คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รัก บางทีความแปลกใหม่ในชีวิตก็สามารถพบเจอได้จากการเห็นคนต่างวัฒนธรรมทำเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวันที่ไม่เหมือนกับเรานี้เอง วันนี้ฉันได้รวบรวมเนื้อหาจากประสบการณ์ที่ได้พบเจอในญี่ปุ่นมาเล่าสู่กันฟังค่ะ
เวลาเป็นไข้ให้กินไอศกรีม?
ฉันจำได้ว่าเวลาเป็นหวัดแล้วไปหาหมอที่เมืองไทย หมอมักจะบอกว่าให้งดน้ำเย็น งดน้ำแข็ง ดื่มน้ำอุ่นมาก ๆ แต่พออยู่ญี่ปุ่นไม่เคยได้ยินหมอพูดแบบนั้นเลย คราวหนึ่งฉันเป็นไข้หวัด เพื่อนแนะนำให้รับประทานไอศกรีม ตอนนั้นตกใจมากเพราะเชื่อมาตลอดว่าของเย็น ๆ เป็นของแสลงยามเป็นหวัด แต่ในเมื่อเพื่อนให้ท้ายก็ยินดีรับประทาน
คนญี่ปุ่นดูเหมือนจะเชื่อว่าเวลาเป็นหวัด ตัวร้อน ให้รับประทานของเย็น ๆ เพื่อให้รู้สึกสบายขึ้น เช่น ไอศกรีม โยเกิร์ต เยลลี่ พุดดิ้ง สามอย่างหลังยังพอว่า แต่ให้รับประทานไอศกรีมตอนเป็นหวัดนี้ฟังแล้วแปลกใจนัก เขาบอกว่าไอศกรีมมีน้ำตาลสูง และยังมีทั้งนมและไข่เป็นส่วนผสม จึงทำให้ร่างกายได้รับพลังงานและคุณค่าทางอาหารอย่างโปรตีนและวิตามิน เหมาะสำหรับตอนที่ไม่ค่อยอยากอาหารอย่างช่วงเป็นหวัด นอกจากนี้แม้จะเจ็บคอและรับประทานอย่างอื่นแล้วระคายเคืองคอ แต่ไอศกรีมนี้รับประทานแล้วสบายคอนักแล
ฉันลองไปสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมก็ได้ทราบมาว่า จะดื่มน้ำอุ่นหรือน้ำเย็น(และรับประทานไอศกรีม) ในเวลาเป็นหวัดนั้นมีความเหมาะสมหรือไม่ขึ้นอยู่กับอาการ คือน้ำอุ่นจะช่วยลดเสมหะ และช่วยให้รู้สึกชุ่มชื่นคอ แต่หากมากไปก็จะทำให้ยิ่งคออักเสบ ส่วนน้ำเย็นหรือน้ำแข็งช่วยให้อาการเจ็บคอลดลง คล้าย ๆ ใช้แทนยาชาหรือลดอักเสบ อย่างไรก็ตาม ถ้ามีน้ำมูก ไอ มีเสมหะ ยิ่งดื่มน้ำเย็นจะยิ่งทำให้อาการเหล่านี้แย่ลง จึงอาจต้องพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไปนะคะ
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ ถึงแม้ไทยกับญี่ปุ่นเห็นตรงกันว่าเวลาที่ป่วยให้รับประทานอาหารที่ย่อยง่าย เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม แต่ความแตกต่างคือ คนไทยจะรับประทานโจ๊ก ข้าวต้ม กันเป็นปกติไม่ว่าจะเป็นอาหารเช้าหรือมื้อดึก แต่คนญี่ปุ่นจะรับประทานโจ๊ก ข้าวต้ม เฉพาะช่วงที่ไม่สบายเท่านั้น
ในตำรับอาหารของญี่ปุ่น ข้าวต้มเครื่องที่ใส่ของหลายๆ อย่าง เช่น ไข่ ผัก เห็ด เนื้อสัตว์ เรียกว่า “โซซุย” 雑炊 อาจรับประทานในช่วงอาหารหนาวหรือเวลาเหนื่อยล้า ต้องการของที่ย่อยง่าย อุ่นสบายท้อง แต่ข้าวต้มขาวที่ไม่มีเครื่องปรุงใด ๆ นั้น เรียกว่า “โอะคายุ” お粥 นิยมรับประทานเฉพาะในช่วงที่ป่วย หรือเป็นอาหารสำหรับผู้สูงอายุ คนญี่ปุ่นหลายคนเมื่อเห็นคนไทยซดข้าวต้มจึงมักถามด้วยความห่วงใยว่า “ไม่สบายเหรอ?”
ไฟจราจรและความง่ายในการข้ามถนน
ครั้งหนึ่งมีนักธุรกิจญี่ปุ่นในเมืองไทยบ่นให้ฟังว่า “เมืองไทยมีไฟจราจรน้อยเกินไป” ทีแรกได้ยินแล้วแปลกใจ เพราะเวลาขับรถจะรู้สึกว่า “โอ๊ย...เจอไฟแดงอีกแล้วเหรอ” ก็เลยรู้สึกว่ามีไฟจราจรเยอะจัง แต่ถ้ามองในมุมของคนญี่ปุ่นที่ชินกับการเดินถนนแล้ว มาอยู่เมืองไทยจะรู้สึกว่าไฟจราจรน้อยเหลือเกิน หรือสะพานลอยก็อยู่ห่างไกลเกินไป จะข้ามถนนทีหนึ่งจึงรู้สึกลำบาก และบางทีแม้จะเจอไฟจราจรแต่ก็มักเป็นสัญญาณสำหรับรถยนต์มากกว่าจะเป็นสัญญาณให้คนข้าม ถ้าอยากข้ามถนนจึงต้องกะจังหวะให้ดี เพราะรถทั้งเยอะ ทั้งวิ่งเร็ว และค่อนข้างอันตราย
อยู่ในญี่ปุ่นจะเจอไฟจราจรเยอะมากโดยเฉพาะในตัวเมือง อาจเพราะมีการวางผังเมืองเป็นบล็อกสั้น ๆ ทำให้มีไฟจราจรในเกือบทุกทางแยก อีกทั้งยังมีไฟจราจรสำหรับคนข้ามถนนและคนขี่จักรยาน รวมทั้งเครื่องส่งเสียงบอกสัญญาณไฟจราจรสำหรับผู้พิการทางสายตาด้วย ทำให้คนสามารถเดินข้ามถนนง่ายและสะดวกมาก เรียกว่าถนนหนทางนั้นเป็นมิตรสำหรับคนเดินเท้าโดยแท้
ราเม็งและก๋วยเตี๋ยว
ร้านราเม็งส่วนใหญ่ในญี่ปุ่นจะมีที่นั่งเป็นเคาน์เตอร์อยู่รอบครัวทำราเม็ง จึงมักได้เห็นการทำราเม็งตรงนั้น เขาจะใส่น้ำซุปในชามก่อน แล้วจึงค่อย ๆ ใส่เส้นที่ลวกแล้วลงไป ก่อนวางท้อปปิ้งตามด้วยความรวดเร็ว ไม่เหมือนก๋วยเตี๋ยวบ้านเราที่จะลวกเส้นก่อนค่อยใส่ลูกชิ้น แล้วตามด้วยน้ำแกง ก่อนโรยผักใส่กระเทียมเจียวเป็นอันเสร็จ
ตอนนั้นสงสัยมากค่ะว่าทำไมถึงใส่เส้นหลังใส่น้ำซุป ดูน่าจะต้องระวังมากไม่ให้น้ำซุปกระเด็นเลอะเทอะ แต่พอได้เห็นขั้นตอนในการทำบ่อยเข้าก็ชักจะเริ่มเข้าใจว่า น่าจะเป็นเพราะเขาไม่สามารถใช้น้ำซุปจากหม้อเพียว ๆ ได้เลย แต่ต้องเอามาผสมกับน้ำซอสที่ผสมไว้ (เช่น รสโชยุ รสเกลือ รสมิโสะ) และอาจมีน้ำมันเจียว หรือพริกด้วย เขาจะตักทั้งหมดนี้ลงในชามตามสัดส่วน เอาตะกร้อผสมตีให้เข้ากัน จากนั้นจึงเอาเส้นที่ลวกเสร็จใหม่ ๆ ใส่ตามลงไป การลวกเส้นนี้สังเกตว่าหลายที่จะตั้งเวลาเอาไว้ด้วย คงเพื่อให้ได้ความแข็งหรือความนุ่มของเส้นตามสูตรของร้าน ไม่แข็งไปหรือเละไป บางทีราเม็งชามหนึ่ง ๆ ใช้คนทำ 2-3 คนซึ่งทำหน้าที่ต่างกันไปเพื่อให้รวดเร็วทันเวลา
ส่วนอุด้งหรือโซบะจะใส่เส้นก่อนแล้วตามด้วยน้ำแกง เพราะสามารถใช้น้ำแกงที่ต้มไว้แล้วได้เลยโดยไม่ต้องผสมเพิ่มอีก แบบเดียวกับน้ำแกงก๋วยเตี๋ยวบ้านเรา
รถยนต์เปิดไฟหน้ากะพริบอาจไม่ใช่เพื่อ “ไล่”
สำหรับบ้านเราแล้ว เวลาขับรถแล้วจะเลี้ยวหรือเปลี่ยนเลน หากรถคันซึ่งอยู่ในเลนที่เราจะเลี้ยวไปเปิดไฟกะพริบใส่ โดยมากจะเข้าใจตรงกันว่าคนเปิดไฟกะพริบ “ขอไปก่อน” แต่ที่ญี่ปุ่นอาจหมายความได้ทั้ง “เชิญไปก่อน” (ในแถบคันโต) หรือ “ขอไปก่อน” (ในแถบคันไซ) สร้างความสับสนแบบตรงกันข้ามและน่าอันตรายทีเดียวหากสื่อสัญญาณนี้ไม่ตรงกัน
นอกจากนี้ การเปิดไฟหน้ากะพริบของรถที่อยู่ในเลนสวนกันยังอาจหมายถึง “คุณเปิดไฟสูงค้างไว้” “ไฟสูงของคุณแยงตาฉัน” “ขอบคุณ” “ด่าวิธีการขับรถของคุณอยู่” ได้ด้วย และถ้าเป็นรถคันที่ตามหลังมาเปิดไฟกะพริบใส่อาจหมายถึง “ขอแซง” “คุณขับช้าไป” “คุณขับรถไม่มีมารยาท”
ถ้าเป็นในอเมริกา การเปิดไฟหน้ากะพริบของรถที่อยู่ในเลนที่เราต้องการเลี้ยวไปมักหมายถึง “เชิญไปก่อน” แต่บางทีก็ไม่แน่ และถ้าเป็นเลนสวนกันเปิดไฟกะพริบใส่มักหมายถึง “คุณเปิดไฟสูงค้างไว้” หรือ “ไฟสูงคุณแยงตาฉัน”
อย่างไรก็ดี ความหมายของการเปิดไฟกะพริบในแต่ละท้องถิ่นอาจต่างกันแม้ในประเทศเดียวกัน ถ้าเข้าใจไม่ตรงกันอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุหรือไม่ก็ทะเลาะวิวาทกันได้ บางคนเขาก็แนะว่าทางที่ดีอย่าใช้ไฟกะพริบสื่อสารดีกว่า โดยเฉพาะในกรณีที่อาจเสี่ยงอันตรายหากเข้าใจความหมายผิด แต่ให้เลือกวิธีขับรถด้วยความปลอดภัยไว้ก่อนเป็นการดีที่สุด
แท็กซี่ญี่ปุ่น
รถแท็กซี่ญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะมี GPS (คนญี่ปุ่นเรียกว่า “คานาบิ” カーナビ ย่อมาจาก car navigator ) หรือไม่ก็สมุดแผนที่อยู่ในรถ ทำให้เวลาที่คนขับไม่รู้จักทาง ก็สามารถสืบค้นทิศทางด้วยการใส่ที่อยู่ลงบนหน้าจอ GPS หรือไม่ก็หาเอาจากสมุดแผนที่ได้ โดยส่วนตัวยังไม่เคยเจอแท็กซี่ที่พาหลงเสียที
เวลาจ่ายเงินก็สามารถจ่ายได้หลายวิธีโดยสะดวก ทั้งเงินสด บัตรเครดิต หรือบัตร e-money หลากประเภท โดยจ่ายตามราคาเป๊ะ ๆ ไม่เคยเจอกรณีที่คนขับไม่มีเงินทอนหรือทอนขาด ในบางท้องถิ่นจะมีบัตรสะสมตราประทับด้วย ถ้าใช้บริการครบตามที่กำหนดก็จะได้ใช้บริการฟรีหนึ่งครั้ง เป็นต้น
แต่ว่าเรื่องน่าแปลกอย่างหนึ่งคือ คนญี่ปุ่นที่แสนจะขี้เกรงใจนั้นบางทีก็เรียกแท็กซี่กันตรงสี่แยก หรือลงแท็กซี่ตรงสี่แยกกันเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าเป็นที่ไทยอาจโดนคันหลังบ่นเอา ส่วนที่นิวยอร์กจะโดนกดแตรไล่ยาว ๆ ไม่ยอมหยุดเลยทีเดียว
เวลาขึ้นลงรถแท็กซี่ที่ญี่ปุ่น ถ้าเป็นประตูที่นั่งด้านหลังอย่าได้เปิดปิดประตูเองโดยเด็ดขาด คนขับจะเป็นคนเปิดปิดให้ด้วยระบบอัตโนมัติ ถ้าเผลอทำเองอาจโดนคนขับโกรธเอาได้
ญี่ปุ่นไม่มีทิป
น้องฉันเล่าว่ามีคนญี่ปุ่นบางคนบ่นอุบว่าทำไมเมืองไทยต้องมีการให้ทิปในร้านอาหารด้วย ฉันถามว่า “แล้วบอกเขารึเปล่าว่าทีญี่ปุ่นยังมีโอะโทฉิ お通し เลย” น้องขำบอกว่าจริงด้วย ลืมไปเลย
จะว่าไปญี่ปุ่นก็นับว่าน่าอัศจรรย์อยู่เหมือนกันที่ไม่มีการให้ทิปตามร้านอาหารหรือโรงแรม ทั้งที่บริการดีเลิศประเสริฐศรีกันโดยทั่วไป รวมทั้งไม่มีค่าชาร์จเพิ่มเติมมาจากค่าอาหารด้วย ถ้าจะมีก็คงเป็นค่า “โอะโทฉิ” (กับแกล้มที่ให้มาโดยไม่ได้สั่ง) ที่เคยเล่าไปสองสัปดาห์ก่อน หรือบางร้านอาจบังคับให้ลูกค้าต้องสั่งเครื่องดื่มอย่างน้อยคนละหนึ่งแก้วแทน ราคาก็ใกล้เคียงกับค่าโอะโทฉิโดยเฉลี่ยคือประมาณ 300-400 เยน ส่วนน้ำเปล่าฟรี
ย้อนอ่านที่ "โอโทฉิ" กับแกล้มที่ไม่สั่งก็ต้องจ่ายในร้านอาหารญี่ปุ่น
เดี๋ยวนี้ตั้งแต่ญี่ปุ่นมี Uber Eats ซึ่งเป็นบริการส่งอาหารถึงที่และมีระบบทิปอยู่ด้วย ทำให้การทิปเริ่มเป็นที่รู้จักในญี่ปุ่นขึ้นมาบ้างแล้ว ก็มีหลายคนที่อยากทราบว่าควรทิปเท่าไหร่ หรือบางคนเพิ่งเคยทำงานแล้วได้รับทิปเป็นครั้งแรกในชีวิตก็รู้สึกดีใจ ไม่รู้ว่าอีกหน่อยจะมีการทิปในที่อื่น ๆ เกิดขึ้นตามมาหรือเปล่านะคะ
ก่อนหน้านี้ฉันเคยเล่าเรื่องความต่างในชีวิตประจำวันไทย-ญี่ปุ่นไปแล้ว เช่น ญี่ปุ่นไม่มีค่านิยมลุกให้เด็กนั่งบนรถไฟหรือรถเมล์ วิธีปอกเปลือกผลไม้ไม่เหมือนกัน วิธีเอาเส้นดำกลางหลังกุ้งออกไม่เหมือนกัน และคนญี่ปุ่นไม่ค่อยเลื่อนนัดง่าย เรื่องเหล่านี้พบเห็นในชีวิตประจำวันของเรา แต่ด้วยความคุ้นเคยก็อาจทำให้มองข้ามความแตกต่างเล็ก ๆ น้อย ๆ ไป แต่หากสังเกตสังกาสักนิด เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ก็น่าสนใจไม่น้อยเลย
ย้อนอ่านที่ ความต่างในชีวิตประจำวันไทย-ญี่ปุ่น
แล้วพบกันใหม่ในสัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง" เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น”ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.