ภายหลังจากที่มีการปรับเวลาเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2563 ของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อสอดรับกับสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย จากเดิมวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 เป็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 โดยไม่มีการปิดเทอมเล็ก เพื่อให้นักเรียนมีเวลาเรียนเพียงพอตามหลักสูตรการศึกษาที่ใช้ในปัจจุบัน คนเป็นพ่อแม่จำนวนไม่น้อยที่รู้สึกเครียดทันที เพราะนอกจากตัวเองต้องประสบปัญหา WFH (Work from Home) ต้องจัดสรรเวลาทำงานที่บ้านแล้ว ยังต้องจัดสรรเวลาในการดูแลลูกที่ปิดเทอมยาวนานอีกต่างหาก
นี่ยังไม่นับรวม กลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีลูกอยู่ในระหว่างการเปลี่ยนผ่านช่วงชั้นนักเรียนต้องสอบเข้าโรงเรียนอื่นในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 หรือ 4 ซึ่งก็ต้องเลื่อนไปด้วยเช่นกัน ทำให้เกิดความไม่แน่นอนในชีวิต และสร้างความอึดอัดคับข้องใจทั้งครอบครัว
แม้ล่าสุดจะมีแนวทางในการให้เปิดรับสมัครผ่านออนไลน์ และวางกรอบเวลาในส่วนของโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่ความกังวลใจของพ่อแม่ ผู้ปกครองในครั้งนี้ค่อนข้างหนักหน่วง เพราะนอกจากจะต้องรับมือกับสถานการณ์COVID-19 จัดการเรื่องความปลอดภัย ให้ความร่วมมือกับภาครัฐ และยังต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัด ทำงานที่บ้าน บางคนอาจถึงกับรายได้ลด หรือต้องออกจากงาน
และเมื่อต้องดูแลลูกด้วย แม้จะเต็มใจและอยากอยู่ใกล้ลูก แต่ดูเหมือนสถานการณ์ต่างๆที่รุมเร้า ประมาณต้องดูแลทั้งบ้าน งาน ครอบครัว สามีและภรรยา อาหาร ต้องรัดเข็มขัดเรื่องรายได้ แล้วต้องดูแลลูกที่ต้องเติบโตขึ้นทุกวัน
จึงไม่แปลกใจที่คนเป็นพ่อแม่ ผู้ปกครองจำนวนมากจะอึดอัดคับข้องใจ และกังวลใจไปซะทุกเรื่อง
อย่ากระนั้นเลย เมื่อต้องเจออุปสรรคก็ต้องพร้อมจะเผชิญปัญหาทุกเมื่อ เพราะสถานการณ์ครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับเราครอบครัวเดียว แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนทั้งโลก และเป็นปัญหาที่ไม่มีใครได้ทันตั้งตัว
สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดคือการพร้อมเผชิญปัญหา และตั้งสติให้ได้ไวที่สุด จากนั้นก็วางแผนรับมือกับทุกปัญหาแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่จำเป็นต้องทำทุกอย่างในทันที หรือต้องทำให้ได้ดีทั้งหมด ค่อยๆ ปรับตัว และเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันให้ได้
กำลังใจสำคัญที่สุด ถ้าตั้งตัวได้เร็ว มองวิกฤติเป็นโอกาสได้เร็ว ก็จะทำให้เราลุกจากปัญหาได้เร็วเช่นกัน
แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับคนเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองยุคนี้เรื่องการศึกษาของลูกดูเหมือนจะเป็นเรื่องใหญ่สุด
พ่อแม่ผู้ปกครองเตรียมตัวรับมือกับการศึกษาของลูกที่ต้องเรียนออนไลน์กันบ้างแล้ว สำหรับเด็กโตไม่น่าเป็นปัญหา เพราะเขาสามารถจัดการตัวเองได้ ขอเพียงให้มีเครื่องไม้เครื่องมือที่พร้อมก็พอ
แต่ถ้าเป็นเด็กเล็ก ก็เป็นเรื่องของพ่อแม่ ผู้ปกครอง ที่ต้องเตรียมตัววางแผนเรื่องนี้ให้พร้อม
กระนั้นก็ตาม เรื่องการเรียนผ่านออนไลน์ ปล่อยให้เป็นเรื่องของพ่อแม่ผู้ปกครองอย่างเดียวไม่ได้ เป็นเรื่องที่โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาต้องทำงานร่วมกับพ่อแม่ด้วย โดยมีนโยบายของภาครัฐที่ต้องเข้ามาช่วยจัดการ
มีตัวอย่างประเทศสิงคโปร์ที่น่าสนใจ ซึ่งได้มีการเตรียมการณ์ และวางแผนก่อนหน้านี้
รัฐบาลสิงคโปร์ประกาศมาตรการจำกัดเสรีภาพการใช้ชีวิตนอกบ้านที่เรียกว่า Circuit Breaker หรือมาตรการตัดวงจรทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 8 เมษายน 2563 - 4 พฤษภาคม 2563 และล่าสุดได้ขยายเวลาไปจนถึงวันที่ 1 มิถุนายน 2563 เพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งคำสั่งนี้มีผลให้กิจการร้านค้า ภาคธุรกิจที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตต้องหยุดให้บริการ
รวมทั้งโรงเรียนทุกระดับชั้นต้องหยุดการเรียนการสอนที่โรงเรียน
จากนั้นก็มีประกาศให้สถาบันการศึกษาต้องเปลี่ยนเข้าสู่การเรียนการสอนแบบ HBL (Home-Based Learning) อย่างเต็มรูปแบบ โดยระหว่างนี้โรงเรียนทุกแห่งยังมีครูประจำอยู่ที่โรงเรียนจำนวนหนึ่งไว้คอยให้คำปรึกษาเด็กที่เรียนหนังสือที่บ้าน หากต้องการคำปรึกษาจากครูอีกด้วย
ทั้งนี้ สถาบันการศึกษาของสิงคโปร์ได้ทำจดหมายถึงพ่อแม่ผู้ปกครอง เพื่อชี้แจงและแจ้งถึงแนวทางของการเรียนรู้แบบ HBL ซึ่งต้องมีการประสานงานระหว่างโรงเรียนและครอบครัว พร้อมทั้งส่งกำหนดตารางหรือกิจวัตรประจำวันของเด็ก รวมถึงตั้งเป้าหมายระยะสั้นร่วมกับเด็กในการเรียนรู้แต่ละวัน ตลอดจนงานต่างๆ ที่เด็กต้องทำให้เสร็จในแต่ละช่วงเวลาของวันนั้นๆ โดยให้พ่อแม่ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้เด็กทำตามตารางที่กำหนดไว้
เรียกว่าเป็นตารางเรียนที่กำหนดไว้ว่าเด็กต้องเรียนอะไรบ้าง และมี Link ของวิชานั้นๆ ให้เด็กๆ ได้เรียนตามบทเรียนที่ครูได้วางแผนไว้ก่อนหน้านี้
แต่สิ่งสำคัญคือการสร้างข้อตกลงการใช้งานอุปกรณ์หน้าจอ (Screen Devices) ร่วมกับเด็ก เวลาใดเป็นเวลาที่ควรใช้งานคอมพิวเตอร์เพื่อเรียนรู้แบบ HBL และกำหนดช่วงเวลาพักขณะเรียน โดยลดเวลาพักการใช้งานอุปกรณ์หน้าจอ ให้เด็กทำกิจกรรมอย่างอื่นเพื่อละสายตาจากหน้าจอ
ที่น่าสนใจก็คือ ครูจะต้องมีการวางแผนและเตรียมการจัดการเรียนรู้ รวมถึงการจัดเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ ของบทเรียนไว้อย่างครบถ้วน และต้องไม่เพียงวางแผนจัดการเรียนการสอนวิชาการอย่างเดียว แต่ให้มีกิจกรรมที่ให้เด็กได้เคลื่อนไหวร่างกาย มีกิจกรรมร่วมกับเพื่อนบ้าง เพื่อให้เด็กได้มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม
การจัดการเรียนรู้แบบ HBL ของสิงคโปร์นั้น ผู้ปกครองมีบทบาทอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กระดับชั้นประถมศึกษา ที่ยังต้องพึ่งพาผู้ใหญ่ในการทำกิจกรรมต่างๆ และภาครัฐก็มองว่าการเรียนรู้สำหรับเด็กในภาวการณ์วิกฤติเช่นนี้ ควรเป็นทั้งการเรียนรู้แบบ Online และ Offline ดังนั้นไม่ใช่ทุกกิจกรรมการเรียนรู้จะต้องการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เสมอไป
ด้วยเหตุนี้ สิงคโปร์จึงเตรียมการสนับสนุนการทำงานของผู้ปกครองเพื่อช่วยให้เด็กเรียนรู้แบบ HBL ได้อย่างประสบความสำเร็จ และยังเน้นการให้ความรู้กับเด็กและผู้ปกครอง ในการทำความเข้าใจวิธีการ ขั้นตอน และการทำงานร่วมกันในการเรียนรู้แบบ HBL จนมั่นใจว่าทุกฝ่ายมีความพร้อมในการทำงานและเรียนรู้แบบ HBL อย่างแท้จริง
และหากพบว่ามีปัญหาใดติดขัดสามารถขอความช่วยเหลือจากโรงเรียนได้ทันที
สรุปแล้ว การจัดการเรียนรู้แบบ HBL ของสิงคโปร์สะท้อนวิธีคิดและมุมมองในการจัดการศึกษาที่เน้นการเรียนรู้ของเด็กหรือผู้เรียนและครอบครัวเป็นตัวตั้ง ความพร้อมของเด็ก ทั้งในแง่ของการเรียนรู้ด้วยตนเอง การเข้าถึงอุปกรณ์และ Platform การเรียนรู้ต่างๆ ตลอดจนความพร้อมของครูและพ่อแม่ ผู้ปกครองที่เป็นผู้ช่วยเด็กในการเรียนรู้ภายใต้สถานการณ์และการจัดเรียนรู้แบบ HBL
ประการสุดท้ายการจัดเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ ให้เพียงพอสำหรับบุคลากรและเด็กนักเรียนทุกคนมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะสื่อการเรียนรู้ทุกรูปแบบที่ใช้ในแต่ละบทเรียน รวมถึงอุปกรณ์คอมพิวเตอร์หรือ Tablet หรือแม้แต่ซิมการ์ด สำหรับการเข้าถึง Internet ที่มีเพียงพอสำหรับนักเรียนทุกคน
เรื่องนี้รัฐบาลสิงคโปร์ให้ความสำคัญมาก นายออง เย คุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ร้อยละ 98 ของครอบครัวชาวสิงคโปร์ที่มีลูกกำลังเรียนหนังสือ เด็ก ๆ สามารถเข้าถึงคอมพิวเตอร์ และมีอินเทอร์เน็ตใช้งานที่บ้าน และรัฐบาลสิงคโปร์ก็พร้อมจัดหาแล็ปท็อปและแท็บเล็ตให้นักเรียนผู้มีรายได้น้อย ให้มีอุปกรณ์สื่อสารเหล่านี้ไว้ใช้เรียนหนังสือที่บ้าน
ล่าสุดรัฐบาลสิงคโปร์จัดหาแล็ปท็อปและแท็บเล็ต 12,500 เครื่อง ให้นักเรียนที่มีฐานะยากจนยืมใช้เป็นอุปกรณ์การเรียนระหว่างที่รัฐบาลมีคำสั่งให้ปิดโรงเรียน ลดความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 นอกจากนี้ยังจัดหาอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ให้นักเรียนยืมอีก 1,200 ชุด
ทั้งหมดนี้คือการเตรียมความพร้อมทางด้านการศึกษาในระดับประถมศึกษาขึ้นไปของประเทศสิงคโปร์ที่กำลังเผชิญกับปัญหา COVID-19 ที่กำลังกลับมามีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น
ปัญหาเฉพาะหน้าก็ต้องแก้ไข แต่ขณะเดียวกันปัญหาเรื่องการศึกษาก็ต้องดำเนินต่อไป เพราะเด็กก็ยังต้องเติบโตและเรียนรู้ ก็ถือโอกาสให้เรียนรู้ในบริบทของสังคมที่กำลังเผชิญสถานการณ์วิกฤติ
นี่ก็เป็นตัวอย่างให้วงการศึกษาบ้านเราได้เรียนรู้ และเตรียมวางแผนรับมือให้เหมาะสม
เพราะในโลกยุคหลัง COVID-19 นี้ HBL จากที่เคยเป็นการศึกษา “ทางเลือก” อาจจะแปรเป็น “ทางหลัก” ก็เป็นไปได้ !