xs
xsm
sm
md
lg

“ฮังโกะ” ตราประทับญี่ปุ่นเผชิญคลื่นดิสรัปชั่น

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การระบาดของไวรัสโควิดได้เร่งให้ญี่ปุ่นปฏิรูประบบราชการและการทำงานให้เข้าสู่ดิจิทัลมากขึ้น เป้าหมายแรกที่ถูกลดความสำคัญลงคือ “ฮังโกะ” หรือตราประทับ ที่ชาวญี่ปุ่นใช้แทนลายเซ็นในเอกสารทุกชนิด และยังเป็นศิลปะดั้งเดิมด้วย

“ฮังโกะ” หรือตราประทับ เป็นสิ่งสำคัญที่ชาวญี่ปุ่นใช้แทนลายเซ็นในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่การเซ็นรับพัสดุ ติดต่อกับธนาคาร อนุมัติเอกสารในการทำงาน จนถึงการติดต่อราชการ ฮังโกะจึงเป็นสิ่งที่ดูย้อนแย้งกับญี่ปุ่นที่เป็นผู้คิดค้นเทคโนโลยีล้ำสมัยหลายอย่าง แต่กลับไม่ใช้ลายเซ็นดิจิทัล ในช่วงการระบาดของโควิด ชาวญี่ปุ่นหลายคนไม่สามารถทำงานจากบ้านได้ เพราะต้องประทับฮังโกะในเอกสารต่าง ๆ


นายกฯ โยชิฮิเดะ ซูงะ ได้จัดตั้งสำนักงานดิจิทัลแห่งชาติ และพบว่าอุปสรรคสำคัญก็คือฮังโกะ ซึ่งมีทั้งแบบที่ทำจากพลาสติกราคาประหยัด 100 เยน จนถึงงานฝีมือที่แกะสลักด้วยช่างฝีมือ ราคานับหมื่นเยน

ทากาฮิโระ มากิโนะ ช่างแกะสลักฮังโกะ ที่บรรจงแกะสลักตราประทับขนาดเหมาะมือ กังวลกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น เขาบอกว่า “เราอาจไม่จำเป็นต้องรักษาของที่ไม่จำเป็นเอาไว้ แต่ว่าบางสิ่งที่มีคุณค่าน่าจะคงอยู่ต่อไป”

ฮังโกะสลักเป็นชื่อนามสกุลของแต่ละคนรวมถึงชื่อบริษัทและหน่วยงานต่างๆ  จึงเป็นตัวแทนของคนและองค์กร ชาวญี่ปุ่นจึงยอมทุ่มเงินเพื่อแกะสลักฮังโกะประจำตัว และมักจะมอบให้กับบุตรหลานเป็นของขวัญเมื่อบรรลุนิติภาวะ


ฮังโกะไม่เพียงมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวจากการออกแบบที่สวยงาม ปลอมแปลงได้ยาก แต่ยังมีผลตามกฎหมาย ใช้ทำสัญญานิติกรรมต่าง ๆ ได้ เมื่อนำไปจดทะเบียนกับสำนักงานเขตตามทะเบียนราษฎร์

นายทาโร โคโนะ รัฐมนตรีที่ดูแลการปฏิรูประบบราชการ ระบุว่า เอกสารบางชิ้นต้องมีการประทับฮังโกะมากกว่า 40 ตราจากเจ้าหน้าที่ระดับต่าง ๆ แม้แต่ระบบราชการบางอย่างที่เป็นดิจิทัลแล้ว แต่สุดท้ายก็ยังต้องประทับฮังโกะและสแกนเอกสารอีกครั้ง เพิ่มความยุ่งยากยิ่งกว่าเดิม


เพื่อตอบรับกับนโยบายปฏิรูปสู่ดิจิทัล สำนักงานตำรวจแห่งญี่ปุ่นจะยกเลิกการใช้ตราประทับในเอกสารที่ไม่เป็นทางการตั้งแต่ปีหน้า ส่วนบริษัท ฮิตาชิ ก็จะยกเลิกการใช้ฮังโกะในเอกสารภายในบริษัท

การวิจัยในญี่ปุ่นชี้ว่า ฮังโกะสะท้อนวัฒนธรรมที่เต็มไปด้วยลำดับชั้นของญี่ปุ่น การตัดสินใจในการทำงานของญี่ปุ่นต้องได้รับตราประทับจากผู้เกี่ยวข้องในลำดับชั้นต่าง ๆ และทุกคนที่ประทับตราจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบร่วมกัน


งานฝีมือศิลปะฝ่ากระแสดิจิทัล

ชาวญี่ปุ่นบางกลุ่มเห็นว่า ฮังโกะเป็นตัวแทนของบุคคล เป็นสัญลักษณ์ของทรัพย์สิน และยังเป็นงานศิลปะที่เป็นเอกลักษณ์ของญี่ปุ่น ช่างแกะสลักฮังโกะบอกว่า โลกดิจิทัลกับการใช้ฮังโกะอยู่ร่วมกันได้ ในอดีตผู้คนอาจใช้ฮังโกะในแทบทุกเรื่อง จนบางครั้งฮังโกะจึงถูกมองว่าเป็นของสามัญ การลดการใช้ฮังโกะช่วยปฏิรูประบบการทำงาน แต่ก็ควรยังให้มีการประทับฮังโกะในเรื่องที่สำคัญอยู่  ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ดีในการยกระดับความสำคัญของตราประทับให้มากขึ้นไปด้วย.




กำลังโหลดความคิดเห็น