xs
xsm
sm
md
lg

ความต่างในชีวิตประจำวันไทย-ญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่าน ในชีวิตประจำวันของคนไทยและคนญี่ปุ่น มีอะไรที่ทำแตกต่างกันมากอยู่พอสมควรแม้ในเรื่องเดียวกันหรือสถานการณ์เดียวกัน พอความต่างเหล่านี้มาจ๊ะเอ๋กันเข้าจึงทำให้รู้ว่าคอมมอนเซนส์บางทีก็ไม่ใช่คอมมอนเซนส์อย่างที่คิด ชวนให้รู้สึกสนเท่ห์ในความต่างของความคิดอ่าน ความเคยชิน หรือวัฒนธรรม ทำให้ได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ และลดการตัดสินคนอื่นด้วยมุมมองด้านเดียวไปได้ด้วยเหมือนกันค่ะ

ฉันขอหยิบยกตัวอย่างง่าย ๆ ใกล้ตัวที่พอนึกออกและได้พบเจอในชีวิตประจำวันมาเล่านะคะ มีอะไรบ้างมาดูกันดีกว่า

ญี่ปุ่นไม่มีค่านิยมลุกให้เด็กนั่งบนรถไฟหรือรถเมล์

เพื่อนร่วมงานคนไทยคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่าเธอเคยลุกให้เด็กที่มากับคุณแม่นั่งบนรถไฟ เผอิญว่าคุณแม่คนญี่ปุ่นคนนี้พูดไทยได้ก็หันมาถามเธอเป็นภาษาไทยว่า “คนไทยใช่ไหมก๊ะ” เพื่อนงงว่าทำไมรู้ คุณแม่อารมณ์ดียิ้มก่อนตอบว่าเธอเคยอยู่เมืองไทยมาก่อน จึงทราบว่าคนไทยมีค่านิยมลุกให้เด็กนั่ง แต่คนญี่ปุ่นเขาไม่ลุกให้เด็กนั่งกัน

คนญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยมองว่าการที่ผู้ใหญ่ปล่อยให้เด็กได้ที่นั่งบนรถเมล์/รถไฟเวลาคนแน่นเป็นการตามใจเด็กมากเกินไป ยิ่งถ้าผู้ใหญ่หรือคนสูงอายุสละที่ให้เด็กนั่งนี่ยิ่งไปกันใหญ่ และการให้สิทธิ์เด็กได้นั่งก่อนคนสูงอายุก็เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม

วันหนึ่งฉันโหนรถเมล์อยู่ที่ญี่ปุ่น รถค่อนข้างแน่น มีพ่อแม่ลูกสามคนยืนอยู่ เด็กผู้ชายอายุราวสี่ห้าขวบบ่นเสียงดังตลอดเวลาว่า “อยากนั่งๆๆๆ” อย่างหงุดหงิดเต็มทน คุณแม่ท่าทางอึดอัดพอสมควร เดาว่าคงอาย แต่ก็ไม่ปรามเด็ก แล้วก็ไม่มีใครลุกให้เด็กคนนี้นั่งด้วยเช่นกัน

ฉันคิดว่าที่ไม่มีใครลุกให้นั่งคงเป็นเพราะคนญี่ปุ่นไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องให้เด็กนั่ง และถ้าหยวนให้เด็กคนนี้นั่งเพื่อให้เด็กเงียบก็คงไม่ใช่การแสดงน้ำใจ แต่อาจเป็นการส่งเสริมให้เด็กเอาแต่ใจ กลายเป็นการทำเรื่องไม่ดีมากกว่า เผลอ ๆ คนที่ลุกให้นั่งนี่แหละจะโดนมองด้วยสายตาตำหนิติเตียน
ภาพจาก https://twitter.com/xavierkotaro/
ในความเป็นจริงแล้ว ใช่ว่ามีแต่คนญี่ปุ่นเท่านั้นที่ไม่ลุกให้เด็กนั่ง หรือมีเฉพาะคนไทยที่ลุกให้เด็กนั่ง ประเทศตะวันตกเองก็เสียงแตก คนออสเตรเลียเองก็ไม่นิยมลุกให้เด็กนั่งเช่นกัน ในขณะที่นิวซีแลนด์นั้นที่ผ่านมามีกฎว่าเด็กและนักเรียนต้องลุกให้ผู้ใหญ่นั่งด้วยซ้ำไปเพราะจ่ายค่าโดยสารต่ำกว่า แต่ปัจจุบันก็มีการยกเลิกกฎนี้ไปบางแห่งแล้ว และคาดว่าจะทยอยยกเลิกมากขึ้น เพราะมันเหมือนไปดูถูกเด็กว่าเป็นคนชั้นต่ำกว่า ผิดหลักสิทธิมนุษยชน ปล่อยให้เป็นสิทธิและการพิจารณาของผู้โดยสารดีกว่าว่าอยากจะลุกให้นั่งหรือไม่

ในขณะที่คนอเมริกันที่ลุกให้เด็กนั่งมีให้เห็นบ่อย ยิ่งถ้าผู้ใหญ่มากับเด็กหลายคน คนที่นั่งอยู่ก่อนจะพากันสละที่นั่งพรึ่บพรั่บ คนอังกฤษจำนวนมากก็มองว่าน่าจะให้เด็กนั่งเพราะปลอดภัยกว่า เพราะเด็กทั้งซนทั้งไม่มีความระมัดระวังเท่าผู้ใหญ่ แต่ก็มีบางส่วนที่คิดต่างว่าเด็กมีกำลังวังชากว่า ถ้าไม่ได้ป่วยหรือทุพพลภาพก็ควรจะยืน เด็กบางคนเคยชินกับการลุกให้ผู้ใหญ่นั่ง พอโตขึ้นก็รู้สึกว่านั่นเป็นสิ่งที่สมควรทำ

เรื่องนี้ถ้าเอาค่านิยมสังคมใดสังคมหนึ่งเป็นที่ตั้งแล้วตัดสินอีกวัฒนธรรมแบบไม่ฟังเหตุผล ก็คงไม่ยุติธรรมเท่าไหร่ จะลุกให้เด็กนั่งดีหรือไม่ดี บางทีถ้าใช้วิธีพิจารณาตามเหตุผลและความเหมาะสมเป็นสถานการณ์ ๆ ไปก็อาจจะดีเหมือนกันนะคะ

วิธีปอกเปลือกผลไม้ไม่เหมือนกัน

เมื่อก่อนฉันไม่เคยนึกเลยค่ะว่าการปอกผลไม้แต่ละชาติจะต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งใครจะไปนึกว่าคนญี่ปุ่น (และอีกหลาย ๆ ชาติ) จะปอกผลไม้โดยถือมีดในแนวตั้ง จนบางทีก็ดูเหมือนหันคมมีดเข้าหาตัว เป็นอะไรที่ทำลายคอมมอนเซนส์ของฉันในการปอกผลไม้มาก แล้วก็ไม่กล้าเลียนแบบด้วยเหมือนกันเพราะคงซุ่มซ่ามทำเลือดตกยางออกแน่นอน

เวลาคนญี่ปุ่นปอกแอปเปิล/สาลี่มักจะปอกแบบหมุนผลไม้ไปเรื่อย ๆ ได้เปลือกเป็นเส้นยาวต่อกันเส้นเดียว แต่ก็มีบางคนที่หั่นชิ้นก่อนแล้วค่อยปอกเปลือก แต่ไม่ว่าจะปอกแบบไหนก็มักปอกเปลือกแบบถือมีดแนวตั้งอยู่ดี ดูแล้วแปลกตาปนชวนให้กลัวว่าจะบาดมือ
ภาพจาก https://rassic.jp/content/4067
ส่วนวิธีปอกมะม่วงสุก เท่าที่ฉันเคยเห็นคนญี่ปุ่นกับคนฝรั่งเขามักปอกกันคือ ฝานครึ่งก่อน แล้วเอามีดกรีดเนื้อมะม่วงเป็นตาราง ก่อนจะดันเปลือกขึ้นเห็นเนื้อมะม่วงเป็นทรงลูกเต๋าเรียงรายกันราวดอกไม้ออกดอกเป็นช่อ เดี๋ยวนี้ฉันก็มักปอกแบบนี้เหมือนกันค่ะถ้าจะรับประทานเอง เพราะมันสะดวกและเร็วดี

จะว่าไปสมัยที่ฉันยังวัยรุ่น เคยเห็นรูปภาพโฆษณามะม่วงในต่างประเทศที่เป็นลูกเต๋าเรียงเป็นแผงแบบนี้ ก็เข้าใจผิดนึกว่ามะม่วงต่างประเทศหน้าตาเป็นแบบนั้นเสียอีก รู้สึกว่าเป็นมะม่วงที่แปลกจังเลย ช่างหารู้ไม่อะไรเช่นนั้นนะคะ (ฮา)
ภาพจาก https://rassic.jp/content/4067

คนญี่ปุ่นไม่ค่อยเลื่อนนัดง่าย

ถ้านัดไว้แล้ว อย่างไรคนญี่ปุ่นก็ไปตามนัดเสมอไม่ว่าจะฝนตกแดดออกรถติดอย่างไร และน้อยนักที่จะหาข้ออ้างใด ๆ ในการยกเลิกนัดเพราะถือว่าอีกฝ่ายอุตส่าห์เจียดเวลามาเพื่อตน ก็ควรจะให้เกียรติและรักษาสัญญา ที่สำคัญมากคือส่วนใหญ่มักมาตรงเวลาเป๊ะหรือก่อนเวลาเสมอ ถ้ามีเหตุสุดวิสัยให้มาสายจริง ๆ ส่วนใหญ่ก็ไม่เกิน 5-10 นาที และขอโทษขอโพยกันใหญ่โต อย่างไรก็ตาม การมาสายจะสร้างภาพลักษณ์ที่ย่ำแย่และเสียมารยาทกับอีกฝ่าย โดยเฉพาะถ้าเป็นในทางธุรกิจจะเป็นเรื่องใหญ่โตมาก มีสิทธิ์ทำให้อีกฝ่ายหมดความนับถือหรือตัดความสัมพันธ์ได้เลยทีเดียว

ตอนอยู่เมืองไทย เวลาอากาศไม่เป็นใจทีไร ดูเหมือนจะเป็นเรื่องธรรมดาที่คนรอบตัวจะเลื่อนกำหนดการ อาจเพราะที่เมืองไทยพอฝนตกทีก็มักตกแรง แม้จะมีร่มก็ยังเนื้อตัวเฉอะแฉะ แถมยังรถติดแบบเดาไม่ถูกว่าเมื่อไหร่จะไปถึง อาจเพราะอย่างนี้ก็เลยไม่รู้สึกแปลกใจถ้าได้ยินเพื่อนบางคนโทรมายกเลิกการนัดหมาย
ภาพจาก http://www.hirayama-farm.net/mymango/
ด้วยความคุ้นเคยอย่างนั้น วันหนึ่งฉันกับเพื่อนสนิทชาวญี่ปุ่นนัดกันไว้ แต่วันนั้นฝนตกหนักมากและลมแรงจนต้องลุ้นว่าร่มจะปลิวตลบกลับด้านกลายเป็นจานรับดาวเทียมไหม ฉันก็คิดไปเองว่าอากาศแบบนี้คงไม่มีใครอยากออกจากบ้านกระมัง เลยติดต่อเพื่อนไปว่าวันนี้เลื่อนไปก่อนดีไหมเพราะฝนตกหนักมาก เพื่อนก็ตอบตกลง

แต่อยู่มาวันหนึ่ง อะไรสักอย่างทำให้ฉันเอะใจว่าคนญี่ปุ่นไม่ค่อยเลื่อนนัดกันเพราะอากาศไม่เป็นใจ ฉันเลยถามเพื่อนว่าถ้าอย่างนั้นวันโน้นที่ฝนตกที่เลื่อนนัดไปนั่น ปกติคนญี่ปุ่นก็ไม่เลื่อนนัดกันหรือ เพื่อนบอก “ก็ใช่น่ะสิ ฉันละเป็นงง เกิดมาเพิ่งเคยเจอนี่แหละที่ยกเลิกนัดเพราะฝนตก” ตั้งแต่นั้นมาฉันก็เลยไม่ด่วนสรุปอีกเลยว่าถ้าอากาศไม่ดี คนก็คงไม่อยากออกจากบ้าน

วิธีเอาเส้นดำกลางหลังกุ้งออกไม่เหมือนกัน

ฉันแปลกใจที่ทราบว่าคนญี่ปุ่นนิยมเอาเส้นดำกลางหลังออกจากกุ้งด้วยการใช้ไม้จิ้มฟันเสียบแล้วดึงออก ราวกับการเลาะด้ายเสื้อผ้าด้วยเข็ม ดูแล้วทุลักทุเลพิกล
ภาพจาก https://cookpad.com/cooking_basics/
ฉันเคยสอนเพื่อนคนเกาหลีทำผัดไท เห็นเธอเอาเส้นดำกลางหลังกุ้งออกด้วยการใช้ไม้จิ้มฟันแบบคนญี่ปุ่น คงเพราะเส้นมันขาดระหว่างดึงบ่อย ๆ กว่าเธอจะจัดการกุ้งได้หนึ่งตัวก็ใช้เวลานาน เห็นเธอเหลือบมาดูฉันที่ถือกุ้งไว้ในมือหนึ่ง แล้วอีกมือถือมีด ผ่าหลังกุ้งแล้วใช้มีดแซะดึงเส้นดำกลางหลังออก เธอลังเลอยู่ครู่หนึ่งก่อนจะหันมาทำแบบเดียวกันแทน

ตอนแรกฉันนึกว่าคนญี่ปุ่นและคนเกาหลีคงทำแบบนี้กันหมด แต่ก็ได้ทราบว่าบางคนก็ใช้วิธีผ่ากลางหลังกุ้งแล้วดึงออกอยู่เหมือนกันค่ะ คนญี่ปุ่นจะวางกุ้งลงนอนตะแคงบนเขียงก่อน แล้วหันคมมีดไปด้านข้าง กรีดกลางหลังกุ้งในแนวนอน ก่อนจะเขี่ยเส้นดำออกมาทีละนิด แต่ดูเหมือนวิธีนี้จะไม่นิยมเท่าการใช้ไม้จิ้มฟัน

ภาพจาก https://oceans-nadia.com/
ฉันพยายามหาข้อมูลดูว่าทำไมคนญี่ปุ่นถึงนิยมใช้ไม้จิ้มฟันดึงเส้นดำนี่ออก (ซึ่งดูทุลักทุเล) มากกว่าการใช้วิธีผ่ากลางหลังแล้วดึงออกเลย (ซึ่งง่ายกว่ากันมาก) แต่ก็หาไม่เจอ จะว่าคนญี่ปุ่น(และคนเกาหลี)ไม่นิยมผ่าหลังกุ้งเพราะมันจะหลังแบะดูไม่สวยหรือเปล่าก็ไม่ทราบเหมือนกัน

แต่อย่างน้อยวิธีใช้ไม้จิ้มฟันดึงเส้นดำออกก็สามารถทำตอนที่ยังไม่แกะเปลือกกุ้งได้ด้วย พอนำไปประกอบอาหารทั้งเปลือก ก็ไม่ต้องกลัวว่ากุ้งมาทั้งเปลือกอย่างนี้แล้วเราจะรับประทานเส้นดำ ๆ นี่เข้าไปด้วยไหม ก็นับว่าเป็นวิธีที่น่าลอง

อย่างไรก็ดี การเอาเส้นดำกลางหลังกุ้งออกมาทีละตัว ๆ ก็เป็นเรื่องน่าเหนื่อยหน่าย เดี๋ยวนี้ฟาร์มที่ญี่ปุ่นเขาเลยใช้วิธีไม่ให้อาหารกุ้งที่ใกล้จะนำมาขาย เพื่อไม่ให้กุ้งขับของเสียออกมาเป็นเส้นดำที่กลางหลัง จะได้ไม่ต้องมาคอยดึงออก มิน่าละ ฉันก็เคยสงสัยว่าทำไมซื้อกุ้งสดที่ญี่ปุ่นไม่ค่อยเจอเส้นดำที่กลางหลังเลย ผ่าออกมาทีไรมีแต่ใส ๆ เสียส่วนใหญ่ แต่เขาก็ว่ามันมีข้อเสียคือกุ้งเหล่านี้เป็นกุ้งที่อดอาหารเลยพลอยเป็นกุ้งที่มีสารอาหารน้อยลงไปด้วย

ที่จริงมีเรื่องอื่น ๆ อีกมากมาย แต่ขอจบไว้แค่นี้ก่อนเนื่องจากพื้นที่หมดลงเพียงเท่านี้ แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้านะคะ สวัสดีค่ะ.





"ซาระซัง"
สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น