xs
xsm
sm
md
lg

"ผู้ใดไม่ทำงานก็อย่ากิน" กับค่านิยมที่บิดเบือนของญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจาก https://machicon.jp/ivery/column/9002
คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”


สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่าน ฉันจำได้ว่าตอนทำงานอยู่ที่ญี่ปุ่นเคยเจอเหตุการณ์ที่ทำให้นึกถึงคำว่า “ผู้ใดไม่ทำงานก็อย่ากิน” ซึ่งชาวญี่ปุ่นจำนวนมากยึดถือ เห็นได้จากการให้คุณค่ากับการทำงานหนักและความไม่เกียจคร้าน บางคนถึงกับเอาคำกล่าวนี้ไปกดดันตัวเองหรือดูแคลนคนที่ไม่ทำงานเพราะมีเหตุผลจำเป็นด้วย ซึ่งเป็นการใช้คำนี้โดยผิดไปจากความหมายเดิม


ระหว่างทำงานในวันหนึ่ง เพื่อนคนญี่ปุ่นพูดขึ้นมาอย่างประหลาดใจว่า “คนไทยนี่เรื่องกินสำคัญจริง ๆ เลยนะ” ที่เธอรู้สึกอย่างนั้นก็เพราะว่าเวลาที่จัดงานและเชิญแขกมา จะต้องมีการเตรียมอาหารไว้พร้อมสำหรับพนักงานอยู่เสมอ หากเป็นงานที่มีจัดเลี้ยงอาหาร ก็จะให้พนักงานสับเปลี่ยนกันไปตักรับประทานกันเอาเองยามแขกซาลง หรือถ้าเป็นงานอื่น ๆ อย่างเช่นเตรียมงานนอกสถานที่ ก็จะต้องเตรียมข้าวกล่องหรืออะไรไว้ให้เสมอ

มีอยู่งานหนึ่งเป็นการจัดร่วมกับบริษัทญี่ปุ่น ในขณะที่คนในที่ทำงานของฉันสามารถไปต่อคิวรับอาหารจัดเลี้ยงได้เลยในระหว่างที่งานยังไม่เลิก (หากสามารถผละจากงานตรงหน้าได้) คนญี่ปุ่นจากอีกบริษัทจะไม่แตะต้องอาหารเลย จนกระทั่งเมื่องานเลิกตอนดึกแล้วพวกเขาถึงจะลงมือรับประทานอาหารพร้อมกันอย่างหิวโซ จำได้ว่าคนญี่ปุ่นจากบริษัทนั้นงงมากที่คนไทยรับประทานข้าวในระหว่างเวลางาน และทำหน้าเหมือนไม่พอใจเท่าใดนัก

เพื่อนคนญี่ปุ่นเฉลยให้ฟังว่าหากยังเป็นเวลางานอยู่ คนญี่ปุ่นจะมีปกติไม่รับประทานข้าวจนกว่าจะทำงานเสร็จ ต่อให้ต้องทำงานติดต่อกันหลายชั่วโมงจนเลยเวลาที่ปกติรับประทานอาหารแล้ว ก็ต้องอดทนรอจนกว่าจะงานเลิก

ลายเสื้อพิมพ์คำว่า “ผู้ใดไม่ทำงานก็อย่ากิน”  ภาพจาก https://www.mbok.jp/
ในภาษาญี่ปุ่นมีคำกล่าวว่า “働かざる者食うべからず” แปลตรงตัวว่า “ผู้ใดไม่ทำงานก็อย่ากิน” อาจเพราะคนญี่ปุ่นมีประโยคนี้อยู่ในใจ จึงมองว่าตราบใดที่งานยังไม่เสร็จก็ต้องยังไม่รับประทานข้าว ในขณะที่คนไทยออกจะมองว่า “กองทัพต้องเดินด้วยท้อง” พอถึงเวลาอาหารก็รับประทานเสียให้เรียบร้อยก่อน แล้วค่อยกลับไปทำงาน

ฉันรู้สึกว่าคนไทยจะคล้าย ๆ กับคนจีนตรงที่พอถึงเวลารับประทานอาหาร ก็จะมาตามตัวกันไปรับประทานให้เรียบร้อย เป็นอะไรที่ชวนให้รู้สึกอบอุ่นเหมือนมีคนห่วงใย อย่างตอนที่ฉันทำงานอาสาสมัครร่วมกับกลุ่มคนจีนในอเมริกานั้น ทำงานตั้งแต่สิบโมงเช้าถึงบ่ายสอง กินเวลาเพียง 4 ชั่วโมงเท่านั้นเอง แต่พอเที่ยง ๆ บรรดาคุณลุงคุณป้าคนจีนก็จะมาคะยั้นคะยอให้ผลัดกันไปรับประทานอาหารแล้ว

พลอยนึกไปถึงคนจีนรุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายายที่พอเจอกันปุ๊บ ก็ทักทายกันว่า “กินข้าวหรือยัง” มีคนอธิบายว่าที่ทักทายกันอย่างนี้เพราะสมัยก่อนคนยากจนมีเยอะ การถามไถ่ว่าได้กินข้าวปลาหรือยังจึงเท่ากับเป็นการถามแสดงห่วงใย บางคนก็อธิบายว่าหากกินข้าวปลาเรียบร้อยแล้วก็จะได้มีแรงไปทำงานต่อ

ในขณะเดียวกันภาษาจีนแต้จิ๋วก็มีคำพูดเกี่ยวกับการกินและการทำงานอยู่เหมือนกัน แต่ออกจะเป็นคำด่าเสียมากกว่า คือคำว่า “เจียะป้าบ่อสื่อ” แปลตรงตัวว่า “กินอิ่มแล้วไม่มีงานทำ” ใช้เป็นคำดุว่าเวลาคนทำอะไรแผลง ๆ หรือก่อเรื่องยุ่ง

ลายสติกเกอร์ “ไม่มีวันหยุดตลอดปี - ผู้ใดไม่ทำงานก็อย่ากิน”  ภาพจาก https://www.mbok.jp/
สำหรับคำกล่าวของญี่ปุ่นที่ว่า “ผู้ใดไม่ทำงานก็อย่ากิน” นั้น อาจจะเป็นสิ่งที่ฝังรากอยู่ในค่านิยมของญี่ปุ่นมานานมากแล้ว อย่างที่อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นคนหนึ่งกล่าวไว้ว่า ในสมัยเอโดะ (ตรงกับสมัยพระนเรศวรช่วงปลาย(อยุธยา) จนถึงสมัยรัชกาลที่ห้า) เวลามีคนยากจนไปขอรับความช่วยเหลือจากรัฐ มักจะเลือกวิธีกู้เงินดอกเบี้ยต่ำมากกว่าการรับเงินมาเปล่า ๆ เพราะสังคมไม่นิยมการอยู่เฉย ๆ แบมือขอรับความช่วยเหลืออย่างเดียวโดยไม่ทำอะไร

ส่วนการทำงานหนัก(มาก)นั้น คาดว่าเป็นค่านิยมที่เกิดขึ้นตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งญี่ปุ่นพยายามอดทนทำงานอย่างหนักจนทำให้ประเทศก้าวเข้าสู่ความเจริญอย่างรวดเร็ว รัฐธรรมนูญญี่ปุ่นหลังสงครามถึงกับระบุเสียด้วยซ้ำว่าการทำงานเป็นทั้งสิทธิ และ “หน้าที่” ของพลเมือง สะท้อนให้เห็นชัดเจนถึงแนวคิดว่าทุกคนต้องทำงาน

ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นอีกคนหนึ่งระบุว่า พนักงานบริษัทญี่ปุ่นเริ่มทำงานหนักขึ้นตั้งแต่ช่วงที่เศรษฐกิจเฟื่องฟู (ช่วงกลางทศวรรษ 1950 - 1970) จากที่เคยเลิกงานห้าโมงเย็นกลับไปรับประทานอาหารค่ำกับครอบครัว ก็หันมาทำงานภายใต้ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานกว่าเดิมมาก แม้จะพ้นช่วงเศรษฐกิจเฟื่องฟูไปแล้ว สภาพการทำงานของญี่ปุ่นก็ยังคงเดิมมาจนถึงปัจจุบัน แม้ถึงขนาดเกิดปัญหาสังคมอย่างการ “ตายเพราะทำงานหนักเกินไป” ค่านิยมต่อการทำงานหนักก็ยังไม่เปลี่ยน

“ไม่ทำงานก็ไม่มีข้าวให้กินหรอก”  ภาพจาก https://ameblo.jp/lotorosa445/
ที่จริงแล้วคำกล่าวว่า “ผู้ใดไม่ทำงานก็ไม่ต้องกิน” ของญี่ปุ่นอาจจะเป็นการถอดความที่ผิดไปจากเดิม เพราะคำนี้จริง ๆ แล้วมาจากส่วนหนึ่งของพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ของคริสต์ที่ว่า “ถ้าผู้ใดไม่อยากทำงานก็อย่ากิน ” ซึ่งหมายถึงคนที่สามารถทำงานได้แต่เกียจคร้านไม่ยอมทำการงาน

แต่คนญี่ปุ่นซึ่งนับถือคริสต์กันเพียงร้อยละ 1 กลับยึดถือคำกล่าวนี้อย่างแน่นแฟ้น และนำมาใช้ผิดความหมายกันมาก เช่น เหมารวมไปถึงคนที่อยากทำงานแต่ไม่สามารถทำงานได้ เช่น คนป่วย ทุพพลภาพ หรือมีปัญหาสุขภาพจิต หรือคนไม่ได้ทำงานที่สร้างรายได้ (เช่น ดูแลบ้าน เลี้ยงลูก เป็นอาสาสมัคร)

น่าเศร้าที่บางคนเอาคำว่า “ผู้ใดไม่ทำงานก็ไม่ต้องกิน” ไปใช้เหยียดหยามหรือตัดสินคุณค่าของคนอื่น ถึงกับเกิดคดีสังหารหมู่คนพิการทางสมองในสถานพยาบาลแห่งหนึ่งในญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ. 2559 เพราะหาว่าคนเหล่านี้ไม่มีคุณค่าและเป็นภาระสังคม ศาสตราจารย์กิตติคุณผู้หนึ่งซึ่งมีลูกเป็นดาวน์ซินโดรม และเคยสนทนากับผู้ร้ายในห้องขังกล่าวว่า ผู้ร้ายคนนี้สะท้อนความป่วยไข้ของสังคมที่ยึดถือการวัดคุณค่าของคนจากมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สร้างได้เท่านั้น

หรืออีกตัวอย่างหนึ่งคือแม่บ้านที่ถูกแม่สามีบอกว่า “เธอไม่ได้ทำงาน เพราะฉะนั้นก็ไม่ต้องกินข้าวกลางวัน” ดูเหมือนว่าในอดีตแม่สามีจะทำงานประจำ จึงดูถูกลูกสะใภ้ที่ไม่ได้ทำงานประจำไปด้วย

ภาพจาก https://www.098u.com/2018/08/200414
“แม่บ้าน” อาจจะไม่ใช่ตำแหน่งหรืออาชีพหรูเชิดหน้าชูตา แต่อย่าได้ดูเบาไป เพราะหากนำอาชีพนี้มาคำนวณรวมไว้ใน GDP เข้าจริง ๆ เอาแค่เฉพาะในสหรัฐอเมริกาประเทศเดียวยังมีมูลค่าสูงถึง 3.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปีเลยทีเดียว! (จากการศึกษาโดยสำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2553)

คุณ Simon Kuznets ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์เคยกล่าวไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2477 ว่ามีงานหลายชนิดที่ไม่ได้นำมาคำนวณรวมไว้ในรายได้ของประเทศ (ซึ่งต่อมาเรียกเป็นผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP) ทำให้มาตรวัดความอยู่ดีมีสุขของประชาชนไม่ถูกต้องนัก งานสำคัญอย่างหนึ่งที่ไม่ได้นำมาคำนวณรวม ก็คืองานบ้านนี่แหละค่ะ

ทำไมมูลค่า GDP ที่ซ่อนอยู่ในงานบ้านถึงสูงขนาดนั้น? เพราะการคอยดูแลบ้านช่องห้องหับและความเป็นอยู่ของสมาชิกในบ้าน ช่วยให้ทุกคนสามารถออกไปทำงานหาเงินได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องกังวลเรื่องอื่น ๆ เมื่อนึกดูว่าหากไม่มีคนในครอบครัวทำหน้าที่นี้ แล้วต้องจ้างคนมาทำงานทุกอย่างแทน ก็เท่ากับว่าต้องจ้างคนทำความสะอาด พ่อครัวแม่ครัว คนเลี้ยงเด็ก พยาบาล และอื่น ๆ อีกจิปาถะ ซึ่งเมื่อคิดเป็นค่าใช้จ่ายแล้วนับว่าสูงมาก การมีคนในครอบครัวที่เป็นแม่บ้าน(หรือพ่อบ้าน) จึงช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดนี้ลงไป เพียงแต่งานบ้านไม่ได้ก่อให้เกิดรายได้โดยตัวของมันเอง จึงไม่ได้รับการยอมรับให้คำนวณไว้ใน GDP

กลับมาพูดถึง “ผู้ใดไม่ทำงานก็ไม่ต้องกิน” กันต่อนะคะ นอกจากบางคนจะเอาคำนี้ไปข่มคนอื่นแล้ว บางคนก็พลอยเอามาตรฐานนี้มาบั่นทอนจิตใจตัวเองด้วย เช่น คนที่ป่วยทางด้านจิตใจและไม่สามารถทำงานได้ หรือนักศึกษาจำนวนหนึ่งที่ฆ่าตัวตาย เพราะหางานประจำทำไม่ได้ ซึ่งเป็นการทำร้ายตัวเองอย่างน่าเสียดาย เพราะเอาเข้าจริงจังหวะชีวิตแต่ละคนขึ้นลงไม่พร้อมกัน ใช่ว่าตอนนี้แย่แล้วแปลว่าชีวิตจะแย่ตลอดไปเสียเมื่อไหร่

ภาพจาก  https://www.reddit.com/r/GetMotivated/comments/
อย่างท่านประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น เอง กว่าจะได้มาเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่และเป็นที่รักของคนอเมริกัน ก็ล้มเหลวมาเกินครึ่งชีวิต พลาดหวังไม่รู้ตั้งกี่สิบหน (ดูได้จากรูปข้างต้น หรือ อ่านเรื่องราวฉบับย่อเป็นภาษาไทย) เขาทำธุรกิจไปไม่รอด ลงสมัครตำแหน่งทางราชการหลายครั้งก็ไม่ได้รับเลือก แต่ความไม่ยอมจำนนต่อชีวิตทำให้เขามีวันที่ความสำเร็จมาถึง เขาเคยพูดไว้ว่า “I am a slow walker, but I never walk back.” (ผมเป็นคนเดินช้า แต่ไม่เคยเดินถอยหลัง)

ภาพจาก http://www.maurilioamorim.com/
ถ้าวันไหนพลาดหวัง รู้สึกท้อแท้หมดกำลังใจ นึกถึงอับราฮัม ลินคอล์นไว้นะคะ :)

อย่างไรก็ตาม ฉันคิดว่าคุณค่าของคนไม่ได้อยู่แค่เรื่องของงานเท่านั้น เพราะคนคนหนึ่งสามารถทำอะไรและเป็นอะไรได้มากกว่านั้นอีก ต่อให้วันนี้ไม่ได้ทำงานเพราะอายุมาก สุขภาพไม่อำนวย หรืออยู่ในช่วงจังหวะชีวิตไม่ลงตัว แต่ก็อาจได้สร้างรอยยิ้ม เป็นแรงบันดาลใจและกำลังใจให้ใครบางคนอยู่ก็ได้ ขนาดคนที่เป็นดาวน์ซินโดรมเองก็ยังทำให้พ่อแม่ยิ้มได้ในความบริสุทธิ์ไร้เดียงสาเลยค่ะ
ลองมองดูดี ๆ แล้วจะพบว่าตัวเราเอง คนใกล้ตัว หรือคนที่เรารู้จักต่างก็มีคุณค่าแก่ชีวิตใครคนอื่นเสมอไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม

แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.



--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

"ซาระซัง" เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.



กำลังโหลดความคิดเห็น