอ็งจะปั่นคอข้า หรือข้าจะได้ดับชีวิตชั่ว ๆ ของเอ็ง”

อากง ญาติผู้ใหญ่ประจำหมู่บ้านแค่นหัวเราะเสียงแหบแห้งก่อนสำทับว่า

“ข้ากับนายแม่บ้านใหญ่ออกจากหมู่บ้านมิยาโมโตะตามไล่ล่าเอ็งมานานนับได้ห้าปี ใครจะรู้บ้างว่าเราสองคนต้องตกระกำลำบากแสนสาหัสแค่ไหน นับว่าเป็นบุญที่ได้มาไหว้พระอธิษฐานที่วัดคิโยมิซุแห่งนี้และสวรรค์บันดาลให้ได้พบเอ็งดังใจ ข้าฟูจิกาวะ กงโรกุถึงจะแก่ชรา แต่ก็ไม่มีวันอ่อนข้อให้กับเด็กที่ปากยังไม่ทันสิ้นกลิ่นน้ำนมอย่างเอ็ง จงทำใจไว้ว่าวันนี้เอ็งต้องสิ้นชื่อแน่”

ว่าแล้วพ่อเฒ่าก็ชักดาบออกจากฝักดังขวับ คมสังหารของเหล็กกล้าสะท้อนแสงเป็นประกายวาววับ

“นายแม่ อย่าออกไปเสี่ยงอย่างนั้น หลีกไป...ข้าจัดการเอง”

พออากงถลันเข้าขวางหน้าก็ถูกแม่เฒ่าด่าทำตาขวาง

“เจ้านั่นแหละหลีกไป...อากง อย่ามาทำเป็นอวดดี ระวังแข้งขาของตัวเองเถิด โดนโรคไขข้อกินจนยืนจะไม่อยู่แล้ว”

“นอนใจเถิดนายแม่ พระโพธิสัตว์ทุกองค์ที่วัดคิโยมิซุปกป้องคุ้มครองเราอยู่”

“ใช่และปู่ย่าตาทวดของตระกูลฮนอิเด็นบนสวรรค์ก็จะช่วยคุ้มครองเราด้วย ถ้าอย่างนั้นอากง...เจ้าช่วยเป็นดาบสองให้ข้าด้วยหากว่าต้องพลาดพลั้ง และล้างแค้นแทนข้าอย่าได้ถอยเลยนะเจ้า”

“มูซาชิ...กล้าดีก็เข้ามา”

“เข้ามา”

พ่อเฒ่าแม่เฒ่าชักดาบออกมาตั้งท่ารับอย่างอาจหาญและร้องท้า ทว่ามูซาชิยังยืนนิ่งทั้งยังไม่ตอบโต้ราวกับเป็นใบ้ แม่เฒ่าโอซุงิจึงร้องท้าเสียงดังขึ้นไปอีก

“กลัวพวกเรารึ ทาเกโซ”

ว่าแล้วก็ก้าวเท้าไปข้าง ๆ ด้วยท่าของนักดาบที่หาจังหวะเข้าทะลวงฟัน แต่ไม่รู้ว่าไปสะดุดก้อนหินหรืออะไรเข้า จึงเสียหลักเซแซ่ด ๆ ล้มลงไปและกว่าจะเอามือยันพื้นหยุดไว้ได้ก็ปรากฏว่า กลิ้งไปถึงปลายเท้าของมูซาชิพอดี

“เฮ้ย...ถูกฟันเละแน่”

ผู้คนที่มุงดูอยู่ร้องสียงขรม มองหน้ากันเลิ่กลั่ก

“รีบเข้าไปช่วยซี เร็วเข้า”

หลายคนตะโกนเอะอะ แต่อากงผู้ได้รับมอบหมายให้เป็นดาบสองเสียศูนย์ ทำอะไรไม่ถูกได้แต่จ้องหน้ามูซาชิตาค้างอยู่อย่างนั้น

ฝ่ายแม่เฒ่าโอซุงิใจแกร่งกล้าไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ กระเสือกกระสนไปหยิบดาบที่กระเด็นไปตอนหกล้มขึ้นมา ยันตัวขึ้นแล้วกระโจนตัวลอยกลับไปที่ข้างอากง แล้วตั้งท่าเข้าใส่มูซาชิอีกครั้งทันทีพร้อมตะโกนท้า

“ไอ้โง่ พกดาบเป็นเครื่องประดับหรือไง หรือว่าไม่มีฝีมือจะมาต่อกรกับข้า เข้ามา”

มูซาชิที่ทำหน้านิ่งไร้ความรู้สึกเหมือนใส่หน้ากากมาตลอด ตอบเป็นคำแรกด้วยเสียงดังกังวานไปทั่วบริเวณว่า

“ไม่”

แล้วก้าวเดินตรงเข้ามาที่สองผู้เฒ่า อากงกับแม่เฒ่าโอซุงิกระโจนออกไปคนละทาง

“ทาเกโซ อ...เอ็งจะไปไหน บอกมา”

“ไม่”

“หยุดเดี๋ยวนี้”

“ไม่”

มูซาชิตะโกนตอบสั้นห้วนคำเดียวทั้งสามครั้ง ขณะเดินตรงแน่วผ่ากลางฝูงคนออกไปโดยไมเหลียวซ้ายแลขวา

“หนีรึ”

พอเห็นสองผู้เฒ่าลุกลี้ลุกลนตั้งท่าจะตามไป พวกคนแบกคานหามก็วิ่งกรูกันออกไปล้อมวงดักหน้าเอาไว้ ส่งเสียงสั่งกันไปมาว่า “อย่าปล่อยให้หนีรอดไปได้นะเอ็ง”

“อ้าว เฮ้ย”

“เอ๊ะ ?”

คิดว่าล้อมวงดักกั้นเอาไว้ดีแล้ว แต่มองเข้าไปไม่เห็นแม้แต่เงาของมูซาชิ

เอะอะกันอยู่อีกพักใหญ่ และพอเห็นว่าไร้ประโยชน์จึงแยกย้ายกันกลับไปทางซังเน็นซากะบ้างทางจาวังซากะ ระหว่างนั้นมีคนบอกว่าเห็นมูซาชิกระโดดตัวลอยเหมือนแมวขโมย ข้ามรั้วข้างซุ้มประตูด้านตะวันตกที่สูงถึงราวหกศอกหายวับไปกับตา แต่ไม่มีใครเชื่อ อากงกับแม่เฒ่าโอซุงิไม่เชื่อใครทั้งนั้น ยังหากันควั่กอยู่จนเย็นค่ำ หวังอยู่ว่าอาจพบตัวอยู่ใต้ถุนวิหารที่ไหนสักแห่งถ้าไม่เช่นนั้นก็คงหนีเข้าป่าหลังวัดไปแล้ว


2

ตุ๊บ ตั๊บ...เสียงทุบฟางข้าวในครกกระเดื่องสะเทือนไปทั่วหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่อยู่ชายขอบเหนือสุดของนครหลวง ชาวบ้านยากจนอดอยาก แม้ยามเย็นเช่นยามนี้ยังเห็นควันจากเตาหุงข้าวลอยกรุ่นออกมาจากน้อยบ้านนัก ฝนหลงฤดูชะหลังคาบ้านคนเลี้ยงวัวและช่างทำกระดาษ แซกลงไปหมักหญ้าแฝกที่มุงอยู่ให้เน่าเหม็น

เด็กชายร่างปราดเปรียววิ่งเข้าไปเกาะขอบประตูห้องด้านหน้าที่พื้นเป็นดินอัดแข็งของโรงเตี๊ยม ที่เขียนชื่อบนหมวกฟางห้อยไว้ที่ชายคาว่า...คิจิน แล้วส่งเสียงแหลมสูงเรียกเข้าไปในร้าน

“ปู่ ปู่อยู่รึเปล่า”

เด็กอายุราวสิบหรือสิบเอ็ดขวบคนนี้เป็นเด็กร้านเหล้าเจ้าประจำ ผมยาวเป็นกระเซิงปิดลงมาถึงหูตอนนี้โดนฝนเป็นประกายวิบวับ เสื้อผ้าเปื้อนโคลนไปทั้งตัว ใครเห็นเข่าแวบ ๆ คงสะดุ้งเพราะคิดว่าขัปปะเจ้าพรายน้ำผุดขึ้นมาจากรูปเขียน

“โจรึ”

ลุงเจ้าของโรงเตี๊ยมคิจินส่งเสียงตอบออกมา

“ใช่จ้ะปู่”

“วันนี้ไม่ต้องเอาเหล้าสาเกมาหรอกนะ เพราะแขกยังไม่กลับมา”

“เอามาเตรียมไว้ไม่ดีหรือปู่ แขกกลับมาก็ต้องมีให้เขาดื่มอยู่ดี”

“ไม่ต้องหรอก ถ้าแขกเขาอยากดื่ม ข้าก็จะไปเอาเอง”

“ปู่...ทำอะไรอยู่เหรอ”

“อ๋อ ข้ากำลังเขียนจดหมาย จะฝากคนจูงม้าขึ้นไปบนภูเขาคูรามะวันพรุ่งนี้ ลงมือเขียนแล้วแต่กว่าจะคิดตัวอักษรออกมาได้แต่ละตัวมันช่างลำบากนัก หลังขดหลังแข็งไปหมดแล้ว จะไปไหนก็ไป อย่ามาซักถามอะไรให้หนวกหู”

“อะไรกันปู่ แก่จนหลังโกงแล้วยังจำตัวหนังสือไม่ได้อีกรึ”

“เอ๊ะ เจ้านี่วอนเสียแล้ว เป็นเด็กเป็นเล็กมาทำอวดดี เดี๋ยวได้โดนไม้ฟืนเข้าให้หรอก”

“กลัวแล้ว...อย่าปาออกมานะปู่ มานี่ข้าเขียนให้”

“เจ้าน่ะรึจะเขียนให้”

“ก็ใช่น่ะซี”

เด็กชายกระโดดเข้าไปในบ้าน พอเห็นตัวหนังสือที่พ่อเฒ่ากำลังปั้นอยู่ก็ชี้นิ้วหัวร่อก้าก

“ฮะ ฮะ ฮะ...นั่นปู่เขียนตัวอะไรน่ะ ...จะเอาคันเบ็ดไปให้ใครเหรอ”

“อย่างมายุ่ง”

“จะไม่ให้ยุ่งได้ไง มันทนดูไม่ได้อ่ะ ปู่จะส่งคันเบ็ดไปให้เพื่อนบนภูเขาคูรามะเหรอ”

“คันเบ็ดที่ไหนล่ะ ข้าจะส่งหัวมันขึ้นไปต่างหาก”

“ก็เขียนว่าหัวมันซี จะเขียนว่าคันเบ็ดทำไม ปู่อย่าดื้อเลยน่า ยอมรับเถิดว่าเขียนตัวคันจิผิด แต่ก็อย่างว่าแหละตัวมันคล้ายกัน”

“ถ้าข้ารู้แต่แรก ก็เขียนถูกแล้วละ”

“โอ้โห นี่มันจดหมายอะไรของปู่เนี่ย สงสัยปู่จะอ่านรู้เรื่องอยู่คนเดียว”

“พูดดีนัก เอ้า...เอาไปเขียนเลย”

พ่อเฒ่าส่งพู่กันให้อย่างกระแทกกระทั้น

“ข้าเขียนให้ไม่ต้องบ่น อย่าบ่นเลยนะ”

โจทาโรเด็กร้านเหล้านั่งลง หยิบพู่กันขึ้นมาแล้วตั้งท่าทะมัดทะแมง

“ว้า แย่จัง”

“อะไร แย่อะไร ตัวเองก็เขียนไม่เป็นละซี”

“แย่น่ะซี จะให้เขียนยังไงได้ กระดาษเปื้อนขี้มูกเต็มเลย”

“จริงด้วย ไม่ได้ ๆ “

พ่อเฒ่าขยุ้มกระดาษที่แกเขียนค้างไว้ขึ้นมาสั่งขี้มูก เสร็จแล้วขยำเป็นก้อนปาทิ้งไปทางหนึ่ง

“เอาละปู่ จะให้เขียนยังไงว่ายังไงก็บอกมา”

โจทาโรจับพู่กันถูกวิธี จุ่มน้ำหมึกเขียนตามคำบอกของพ่อเฒ่าอย่างคล่องแคล่วไม่ติดขัด

พอดีกับที่แขกของโรงเตี๊ยมที่ออกไปแต่เช้าโดยไม่ได้เตรียมเครื่องกันฝนออกไปด้วย ก็เดินตัวเปียกปอนย่ำดินโคลนเฉอะแฉะกลับเข้ามา และพอถึงใต้ชายคาก็สลัดถุงใส่ถ่านที่อาศัยคลุมหัวมาทิ้งไว้ตรงนั้น

“เออนะ...ฤดูดอกบ๊วยก็คงจะจบลงแค่นี้”

ชายร่างสูงพึมพำขณะบิดน้ำออกจากชายแขนเสื้อพลางแหงนมองไปที่ต้นดอกบ๊วยบานข้างประตูรั้วที่ได้ชมความงามอยู่ทุกเช้า มูซาชินั่นเอง...เจ้าหนุ่มพักอยู่ในโรงเตี๊ยมคิจินมาได้ยี่สิบกว่าวันแล้วจึงรู้สึกเหมือนกลับบ้าน

เมื่อก้าวเข้าไปในห้องด้านหน้าก็เห็นเด็กร้านเหล้าที่มาถามไถ่ตรวจดูความต้องการเหล้าเป็นประจำ กำลังนั่งหัวชนกันกับพ่อเฒ่าเจ้าของโรงเตี๊ยมทำอะไรกันง่วนอยู่ จึงย่องกริบเข้าไปชะโงกดู

“อะไร...มาแอบดูเค้าทำไม”

พอรู้ว่าเป็นมูซาชิ โจทาโรก็รีบซ่อนพู่กันกับกระดาษข้างหลัง

3

“ขอดูหน่อยซิ” มูซาชิแกล้งยั่วเล่น

“ไม่ได้” เด็กชายสั่นหัวดิก

มูซาชิถอดกางเกงที่เปียกฝนโชกไปทั้งตัวให้พ่อเฒ่าเจ้าของโรงแรมช่วยไปจัดการให้

“ท่านจะดื่มสาเกไหม ข้าจะไปเอามาให้”

“เจ้าหนูนี่ค้าขายเก่งชะมัด ตัวแค่นี้เองดันขายเหล้า”

“เอาสักห้าจอกนะ ท่าน”

“มากไป”

“งั้นก็สามจอกละกัน”

“ข้าดื่มไม่มากขนาดนั้น”

“งั้นจะเอาสักกี่จอก อย่าเขียมนักเลยท่านมูซาชิ”

“เจอพ่อค้าแก่แดดอย่างเจ้านี่แย่หน่อย ข้าไม่ได้เขียมอย่างเจ้าว่าหรอกนะ แต่เป็นนักดาบจน ๆ ที่ไม่มีเงินมาดื่มกินฟุ่มเฟือยแค่นั้น”

“จริงซิ ถ้างั้นเดี๋ยวข้าตวงแถมให้และคิดราคาพิเศษ แต่ท่านต้องแลกด้วยสัญญาว่าจะเล่าเรื่องสนุก ๆ ให้ข้าฟังอีกนะ”

โจทาโรต่อรองเสียงแจ๋วก่อนกระโจนออกไปจากโรงเตี๊ยมแล้ววิ่งฝ่าฝนออกไปด้วยความคึกเต็มที่ มูซาชิมองไปที่จดหมายที่เจ้าหนูเขียนค้างไว้ด้วยความทึ่ง

“นี่เจ้าหนูเขียนเองจริงรึพ่อเฒ่า”

“ใช่ เด็กคนนี้มันเหลือเกินจริง ๆ ท่าน ฉลาดเป็นกรด”

“พ่อเฒ่ามีอะไรให้ข้าใส่บ้างไหม เสื้อนอนก็ได้ ให้ข้ายืมหน่อยเถิด”

“ข้าคิดแล้วว่าท่านคงจะต้องเปียกปอนกลับมาก็เลยเตรียมไว้ให้แล้ว”

มูซาชิออกไปอาบน้ำที่บ่อ เปลี่ยนเสื้อผ้าแล้วกลับมานั่งข้างเตาผิง พ่อเฒ่าเอาหม้ออาหารมาแขวนไว้ที่ตาขอเกี่ยวเหนือกองไฟในเตาผิง พร้อมถ้วยชามและผักดอง

“เจ้าหนูมัวไปทำอะไรอยู่นะ ช้าจริง ๆ”

“อายุสักเท่าไรรึ”

“รู้สึกว่าจะราว ๆ สิบเอ็ดขอรับ”

“ดูจะรู้โลกเกินอายุไปหน่อยไหม”

“ก็น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะเห็นมาเป็นลูกจ้างร้านเหล้าตั้งแต่ราวเจ็ดขวบ ต้องดูแลรับใช้ลูกค้าหลายจำพวก ไม่ว่าจะเป็นพวกคนจูงม้า พวกช่างทำกระดาษแล้วนี้ พวกคนเดินทาง หรืออะไร”

“เอ...ทำงานหามรุ่งหามค่ำอย่างนั้น แล้วจะเอาเวลาที่ไหนมาหัดเขียนตัวหนังสือได้สวยขนาดนี้”

“เจ้าหนูเขียนหนังสือเก่งจริง ๆ หรือท่าน”

“ลายมืออาจจะยังมีความอ่อนวัยแฝงอยู่ แต่ก็ดูมีพรสวรรค์ติดตัวมาแต่กำเนิด ถ้าให้พูดตามวิถีของดาบก็ต้องบอกว่าเส้นสายพู่กันของเด็กคนนี้มีพลังมาก และอาจส่งเสริมให้ได้ดีต่อไปในอนาคตก็เป็นได้”

“ได้ดียังไงหรือท่าน”

“ได้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบไงล่ะ”

“หือ ?”

พ่อเฒ่าเจ้าของโรงเตี๊ยมเปิดฝาหม้อขึ้นชะโงกมองลงไปดูว่าอาหารสุกดีหรือยัง พลางบ่นว่า

“เอ โจทาโรยังไม่มาอีก ไม่รู้ไปเถลไถลอยู่ที่ไหน”

แล้วเดินไปที่ห้องด้านหน้ากะว่าจะออกไปดูเสียหน่อย แต่ใส่รองเท้ายังไม่ทันเสร็จเด็กชายก็วิ่งกระหืดกระหอบกลับมา

“ปู่ ข้าเอาเหล้ามาให้แล้ว”

“เจ้าไปทำอะไรอยู่ที่ไหน แขกท่านรออยู่นานแล้ว”

“โธ่ปู่ ผมกลับไปเอาเหล้าที่ร้าน เจอลูกค้าพวกหนึ่งกำลังเมากันเต็มที่ เรียกข้าไปซักถาม ถามแล้วก็ถามอีก กว่าจะหลุดออกมาได้”

“ถามอะไรรึ”

“ก็ถามถึงท่านมูซาชิน่ะซี”

“เจ้าคงจะปากโป้งบอกเขาหมดเลยซีท่า”

“โธ่ปู่ เรื่องนี้ไม่ต้องให้ข้าบอกหรอก คนแถวนี้เขารู้เรื่องที่วัดคิโอมิซุเมื่อวานซืนกันทุกคน วันนั้นคุณนายข้างบ้าน ลูกสาวร้านเครื่องเขินเขาก็ไปไหว้พระ ทุกคนเห็นท่านจนมุมถูกพวกคนแบกคานหามล้อมกรอบมากับตากันทั้งนั้น

4

มูซาชินั่งกอดเข่านิ่งอยู่ข้างเตาผิง เอ่ยเชิงขอร้องว่า

“เจ้าหนู เลิกพูดเรื่องนี้ได้แล้ว”

โจทาโรเด็กชายหัวไวจับความรู้สึกจากสีหน้าของมูซาชิได้ก่อนที่เจ้าตัวจะพูดออกมาเสียอีก

“คืนนี้ ข้าอยู่เล่นกับท่านที่นี่ได้ไหม”

ว่าพลางล้างเท้าก่อนขึ้นเรือน

“อือ ทางบ้านไม่ว่าอะไรรึ”

“อ๋อ ที่ร้านไม่เป็นอะไรหรอกท่าน”

“งั้นก็กินข้าวด้วยกันซิ”

“ขอบใจท่าน ข้าจะเป็นคนอุ่นเหล้าสาเกให้เอง ข้าทำจนชินแล้ว” เด็กชายบอกพลางจัดการอุ่นสาเกในขี้เถ้าข้างกองไฟ ไม่นานก็ได้ที่

“สาเกได้แล้วท่าน...”

“อ้อ...ทำอย่างนี้นี่เอง”

“ท่านชอบเหล้าสาเกไหม”

“ชอบสิ”

“แต่เป็นคนจน ก็เลยไม่ค่อยจะได้ดื่มละซี”

“เออ”

“ข้าได้ยินมาว่า พวกนักดาบฝีมือดีทุกคนที่เข้าไปอยู่กับผู้ครองแคว้นจะได้เป็นใหญ่เป็นโตกันทั้งนั้น ลูกค้าร้านเหล้าคนหนึ่งเล่าให้ข้าฟังว่า ครั้งหนึ่งนานมาแล้วมีนักดาบคนหนึ่งชื่อสึกาฮาระ โบกุเด็น เวลาไปไหนมาไหนจะต้องมีม้าสำรองไปด้วยตัวหนึ่ง มีคนเลี้ยงเหยี่ยวคู่ใจติดตัวไปด้วยพร้อมบริวารเจ็ดสิบแปดสิบคน”

“ก็ประมาณนั้น”

“ที่เขาลือกันว่าท่านยากิวแม่ทัพใหญ่ที่เข้าไปอยู่กับท่านโทกุงาวะ มีรายได้ถึงหนึ่งหมื่นหนึ่งพันห้าร้อยโคกุน่ะจริงหรือท่าน”

“จริง”

“ท่านก็เป็นนักดาบแต่ทำไมถึงจนล่ะ”

“ข้ายังเป็นนักดาบที่กำลังเล่าเรียนวิชา”

“แล้วอายุเท่าไรถึงจะเป็นใหญ่เป็นโต มีบริวารเดินตามเป็นฝูงกับเขาบ้าง อย่างท่านคามิอิซุมิ แห่งอิเซะ หรือท่าน สึกาฮาระ โบกุเด็น”

“ข้าคงไม่ได้เป็นใหญ่เป็นโตอย่างท่านพวกนั้นหรอก”

“ท่าน เป็นคนอ่อนแออย่างนั้นรึ”

“พวกที่เห็นเหตุการณ์ในวัดคิโยมิซุเขาลือกันใช่ไหมล่ะ ใช่...วันนั้นข้าหนีออกมาจริง ๆ”

“มิน่าล่ะ คนแถวนี้ถึงได้ลือกันให้แซ่ดว่า นักดาบหนุ่มพเนจรที่พักอยู่ในโรงเตี๊ยมคิจินน่ะ เป็นคนอ่อนแอไร้ฝีมือ ข้าได้ยินแล้วเดือดดาลอยากเข้าไปชกให้ฟันหัก”

“ฮะ ฮะ ฮะ เจ้าจะเดือดร้อนไปทำไม พวกเขาไม่ได้ว่าเจ้าสักหน่อย”

“แต่ ข้าโกรธแทนท่านนี่ ท่านรู้ไหมว่าพวกหนุ่มช่างทำกระดาษกับพวกร้านทำถังน้ำมาซ้อมฟันดาบกันที่ลานหลังร้านเครื่องเขินกันแทบทุกวัน ท่านไปประลองฝีมือกับพวกนั้นให้ชนะสักหนหนึ่งได้ไหม”

“เออ เออ คิดดูก่อนนะ”

มูซาชิพยักหน้ารับคำของโจทาโรไม่ว่าเด็กชายจะพูดอะไร เจ้าหนุ่มรู้สึกถูกชะตากับเด็กชายคนนี้มาก สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะตนเองก็เพิ่งจะผ่านพ้นวัยเยาว์มาไม่นาน จิตใจยังบริสุทธิ์พร้อมเปิดรับมิตรภาพได้ทันทีที่รู้ใจกัน และอีกอย่างหนึ่งอาจเป็นเพราะตนไม่มีพี่น้องผู้ชายและเกือบไม่เคยได้สัมผัสกับความอบอุ่นของครอบครัวที่แท้จริง จึงแสวงหาความรักเช่นนั้นอยู่เสมอเพื่อบรรเทาความโดดเดี่ยวอ้างว้างในใจโดยไม่รู้ตัว

“เลิกพูดเรื่องนี้กันดีกว่า คราวนี้ข้าจะถามเรื่องของเจ้าบ้างละนะ เจ้ามาจากไหน”

“ฮิเมจิ”

“อะไรนะ แคว้นบันชูรึ”

“ท่านมาจากแคว้นซากุใช่ไหม ฟังสำเนียงก็รู้”

“ใช่...ใกล้กันนะ แล้วพ่อเจ้าทำอะไรอยู่ที่ฮิเมจิ”

“ซามูไร พ่อข้าเป็นซามูไร”

“โห...”

มูซาชิทำหน้าแปลกใจ แต่เมื่อพิศดูเด็กชายตรงหน้าก็พบว่ามีอะไรหลายอย่างที่ทำให้เชื่อว่าจริง และเมื่อถามชื่อพ่อโจทาโรก็เล่าว่า

“พ่อข้าชื่ออาโอกิ ทันซาเอมอน เป็นซามูไรมีรายได้ถึงห้าร้อยโคกุ แต่ตอนข้าอายุหกขวบพ่อกลายเป็นซามูไรไร้นาย และพาข้ามาเกียวโต จนเงินทองร่อยหรอกลายเป็นคนยากจนจึงเอาข้ามาฝากไว้กับร้านเหล้า ส่วนพ่อไปบวชเป็นพระ

ข้าถึงได้อยากเป็นซามูไร คนเราจะเป็นซามูไรได้ก็ต้องเก่งวิชาดาบใช่ไหม ท่าน...รับข้าเป็นลูกศิษย์เถิดนะ จะทำข้าทำอะไรก็ได้ ข้ายอมทุกอย่าง”

เด็กชายพูดจบแล้วทำหน้าเคร่ง แสดงถึงความตั้งใจเด็ดเดี่ยวมั่นคงอย่างที่ใครก็ตามย่อมไม่อาจสั่นศีรษะปฏิเสธได้ แต่ใจของมูซาชิตอนนี้ไม่ได้อยู่ที่ว่าจะตอบรับหรือปฏิเสธคำขอ แต่จดจ่อไปที่อาโอกิ ทันซาเอมอน...ซามูไรหนวดปลาดุกคู่อริเก่าและชะตากรรมที่นึกไม่ถึงว่าจะเป็นไปเช่นนั้น นักดาบซามูไรอยู่บนวิถีแห่งการฆ่าและการถูกฆ่า มีชีวิตที่เสี่ยงกับการเดิมพันตลอดทั้งวันทั้งคืน มูซาชิรู้สึกเศร้าเมื่อคิดถึงคนที่ต้องตกอยู่ในวิถีชีวิตเช่นนั้น ความเมาส่างหายไปใจเจ็บแปลบด้วยความรันทด


กำลังโหลดความคิดเห็น