คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่าน หลายคนคงทำงานจากบ้านกันมาพักใหญ่จนชินแล้ว เป็นอย่างไรกันบ้างคะ ก่อนเกิดวิกฤติโควิดนั้นการทำงานจากบ้านไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับในญี่ปุ่นเอาเสียเลย จวบจนกระทั่งรัฐบาลขอร้องให้ช่วยกันอยู่บ้านเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ การทำงานจากบ้านจึงกลายเป็นสิ่งที่คนญี่ปุ่นจำนวนมากต้องยอมรับโดยดุษฎี และเมื่อได้ลองแล้วก็มีหลายคนติดใจ ในขณะที่หลายคนก็เจอข้อจำกัดด้วยเช่นกัน
การทำงานจากบ้านในญี่ปุ่นก่อนช่วงโควิด-19 นับว่าเป็นอัตราส่วนที่น้อยมาก ถึงแม้ว่าธุรกิจที่มีระบบทำงานจากบ้านจะมีอยู่บ้าง แต่พนักงานส่วนใหญ่ของบริษัทที่มีระบบนี้กลับไม่เคยได้นำมาใช้จริง ที่เป็นเช่นนั้นเพราะคนญี่ปุ่นค่อนข้างไม่สบายใจกับการไม่มาปรากฏตัวในที่ทำงาน เพราะหากไม่แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจทำงานก็อาจส่งผลต่อการเลื่อนขั้นหรือการประเมินผลการทำงาน รวมทั้งเจ้านายเองก็กังวลที่ไม่สามารถสอดส่องการทำงานของลูกน้องโดยตรงได้
พอรัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินและพยายามให้ประชาชนอยู่บ้านให้มากที่สุด แรกเริ่มบริษัทต่าง ๆ ก็ค่อนข้างจะลังเล คนยังขึ้นรถไฟไปทำงานกันหนาแน่น ทางรัฐบาลและกรุงโตเกียวออกมาแสดงความกังวลว่าอัตราการทำงานจากบ้านต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ ต่อมาการทำงานจากบ้านก็ดูเหมือนจะเริ่มแพร่หลายขึ้น คนค่อย ๆ บางตาลงตามสถานีรถไฟในชั่วโมงเร่งด่วน
ทางกรุงโตเกียวยังได้ทำการสำรวจบริษัทที่มีลูกจ้างไม่ต่ำกว่า 30 คนว่ามีการทำงานจากบ้านมากน้อยเพียงใด พบว่ามีอัตราร้อยละ 62.7 ณ เดือนเมษายน ซึ่งเพิ่มสูงจากเดือนก่อนซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 24 ถึง 2.6 เท่าเลยทีเดียว
แน่นอนว่าการทำงานจากบ้านมีทั้งข้อดีและข้อเสีย อีกทั้งยังมีความเหมาะสมและไม่เหมาะสมกับแต่ละคนแตกต่างกันออกไป เรามาดูกันดีกว่าค่ะว่าคนญี่ปุ่นทำงานที่บ้านแล้วเห็นข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง
ข้อดีของการทำงานจากบ้าน
สิ่งที่คนส่วนใหญ่เห็นดีงามตรงกันก็คือ การไม่ต้องดิ้นรนตื่นแต่เช้า ไม่ต้องโหนรถไฟเดินทางไปทำงาน ซึ่งช่วยให้เหนื่อยน้อยลงและยังเอาเวลาที่เพิ่มมานี้ไปใช้ทำประโยชน์อย่างอื่นได้อีกมาก
นอกจากนี้ หลายคนสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าเดิม อีกทั้งการไม่ต้องคอยรับโทรศัพท์หรือพบปะผู้คนระหว่างทำงานก็ช่วยให้มีสมาธิและทำงานเสร็จเร็วขึ้นด้วย แน่นอนว่าก็มีบางคนที่รู้สึกไม่ชินและไม่มีสมาธิในการทำงานเหมือนอยู่ที่บริษัท แต่พอทำงานจากบ้านหลายวันเข้าก็ชักจะเริ่มจับจุดถูกว่าจะทำงานจากบ้านอย่างไรให้เป็น
พอเห็นถึงประโยชน์ของการไม่ต้องไปทำงานจากบริษัท แม้ตอนนี้ญี่ปุ่นจะยกเลิกภาวะฉุกเฉินแล้ว ก็มีคนที่นึกอยากทำงานจากบ้านต่อ ถึงงานบางอย่างอาจจำเป็นต้องเข้าบริษัท หรือบางคราวต้องออกไปพบปะลูกค้า แต่เอาเข้าจริงก็อาจจะแค่สัปดาห์ละไม่กี่วัน หรือหากกังวลว่าลูกอยู่บ้านแล้วจะรบกวนการทำงาน อย่างน้อยตอนลูกไปโรงเรียนแล้วก็น่าจะสามารถจดจ่อกับการทำงานได้
การทำงานจากบ้านไม่เพียงแค่ดีต่อพนักงานเท่านั้น แต่ยังดีต่อบริษัทเองในหลายด้านด้วย ประเด็นสำคัญที่เห็นได้ชัดคือ การทำงานจากบ้านช่วยให้มองเห็นชัดขึ้นว่าคนไหนทำงานจริง ทำงานเป็น และมีวินัยในการทำงาน เพราะถ้าหากคนไหนชินกับการสักแต่ว่าทำงานไปงั้น ๆ จนถึงเวลาเลิกงาน หรืออยู่บริษัทดึกดื่นเพื่อให้ได้เงินค่าล่วงเวลา หรือเพื่อให้เจ้านายเข้าใจ(ผิด) ว่าตนขยันทำงาน พอต้องมาทำงานจากบ้านแล้วไม่มีผลงานให้เห็น เจ้านายก็ย่อมรู้ว่าคนนี้ทำงานไม่เป็น
การทำงานจากบ้านจึงสะท้อนพฤติกรรมการทำงานได้ในระดับหนึ่ง และอาจเป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่ช่วยให้ประเมินผลงานของพนักงานได้ถูกต้องกว่าเดิม หากประเด็นนี้จุดประกายสังคมการทำงานของญี่ปุ่นให้หันมาให้คุณค่าแก่ “ผลงาน” มากกว่า “ชั่วโมงการทำงาน” และ “ภาพลักษณ์ว่าทำงานหนัก” ได้ แล้วลดเวลาการทำงานยาวนานที่ไม่จำเป็นออก ก็น่าจะช่วยลดปัญหาการทำงานหนักแบบผลิตภาพต่ำ และเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแก่ประชาชนได้มาก
นอกจากนี้ การทำงานจากบ้านจะช่วยให้บริษัทประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางของพนักงานด้วย โดยปกติแล้วญี่ปุ่นจะออกเงินค่าเดินทางไปกลับทำงานให้แก่พนักงานทุกคน หากพนักงานไม่ต้องเดินทางมาทำงานทุกวัน บริษัทก็คงจะประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้มากทีเดียว
คราวนี้มาดูข้อเสียที่คนญี่ปุ่นพบในการทำงานจากบ้านกันบ้าง
ข้อเสียของการทำงานจากบ้าน
ปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งที่คนญี่ปุ่นหลายคนเจอคือเรื่องบ้านคับแคบ อย่างอะพาร์ตเมนต์สำหรับอยู่คนเดียวตามเมืองใหญ่จำนวนมากมีพื้นที่ประมาณ 10 ตารางเมตรเท่านั้น ใช้เป็นพื้นที่สำหรับแทบทุกอย่าง ยกเว้นห้องอาบน้ำและสุขา (อ่านเพิ่มเติมได้จาก “ชีวิตที่ญี่ปุ่นในบ้านโพรงกระต่าย”)
พอต้องประชุมผ่านวีดีโอคอลก็ยากจะหามุมซึ่งมองไม่เห็นข้าวของที่สะท้อนความเป็นพื้นที่ส่วนตัว บางบ้านมีกันสองสามีภรรยาแต่มีโต๊ะแค่ตัวเดียว พอทำงานจากบ้านกันทั้งคู่ก็ทำให้อีกคนต้องหาอย่างอื่นมาแทนโต๊ะ คนที่ไม่มีโต๊ะเลยไม่มีสมาธิในการทำงานเท่าที่ควร
และแม้จะมีคนญี่ปุ่นส่วนหนึ่งที่เคยคิดว่าดีจังที่ได้ทำงานจากบ้าน เพราะไม่ต้องมาคอยคุยเรื่องไร้สาระกับเพื่อนร่วมงาน หรือคอยระวังการวางตัวต่อเจ้านายให้เหมาะสม แต่พอมาทำงานที่บ้านหลายวันเข้าจริง ๆ กลับมองเห็นค่าของสิ่งที่เคยมองข้ามไปเหล่านี้ บางคนบอกว่าไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า การได้พูดคุยกับเพื่อนร่วมงานระหว่างทำงานอยู่ในบริษัทช่วยผ่อนคลายและเปลี่ยนบรรยากาศได้มากแค่ไหน พอเปลี่ยนมาทำงานจากบ้านแล้วไม่มีใครมาทักทายหรือคุยด้วย จึงทำให้เผลอทำงานต่อเนื่องไม่หยุด ได้พักอีกทีคือตอนรับประทานข้าวกลางวันเท่านั้น แม้ประสิทธิภาพในการทำงานจะดีก็จริง แต่ก็รู้สึกเหนื่อยเร็วไปด้วย
คนทำงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์คนหนึ่งเล่าว่า พออยากถามความเห็นใครสักคน ก็ไม่สามารถหาคนปรึกษาได้สะดวกเหมือนเวลาอยู่ในที่ทำงานพร้อมหน้าพร้อมตา แม้จะคุยทางออนไลน์ได้แต่ก็ไม่อาจทดแทนการคุยต่อหน้าแบบตัวต่อตัวได้ ในขณะเดียวกันก็มีคนให้ความเห็นว่าจริง ๆ แล้วเจ้าตัวอาจจะเคยชินกับการพึ่งพาคนอื่นมากไป และวิธีการทำงานที่ต้องไปถามคนโน้นคนนี้อย่างที่ผ่านมา ก็เป็นการไปรบกวนเวลางานของคนอื่น การทำงานจากบ้านจึงเป็นโอกาสดีที่จะได้หันมาทบทวนว่าเรื่องที่จะไปปรึกษาคนอื่นนั้นจำเป็นจริงหรือไม่ มากน้อยเพียงใด และจะได้รู้จักพึ่งพาความสามารถของตัวเองมากขึ้น
อีกประการหนึ่งคือ การไม่ต้องเดินทางไปทำงานอาจเป็นข้อดีที่คนส่วนใหญ่ชอบ แต่ในขณะเดียวกันก็กลายมาเป็นข้อเสียสำหรับคนที่ปกติไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย เพราะแทนที่จะได้อาศัยการเดินทางไปทำงานเป็นการยืดเส้นยืดสาย กลายเป็นว่าตื่นมาปุ๊บ ลุกไปล้างหน้า แต่งตัว รับประทานอาหารเช้า แปรงฟัน เสร็จแล้วก็มานั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ทำงาน ได้เดินแค่ไม่กี่สิบก้าวเท่านั้นเอง
แต่ข้อเสียอย่างนี้ก็อาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้นึกอยากขยับตัวมากขึ้น จนกระทั่งหันมาออกกำลังกายจริงจังก็ได้นะคะ เช่น อาจจะออกไปวิ่งก่อนมานั่งทำงาน หรือทำงานเสร็จก็ออกไปวิ่ง กลางวันมีเวลาพักก็ออกไปเดินเล่นแถวบ้าน ยืดเส้นยืดสายเสียหน่อย อย่างนี้อาจจะดีต่อสุขภาพมากกว่าแต่ก่อน ที่ไม่เคยนึกออกกำลังกายจริงจังเลยก็เป็นได้
หากการทำงานจากบ้านเป็นที่นิยมเพิ่มขึ้นต่อไปจากนี้ได้จริง ๆ สังคมญี่ปุ่นก็น่าจะมีความยืดหยุ่นในหลายด้านตามมา เช่น อาจทำให้ผู้หญิงอยากมีลูกมากขึ้น เพราะมีโอกาสในหน้าที่การงานพร้อมกับที่สามารถเลี้ยงดูลูกไปด้วยได้ คนที่ต้องดูแลพ่อแม่ที่ชราหรือป่วยก็สามารถทำงานจากบ้านไปด้วยได้ หรือหากมีหิมะตกหนักหรือพายุเข้าก็สามารถทำงานจากบ้านได้ แทนที่จะต้องฝืนรอรถไฟซึ่งหยุดวิ่งกันหลายชั่วโมงเพื่อไปเข้างานกันไม่กี่ชั่วโมงอย่างที่ผ่านมา ความยืดหยุ่นเหล่านี้นอกจากจะเกื้อกูลคนทำงานแล้ว บริษัทยังจะได้พนักงานที่สุขภาพจิตดีขึ้น สามารถทำงานต่อเนื่องได้ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่หลากหลายด้วย
อย่างไรก็ตามแม้การทำงานจากบ้านจะมีข้อดีเยอะ แต่ที่ผ่านมาความยืดหยุ่นในด้านการทำงานของญี่ปุ่นก็เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงยาก จึงอาจต้องใช้เวลาดูกันต่อว่าสังคมญี่ปุ่นจะมีทิศทางอย่างไรต่อไป
แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง" เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.