xs
xsm
sm
md
lg

บ.ญี่ปุ่นดิ้นหาทางขายไมโครชิพให้ “หัวเว่ย” หลังสหรัฐคว่ำบาตรทำสูญรายได้อ่วม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้ผลิตไมโครชิพของญี่ปุ่นร้องขอสหรัฐให้เปิดทางขายชิ้นส่วนอุปกรณ์ให้กับหัวเว่ย ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐทำให้บริษัททั้งของญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน สูญเสียรายได้จำนวนมาก

โซนี่ และ Kioxia บริษัทในเครือโตชิบา ได้ยื่นขออนุญาตต่อกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐ เพื่อให้ขายไมโครชิพให้กับหัวเว่ยได้ นอกจากผู้ผลิตของญี่ปุ่นแล้ว ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ และ SK Hynix ผู้ผลิตของเกาหลีใต้ ก็ได้ยื่นเรื่องในลักษณะเดียวกัน

ผู้ผลิตไมโครชิพของญี่ปุ่นมีหัวเว่ยเป็นลูกค้ารายใหญ่ มูลค่าการส่งออกมากกว่า 1 ล้านล้านเยน แต่เมื่อสหรัฐบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อหัวเว่ย ห้ามบริษัทต่าง ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีของสหรัฐขายชิ้นส่วนให้กับหัวเว่ย โดยอ้างว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของสหรัฐ มาตรการนี้ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตไมโครชิพของญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน ซึ่งต่างมีหัวเว่ยเป็นลูกค้ารายสำคัญ


โซนี่เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกที่ผลิตอิมเมจ เซนเซอร์ ที่ใช้ในสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์โทรคมนาคม โดยมีหัวเว่ยเป็นลูกค้ารายใหญ่อันดับที่ 2 รองจากแอปเปิล รายได้จากหัวเว่ยคิดเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 5 ของบริษัท มูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ต่อปี

โซนี่ประกาศลดประมาณการกำไรจากธุรกิจอิมเมจ เซนเซอร์ ในปีงบประมาณนี้ที่จะสิ้นสุดในเดือนมีนาคม ปี 2564 ตัดลดลง 45% หรือราว 130,000 ล้านเยน ด้วยเหตุผลการลดลงของยอดจำหน่ายสมาร์ทโฟนในช่วงการระบาดของโรคโควิด และคาดว่าผลกำไรจะยิ่งลดลงหนักขึ้นจากมาตรการคว่ำบาตรหัวเว่ยของสหรัฐ

โซนี่บอกว่าจะพยายามหาลูกค้ารายใหม่ เช่น บริษัทของจีนรายอื่นที่จ้องจะครองส่วนแบ่งทางการตลาดของหัวเว่ย รวมทั้งจะพัฒนาเซ็นเซอร์สำหรับอุปกรณ์อื่น ๆ เช่น รถยนต์ และเครื่องจักรอุตสาหรรม แทนที่จะพึ่งพาการขายชิ้นส่วนสำหรับสมาร์ทโฟนเท่านั้น


ด้าน Kioxia บริษัทลูกของโตชิบา มีรายได้จากการขายไมโครชิพสำหรับสมาร์ทโฟนสูงถึง 40% ของยอดขายของบริษัท โดยหัวเว่ยเป็นลูกค้ารายใหญ่เช่นเดียวกัน ผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐทำให้ Kioxia ต้องเลื่อนการเสนอขายหุ้นต่อประชาชน หรือ IPO ที่เดิมมีกำหนดในวันที่ 6 ตุลาคมออกไป

การเลื่อนขายหุ้น IPO ของ Kioxia ทำให้ตลาดทุนของญี่ปุ่นสูญเสียโอกาสการระดมทุนครั้งสำคัญท่ามกลางวิกฤตโควิด เพราะคาดว่าหุ้น Kioxia จะมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดถึงกว่า 14,000 ล้านดอลลาร์ ถือเป็นหุ้นที่มีมูลค่า IPO สูงสุดในปีนี้

หัวเว่ยได้ระดมซื้ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จากผู้ผลิตในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นมากถึง 50% ในปีที่แล้ว หลังเผชิญกับความไม่แน่นอนจากสหรัฐ แต่ขณะนี้ผู้ผลิตในญี่ปุ่นจำต้องหยุดขายชิ้นส่วนให้กับหัวเว่ย เพราะมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐเข้มงวดมาก ครอบคลุมถึงผู้ผลิตทุกประเทศที่ใช้นวัตกรรมของสหรัฐ ผู้ฝ่าฝืนจะถูกตอบโต้ด้วยการห้ามนำเข้าซอฟแวร์และเทคโนโลยีจากสหรัฐ รวมถึงประเทศที่ 3 ที่ใช้นวัตกรรมสหรัฐด้วย นอกจากนี้ยังมีโทษปรับเงินไม่เกิน 1 ล้านดอลลาร์ และจำคุกด้วย

หัวเว่ยเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนอันดับ 1 ของโลก แซงหน้าซัมซุงได้เมื่อไตรมาสที่แล้ว และยังเป็นผู้นำในการจำหน่ายสถานีฐานเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ มีสัดส่วนการตลาดราว 30%

มาตรการคว่ำบาตรหัวเว่ยของสหรัฐ ทำให้ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวันที่เป็นผู้ผลิตไมโครชิพรายใหญ่ของโลก ต้องสูญเสียรายได้จากการขายชิ้นส่วนให้กับหัวเว่ยมากถึง 2.8 ล้านล้านเยน หรือราว 26,400 ล้านดอลลาร์ต่อปี.


กำลังโหลดความคิดเห็น