คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่าน สังเกตไหมคะว่ายุคสมัยที่เปลี่ยนไปทำให้ความนิยมในการตั้งชื่อเด็กต่างไปจากสมัยก่อนมากทีเดียว ญี่ปุ่นเองเดี๋ยวนี้ก็มีแนวทางการตั้งชื่อลูกอย่างอิสระมากขึ้น คือพยายามตั้งให้เป็นเอกลักษณ์ ไม่เหมือนคนอื่น ๆ แต่กลับกลายเป็นว่าบางชื่อทำให้คนเป็นลูกรู้สึกอับอายหรือลำบากใจ จนทำให้เกิดเป็นปมด้อยในใจก็มี
ชื่อแปลกทำนองนี้เรียกกันทั่วไปเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า “คิ-ระ-คิ-ระ-เน-หมุ” (キラキラネーム) แปลไทยให้ใกล้เคียงก็คงจะเป็น “ชื่อฟรุ้งฟริ้ง” มีคนนิยามคำว่า “ฟรุ้งฟริ้ง” ว่า “ความสวยงามที่เกินจากความเป็นจริงในชีวิตประจำวัน” ซึ่งใกล้กับความหมายของ “คิ-ระ-คิ-ระ-เน-หมุ” จึงขออนุญาตเรียกชื่อแปลกในภาษาญี่ปุ่นยุคใหม่ที่ว่านี้ว่า “ชื่อฟรุ้งฟริ้ง” ก็แล้วกันนะคะ
ชื่อฟรุ้งฟริ้งเริ่มมีขึ้นในช่วงกลางทศวรรษที่ 90 ซึ่งก็คือประมาณ 25 ปีที่แล้ว และเป็นที่นิยมอย่างมากเมื่อเข้าสู่ยุค ค.ศ. 2000 เป็นต้นมา จนกลายเป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์อันเลื่องลืออย่างไม่เคยมีมาก่อน ชื่อที่จัดว่าอยู่ในข่ายชื่อฟรุ้งฟริ้งนั้น ได้แก่ ชื่อที่สมัยก่อนไม่มี ชื่อที่เขียนด้วยตัวอักษรจีน(ตัวคันจิ) แต่ตั้งใจให้อ่านออกเสียงคล้ายภาษาฝรั่ง หรือออกเสียงแบบชื่อทั่วไปแต่กลับเขียนด้วยตัวอักษรจีนที่ไม่นิยมใช้กัน จึงทำให้คนทั่วไปอ่านไม่ออก รวมไปถึงชื่อที่ไม่เหมาะเอามาตั้งชื่อคนด้วย
ตัวอย่างชื่อฟรุ้งฟริ้งที่ฮือฮากัน ได้แก่
心愛 “โคโคอะ” (โกโก้ Cocoa)
七音 “โดเรมิ” (โดเรมี Doremi) เขียนด้วยตัวอักษรจีนที่แปลว่า “เจ็ดเสียง” จริง ๆ ต้องอ่านว่า “ชิจิอง” หรือ “ชิจิอิง” แต่คนตั้งอยากจะอ่านว่า “โดเรมิ” เสียอย่าง เลยกลายเป็นโดเรมิไปเสียอย่างนั้น
夢希 “ไนกิ” (ไนกี้ Nike)
姫星 “คิที” (คิตตี้ Kitty)
匠音 “โชน” (ฌอน Sean)
姫凜 “ปุริง” (พุดดิ้ง Pudding)
男 “อะดะมุ” (อดัม Adam) คงหมายถึง “อดัม” มนุษย์เพศชายคนแรกที่พระเจ้าสร้างขึ้นตามที่ระบุในคัมภีร์ไบเบิล ถึงได้ใช้ตัวอักษรจีนที่แปลว่า “ผู้ชาย”
頼音 “ไล-อง” (ไลอ้อน Lion) เขียนด้วยตัวอักษรจีนที่ไม่เกี่ยวอะไรกับสิงโต เพียงแต่ตัวแรกอ่านออกเสียงตามภาษาญี่ปุ่นว่า “ไล” และตัวที่สองอ่านว่า “อง”
黄熊 “พู” (Pooh แบบหมีพูห์) เขียนด้วยตัวอักษรจีนที่แปลว่า “หมีเหลือง” ส่วนการอ่านออกเสียงคำว่า “黄熊” ในภาษาญี่ปุ่นจริง ๆ อ่านว่าอะไรก็ไม่ทราบ แต่ไม่ได้อ่านว่า “พู” แน่นอน
泡姫 “อาริเอรุ” (เอเรียล Ariel) ชื่อตัวการ์ตูนใน The Little Mermaid เขียนด้วยตัวอักษรจีนที่แปลว่า “เจ้าหญิงฟองคลื่น”
皇帝 “ชีซา” (ซีซาร์ Caesar) ชื่อจักรพรรดิโรมัน แต่เขียนด้วยตัวอักษรจีนที่แปลว่า “จักรพรรดิ”
火星 “มาซุ” (มาร์ส Mars - ดาวอังคาร) ที่จริงคำว่าดาวอังคาร (火星) ในภาษาญี่ปุ่นต้องอ่านว่า “คะเซ” แต่คนตั้งชื่ออยากจะเรียกว่า “มาร์ส”
今鹿 “นาอุชิกะ” (ตัวละครเอกและชื่อการ์ตูน “นาอูชิก้า” ของมิยาซากิ ฮายาโอะ) เขียนด้วยตัวอักษรจีน ‘今’ แปลว่า “ตอนนี้” ตรงกับภาษาอังกฤษว่า “Now” ซึ่งคนญี่ปุ่นออกเสียงว่า “นาอุ” รวมกับ “ชิกะ” (鹿) กลายเป็น “นาอุชิกะ”
ถ้าใครอ่านตัวอักษรจีนหรือภาษาญี่ปุ่นได้ พอเห็นตัวอักษรเหล่านี้แล้ว ก็คงนึกไม่ถึงว่าเสียงอ่านแบบฟรุ้งฟริ้งจะหลุดโลกเกินเหตุ ต้องอาศัยความช่างจินตนาการจึงจะเดาถูก ดูเผิน ๆ แล้วเหมือนเกมทายปัญหาในรายการโทรทัศน์เลยนะคะ
ไม่ทราบเหมือนกันว่าทำไมทางราชการญี่ปุ่นถึงปล่อยให้คนญี่ปุ่นตั้งชื่อจริงกันในลักษณะนี้ ทั้งที่หลายชื่อผิดหลักการอ่านภาษาญี่ปุ่นไปเป็นคนละเรื่อง จำได้ว่าตอนเพื่อน ๆ เอาชื่อพวกนี้มานั่งไล่ดูนี่ ขำกลิ้งกันยกใหญ่ทีเดียว ตอนนั้นยังคิดว่าคงเป็นชื่อที่ไม่ค่อยมี แต่เดี๋ยวนี้หาคนชื่อฟรุ้งฟริ้งในกลุ่มวัยรุ่นได้ไม่ยากเลยละค่ะ
เหตุที่ชื่อฟรุ้งฟริ้งกลับมาเป็นประเด็นนั้น สืบเนื่องมาจากข่าวเมื่อปีที่แล้วว่ามีนักเรียนมัธยมปลายคนหนึ่งไปเปลี่ยนชื่อมา เขาลงทวิตเตอร์โดยตั้งใจจะบอกข่าวคราวแก่เพื่อน ๆ เท่านั้น แต่กลายเป็นว่าทวิตนั้นสร้างกระแสจนกลายเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ชื่อของเขาก็คือ “โอจิซาหมะ” (王子様) ซึ่งแปลว่า “เจ้าชาย”
เขาได้เล่าถึงความรู้สึกแย่ ๆ ของการมีชื่อแบบนี้ว่าเขาโดนล้ออยู่เรื่อย ตอนเข้าเรียนมัธยมปลายซึ่งทุกคนต้องแนะนำตัว พอเขาพูดชื่อตัวเอง เพื่อนนักเรียนหญิงก็หัวเราะลั่น หรือตอนกรอกชื่อเพื่อสมัครสมาชิกร้านคาราโอเกะ พนักงานก็หาว่าเขาเอาชื่อปลอมมาใช้ และขอให้แสดงหลักฐานหลายต่อหลายหน
ตัวคุณแม่เขาซึ่งเป็นคนตั้งชื่อนี้คิดว่า อยากให้ลูกเป็นเหมือนเจ้าชายเพียงคนเดียวสำหรับตน แล้วก็ไปแจ้งเกิดด้วยชื่อนั้นเลยโดยไม่บอกสามี คนถูกตั้งชื่อบอกว่า “ตอนเด็ก ๆ อาจจะฟังดูน่ารัก แต่ถ้าอายุ 80 แล้วจะยังชื่อนี้อยู่ก็ไม่ไหว” แน่นอนว่าตอนเขาบอกพ่อแม่ว่าจะเปลี่ยนชื่อ แม่เขาก็ไม่ชอบใจ ในขณะที่พ่อบอกว่าเป็นสิทธิ์ของลูกเพราะชีวิตเป็นของลูก ในที่สุดจึงไปเปลี่ยน
สาเหตุที่การตั้งชื่อฟรุ้งฟริ้งเพิ่มขึ้นอย่างแพร่หลายนั้น คาดว่าเป็นเพราะคนยุคใหม่นิยมความเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนคนอื่น จึงอยากตั้งชื่อที่ไม่ซ้ำใคร นอกจากนี้คนญี่ปุ่นยังคุ้นเคยกับการได้ยินชื่อภาษาต่างประเทศมากขึ้น จึงอยากตั้งชื่อลูกแบบฝรั่ง แต่เอาเข้าจริงคนฝรั่งก็ไม่ได้ตั้งชื่อที่เอามาจากตัวการ์ตูน (เช่น พูห์ คิตตี้ นาอูชิก้า เอเรียล) หรือเอาคำศัพท์ทั่วไปมาตั้งชื่อลูกกัน (เช่น โกโก้ พุดดิ้ง ไลออน)
แล้วตัวคนถูกตั้งชื่อฟรุ้งฟริ้งรู้สึกอย่างไรกันบ้าง?
มีเหมือนกันค่ะคนที่ชอบชื่อของตัวเอง เพราะ “ทำให้คนอื่นจำได้ตั้งแต่เจอกันครั้งแรก” “เป็นเอกลักษณ์จำเพาะที่พ่อแม่ให้มา” “เป็นชื่อที่ถูกเรียกมาสิบกว่าปีแล้วเลยรู้สึกดี”
แต่คนที่รู้สึกว่าชื่อนำความรันทดมาให้ก็มีไม่น้อย เช่น “แนะนำตัวทีไรก็มีแค่คนขำ” “พอมีคนถามชื่อแล้วบอกไป ต่างคนต่างก็อึดอัด” “ทำให้คนจำได้ก็จริง แต่ส่วนใหญ่จำได้เพราะอิมเมจแย่ ไม่ชอบเลย” “เหมือนชื่อเป็นตัวประจานพ่อแม่ว่าเป็นคนยังไง”
คนที่ไม่ได้มีชื่อฟรุ้งฟริ้งให้ความเห็นต่อชื่อฟรุ้งฟริ้งว่า “ต่อให้พ่อแม่ตั้งด้วยเจตนาดี แต่ก็สงสารเด็ก” “พ่อแม่ไม่คิดบ้างเลยหรือว่าพอเด็กรู้ความแล้ว เขาจะรู้สึกอย่างไร” “ลูกนะ ไม่ใช่สัตว์เลี้ยง” “พอโตเป็นผู้ใหญ่แล้วคงลำบาก” “พ่อแม่ก็ประหลาดคน”
ในขณะที่พ่อแม่ผู้ตั้งชื่อฟรุ้งฟริ้งให้ลูกบอกว่า “คนอื่นมีสิทธ์อะไรมาวิพากษ์วิจารณ์” “ไม่เข้าใจความรู้สึกของพ่อแม่ที่ตั้งชื่อให้ลูกเพราะอยากให้ลูกมีความสุขหรือ” “คนอื่นก็ตั้งชื่อฟรุ้งฟริ้งบ้างสิ ยุคสมัยมันเปลี่ยนไปแล้ว”
อ่านความเห็นพ่อแม่แล้ว นึกไปถึงเมื่อประมาณยี่สิบปีก่อนที่มีคนตั้งชื่อลูกชายว่า “ปีศาจ” (อาคุมะ 悪魔) พ่อซึ่งเป็นคนตั้งชื่อให้เหตุผลว่า “ชื่อไม่เหมือนคนอื่น คนอื่นจะได้จำได้ พอคนจำได้ก็สนใจ ทำให้มีโอกาสได้พบปะคนที่ปกติไม่แวะเวียนเข้ามาในชีวิตเรา จะได้มีประสบการณ์ดี ๆ เยอะแยะ อย่าง ‘ปีศาจ’ นี่ก็ใหญ่สุดในโลกมืด ผมก็อยากให้ลูกโตมาเป็นที่หนึ่งในด้านใดด้านหนึ่งเหมือนกันเลยอยากให้ชื่อนี้”
ฟังเผิน ๆ เหมือนใส่ใจกับการตั้งชื่อมากเลยนะคะ แต่เหตุผลฟังดูพิกลพิการเหลือเกิน และบางทีการตั้งชื่อลูกก็อาจจะสะท้อนตัวตนของคนตั้งในทางใดทางหนึ่งจริง ๆ ก็เป็นได้ เพราะเท่าที่ทราบคือปัจจุบันตัวคนเป็นพ่อเองก่อคดีโจรกรรมและใช้ยาเสพติด โดนจับเข้าคุกไปอย่างน้อยสองหน ส่วนลูกนั้นโชคดีที่แม่กล่อมพ่อให้เปลี่ยนชื่อลูกได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ลูกเลยได้ใช้ชื่ออื่นแทน
สำหรับชื่อฟรุ้งฟริ้งโดยทั่วไปแล้ว แม้จะเป็นที่นิยมมากขึ้น แต่ก็ออกจะมีภาพลักษณ์ในแง่ลบมากกว่าแง่ดี นอกจากชื่อฟรุ้งฟริ้งจะไม่ได้เพิ่มคุณค่าทางสังคมแล้ว ยังสร้างความรู้สึกที่ไม่ดีต่อเจ้าของชื่อด้วย แม้ว่าชื่อจะไม่ได้สะท้อนความเป็นเจ้าตัวเลยก็ตามที อีกทั้งบางชื่อก็ทำให้เจ้าตัวเดือดร้อนเพราะโดนหัวเราะเยาะบ้าง โดนแกล้งบ้าง หรือบางชื่ออ่านยากทำให้คนอื่นจำชื่อตนไม่ได้ กระทั่งไปสมัครงานก็ได้รับการปฏิบัติอย่างมีอคติ เป็นต้น
อย่างกรณีของ “เจ้าชาย” ก็เป็นตัวอย่างที่สร้างแรงบันดาลใจให้หลายคนที่ทุกข์ใจกับชื่อฟรุ้งฟริ้งของตัวเองได้ไปเปลี่ยนชื่อ ซึ่งหลายคนเองก็ไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วสามารถเปลี่ยนชื่อตามกฎหมายได้ โดยเจ้าตัวสามารถทำเรื่องได้เองเมื่ออายุ 15 ปีบริบูรณ์ โดยไม่ต้องได้รับการยินยอมจากพ่อแม่
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนชื่อในญี่ปุ่นนั้นไม่ได้ง่ายเหมือนเมืองไทย เพราะมีขั้นตอนมากและต้องไปยื่นคำร้องต่อศาลครอบครัว ต้องรอศาลพิจารณาว่าสมเหตุสมผลและตรงตามเงื่อนไขที่สามารถเปลี่ยนชื่อได้หรือไม่ บางทีก็มีการสัมภาษณ์หรือขอเหตุผลที่ละเอียดชัดเจนเพิ่มเติม แล้วรอดูว่าศาลจะอนุญาตหรือเปล่าด้วย บางทีก็รอกันเป็นเดือนหรือหลายเดือนกว่าจะทราบผล
โดยสรุปแล้วชื่อนั้นสำคัญไฉน? นอกจากชื่อจะเป็นสิ่งระบุตัวตนแล้ว ยังเป็นที่รวมเอาประสบการณ์และความทรงจำต่าง ๆ เอาไว้ด้วย หากคนไหนมีประสบการณ์ที่ดีเมื่อมีคนเรียกชื่อ ก็น่าจะพอใจและภาคภูมิใจในชื่อตน แต่หากมีประสบการณ์ที่ไม่ดีต่อการถูกเรียกชื่อ ความเป็นตัวตนก็พลอยถูกกระทบกระเทือน หรือเกลียดชื่อของตัวเองไปด้วย ดังนั้นการตั้งชื่อในแบบที่ให้เกียรติกัน ไม่สร้างความลำบากใจให้ลูกในภายหลัง ก็น่าจะเป็นเรื่องดีสำหรับลูกมากกว่าตั้งให้ไม่เหมือนใครไว้ก่อน ฉันคิดอย่างนี้นะคะ
แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง" เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.