หลังจากรอคอยมา 3 ปี ล่าสุด ผลการประเมิน PISA รอบปี 2018 จาก 79 ประเทศทั่วโลก พบว่า ไทยยังคงได้คะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในการสอบวัดความรู้ทั้ง 3 ด้าน คือ การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ขณะที่จีนส่งเฉพาะนักเรียนจาก 4 เมืองเข้าประเมิน โดย 4 เมืองใหญ่ของจีน แซงหน้าขึ้นมาครองอันดับ 1 แทนสิงคโปร์ อย่างไรก็ดีจีนส่งเพียงแค่ 4 เมืองเข้าร่วมประเมินคือ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เจียงซู และเจ้อเจียง ทำให้คะแนนสูงสุดในทุกด้าน
โปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (Programme for International Student Assessment หรือ PISA) ริเริ่มโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) เพื่อประเมินนักเรียนอายุ 15 ปี ในประเทศที่เข้าร่วม ทุก ๆ 3 ปี และประกาศผลในปีนี้ โดย OECD Center ปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยไฮไลท์ปีนี้คือ มีการเชิญ แจ็ค หม่า ซึ่งได้ทำเรื่องการศึกษา โดยเฉพาะการให้ทุนในประเทศแอฟริกา และ คุณธนินท์ เจียรวนนท์ กับบทบาทสำคัญ ในการสร้างสถาบันผู้นำ สร้างคนรุ่นใหม่ เรียนรู้จากการทำงาน หรือเรียกว่าโปรแกรมเถ้าแก่ และยังชี้ว่า นักเรียนควรเรียนควบคู่ไปพร้อมกับทำงาน (Action Based Learning) เพื่อเรียนรู้จากชีวิตจริง ซึ่งแตกต่างจากในตำรา นอกจากนี้ควรหาครูที่เก่งที่สุด มาสอนออนไลน์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เด็กเก่ง ๆ ที่ขาดโอกาสจะเข้าถึงการศึกษาที่เท่าเทียมกันมากขึ้น
ทั้งนี้ผลการประเมิน PISA 2018 ในระดับนานาชาติ พบว่านักเรียนจาก 4 เมืองใหญ่ของจีน คือ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เจียงซู และเจ้อเจียง มีคะแนนทั้ง 3 ด้าน สูงกว่าทุกประเทศ/เขตเศรษฐกิจ ตามมาด้วย สิงคโปร์ มาเก๊า ฮ่องกง เอสโตเนีย แคนาดา และ ฟินแลนด์
ส่วนประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่ได้อันดับ 4 และ 5 ในด้านการอ่านคือ ฮ่องกง และเอสโตเนีย ด้านคณิตศาสตร์คือ ฮ่องกง และไต้หวัน ด้านวิทยาศาสตร์คือ เอสโตเนีย และญี่ปุ่น จาก 77 สำหรับประเทศไทย การอ่านได้ อันดับที่ 66 ที่คะแนน 393 วิชาคณิตศาสตร์ ได้ที่ 56 ได้คะแนน 419 และวิชาวิทยาศาสตร์ ได้ที่ 52 คะแนน 426 โดยรวมถือว่า ต้องหาแนวทางยกระดับการศึกษาอีกมาก
โดยงานนี้ มีผู้นำทั้งด้านการศึกษา และภาคธุรกิจ ร่วมเสนอแนะแนวทางการพัฒนาการศึกษาในอนาคต แนวคิดทั้งสองท่าน ที่น่าสนใจมาก คือ แจ็ค หม่า ซึ่งกล่าวว่า
• ครูเก่ง ต้องไปสอนโรงเรียนที่อ่อน ไม่ใช่ครูเก่งไปอยู่โรงเรียนที่เก่ง
• ไม่เคยตื่นเต้นกับปริญญา เพราะต้องสอนใหม่ตอนทำงานอยู่ดี สิ่งที่เรียนรู้ได้ดีกว่าคือเรียนรู้ชีวิต
• IQ หรือความฉลาดทางด้านความรู้ EQ หรือความฉลาดทางอารมณ์ก็เป็นประโยชน์มาก แต่หัวใจสำคัญที่มีคุณค่าอย่างยิ่งคือ LQ นั่นคือความรัก
ในขณะที่ คุณธนินท์ เจียรวนนท์ มองเรื่องการศึกษาว่า
• ครู ต้องเป็นอาชีพที่ดึงดูดคนเก่งอยากมาเป็นครู ควรมีรายได้สูง
• เอาคนเก่งที่มาสอน ใช้เทคโนโลยี เรียนออนไลน์ จากคนที่เก่งที่สุดในวิชานั้น ๆ ส่วนครูในห้องเรียน เปลี่ยนบทบาทมาช่วยสนับสนุน ทำให้ทุกคนเข้าถึงความรู้ ลดความเหลื่อมล้ำ
• เด็กควรเรียนจบเร็วขึ้น ทำงานพร้อมกับเรียน เพื่อเข้าใจชีวิตจริง เรียนรู้จากปัญหาจริง ๆ อายุ 18 ก็ควรเรียนจบแล้ว ไม่ต้องรอถึง 22 ปี หากอยากรู้เฉพาะทาง ค่อยเรียนเพิ่ม
• วิชาเรียนต้องเร็ว และทันยุคความรู้ใหม่ในยุค 4.0 และต้องเชื่อมโยงกับบริษัท
• ผลิตนิสิตนักศึกษา ต้องสำรวจตลาด ต้องถามบริษัท ถาม startup ว่าต้องการแรงงานแบบไหน แล้วผลิตตามที่ตลาดต้องการ
• เด็กรุ่นใหม่ ต้องให้อำนาจ (Empowerment) ให้เขาตัดสินใจ ส่วนผู้ใหญ่แค่ให้เค้ารายงานสั้น ๆ ทุกวัน
• เก่งอย่างเดียวไม่พอ ต้องได้รับโอกาส และเมื่อมีโอกาสแล้วต้องอดทน
เหล่านี้ถือเป็นโจทย์ใหญ่ในภาคการศึกษาของไทยที่ต้องปรับตัวในยุคดิจิทัล ที่การศึกษารูปแบบเดิมอาจไม่ได้ผล แต่จะพัฒนาอย่างไรให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว