เมื่อเกิดภาวะวิกฤตขึ้นในประเทศไทย อย่างสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ หรือ โควิด-19 (COVID-19) ที่ทำให้ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันจนได้เห็นความสามัคคีของคนในประเทศไทย
หนึ่งในความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น คือการผนึกกำลังร่วมมือกันของภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศไทย อย่าง “สภาดิจิทัลฯ” ที่มีชื่อเต็มๆว่า สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ออกมามีบทบาทในการนำดิจิทัลโซลูชันไปช่วยเหลือประชาชนผู้ใช้งาน พร้อมประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อร่วมกันทำหน้าที่ให้ดีที่สุด
สิ่งแรกที่สภาดิจิทัลฯ ลงมือทำเลยคือการออกมาตรการช่วยเหลือกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ด้วยความร่วมมือจากผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานในการสื่อสารรายใหญ่ทั้ง เอไอเอส ดีแทค และกลุ่มทรู ในการนำเสนอซิมการ์ดราคาพิเศษ อินเทอร์เน็ตความเร็ว 4 Mbps แบบไม่ลดความเร็ว ใช้งานได้ 3 เดือนในราคา 400 บาท
เหตุผลที่เริ่มออกมาตรการช่วยเหลือด้วยการออกซิมการ์ดราคาพิเศษออกมา เพื่อช่วยให้นักเรียน นักศึกษา ที่มีความจำเป็นต้องใช้งานในการเรียนรู้ ให้สามารถออนไลน์เรียนหนังสือจากที่บ้านได้ ในช่วงที่ภาครัฐมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และมาตรการเพิ่มระยะห่างทางสังคม (Social Distancing)
เบื้องต้น คือนักเรียน นักศึกษา อาจารย์ บุคลากรที่เกี่ยวข้อง ของสถาบันการศึกษาที่เข้าร่วม สามารถไปติดต่อขอรับ Student SIM Card ได้ตามศูนย์บริการ ด้วยการนำบัตรนักเรียน นักศึกษาไปแสดงได้ทันทีทั่วประเทศ
นอกเหนือจากการเปิดช่องทางให้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตราคาพิเศษแล้ว สิ่งที่สภาดิจิทัลฯ กำลังเดินหน้าทำอยู่ คือการนำดิจิทัลโซลูชันมาช่วยเหลือในการติดตาม ตรวจสอบ การแพร่ระบาดของโควิด-19 พร้อมกับการสร้างแพลตฟอร์มเพื่อบริหารจัดการอุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างมีประสิทธิภาพ
***Self D-Care ติดตามการติดเชื้อย้อนหลัง
เร่ิมกันจากแพลตฟอร์มที่สภาดิจิทัลฯ ร่วมกันเร่งพัฒนาขึ้นมา คือ Self D-Care พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปนำไปใช้ เพราะจะช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับติดตามการเดินทางย้อนหลังในช่วง 14 วันที่ผ่านมา
โดยในกรณีผู้ใช้งานตรวจพบว่ามีการติดเชื้อก็สามารถแจ้งให้ผู้อื่นทราบได้ทันทีว่า ในช่วงเวลาก่อนตรวจพบได้เดินทางไปในสถานที่ใดบ้าง นอกจากนี้ ด้วยการที่แพลตฟอร์มเปิดให้ผู้ใช้สามารถแจ้งอาการป่วย หรือสงสัยว่าป่วยได้ด้วยตนเอง ทำให้ผู้ใช้งานรายอื่นสามารถเห็น Heat Maps หรือบริเวณพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เพื่อหลีกเลี่ยงในการเข้าไปยังพื้นที่เหล่านั้นได้
ขณะเดียวกัน เพื่อให้ผู้ที่สงสัยว่ามีอาการป่วย สามารถเข้าไปทำแบบทดสอบเพื่อเช็กอาการทั้งอัตราการเต้นของหัวใจ การไอ อุณหภูมิร่างกาย ความรู้สึกของการหายใจ เพื่อตรวจสอบอาการเบื้องต้นด้วย
สำหรับการใช้งาน Self D-Care จะเริ่มต้นจากการดาวน์โหลดมาติดตั้งใช้งาน พร้อมล็อกอินด้วยการกรอกหมายเลขโทรศัพท์มือถือ เพื่อรับรหัสผ่านยืนยันแบบใช้ครั้งเดียวเพื่อยืนยันตัวตน
หลังจากนั้นเมื่อรู้ตัวว่ามีความเสี่ยงในการติดเชื้อ หรือตรวจพบว่าติดเชื้อแล้ว สามารถระบุวัน และยอมรับการแชร์สถานที่การเดินทางย้อนหลังไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะช่วยให้เจ้าหน้าที่ของภาครัฐ สามารถติดตามว่าผู้ติดเชื้อไปสถานที่ใด และมีใครบ้างที่มีความเสี่ยง
***U-Safe ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ
อีกหนึ่งแอปพลิเคชันที่สมาชิกของสภาดิจิทัลฯ พัฒนาขึ้นมาคือ U-Safe ด้วยการต่อยอดพัฒนาแอปพลิเคชัน Open Source จากประเทศสิงคโปร์ที่มีการนำแอปฯ นี้ไปใช้ในการติดตามผู้ป่วยโควิด-19 จนสามารถควบคุมได้ในปัจจุบัน
ด้วยการนำเทคโนโลยีบลูทูธมาช่วยในการคำนวนระยะห่าง และระยะเวลาที่อยู่กับผู้ติดเชื้อ โดยไม่จำเป็นต้องมีการเปิดเผยตำแหน่งในการใช้งาน ทำให้ไม่ละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้
โดยเริ่มจากผู้ใช้งานต้องติดตั้งแอปพลิเคชัน U-Safe และเปิดให้แอปพลิเคชันสามารถเข้าถึงการใช้งานบลูทูธ หลังจากนั้นแอปฯ จะคอยเก็บข้อมูลว่าในระยะห่างประมาณ 10 เมตร อยู่ใกล้รัศมีใดของผู้ที่ติดตั้งแอปพลิเคชันนี้ ซึ่งจะสร้างเป็นร่องรอยดิจิทัล (Digital Footprint) ขึ้นมา
ในกรณีมีผู้ที่ติดเชื้อ รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะนำร่องรอยดิจิทัลมาวิเคราะห์ด้วย AI เพื่อแจ้งไปยังผู้ใช้งานรายอื่นที่มีโอกาสเข้ามาสัมผัส หรืออยู่ในระยะใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ เพราะเข้าข่ายว่าอยู่ในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยง
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากทั้ง 2 แอปพลิเคชัน ต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ใช้งานในการติดตั้ง ทำให้มีข้อจำกัดพอสมควร ในเรื่องของประสิทธิภาพในการติดตามการเดินทางของผู้ป่วยย้อนหลัง แต่ถ้าประชาชนทุกคนเข้าใจถึงความร้ายแรงของวิกฤตในครั้งนี้ และร่วมมือกันด้วยการติดตั้งแอปพลิเคชันใช้งาน ก็จะช่วยให้ติดตาม และตรวจสอบผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
เนื่องจากปัจจุบัน บุคลากร และเครื่องมือทางการแพทย์มีอยู่อย่างจำกัด ดังนั้นการช่วยกันลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ด้วยการไม่เดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดที่คนไทยทุกคนสามารถช่วยกันได้
***QR Check-in ช่วยจดจำสถานที่
ต่อด้วยแอปพลิเคชันที่สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย และสมาชิกร่วมกันนำเทคโนโลยีง่ายๆ อย่าง QR Code มาใช้เพื่อคอยบันทึกการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ โดยผู้ใช้สามารถติดตั้งแอปพลิเคชัน และเมื่อเดินทางไปยังจุดต่างๆ สามารถสแกน QR Code ที่ตั้งอยู่เพื่อบันทึกช่วงเวลาที่เดินทางไปได้ทันที
โดยจะมีขั้นตอนคือการขอความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการนำ QR Code ไปติดตั้งในพื้นที่ต่างๆ โดยเมื่อมีการสแกนเช็กอิน เจ้าของอาคาร และสถานที่จะได้รับข้อมูลเก็บไว้ เพื่อในกรณีที่มีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 จะสามารถตรวจสอบ และแจ้งเตือนไปยังผู้ที่มีความเสี่ยงได้
***helpital แพลตฟอร์มบริหารจัดการอุปกรณ์การแพทย์
นอกจากในมุมของการติดตามการเดินทางของผู้ป่วยแล้ว สภาดิจิทัลฯ ยังเข้าไปร่วมมือกับเว็บไซต์ศูนย์กลางการบริจาคอุปกรณ์เพื่อสนับสนุนทางการแพทย์ Helpital.com ในการพัฒนาโซลูชันเพื่อบริหารจัดการจัดซื้อและแจกจ่ายอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อสนับสนุนโรงพยาบาลทั่วประเทศ
โดยแพลตฟอร์มนี้ จะทำหน้าที่ตั้งแต่การลงทะเบียน จัดซื้อ ขนส่ง เก็บข้อมูล แสดงผล รายงาน ผลแบบ real-time dashboard เพื่อสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุข ในการกระจายอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ประชาชนบริจาคไปยังสถานพยาบาลต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ