กระทรวงการต่างประะเทศสหรัฐฯ อนุมัติแล้วให้สามารถขายระบบป้องกันชายฝั่ง “ฮาร์พูน” ซึ่งผลิตโดยโบอิ้ง แก่ไต้หวันได้ ในข้อตกลงซึ่งอาจมีมูลค่าสูงสุดถึง 2,370 ล้านดอลลาร์ เพนตากอน (กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ) แถลงเมื่อวันจันทร์ (26 ต.ค.) ถือเป็นการท้าทายซ้ำสองหลังจากปักกิ่งเพิ่งแสดงความโกรธเกรี้ยวดีลที่วอชิงตันขายขีปนาวุธและจรวดมูลค่ากว่าพันล้านดอลลาร์ให้ไทเปในสัปดาห์ที่แล้ว
ขณะที่คำแถลงของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ เองบอกว่า ได้แจ้งแก่รัฐสภาอเมริกันอย่างเป็นทางการในวันจันทร์ (26) เกี่ยวกับการอนุมัติดังกล่าวซึ่งครอบคลุมข้อเสนอขายระบบป้องกันชายฝั่ง ฮาร์พูน จำนวนสูงสุดไม่เกิน 100 ชุด โดยระบบนี้ครอบคลุมรวมไปถึงขีปนาวุธยิงจากพื้นดินแบบ RGM-84L-4 Harpoon Block II ซึ่งบริษัทโบอิ้งเป็นผู้ผลิต จำนวน 400 ลูก
ขีปนาวุธชนิดนี้สามารถติดตั้งบนแท่นยิงตายตัวหรือนำขึ้นรถบรรทุกก็ได้ มีพิสัยทำการราว 78 กิโลเมตร สำหรับปฏิบัติการในฐานะขีปนาวุธร่อนป้องกันชายฝั่ง
ตามกระบวนการปฏิบัติ หลังจากกระทรวงการต่างประเทศแจ้งอย่างเป็นทางการแล้ว รัฐสภาจะมีเวลา 30 วันสำหรับคัดค้านการขาย แต่ในกรณีนี้เป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น เนื่องจากพวกสมาชิกรัฐสภาทั้งพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครตต่างให้ความสนับสนุนเรื่องการป้องกันไต้หวันกันอย่างกว้างขวาง
ทางด้านสำนักงานของประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน แห่งไต้หวัน ออกคำแถลงแสดงความขอบคุณสหรัฐฯ สำหรับการขายอาวุธคราวนี้ โดยระบุว่ามันจะ “ยกระดับสมรรถนะในการทำสงครามแบบอสมมาตร” ของไต้หวัน
ความเคลื่อนไหวครั้งนี้มีขึ้น หลังจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เพิ่งอนุมัติเมื่อวันพุธ (21) ที่แล้ว ให้สามารถขายระบบอาวุธล็อตแรกจำนวน 3 ชนิดแก่ไต้หวัน ประกอบด้วยแท่นยิงจรวดหลายลำกล้องติดตั้งบนรถบรรทุกของล็อกฮีด มาร์ติน, ขีปนาวุธต่อต้านขีปนาวุธชนิดยิงจากอากาศสู่ภาคพื้นแบบ AGM-84H SLAM-ER พร้อมอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องของโบอิ้ง และระบบกระเปาะลาดตระเวนทางอากาศซึ่งเป็นตัวเซนเซอร์สำหรับติดตั้งบนเครื่องบินขับไล่ F-16
เรื่องนี้ทำให้จีนประกาศตอบโต้ด้วยการลงโทษคว่ำบาตรบริษัทอเมริกันซึ่งผลิตอาวุธเหล่านี้ โดยในวันจันทร์ (26 ต.ค.) จ้าว ลี่เจียน โฆษกคนหนึ่งของกระทรวงการต่างประเทศของจีน เปิดเผยกับพวกผู้สื่อข่าวในกรุงปักกิ่ง ว่าจีนจะกำหนดมาตรการคว่ำบาตร ล็อกฮีด มาร์ติน, โบอิ้ง ดีเฟนซ์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของโบอิ้ง, เรย์เธียน และบริษัทสหรัฐฯ อื่นๆ ที่พวกเขาบอกว่าเกี่ยวข้องกับการขายอาวุธให้ไต้หวัน
จ้าวไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่าการแซงก์ชั่นจะอยู่ในลักษณะไหน แต่กล่าวว่านี่เป็นสิ่งที่ปักกิ่งทำเพื่อ “ปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติ” ของตน และจะใช้กับพวกซึ่ง “ประพฤติอย่างเลวร้ายในกระบวนการขายอาวุธให้แก่ไต้หวัน”
อย่างไรก็ตาม มอร์แกน ออร์ตากัส โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ออกถ้อยแถลงตอบโต้ว่า “เราขอประณามความพยายามของจีนที่ต้องการแก้เผ็ดบริษัทสหรัฐฯ และบริษัทต่างชาติ สำหรับการขายอาวุธที่สนับสนุนความจำเป็นด้านป้องกันตนเองอย่างถูกต้องตามกฎหมายแก่ไต้หวัน”
สำหรับปฏิกิริยาของปักกิ่งต่อการที่วอชิงตันประกาศขายอาวุธให้ไทเปเป็นล็อตที่ 2 นั้น หวัง เหวินปิน โฆษกอีกผู้หนึ่งของกระทรวงการต่างประเทศจีนแถลงในวันอังคาร (27) ว่า จีน “คัดค้านอย่างหนักแน่น” ต่อความเคลื่อนไหวเช่นนี้ และเรียกร้องสหรัฐฯ ให้ “ยุติแผนการขายอาวุธอย่างไม่สมด้วยเหตุผลให้แก่ไต้หวัน เพื่อที่จะไม่กลายเป็นสาเหตุสร้างความเสียหายมากขึ้นอีกแก่ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ และแก่สันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน”
โฆษกผู้นี้ซึ่งกล่าวในการแถลงข่าวตามปกติของกระทรวง บอกอีกว่า จีนจะ “ดำเนินมาตรการที่เหมาะสมและจำเป็นเพื่อพิทักษ์ปกป้องอธิปไตยและผลประโยชน์ด้านความมั่นคงแห่งชาติของตนอย่างหนักแน่นมั่นคง”
(ที่มา : รอยเตอร์/เอเอฟพี)