xs
xsm
sm
md
lg

การกักตัวอยู่บ้านทำให้เราได้เรียนรู้ว่า...

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจาก https://prologue-end.com/
คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่าน ช่วงกักตัวอยู่บ้านเพราะโควิดคงทำให้หลายคนได้เรียนรู้และฉุกคิดถึงสิ่งที่ไม่เคยนึกถึงมาก่อนไม่มากก็น้อยนะคะ บ้างก็นำไปสู่การริเริ่มทำสิ่งใหม่ หรือทิ้งอะไรบางอย่างไปจากชีวิต ฉันได้อ่านเรื่องราวต่าง ๆ ที่คนญี่ปุ่นเล่าแล้วก็เก็บประเด็นที่น่าสนใจออกมาได้สองอย่าง ก็เลยนำมาเล่าสู่กันฟังค่ะ

1. สิ่งที่เราคิดว่าจะทำเมื่อมีเวลา สุดท้ายเราก็ไม่ทำอยู่ดี

เพื่อนผู้อ่านมีสิ่งที่คิดว่าอยากทำหรือจะทำแต่ยังไม่ได้ทำกันบ้างไหมคะ ในขณะที่เรา ๆ ยุ่งกับการใช้ชีวิต คงมีหลายครั้งทีเดียวที่คิดว่ารอให้มีเวลาก่อนแล้วจะลงมือทำ ถ้าอย่างนั้นช่วงกักตัวอยู่แต่ในบ้านเพราะโควิดมาเกินกว่าหนึ่งเดือน ก็น่าจะเป็นโอกาสอันดีสำหรับหลายคนที่มีเวลาว่างเพิ่มจากเดิมมาก

ภาพจาก https://saruwakakun.com/life/
เชื่อว่าบางท่านคงได้ทำอย่างที่ตั้งใจไว้เนิ่นนาน เช่น อาจสบโอกาสเหมาะในการจัดบ้านช่องห้องหับที่รกรุงรังมานาน ในขณะที่คนอีกจำนวนหนึ่งก็ไม่ได้ทำสิ่งที่เคยคิดไว้ว่าจะทำ

หนึ่งในคนญี่ปุ่นที่ทำงานจากบ้านช่วงโควิดพบว่า สุดท้ายแล้วสิ่งที่เราเคยคิดว่าถ้ามีเวลาแล้วจะทำ พอถึงช่วงที่เรามีเวลามากมายจากการต้องกักตัวอยู่ที่บ้านกันเป็นเดือน ๆ เราก็ไม่ได้ทำอยู่ดี ในขณะที่บางสิ่งนั้นไม่ว่าจะยุ่งแค่ไหนอย่างไร เรากลับหาเวลาเพื่อมันได้เสมอ

การที่เราผัดผ่อนสิ่งไหนออกไปก่อน อาจบ่งบอกว่าสิ่งนั้นไม่ได้สำคัญสำหรับเราจริง เพราะต่อให้มีเวลาเราก็ผัดวันประกันพรุ่งอีกอยู่ดี เพราะฉะนั้นปัญหาไม่ได้อยู่ที่มีเวลาหรือไม่มี แต่อยู่ที่ว่าเราไม่ได้สนใจมันมากพอต่างหาก

เขาสรุปไว้ว่า ก่อนจะกลับไปสู่ชีวิตอันวุ่นวายหลังจบเรื่องโควิด ถ้าเราสามารถตัดอย่างอื่นนอกเหนือจากสิ่งที่จำเป็นต้องทำและอยากทำออกไปจากชีวิตเสียได้ เราก็ไม่ต้องมาอ้างว่ายุ่งหรือไม่มีเวลา และสามารถใส่ใจกับสิ่งที่อยากทำได้จริง ๆ


คุณมาริเอะ คอนโด ผู้โด่งดังจากหนังสือ “ชีวิตดีขึ้นทุก ๆ ด้านด้วยการจัดบ้านเพียงครั้งเดียว” ก็เคยบอกไว้ว่าการที่เราเลือกที่จะเก็บสิ่งของที่มีคุณค่าทางจิตใจจริง ๆ และทิ้งสิ่งอื่นที่เหลือไป ทำให้เราได้เรียนรู้อะไรใหม่ที่ไม่เคยนึกถึงมาก่อน ทำให้วิธีคิดและการมองโลกเปลี่ยนไปจากเดิม รวมทั้งค้นพบความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเองและได้หันมาปฏิวัติตัวเองใหม่ ดังเช่นลูกค้าเธอคนหนึ่งที่ตัดสินใจเลิกกับแฟนหลังจากการจัดบ้านด้วยวิธีนี้ เพราะได้เรียนรู้ที่จะเลือก “เก็บสิ่งที่มีคุณค่า” และ “ทิ้งสิ่งที่ไม่สร้างความสุข” ให้ชีวิตแล้วนั่นเอง

การที่เราคิดไว้ว่าอยากทำหรือต้องทำโน่นนี่นั่น แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ลงมือทำสักที ก็คงไม่ต่างจากข้าวของที่เราเก็บเอาไว้ บางทีมันก็สะท้อนให้เห็นว่าเราอาจจะกำลัง “เก็บสิ่งที่ไม่สร้างความสุข” เอาไว้ในใจให้รกรุงรังเป็นภาระโดยไม่จำเป็นอยู่ก็ได้นะคะ ในทางตรงกันข้าม การปล่อยบางอย่างให้หลุดมือไปอาจทำให้โล่งอกว่า “เฮ้อ ปล่อยไปได้เสียที" และอาจจะแปลกใจตัวเองว่าที่ผ่านมาเราแบกสิ่งเหล่านี้ไว้ให้หนักอกหนักใจไปเพื่ออะไรกันนะ

ครูบาอาจารย์ฉันเคยพูดไว้ว่า “ความรกรุงรังในใจเรานะ ที่จริงเกิดจากภาระจำนวนมากที่เราแบกไว้เอง สร้างไว้เอง แล้วก็หลอกตัวเองว่านี่มันสำคัญ”

หลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตที่เรายึดถือไว้ ที่จริงอาจจะไม่ได้สำคัญอย่างที่เราคิดก็ได้ !

2. การกักตัวอยู่บ้านเป็นการจำลองชีวิตหลังเกษียณ


คนญี่ปุ่นอีกคนหนึ่งซึ่งอายุเข้าใกล้วัยหกสิบรู้สึกว่า การอยู่บ้านนานหลายเดือนคงไม่ต่างอะไรจากชีวิตในวัยเกษียณ เพราะไม่ต้องตื่นแต่เช้าขึ้นรถไฟคนแน่นไปทำงานวันจันทร์ถึงศุกร์ และไม่ว่าวันธรรมดาหรือวันหยุดสัปดาห์ต่างก็ได้อยู่บ้านเหมือนกันทุกวัน ความที่ไม่รู้ว่าสถานการณ์เช่นนี้จะจบลงเมื่อไหร่ แต่ละวันผ่านไปแบบเฉื่อย ๆ ไร้เป้าหมายและทิศทางจึงน่าจะเหมือนชีวิตหลังเกษียณในความคิดของเขา

ภาพจาก https://slownet.ne.jp/c/society/
ถ้าเป็นช่วงที่ต้องไปทำงานทุกวันก็จะรู้สึกว่า “วันจันทร์อีกแล้ว” “เฮ้อ! เพิ่งวันอังคารเองเหรอ” “โอ้! วันพุธละ” “วันพฤหัส! ใกล้แล้ว ๆ” “เย้ วันศุกร์แล้ว! พรุ่งนี้วันหยุด!” แต่พอต้องกักตัวอยู่บ้านก็ไม่รู้สึกถึงความแตกต่างของแต่ละวัน เมื่อทุกวันหมุนไปแบบเดียวกันหมด ไฟแห่งความกระตือรือร้นก็ค่อย ๆ มอดดับลง

เจ้าตัวจึงชักจะเห็นคุณค่าของการมีวันที่ต้องออกจากบ้านไปทำงาน และมีวันหยุดแยกจากกันในแต่ละสัปดาห์ เพราะทำให้มีชีวิตชีวากว่ากันมาก

เขานึกขึ้นมาได้ว่าหากถึงวัยเกษียณแล้วไม่อยากรู้สึกเฉื่อยชา ก็จำเป็นที่จะต้องหาเป้าหมายสำหรับทุกวัน และต้องไม่ใช่เป้าหมายแบบที่จะผัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อยด้วย

ฉันไม่เคยนึกถึงมาก่อนว่าชีวิตวัยเกษียณจะเป็นอย่างไร แต่ก็คิดว่าถ้าใช้ชีวิตอย่างมีความหมายทุกวัน ก็น่าจะทำให้รู้สึกดี ๆ กับชีวิตในแต่ละวันได้ แน่นอนว่าเรี่ยวแรงหรือสุขภาพอาจจะสร้างข้อจำกัดบางอย่าง แต่กิจกรรมสำหรับคนวัยเกษียณที่สนุกเพลิดเพลินและดีต่อใจก็มีให้เลือกตั้งมากมาย

ถ้าเป็นที่ญี่ปุ่นซึ่งความเป็นชุมชนค่อนข้างแน่นแฟ้น ในชุมชนเขาจะมีจัดกลุ่มทำกิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุอยู่เรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นทำอาหาร ทำงานฝีมือ เดินป่า เล่นกีฬา และอื่น ๆ อีกมากมาย บางอย่างฟรี บางอย่างเสียเงิน หรือถ้าไม่ร่วมกลุ่มเหล่านี้ก็หาอะไรทำเอง ดังเช่นผู้สูงอายุญี่ปุ่นจำนวนมากที่นิยมไปเดินเขาออกกำลังกายสูดอากาศดี ๆ หรือไปท่องเที่ยวกับคณะทัวร์ (อ่านเพิ่มเติมได้จาก “ไขความลับความอายุยืนของคนญี่ปุ่น”)

ได้ยินว่าพ่อแม่ที่เกษียณแล้วของเพื่อนบางคนสนุกกับการทำสวนปลูกผักไว้รับประทานเอง มีเหลือก็แจกจ่ายเพื่อนฝูง บ้างก็เพิ่งหัดเล่นเทนนิสจนเก่ง บ้างก็สอนภาษาแก่คนต่างชาติผ่านอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ยังมีคนวัยเกษียณรอบตัวอีกมากที่ทำงานจิตอาสา ไม่ว่าจะเป็นการเสริมสร้างการเรียนรู้เรื่องสุขอนามัยในชุมชนแออัด ช่วยแพทย์พยาบาลจัดตรวจสุขภาพ รักษาตา ผ่าตัดโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย สอนเด็ก ๆ ให้รู้จักความกตัญญูด้วยการทำเวิร์คชอปแนะวิธีแบ่งเบาภาระงานบ้านของพ่อแม่ กระทั่งคุณยายฮัตจังที่เปิดร้าน 500 เยนกินไม่อั้นเพื่อช่วยเหลือคนอื่น ก็ยังเปิดร้านเมื่ออายุได้ 62 ปี (อ่านเพิ่มเติมจาก ยิ่งให้ยิ่งมีความสุขแบบคุณยาย "ฮัตจัง")

พอมีกิจกรรมทำก็มีเพื่อนคุยหรืออาจเจอเพื่อนใหม่ที่ถูกใจ อาจเจอคนที่มีงานอดิเรกหรือความชอบคล้ายกัน ชวนกันไปทำกิจกรรมอื่นเพิ่มอีก บ้างก็ได้เจองานอดิเรกชนิดใหม่ที่ชอบ อีกทั้งการได้ขยับตัว ออกแรง หรือออกจากบ้านไปทำอะไรต่อมิอะไรบ้างก็ดีต่อสุขภาพ ดีกว่าอยู่เฉย ๆ แบบตื่นมาไม่รู้จะทำอะไรดีในแต่ละวัน

ภาพจาก http://fujiplus.jp/silverlab/blog/vol5_blog.html
พูดง่าย ๆ คือถ้าไม่มีงานประจำมากำหนดให้ว่าวันนี้เราต้องทำอะไรบ้าง ก็สร้างเป้าหมายใหม่โครงการใหม่ด้วยตัวเองว่าอยากลงมือทำอะไรบ้าง แล้วหาลู่ทางลงมือทำ ออกจะเป็นอะไรที่ชวนท้าทายและน่าสนุกดีนะคะ

ฉันเคยได้ยินว่าหลายคนรู้สึกชีวิตเหี่ยวเฉาลงเมื่อเกษียณการทำงาน เพราะรู้สึกไร้คุณค่า แต่ฉันคิดว่าปัญหาคงไม่ได้อยู่ที่การเกษียณแต่น่าจะอยู่ที่วิธีเลือกใช้ชีวิตมากกว่า สิ่งที่ฉันคิดว่าชีวิตใจดีให้เรามาก็คือโอกาสในการเลือกว่าจะทำอย่างไร ต่อให้บางสถานการณ์ย่ำแย่เหมือนโดนบังคับเลือก ที่จริงก็ยังเลือกได้ว่าจะมองแง่ไหน มองแง่ดีก็สบายใจและอาจมองเห็นกระทั่งทางออก มองแง่ร้ายก็กลุ้มใจเพราะมองไปทางไหนก็ตัน

เหมือนกับที่ วินสตัน เชอร์ชิล เคยกล่าวไว้ว่า “ผู้มองโลกแง่ร้ายเห็นความยากในทุกโอกาส ผู้มองโลกแง่ดีเห็นโอกาสในทุกความยาก” นั่นเอง

ชีวิตมีทางเลือกและโอกาสก็มีอยู่ในทุกสถานการณ์ ไม่ว่าวันนี้จะเลือกเก็บสิ่งที่สร้างความสุขและทิ้งภาระที่ไม่จำเป็นต้องแบกออกไปจากชีวิต หรืออยู่ในวัยเกษียณหรือไม่ก็ตาม

แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้านะคะ สวัสดีค่ะ.

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

"ซาระซัง" เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น