เอเจนซีส์/รอยเตอร์ – ปักกิ่งแถลงวันจันทร์(26 ต.ค)ยืนยันว่า จะเดินหน้าคว่ำบาตรบริษัทยักษ์ใหญ่สหรัฐฯต่างๆรวมถึง บริษัท ล็อกฮีด มาร์ติน บริษัทเรย์ธีออน และบริษัทโบอิ้ง ที่เกี่ยวข้องกับการขายอาวุธให้ไต้หวัน
CNN สื่อสหรัฐฯรายงานวันนี้(27 ต.ค)ว่า โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน เจ้า ลี่เจียน (Zhao Lijian) แถลงในการแถลงข่าววันจันทร์(26) เรียกร้องให้สหรัฐฯหยุดการขายอาวุธให้กับทางไต้หวันพร้อมกับตัดความสัมพันธ์ทางการทหารกับรัฐบาลไทเปที่ฝั่งจีนถือว่า เป็นส่วนหนึ่งของจีน
การคว่ำบาตรถือเป็นยกระดับความตรึงเครียดล่าสุดระหว่างสหรัฐฯและจีนที่มีต่อปัญหาไต้หวัน
“เรายังคงใช้มาตรการที่เหมาะสมเพื่อป้องกันอธิปไตยของประเทศและผลประโยชน์ทางความมั่นคง” เจ้ากล่าว และย้ำว่าการขายยุทโธปกรณ์ทางการทหารของสหรัฐฯให้กับไต้หวันนั้นละเมิดอย่างร้ายแรงต่อหลักการจีนเดียวและกระทบต่อผลประโยชน์ทางความมั่นคงจีน
ทั้งนี้ยังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับการคว่ำบาตรถูกประกาศออกมา แต่ทางโฆษกกระทรวงต่างประเทศจีนชี้ว่า จะมีผลกับบุคคลที่เกี่ยวข้องของสหรัฐฯและนิติบุคคลที่แสดงบทบาทต่อการขายอาวุธซึ่งถือเป็นแง่ลบ
แต่อย่างไรก็ตามเจ้าเปิดเผยว่า การคว่ำบาตรรอบล่าสุดนี้จะกระทบต่อบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอาวุธและอากาศยานของสหรัฐฯคือ ล็อกฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin) โบอิ้ง และเรย์ธีออน(Raytheon)
อย่างไรก็ตามโฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ออกมาประณามการข่มขู่ที่จะคว่ำบาตรของจีนทันทีในคืนวันจันทร์(26) โดยชี้ว่า “ไม่สร้างสรรค์”
“เรารู้สึกตกใจต่อความพยายามของปักกิ่งในการตอบโต้สหรัฐฯและบริษัทต่างชาติสำหรับการขายที่จะช่วยสนับสนุนความชอบธรรมของไต้หวันในการปกป้องตัวเอง ความจำเป็นที่เด่นชัดเห็นได้จากภัยความคุกคามที่เพิ่มขึ้นโดย(กองทัพอากาศจีน)” รายงานแถลงการณ์ของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ
ขณะที่บริษัทโบอิ้งกล่าวว่าปัญหานี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องทำหน้าที่แก้ไข
“รัฐบาลสหรัฐฯเป็นผู้ตัดสินใจว่าระบบป้องกันใดที่สมควรจะถูกจัดหาให้กับไต้หวันและเป็นผู้จัดการติดต่อกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯสำหรับการอนุญาตของยุทโธปกรณ์นั้น” โบอิ้งกล่าวผ่านแถลงการณ์ และเสริมต่อว่า “การขายยุทโธปกรณ์ต่างชาติให้กับประเทศใดหรือบุคคลใดนั้นเป็นภาระสัญญาโดยตรงระหว่างผู้ชื้อและรัฐบาลสหรัฐฯ/กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ”
ด้านล็อกฮีด มาร์ตินกล่าวคล้ายกันที่ว่าการขายอาวุธให้ไต้หวันเป็นสัญญาระหว่างรัฐต่อรัฐ และย้ำว่าทางบริษัททำงานใกล้ชิดกับผู้นำสหรัฐฯ
“ล็อกฮีด มาร์ตินปฎิบัติตามนโยบายสหรัฐฯในการทำธุรกิจกับรัฐบาลต่างชาติ” บริษัทล็อกฮีด มาร์ตินกล่าวผ่านแถลงการณ์ และเสริมว่า “เราทำธุรกิจกับชาติไม่ต่ำกว่า 70 ประเทศทั่วโลก และการขายต่างชาติทั้งหมดของเรานั้นถูกควบคุมโดยรัฐบาลสหรัฐฯอย่างเคร่งครัด”
ส่วนบริษัทเรธีออนไม่ได้ออกมาแสดงความเห็นในเรื่องนี้กับ CNN
โดยก่อนหน้ามีรายงานออกมาว่า กระทรวงการต่างประะเทศสหรัฐฯ อนุมัติความเป็นไปได้ที่จะขายระบบป้องกันชายฝั่ง ฮาร์พุน(Harpoon) แก่ไต้หวัน ในข้อตกลงที่อาจมีมูลค่าสูงสุดถึง 2.37 พันล้านดลอลาร์ จากการเปิดเผยของเพนตากอนเมื่อวันจันทร์ (26) ถือเป็นข้อตกลงครั้งมหึมาในรอบ 40 ปี อ้างอิงจากรอยเตอร์
โดยกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ แจ้งต่อสภาคองเกรสอย่างเป็นทางการเมื่อวานนี้ (26) เกี่ยวกับการอนุมัติดังกล่าวซึ่งครอบคลุมข้อเสนอขายระบบป้องกันชายฝั่งฮาร์พุนสูงสุดจำนวน 100 ชุด รวมถึงขีปนาวุธยิงจากพื้นผิว RGM-84L-4 Harpoon Block II จำนวน 400 ลูก สำหรับปฏิบัติการในฐานะขีปนาวุธร่อนป้องกันชายฝั่ง
และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ เพิ่งแจ้งต่อสภาคองเกรสเกี่ยวกับการอนุมัติการจำหน่ายอาวุธ 3 ชนิดชุดแรกแก่ไต้หวัน ประกอบด้วยแท่นยิงจรวดหลายลำกล้องติดตั้งบนรถบรรทุกของล็อกฮีด มาร์ติน, ขีปนาวุธต่อต้านขีปนาวุธภาคพื้นสู่อากาศ (SLAM-ER) และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องของโบอิ้ง โค รวมถึงระบบกระเปาะลาดตระเวนทางอากาศ ติดตั้งเครื่องบินขับไล่ F-16