xs
xsm
sm
md
lg

กสทช.สนองนโยบายรัฐบาล สู้ภัยโควิด-19

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ฐากร ตัณฑสิทธิ์
กสทช.เดินหน้าจับมือทุกภาคส่วน ฝ่าวิกฤติภัยโควิด-19 ทุกมิติ ย้ำวิธีการกดรับเน็ตมือถือฟรี 10 GB ให้เช็คยอดคงเหลือ และระยะเวลาการใช้งานก่อน เพื่อให้ได้รับสิทธิ์ใช้งานอย่างคุ้มค่า ยาวนาน 30 วัน

***หนุนประชาชน ทำงานอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ

“การดำเนินงานของกสทช. เป็นการทำงานที่ได้รับนโยบายมาจาก รัฐบาล เราต้องการสนับสนุนให้ประชาชนทำงานอยู่บ้าน หรือ work from home อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ขานรับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้คนทำงานอยู่บ้าน เพื่อให้ก้าวผ่านภาวะวิกฤติไปด้วยกัน และเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว”

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) อธิบายถึงที่มาของการออกนโยบายเพิ่มอินเทอร์เน็ตโทรศัพท์มือถือ 10 GB และ อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ 100 Mbps ให้กับประชาชน 30 วัน ฟรี ในภาวะวิกฤติ โควิด-19 ที่รัฐบาลต้องการให้ประชาชนอยู่บ้าน

การดำเนินการดังกล่าวเป็นสิ่งที่กสทช.เร่งดำเนินการอย่างไม่รอช้า ภายหลังที่ได้หารือกับ “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ในการขอมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)เพื่อขอสนับสนุนงบประมาณดังกล่าวด้วยการยินดีให้หักเงินจากการประมูลคลื่นความถี่ก่อนส่งเงินเข้ากระทรวงการคลัง ซึ่งแม้ว่าในท้ายที่สุดแล้ว เมื่อ รมว.ดีอีเอส ทบทวนแล้วเห็นว่าไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะตามหลักกฎหมายแล้วเงินที่ได้จากการประมูลต้องนำเงินส่งเข้ารัฐเท่านั้น หากจะนำออกมาต้องเป็นในรูปแบบงบประมาณภายหลัง ซึ่งงบประมาณปี 2563 อนุมัติไปหมดแล้ว จึงไม่สามารถทำได้ 


ทางแก้ปัญหาทำให้เกิดการประชุมของคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) วาระพิเศษแบบเร่งด่วน ขึ้น โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธานในการประชุม และที่ประชุมเห็นควรว่า กสทช.มีอำนาจเต็มที่ในการ ดำเนินการดังกล่าว จึงมอบอำนาจให้กสทช.ดำเนินการด้วยการใช้งบของกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) แทน


ทั้งคณะกรรมการกสทช.และ คณะกรรมการกองทุนกทปส.ต่างก็ขานรับนโยบายเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนในการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนและช่วยภาครัฐสนับสนุนให้คนทำงานอยู่บ้าน ซึ่งแน่นอนว่าทุกฝ่ายต้องทำงานอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม 


สำหรับวิธีการกดรับสิทธิ์เน็ตมือถือ 10 GB สำหรับประชาชนฟรี 30 วัน นั้น “ฐากร” ย้ำว่า ประชาชนควรเริ่มจากการเช็คโปรโมชันของตนเองก่อนว่าใช้โปรโมชันใดอยู่ ด้วยการกด *165*1# แล้วกดโทรออก จากนั้นให้เช็คยอดการใช้งานด้วยว่าเหลืออยู่เท่าไหร่ และใช้ได้ถึงวันไหน ด้วยการกด *165*2# แล้วกดโทรออก เพราะการกดขอรับสิทธิ์การใช้งานฟรี 30 วันนั้น เริ่มนับตั้งแต่วันที่กดขอรับสิทธิ์ โดยกสทช.ให้ระยะเวลาการกดรับสิทธิ์ ตั้งแต่วันที่ 10-30 เม.ย. 2563 หากยอดการใช้งานยังเหลืออยู่ แนะนำว่าอย่าเพิ่งกดรับสิทธิ์ ให้กดรับสิทธิ์ในวันที่ยอดการใช้งานหมดแล้วจะคุ้มค่ากว่า 







ยกตัวอย่างเช่นโปรโมชันจะสิ้นสุดลงวันที่ 15 เม.ย. 2563 ก็ให้เริ่มกดวันที่ 16 เม.ย. 2563 การใช้งานจะใช้ได้ถึงวันที่ 15 พ.ค. 2563 เป็นต้น โดยประชาชนสามารถกดรับสิทธิ์ได้ ด้วยการกด *170* ตามด้วยเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก # โทรออก หลังจากนั้นไม่เกิน 3-5 นาที ในการตรวจสอบว่าประชาชนจะไม่ใช้สิทธิ์เกิน 1 สิทธิ์ ก็จะสามารถใช้งานได้ทันที โดยแต่ละคนจะมีสิทธิ์เพียงแค่ 1 สิทธิ์เท่านั้น ไม่ว่าจะมีมือถือกี่เบอร์ก็ตาม และขอสวนสิทธิ์ให้เฉพาะคนไทยเท่านั้น ชาวต่างชาติและนิติบุคคล ไม่ได้รับสิทธิ์ ซึ่งคาดว่าจะมีประชาชนที่เข้าข่ายได้รับสิทธิ์ประมาณ 30 ล้านเลขหมาย


ส่วนการเพิ่มความเร็วให้กับบรอดแบนด์ตามบ้านเรือนของประชาชนนั้น ประชาชนไม่ต้องกดรับสิทธิ์แต่อย่างใด แต่ผู้ให้บริการจะเพิ่มความเร็วให้อัตโนมัติ เป็น 100 Mbps โดยสิทธิ์ให้เฉพาะคนไทยเท่านั้น ชาวต่างชาติและนิติบุคคล ไม่ได้รับสิทธิ์ และต้องเป็นผู้เปิดใช้งานภายในวันที่ 31 มี.ค. 2563 ซึ่งขณะนี้กสทช.และผู้ให้บริการกำลังสำรวจการใช้งานของประชาชน คาดว่าจะมีประชาชนที่เข้าข่ายได้รับสิทธิ์ประมาณ 1 ล้านครัวเรือน

*** หนุนโรงพยาบาลซื้อเวชภัณฑ์สู้โควิด-19

นอกจาก กสทช.จะใช้เงินจากกองทุนกทปส.สนับสนุนงบประมาณในการเพิ่มเน็ตมือถือและเน็ตบ้าน ประมาณ 3,000 ล้านบาท ให้ประชาชนทำงานอยู่บ้านแล้ว กสทช.ยังใช้งบประมาณจาก กทปส. อีก 1,000 ล้านบาท เพื่อเปิดโอกาสให้โรงพยาบาล สถาบันทางการแพทย์ของรัฐ ขอรับการสนับสนุนในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วย



ล่าสุดโรงพยาบาลที่ส่งเอกสารมาครบถ้วน จำนวน 50 แห่ง วงเงิน 831 ล้านบาท จากที่มีการขอรับการสนับสนุนแล้วกว่า 130 แห่ง วงเงินรวม 3,000-4,000 ล้านบาท โดยส่วนที่เหลือให้กลับไปทำเอกสารเพิ่มเติมให้ครบถ้วนเพื่อเร่งพิจารณาต่อไป


ฐากร กล่าวว่า กสทช.ต้องการช่วยโรงพยาบาลที่ต้องการหาซื้อเวชภัณฑ์ทางการแพทย์เพื่อช่วยสู้กับภัยโควิด ดังนั้นจึงมีแนวคิดในการรวบรวมเงินค่าปรับต่างๆ เช่น ค่าปรับโครงข่ายล่ม ค่าปรับนำเสนอเนื้อหาไม่เหมาะสมของทีวีดิจิทัล ซึ่งขณะนี้สามารถหาเงินมารวมกับเงิน 1,000 ล้านบาท ได้อีก จำนวน 251 ล้านบาท คาดว่าภายในสัปดาห์นี้จะเริ่มมอบให้โรงพยาบาลที่ส่งเอกสารมาครบถ้วน จำนวน 50 แห่ง


“ตอนนี้มีกลุ่มมิจฉาชีพแอบอ้างรับลงทะเบียนเพื่อขอรับสิทธิ์ดังกล่าว โดยอ้างว่าต้องเสนอผ่านหน่วยงานนั้น หน่วยงานนี้ หากยื่นให้ต้องเสียค่าหัวคิว 10% เพื่อให้ผ่านเงื่อนไข กสทช.ขอย้ำว่าไม่เป็นความจริง ขอให้โรงพยาบาลที่ต้องการขอเงินช่วยเหลือติดต่อมายังสำนักงานกสทช.โดยตรงแห่งเดียวเท่านั้น กสทช.จะส่งเงินตรงถึงโรงพยาบาลเอง เราต้องทำงานอย่างโปร่งใส”

*** ประสานทุกหน่วยงานรับมือโควิด-19

ทั้งนี้ความตื่นตัวในการทำงานของกสทช.ร่วมกับรัฐบาลนั้น กสทช.นับเป็นองค์กรแรกๆที่ไม่นิ่งนอนใจและพร้อมเป็นตัวกลางประสานกับทุกหน่วยงานอย่างเต็มที่ เริ่มตั้งแต่ การหาวิธีติดตามคนที่เดินทางเข้าประเทศด้วยการใช้เทคโนโลยี ร่วมกับ กระทรวงดีอีเอส ซึ่งรับนโยบายโดยตรงมาจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในช่วงที่โควิด-19 เริ่มระบาด ด้วยการทำงานกับ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.),กระทรวงดีอีเอส และ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (ทอท.) ด้วยการประสานกับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ในการทำซิมราคาพิเศษกระตุ้นให้ชาวต่างชาติดาวน์โหลดแอป AOT Airports 


ซึ่งในขั้นแรก กสทช.ได้กำหนดให้ผู้ให้บริการแต่ละค่ายเข้าไปตั้งโต๊ะภายในสนามบินก่อนจะออกจากด่านตรวจคนเข้าเมืองโดยคิดซิมการ์ดในราคา 49 บาท แต่กสทช.เกรงว่าจะเป็นการเพิ่มภาระให้ประชาชนจึงจับมือกับกรมควบคุมโรคในการออกค่าใช้จ่ายตรงนี้ให้


ฐากร กล่าวว่า นโยบายนี้เกิดจากการประชุมร่วมกับนายกรัฐมนตรี ในการรับมือโควิด-19 ที่ขอให้กสทช. ทำงานร่วมกับ กรมควบคุมโรค ในการแจกซิมการ์ดราคา 49 บาทฟรีโดยใช้งบประมาณจากกองทุน กทปส.เพื่อให้ผู้ที่เดินทางทั้งชาวไทยและต่างชาติ ที่เดินทางมายังประเทศไทยจากประเทศกลุ่มเสี่ยงที่กรมควบคุมโรค ประกาศตามกฎหมาย ได้แก่ ประเทศเกาหลีใต้, จีน, อิตาลี, อิหร่าน, มาเก๊า และ ฮ่องกง ต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน AOT Airports ทุกคน ส่วนที่เหลือจะขอความร่วมมือกับตามมาตรา 12 (7) ตาม พ.ร.บ. ตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) หากไม่ดาวน์โหลดจะถูกปฏิเสธการเข้าประเทศตามกฎหมาย ตม.




ส่วนผู้ที่เดินทางเข้ามาก่อนหน้านี้และยังไม่ได้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน ทางกรมควบคุมโรคจะนำรายชื่อแจ้งมายังกสทช.เพื่อให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเร็วที่สุด ซึ่งแอปพลิเคชันนี้กสทช.ขอให้ผู้ให้บริการสามารถติดตามตำแหน่งที่อยู่ของผู้กักตัว 14 วัน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการรายงานว่าได้เดินทางออกนอกสถานที่กักกันตัวหรือไม่ ระบบจะมีการแจ้งเตือน เพื่อให้คนในพื้นที่รับทราบและดำเนินการต่อไป หากครบกำหนด 14 วันแล้ว ระบบจะลบข้อมูลและเลิกติดตามทันที

*** ปรับกระบวนการทำงาน สอดรับ WFH

เพื่อสนับสนุนนโยบายทำงานจากที่บ้าน หรือ Work from Home ของรัฐบาล ในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สำนักงานกสทช.จึงพิจารณาการทำงานของบุคลากรในสำนักงาน กสทช. “ฐากร” จึงมีนโยบายในการสนับสนุนแนวทางดังกล่าว 2 แนวทาง ได้แก่ 1.การทำงานจากที่บ้าน 100% ซึ่งเกิดจากเหตุอันต้องสงสัยว่าบุคลากรอาจติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะอนุมัติให้สามารถทำงานจากที่บ้านได้ทันที และ 2.การกำหนดเวลาเข้าออกการปฏิบัติงาน ซึ่งสำนักที่มีลักษณะงานเป็นการอนุญาตหรือติดต่อกับประชาชน จะกำหนดเวลาเข้าออก การปฏิบัติงานโดยแบ่งเป็น 3 รอบ คือ เวลา 07.30-15.30 น., เวลา 08.30-16.30 น. และเวลา 09.30-17.30 น. เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนต่อเนื่อง มีการปรับการให้บริการงานอนุญาตและชำระค่าธรรมเนียมโดยให้บริการเฉพาะวันอังคาร และ วันพฤหัสบดี เวลา 08.30-16.30 น. ตั้งแต่วันที่ 7 เม.ย. 2563 จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ยกเว้นการยื่นขออนุญาตระบบออนไลน์ยังสามารถให้บริการตามวันและเวลาปกติ


ส่วนสำนักที่มีลักษณะงานด้านวิชาการ ซึ่งบางส่วนสามารถทำงานจากที่บ้านได้ แต่จะเป็นรูปแบบการสลับกันเข้าทำงาน ไม่ได้หยุดทั้งหมด เพราะต้องมีผู้คอยประสานงาน โดยจะมีการกำหนดวิธีการ กระบวนการทำงานต่างๆ รวมถึงการส่งมอบงานร่วมกันอีกครั้ง 

ขณะที่สำนักงานกสทช.มีการกำหนดระยะห่างและความสะอาดของสำนักงาน โดยมีการกำหนดจุดยืนเข้าลิฟท์และกำหนดจำนวนคนเข้าลิฟท์แต่ละครั้งเพื่อลดความแออัด รักษาระยะห่าง มีการตรวจวัดอุณหภูมิ ก่อนเข้าสำนักงาน และเจลล้างมือให้บริการ ส่วนการประชุมก็มีการรักษาระยะห่างไม่ให้นั่งใกล้ชิดกัน โดยเฉพาะงานแถลงข่าวต่างๆก็มีการปรับใช้เฟซบุ๊กกสทช.ในการแถลงข่าวแทนการเจอหน้ากัน


ฐากร กล่าวว่า จากจำนวนบุคลากรกว่า 1,700 คน ใน 48 สำนักทั่วประเทศ ภาพรวมประเมินว่า 50% จะสามารถทำงานจากที่บ้านได้ ส่วนอีก 50% อาจต้องแบ่งช่วงการเข้าทำงานเป็นรอบๆ ซึ่งคาดว่า แนวทางการทำงานดังกล่าวจะมีผลในช่วงต้นเดือนเม.ย. 2563 เป็นต้นไป โดยในระยะแรกอาจจะทดลอง 1 เดือนก่อน หากทำได้ก็จะคงทำต่อไป



“ในภาวะวิกฤติ เช่นนี้ ไม่มีเวลาแล้วครับที่เราจะคิดนาน เราต้องช่วยกัน ร่วมมือกัน อยู่บนพื้นฐานการทำงานอย่างโปร่งใส คงไม่มีใครคิดว่าสิ่งต่างๆที่ทำในภาวะวิกฤติเช่นนี้จะถูกตรวจสอบภายหลังหรือไม่ หากไม่ช่วยกัน เราจะฝ่าวิกฤติไปด้วยกันไม่ได้ “ ฐากร กล่าวย้ำ.


กำลังโหลดความคิดเห็น