ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ covid-19 ทำให้รูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างคนในสังคมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างน้อยก็ในช่วงเวลาหนึ่ง โดยเฉพาะความตื่นตัวกับการดำเนินชีวิตโดยการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) คาดการณ์กันว่าสิ่งนี้จะเป็นหนึ่งในวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ที่เราจะต้องปรับตัว ซึ่งไม่เว้นแม้แต่ในเรื่องรูปแบบการเรียนรู้ของเด็กๆ
จากข้อมูลล่าสุดเพื่อลดผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาด คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้เลื่อนการเปิดภาคเรียนออกไปอย่างน้อย 2 เดือน ระหว่างนี้ส่วนงานที่รับผิดชอบด้านการศึกษาได้เตรียมความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ให้มีความเหมาะสมกับเด็กในแต่ละช่วงชั้นซึ่งมีกระบวนการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน โดยจะทดสอบรูปแบบการเรียนผ่านดาวเทียม DLTV สำหรับนักเรียนระดับชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนต้น และการเรียนออนไลน์ (Online Real-time learning) สำหรับระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ควบคู่ไปกับแอปพลิเคชั่น Obec Content Center ในการเข้าถึงเนื้อหาการเรียนการสอน
รูปแบบการเรียนการสอนที่กำลังดำเนินการเตรียมความพร้อมนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือ “e-Learning” ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสื่อสารที่รวดเร็วและทันสมัย โดยเฉพาะการสื่อสารผ่านดาวเทียมและเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ในการเผยแพร่สื่อการเรียนรู้ที่มีความหลากหลาย (Multimedia) ทั้งที่เป็นข้อความ รูปภาพ กราฟฟิกและภาพเคลื่อนไหวในรูปแบบของสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เกิดเป็นการศึกษาทางไกล (Distance Learning) ที่ทำลายข้อจำกัดเรื่องเวลาและสถานที่ อีกทั้งช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการเรียนการสอนให้เกิดผลดีต่อผู้เรียนมากยิ่งขึ้น
ถึงแม้ว่า e-Learning หรือที่รู้จักว่าเป็นการเรียนแบบออนไลน์จะถูกพูดถึงมาเป็นระยะเวลาพอสมควรแล้ว แต่ก็ยังไม่ถูกนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนอย่างแพร่หลายมากนัก เนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องของบริบททางการศึกษา ทัศนคติ บทบาทและความสัมพันธ์ระหว่างครูกับผู้เรียน รวมถึงความสามารถในการเข้าถึงและใช้งานเครื่องมือและเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ อย่างไรก็ตาม เมื่อบริบททางสังคมเปลี่ยนแปลงไปโดยมีความจำเป็นที่จะต้องคงรูปแบบการดำเนินชีวิตโดยการเว้นระยะห่างทางสังคมไว้ ในขณะที่กระบวนการเรียนรู้ของเด็กๆต้องดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง จึงนับเป็นปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องเตรียมพร้อมเพื่อผลักดันให้การเรียนรู้ในรูปแบบ e-Learning เกิดขึ้นได้โดยเร็ว
การเปลี่ยนแปลงจากรูปแบบการเรียนที่คุ้นเคยไปสู่การเรียนรู้นอกชั้นเรียนโดยมีเทคโนโลยีเป็นตัวช่วยสำคัญในการเชื่อมโยงบทเรียน ครู ผู้เรียนและผู้ปกครองเข้าด้วยกันนั้นเป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำและสามารถทำได้ในตอนนี้คือ การเตรียมตัวเตรียมใจให้กับตัวเองและลูกๆมีความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ซึ่งสามารถทำได้โดยอาศัยแนวทางดังต่อไปนี้
1.สร้างช่องทางการสื่อสาร จริงอยู่ว่า e-Learning เป็นการเรียนรู้ด้วยตัวเองเป็นหลัก แต่ครูผู้สอนยังคงมีบทบาทสำคัญทั้งในการจัดเตรียมสื่อการเรียนรู้ การดูแลและรับผิดชอบกระบวนการเรียนรู้ให้เป็นไปตามเป้าประสงค์ รวมถึงให้คำแนะนำ สนับสนุนและกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในกลุ่มผู้เรียน ในเด็กเล็กคุณพ่อคุณแม่สามารถมีส่วนช่วยในการสร้างช่องทางการสื่อสารที่เหมาะสมระหว่างครู ผู้เรียนและผู้ปกครองเพื่อให้การรับส่งข้อมูลที่จำเป็นและแนวทางปฏิบัติร่วมกันเป็นไปอย่างราบรื่น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญลำดับต้นๆที่จะทำให้มั่นใจได้ว่าผู้เรียนได้เรียนรู้ไปในทิศทางที่ถูกต้อง
2.เตรียมพร้อมเรื่องเครื่องมือ เครื่องมือในการเรียนรู้ทางไกล (Distance Learning) อาทิ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และเครือข่ายอินเตอร์เน็ต แม้ในปัจจุบันคนจำนวนมากจะสามารถเข้าถึงได้แต่ก็ยังนับเป็นข้อจำกัดต่อการขยายพื้นที่การเรียนรู้ลักษณะนี้มาโดยตลอด ในครอบครัวที่มีความพร้อมคุณพ่อคุณแม่ควรช่วยเหลือลูกในการตรวจสอบอุปกรณ์ให้ครบถ้วน ทำงานได้ดีและสร้างความคุ้นเคยในการใช้งาน หากขาดความพร้อมแม้เพียงด้านใดด้านหนึ่งคุณพ่อคุณแม่ก็ควรใช้ช่องทางในการสื่อสารกับครูและโรงเรียนเพื่อรับทราบถึงแนวทางที่มีการจัดเตรียมไว้และร่วมมือกันแก้ไขปัญหาโดยเร็ว
3.จัดเตรียมสภาพแวดล้อม การเปลี่ยนบ้านเป็นห้องเรียนสำหรับ e-Learning ในเด็กนั้นคุณพ่อคุณแม่มีบทบาทสำคัญมากในการให้ความดูแลและคอยช่วยเหลือเด็กๆให้มีความกระตือรือร้นและมีสมาธิจดจ่อกับบทเรียนได้ตลอดรอดฝั่ง โดยทั่วไปเด็กจะเรียนรู้ได้ดีในช่วงประมาณ 40 นาทีแรก แต่หากมีสิ่งเร้าที่เข้ามารบกวนสมาธิก็จะยิ่งถูกลดทอนและเบี่ยงเบนความสนใจจากบทเรียนลงไปอีก คุณพ่อคุณแม่จึงต้องให้เวลากับตัวเองเตรียมตัวศึกษาและเข้าใจพฤติกรรมการตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่างๆของเด็ก เพื่อจัดเตรียมสภาพแวดล้อมของห้องเรียนในบ้านให้มีความเหมาะสมต่อการเรียนรู้อยู่เสมอ
4.ช่วยเรื่องการบริหารเวลา ความรับผิดชอบเป็นพื้นฐานของความก้าวหน้าในการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ผู้เรียนต้องมีความรับผิดชอบต่อตัวเองในการศึกษาและทบทวนบทเรียนทั้งก่อนและหลังเข้าเรียน ซึ่งอาจไม่เป็นปัญหาหากมีบทเรียนเพียงเรื่องเดียว แต่เนื่องจากโดยมากมักต้องเรียนหลายวิชาในแต่ละวัน การจัดสรรเวลาให้กับการเตรียมตัวและทบทวนบทเรียนที่มีอยู่มากให้สมดุลกับเวลาในการพักผ่อนและดูแลตัวเองในทุกๆด้านควบคู่กันไปจึงมีความสำคัญไม่น้อย คุณพ่อคุณแม่จึงสามารถเข้ามามีบทบาทในส่วนนี้ได้ทั้งการช่วยเหลือเรื่องการเรียนและการดูแลให้คำแนะนำการบริหารเวลาให้เกิดความสมดุล
5.ดูแลรักษาสภาพจิตใจให้ดี สำหรับเด็กหลายคนการเรียนรู้ด้วยตัวเองผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ถือเป็นเรื่องใหม่ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยเวลาในการปรับตัวให้กับรูปแบบการเรียนรู้และการใช้ชีวิตที่ต้องเว้นระยะห่างจากคนอื่น คุณพ่อคุณแม่ รวมถึงคนใกล้ชิดก็ต้องเตรียมตัวกับการปรับตัวไปพร้อมๆกันโดยรักษาระยะห่างอย่างเหมาะสม กล่าวคือ ไม่เข้าใกล้มากจนสร้างความกดดันหรือดูเหมือนคอยจ้องจับผิดจนขาดความเป็นส่วนตัว และไม่ทิ้งช่องว่างจนเกิดความรู้สึกโดดเดี่ยว หากแต่คอยดูแลให้การสนับสนุน หมั่นถามไถ่ ให้คำแนะนำและกำลังใจอย่างใกล้ชิด เพื่อเสริมสร้างสภาพจิตใจที่ดีให้กับลูกอยู่เสมอ
e-Learning อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ในแง่ของรูปแบบการเรียนรู้ แต่ถือเป็นเรื่องใหม่ในสถานการณ์ที่สังคมจำเป็นต้องเว้นระยะห่างจากกันจนกระทบต่อกระบวนการเรียนรู้ตามปกติ เป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ที่จะพาลูกๆเตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นเพื่อให้การเรียนรู้ของเด็กๆเป็นไปได้อย่างต่อเนื่องและราบรื่นมากที่สุด