xs
xsm
sm
md
lg

ผุดไอเดีย ปฏิทินเก่าสร้างสื่อการเรียนให้ลูก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผลพวงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้สถานศึกษาต้องหยุดการเรียนการสอนยาวนานประมาณ 3 เดือน ในเบื้องต้นกระทรวงศึกษาธิการ กำหนดเปิดเทอม 1 กรกฎาคม พร้อมทั้งวางแผนจัดการเรียนการสอนผ่านออนไลน์ไว้ด้วย

แน่นอนเมื่อเด็กหยุดอยู่บ้านติดต่อกันหลายวัน เด็กจะรู้สึกเบื่อ ออกอาการหงุดหงิด อยากออกนอกบ้าน อยากออกไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ

สมลักษณ์ คล่องแคล่ว อาชีพรับราชการ และในฐานะคุณแม่ของ ด.ญ.ชญานิน คล่องแคล่ว หรือ น้องสตางค์ เพิ่งเรียนจบอนุบาล 3 จากโรงเรียนบุณยรักษ์ และกำลังจะเรียนชั้น ป.1 โรงเรียนเซนโยเซฟคอนแวนต์ เล่าให้ฟังว่า คุณครูโรงเรียนเก่าของน้องสตางค์ ให้คุณพ่อคุณแม่ช่วยทบทวนบทเรียนให้ลูกช่วงหยุดยาวนี้ โดยคุณครูได้ให้ซีทมา คุณแม่ก็ทำตามแนะนำของคุณครู ช่วงสัปดาห์แรกก็ทบทวนกันตามปกติ พอเริ่มสัปดาห์ที่สองสังเกตเห็นลูกแสดงอาการเบื่ออย่างชัดเจน มาคิดว่าหากทำซ้ำๆ คงไม่ดีแน่ จึงเริ่มคิดหากิจกรรมใหม่ๆ โดยหยิบมือถือมาเปิดตามเพจต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเรียนการสอนโดยเลือกกิจกรรมให้เหมาะกับวัยของน้องสตางค์ กระทั่งมีแนวคิดทำเป็นตัวอักษรภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และคณิตศาสตร์ เพื่อให้ลูกเรียงเป็นคำ

คุณแม่ปริ๊นตัวอักษร A B C และพยัญชนะภาษไทย ตัวเลข สัญลักษณ์ บวก ลบ คูณ หาญ เท่ากับ และอื่นๆ ซึ่งตัวอักษรเรียบๆ ธรรมดาเด็กอาจจะรู้สึกเบื่อ จึงเลือกอักษรที่มีตัวการ์ตูน แมว หนู ปริ๊นออกมา โดยให้น้องสตางค์เข้ามามีส่วนร่วมด้วยโดยให้ช่วยตัดตัวอักษร น้องสตางค์จะได้ไม่เบื่อและรู้สึกภูมิใจ เมื่อทำเสร็จก็ชวนลูกเล่นต่อคำศัพท์กัน ซึ่งตอนแรกจะทำเป็นบัตรคำ พอนึกไปนึกมาลูกคงไม่สนุก คุณแม่ก็มองสิ่งที่อยู่รอบตัว สายตาไปสะดุดปฏิทินเก่าๆ ที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว จึงนำปฏิทินด้านหลังที่แข็ง นำเศษโฟมบางๆ หรือกระดาษ ตัดเป็นเส้นๆ ทำเป็นฐานสำหรับวางตัวอักษร

ไม่น่าเชื่อว่าสิ่งที่ทำสามารถดัดแปลงเป็นสื่อการเรียนรู้ให้ลูกเล่นได้หลากหลายรูปแบบ บางครั้งคุณแม่ใช้วิธีวางคำศัพท์แล้วให้น้องสตางค์ดูว่าวางถูกหรือผิด ยกตัวอย่างคำว่า Bird ถ้าวางผิดให้สลับตัวอักษรให้ถูกต้อง พร้อมกันนี้ให้แปลคำศัพท์ด้วย คำนี้แปลว่า นก ก็ให้หยิบตัวพยัญชนะภาษาไทยมาเรียง เป้าหมายคือน้องสตางค์ได้ท่องคำศัพท์โดยไม่รู้สึกเบื่อ บางครั้งก็ใช้วิธีเว้นวรรค เว้นช่องว่างให้มาเติมตัวอักษรที่ขาดไป อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ง่ายต่อการเล่น คุณแม่จะบอกอักษรตัวแรกถูกต้องแล้ว ไม่ต้องสลับนะคะ หรือเรียนภาษาไทย จะใช้วิธีการเล่นจะคล้ายๆ กัน เปลี่ยนจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย ส่วนวิชาคณิตศาสตร์ เราจะใส่ตัวเลข กับ สัญลักษณ์ มาวาง เช่น 2+3 = .... หรือ 25+....= 30

"จริงๆ แล้วสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่น้องสตางค์เรียนผ่านมาแล้วทั้งสิ้น เพียงแต่ต้องการทบทวนความรู้ผ่านกระบวนการเรียนรู้สไตล์ใหม่ ที่ไม่เหมือนในห้องเรียน พยายามหาแนวใหม่ๆ ขณะเดียวกันก็สอนคำศัพท์ใหม่ๆ ออกเสียงให้ฟัง น้องสตางค์จำได้บ้างไม่ได้บ้างก็ไม่เป็นไร เพียงแต่ต้องการให้ผ่านตา เป็นการเตรียมความพร้อมเรียนต่อชั้น ป.1"

สมลักษณ์ เล่าว่า จะพยายามให้น้องได้ทบทวนบทเรียนทุกวัน ส่วนใหญ่ใช้เวลาช่วงเย็นหลังจากคุณแม่คุณพ่อเลิกงานแล้ว หรือวันเสาร์-อาทิตย์ จะมาทำกิจกรรมร่วมกัน โดยใช้อย่างโน้นบ้างอย่างนี้บ้าง บางทีบัตรคำ เรียนปนเล่น อย่างไรก็ตาม จากการทำกิจกรรมร่วมกันได้เห็นลูกตื่นตัวที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ท่องศัพท์ รู้ความหมายของคำศัพท์ได้มากขึ้น รวมถึงคิดเลขได้เร็วขึ้นด้วย

นอกจากวิชาการแล้ว คุณแม่ จะมองหาวิธีให้น้องสตางค์รู้สึกผ่อนคลาย ด้วยการวาดภาพ โดยดูจากเพจ เห็นเขาเอากระดาษขย้ำๆ จะเกิดรอยยับ เห็นเป็นช่องๆ ให้น้องสตางค์ลงสี คุณแม่จะบอกน้องว่า สีแดง ชมพู ส้ม เรียกว่าสีโทนร้อน ส่วนสีฟ้า สีเขียว เป็นสีโทนเย็น อันที่จริงน้องสตางค์ไม่รู้ความหมายว่าสีร้อน สีเย็น หมายถึงอะไร เชื่อว่าโตขึ้นน้องจะเข้าใจ บางวันก็ให้น้องตัดกระดาษเป็นรูปหัวใจซึ่งเด็กเขาตัดไม่เป็น คุณแม่ก็สอนว่ารูปหัวใจเป็นเหมือนปีก 2 ข้างใช่มั้ยคะ ลองพับกระดาษแล้วให้ลองตัด พอคลี่ออกมาจะมีปีก 2 ข้างใช่มั้ย หรือจะวาดเป็นรูปมือ ก็ให้นำมือวางบนกระดาษแล้วเอาคิดสอมาวาดตามรูปมือ พอตรงไหนเป็นรูปโค้ง จะเห็นเป็นรูป 3 มิติ คุณแม่จะนำสิ่งที่อยู่รอบตัวมาสอน บางวันคุณพ่อคุณแม่ต้องทำงาน แล้วสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) จัดกิจกรรม ถ้าเป็นวันหยุดมักจะพาน้องสตางค์ไปด้วย น้องจะเดินดูรูปในหอศิลป์ หรือบางครั้งกิจกรรมที่ สศร.จัดขึ้นเด็กสามารถร่วมทำได้น้องจะเข้าร่วมลงมือทำด้วย ซึ่งตรงนี้ปลูกฝังงานศิลป์แบบค่อยๆซึมซับ โดยที่น้องไม่รู้ตัว

อย่างไรก็ตาม อยากฝากถึงคุณแม่คุณพ่อที่มีลูกอยู่ในวัยเรียน ให้ใช้เวลาช่วงโรงเรียนปิดเทอมยาวเลี่ยงโควิด-19 ทบทวนความรู้ให้ลูก อาจใช้วิธีนี้ หรือส่องหาไอเดียตามเพจต่างๆ มาประยุกต์ให้เหมาะกับเด็ก ใช้สิ่งใกล้ตัวมาสร้างกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้นอกห้องเรียน ที่สำคัญสิ่งเหล่านี้ยังเป็นสื่อถึงความรักความสัมพันธ์อันแนบแน่นในครอบครัวอีกด้วย












กำลังโหลดความคิดเห็น