“เศรษฐพงค์” แนะ “กสทช.” เร่งวางโครงสร้างอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุม-มีคุณภาพ เพื่อการศึกษาทุกระดับ ชี้ วิกฤต “โควิด-19” เป็นโอกาสปรับกระบวนทัศน์ด้านการศึกษา-เพิ่มทักษะการเรียนรู้สู่ “โลกออนไลน์” พร้อมชง 4 แนวทางสร้างศักยภาพการศึกษาเพื่ออนาคต
วันนี้ (2 พ.ค.) พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ โฆษกพรรคภูมิใจไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กมธ.ดีอีเอส) สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า จากสถานการณ์วิกฤตไวรัสโควิด-19 จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ อย่างในอนาคต โดยเฉพาะด้านการศึกษา ตนจึงอยากฝากไปยังคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้เร่งสนับสนุนในการดำเนินการด้านโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่มีคุณภาพให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อการศึกษาทุกระดับ หลังจากที่พบว่าสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด ทำให้เกิดผลกระทบและการเปลี่ยนแปลง รวมถึงการปรับตัวหลายด้าน เช่น การเว้นระยะห่าง การกักตัวอยู่บ้าน และพบว่า เป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้เกิด New Normal ด้านการศึกษา ที่ทำให้ภาคการศึกษาต้องทบทวนรูปแบบการเรียนการสอน จากเดิมที่ต้องสอนภายในห้องเรียน สอนผ่านตัวบุคลากรทางการศึกษา เป็นรูปแบบการสอนด้วยระบบออนไลน์ หรือ การศึกษาผ่านเทคโนโลยี เพื่อช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสอันตราย แต่การปรับรูปแบบของการศึกษานั้น จำเป็นอย่างยิ่งต้องปรับเพื่อให้เด็กรุ่นใหม่เตรียมพร้อมสำหรับชีวิต อาชีพใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้าด้วย
“การระบาดของไวรัสโควิด เป็นโอกาสให้ภาคการศึกษาทบทวนรูปแบบการเรียนการสอนใหม่ โดยใช้บทบาทของเทคโนโลยีให้ความรู้แก่เยาวชน และกำหนดวิธีเรียนรู้ของเยาวชนยุค Generation Z, Generation Alpha และเยาวชนรุ่นใหม่ ซึ่งการส่งเสริมบทบาทของเทคโนโลยีดังกล่าว จำเป็นต้องเร่งผลักดันโครงการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อการศึกษาทุกระดับ เพราะจะเป็นสิ่งที่ยกระดับการศึกษารูปแบบใหม่ และศักยภาพของการเรียนรู้ของเยาวชนให้ทันโลกยุคใหม่ได้อย่างทันท่วงที” พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าว
รองประธาน กมธ.ดีอีเอส กล่าวด้วยว่า สำหรับแนวทางที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้ภาคการศึกษาได้ปรับรูปแบบใหม่ คือ 1. ให้ความรู้แก่ประชาชน โดยเฉพาะความเข้าใจต่อการเชื่อมโยงถึงกันทั่วโลก และก้าวข้ามความแตกต่างของคน ด้วยวิธีทำงานร่วมกันทั่วโลก 2. กำหนดนิยามบทบาทของครูผู้สอนใหม่ เพราะไม่ใช่เป็นบุคคลให้ความรู้แก่ผู้เรียน แต่คือ ผู้เรียนสามารถเข้าถึงความรู้ และเข้าถึงองค์ความรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ เช่น โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์ ดังนั้นบทบาทของนักการศึกษา คือ มุ่งสู่การพัฒนาเยาวชนในฐานะที่เป็นสมาชิกของสังคม ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ต้องพิจารณา 3. การสอนทักษะชีวิต การมีความคิดสร้างสรรค์ การสื่อสาร ทักษะการเรียนรู้สิ่งใหม่ และการทำงานร่วมกัน ควบคู่ไปกับการเอาใจใส่และความฉลาดทางอารมณ์ คือ จำเป็นสำหรับอนาคต ที่สามารถส่งเสริมการทำงานให้มีประสิทธิภาพและทำงานข้ามกลุ่มประชากรที่มีความแตกต่างกันได้ และ 4. ปลดล็อกเทคโนโลยีเพื่อส่งมอบการศึกษา เพื่อให้การใช้ประโยชน์จากเครื่องมือทางเทคโนโลยีที่มี สร้างเนื้อหาสำหรับการเรียนรู้ระยะไกลสำหรับนักเรียนทุกภาคส่วน โดยเฉพาะโรงเรียนระดับอนุบาล จนถึงมัธยมศึกษา ให้เกิดประโยชน์ในการเข้าถึงการศึกษาสำหรับนักเรียนทั่วโลก