คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน ตอนไปญี่ปุ่นเคยมีท่านใดไปรับประทานอาหารเย็นที่ร้านอาหารสไตล์ญี่ปุ่น แล้วโดนชาร์จค่ากับแกล้มทั้งที่ไม่ได้สั่งบ้างไหมคะ ค่าชาร์จนี้สร้างความขัดเคืองไม่เพียงแค่ต่อคนต่างชาติเท่านั้น แม้แต่คนญี่ปุ่นเองที่ไม่ชอบใจก็มีเช่นกัน แล้วค่าชาร์จนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร ทำไมต้องจ่าย ไม่จ่ายได้หรือเปล่า เราไปหาคำตอบกันดีกว่าค่ะ
ครั้งหนึ่งฉันไปรับประทานอาหารกับเพื่อนคนไทยกลุ่มใหญ่ที่อาหารสไตล์ญี่ปุ่นซึ่งเรียกว่า “อิซากายะ” ร้านที่ว่านี้จะขายอาหารหลายประเภทและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลากชนิด หากไม่คุ้นเคยกับร้านแบบนี้ เห็นทีแรกอาจนึกว่าเป็นร้านอาหารญี่ปุ่นร้านหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่แล้วร้านอาหารแบบญี่ปุ่นที่เปิดตอนเย็นไปจนถึงดึกก็จัดว่าเป็นร้านอิซากายะแทบทั้งสิ้น ยกเว้นร้านอาหารจานเดียว
ระหว่างนั่งรออาหารที่สั่ง พนักงานก็มาเสิร์ฟกับแกล้มถ้วยเล็ก ๆ ให้คนละถ้วย พร้อมบอกว่า “นี่ ‘โอโทฉิ’ ค่ะ” ตอนนั้นยังไม่รู้จักว่าโอโทฉิคืออะไร เห็นเป็นถ้วยเล็ก ๆ มาก็เข้าใจว่าทางร้านคงบริการฟรีเล็ก ๆ น้อย ๆ ตามสไตล์ความน่ารักของการให้บริการในญี่ปุ่น ก็หลงดีใจ แต่พอตอนเช็คบิลเท่านั้นแหละ เห็นเขาชาร์จค่ากับแกล้มที่ดูไม่มีราคาค่างวดคนละสามร้อยกว่าเยนทั้งที่ไม่ได้สั่ง ก็ชักจะไม่ค่อยพอใจกัน
โอโทฉิคืออะไร? ทำไมต้องมีด้วย? อันที่จริงแล้วโอโทฉิเกิดขึ้นจากความใส่ใจให้บริการของร้านเหล้าสมัยก่อน ในยุคนั้นยังไม่มีร้านอิซากายะดาษดื่นทั่วไปแบบยุคนี้ ร้านอิซากายะที่ไปจึงมักอยู่แถวบ้าน ซึ่งเป็นร้านเล็ก ๆ และอาหารก็มีน้อยชนิด จึงนิยมให้เจ้าของร้านเป็นผู้เลือกว่าจะเสิร์ฟอะไร ทีนี้กว่าอาหารแต่ละอย่างจะเสร็จก็ใช้เวลา กลัวลูกค้ารอนานจึงเสิร์ฟกับแกล้มที่เข้ากับเหล้าให้รับประทานไปก่อน
อีกอย่างคือลูกค้าใหม่จะไม่ทราบว่ารสชาติที่ทางร้านทำเป็นอย่างไรจนกว่าอาหารจะมา การเสิร์ฟกับแกล้มที่เป็นอาหารจานเด็ดของร้านก่อน ซึ่งเป็นอาหารที่ทำล่วงหน้าไว้แล้วโดยเฉพาะอาหารประเภทต้มหรือตุ๋นซึ่งรสชาติเข้าเนื้อดี จึงเป็นการบอกเป็นนัยว่ารสชาติของทางร้านเป็นแบบนี้ ๆ คล้ายแนะนำร้านตัวเองไปด้วยด้วย
ปัจจุบันโอโทฉิกลายมาเป็น “ค่าโต๊ะนั่ง” หรือ “ค่าชาร์จ” ไปแล้ว บางทีราคาอาหารที่สั่งอาจไม่มากแต่มาแพงอยู่ตรงค่าโอโทฉินี้เอง ถัวเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 10% ของค่าอาหารเลยทีเดียว โดยส่วนใหญ่ค่าโอโทฉิมักอยู่ที่ไม่เกิน 400 เยนต่อหัว ลองคิดดูว่าวันหนึ่ง ๆ หากมีลูกค้าแน่นร้าน ทางร้านจะได้เงินค่าโอโทฉิไปเป็นกำไรมากเพียงใด
อีกอย่างคือคนญี่ปุ่นเวลาไปกินดื่มตามร้านอิซากายะกันเป็นหมู่คณะ บางทีก็จะไปต่อร้านที่สองด้วย อาจเพราะต้องการเปลี่ยนบรรยากาศ หรือไม่ก็เพราะร้านส่วนใหญ่ให้นั่งได้ไม่เกินสองชั่วโมง ทีนี้พอไปร้านที่สองคนมักไม่ค่อยสั่งเหล้าสั่งอาหารเท่าไหร่เพราะอิ่มมาแล้ว แต่ลูกค้ากลับนั่งนาน ทำให้ทางร้านต้องเรียกเก็บค่าโอโทฉิเพื่อไม่ให้ยอดขายตก
ร้านไหนที่ใส่ใจลูกค้าหน่อยก็จะเสิร์ฟโอโทฉิที่ดี คือเป็นอาหารร้อนปรุงมาให้ แต่ก็มีหลายร้านที่ไม่คิดถึงจิตใจลูกค้า เสิร์ฟง่าย ๆ มาเป็นข้าวเกรียบคาคิพีหรือแตงกวาหั่นชิ้น ฉันเคยเจอร้านที่เสิร์ฟลูกเคปกูสเบอรี่แบบที่ยังไม่ได้แกะเปลือกมาคนละลูก ชาร์จคนละ 300 เยน ดูแล้วก็งง จะมีใครรับประทานเคปกูสเบอรี่แกล้มเหล้าบ้างนี่ แถมมีแค่ลูกเดียวอีกด้วย
โอโทฉิมักมีประเภทเดียว ซึ่งอาจจะเข้าหรือไม่เข้ากับรสนิยมของลูกค้าแต่ละคน อีกทั้งบางคนก็อาจจะแพ้อาหารบางชนิด เมื่อมาเสิร์ฟโดยไม่ได้สั่งก็อาจสร้างความไม่พอใจให้ลูกค้า แต่กระนั้นก็มีลูกค้าบางคนเหมือนกันที่ชอบให้มีโอโทฉิ โดยเฉพาะหากเป็นร้านอร่อยและมักทำเมนูสับเปลี่ยนไปไม่ซ้ำชนิดกัน ซึ่งหากชอบรสชาติของทางร้านก็จะให้ความสนใจว่าวันนี้โอโทฉิจะเป็นอะไร
ปัญหาอีกอย่างคือโอโทฉิไม่ได้อยู่ในเมนู อีกทั้งทางร้านก็ไม่มีการบอกล่วงหน้าด้วยว่าจะเก็บค่าโอโทฉิ ทำให้ลูกค้าไม่ทราบว่าทางร้านจะเสิร์ฟอะไรมา อีกทั้งยังไม่ทราบด้วยว่าต้องจ่ายเท่าไหร่ ยิ่งเป็นลูกค้านักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งไม่รู้จักโอโทฉิยิ่งมีปัญหา เพราะจะรู้สึกเหมือนถูกหลอกให้จ่าย แต่ก็มีบ้างเหมือนกันที่พอใจเพราะคิดว่าจ่ายเป็นค่าบริการแล้วยังมีอาหารแถมให้ด้วย
แล้วถ้าลูกค้าไม่อยากจ่ายค่าโอโทฉิล่ะทำได้หรือไม่? ในทางกฏหมายแล้วอนุญาตให้ทางร้านเรียกเก็บค่าโอโทฉิได้ และบางร้านก็ยอมให้ลูกค้าปฏิเสธไม่รับโอโทฉิและไม่ต้องจ่ายก็ได้ แต่ก็มีบางร้านอีกเช่นกันที่ไม่ยอมให้ลูกค้าปฏิเสธต่อให้ไม่รับโอโทฉิก็ตาม ซึ่งในความเป็นจริงแล้วกฎหมายอนุญาตให้ลูกค้าไม่ต้องจ่ายหากลูกค้าปฏิเสธก่อนรับประทาน แต่ถ้ารับประทานไปแล้วอย่างไรก็ต้องจ่าย
เดี๋ยวนี้ดูเหมือนข้อพิพาทระหว่างลูกค้าและทางร้านจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะลูกค้าต่างชาติที่ไม่มีวัฒนธรรมแบบนี้ หรือบางทีลูกค้าคนญี่ปุ่นเองก็เคืองเหมือนกัน รวมทั้งบางร้านเองก็รู้สึกแย่กับการคิดค่าโอโทฉิซึ่งลูกค้าไม่ต้องการ ก็เลยมีร้านที่ไม่ให้โอโทฉิหรือร้านที่ไม่คิดค่าโอโทฉิอยู่ด้วย (แต่อย่างหลังฉันก็ยังไม่เคยเจอสักที) บางร้านก็มีรายการโอโทฉิให้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง และบางร้านก็แจ้งให้ทราบล่วงหน้าว่ามีเก็บค่าโอโทฉิด้วย หรือบางร้านถ้าเห็นว่าลูกค้าเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติก็ไม่เสิร์ฟโอโทฉิเลยก็มี
ร้านที่ไม่มีโอโทฉิบางร้านจะใช้วิธีนำเสนอเมนูราคาสบายกระเป๋าแทน เช่น 500 เยนทุกรายการ ซึ่งมีลูกค้าสั่งกันมากเพื่อมารับประทานแกล้มเหล้า วิธีนี้ทำให้ลูกค้าสามารถสั่งอาหารที่ตนเองต้องการได้ตามใจชอบ อีกทั้งยังทำให้ยอดขายของร้านเพิ่มขึ้นด้วย เป็นวิธีที่ไม่บังคับลูกค้าและกระตุ้นให้ลูกค้าอยากสั่งเอง
นึกไปถึงร้านอาหารเกาหลีแล้วรู้สึกว่าเป็นคนละเรื่องเลยค่ะ คือพอสั่งอาหารแล้ว เขาจะเสิร์ฟกับแกล้มมาให้หลายจาน นอกจากไม่คิดเงินแล้วยังสามารถขอเพิ่มได้ด้วย ร้านหนึ่งที่ฉันไปบ่อยในนิวยอร์กจะเสิร์ฟมาทีละ 6-7 ชนิดเลยทีเดียว ไปแค่คนเดียวก็เสิร์ฟเท่านี้ มีทั้งกิมจิผักกาดขาว กิมจิไชเท้า แตงกวาสดปรุงรส ผักลวกปรุงรส สลัดมันฝรั่ง ปลาหมึกปรุงรส อาหารประเภทตุ๋น เป็นต้น แถมรับประทานใกล้เสร็จยังมีชารสหวานให้แก้เลี่ยน พร้อมชาร้อนอีกถ้วยหนึ่ง แสดงว่าพนักงานคอยสังเกตลูกค้าเพื่อบริการให้ทันท่วงที เป็นบริการที่ใส่ใจมากทีเดียว
เวลาไปรับประทานอาหารตามร้านอาหารเกาหลีจึงรู้สึกว่าคุ้มราคามาก โดยเฉพาะตอนกลางวันซึ่งราคาถูกกว่าตอนเย็น แถมคุณภาพอาหารก็ดี บริการก็ดี และมักอิ่มจนพุงกางจนแทบกลิ้งออกจากร้านได้ น่าแปลกที่ฉันชอบร้านที่กับแกล้มอร่อยและมีความหลากหลายสับเปลี่ยนกันไปในแต่ละวัน จะว่าไปก็นึกขึ้นมาได้ว่าตรงนี้น่าจะเป็นไอเดียที่คล้ายกับกับแกล้มของญี่ปุ่นหรือเปล่านะ คือแม้จะเสิร์ฟเพื่อรับประทานไปก่อนอาหารที่สั่งจะมา แต่ก็มีประโยชน์ตรงที่ทำให้ลูกค้ารู้ว่ารสชาติของทางร้านเป็นอย่างไรด้วย ถ้าติดใจก็จะได้แวะเวียนมาอีก
เดาว่าลูกค้าชาวเกาหลีที่ชินกับวัฒนธรรมแบบนี้อาจรู้สึกเพลียเมื่อมาเจอกับแกล้มญี่ปุ่นที่คิดเงินแถมยังแพงเสียอีก ส่วนลูกค้าในประเทศที่มีวัฒนธรรมจ่ายค่าทิปหรือค่าบริการก็อาจจะไม่รู้สึกอะไรมาก แถมยังอาจคิดว่าคุ้มด้วยซ้ำ เพราะบริการดีมากแบบในญี่ปุ่นคงมีคนยินดีจ่ายค่าทิปไม่ต่ำกว่า 25% แต่เนื่องจากญี่ปุ่นไม่มีการทิปตามร้านอาหาร การจ่ายเพิ่มเพียงแค่ไม่กี่ร้อยเยนต่อคนและได้อาหารนิดหน่อยมาก็อาจถือว่าคุ้ม
บางคนก็ว่าร้านอาหารญี่ปุ่นบริการเต็มที่มาก น้ำดื่มก็สะอาดและบริการฟรี ชาร้อนก็ฟรี อีกทั้งห้องน้ำตามร้านอาหารก็ทำความสะอาดอย่างดี ตกแต่งสวยงาม บางร้านมีกระทั่งน้ำยาบ้วนปากให้ด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ก็มีค่าใช้จ่าย ฉะนั้นการคิดค่าโอโทฉินิด ๆ หน่อย ๆ จึงถือว่ารับได้
เรื่องเกี่ยวกับโอโทฉินี้จึงนับว่านานาจิตตังจริง ๆ นะคะ ไม่เพียงแค่ลูกค้าเท่านั้น แม้แต่ทางร้านเองที่ไม่เห็นด้วยกับการคิดค่าโอโทฉิก็มี แต่ในขณะเดียวกันก็มีลูกค้าที่ชอบโอโทฉิ หรือเห็นว่าการคิดค่าโอโทฉินั้นสมเหตุสมผลด้วยเหมือนกัน
วันนี้ขอลาไปก่อนนะคะ แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง" เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น”ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.