xs
xsm
sm
md
lg

ผลสอบ PISA2018 คะแนนการอ่านลดลง แต่วิทย์-คณิตเพิ่มขึ้น ห่วงเด็กไทยติดอ่านลวกๆ จากโซเชียล

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศธ.เผยผล PISA2018 คะแนนด้านการอ่านลดลงเหมือนกันทั่วโลก แต่คะแนนด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เพิ่มขึ้น ช่องว่างระหว่างคะแนนเริ่มลดลง  นร.ร.ร.เอกชนคะแนนสูงขึ้น "หมอธี" ห่วงเด็กไทยอ่านลวกๆ ฉาบฉวย รมว.ศธ.รับลูกต้องปรับหลักสูตรและวิธีการสอน เน้นอ่านวิเคราะห์มากขึ้น พัฒนาการเรียนวิทย์คณิตต่อเนื่องหลังผลออกมาน่าพอใจ

วันนี้ (3 ธ.ค.) นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) แถลงข่าวผลการประเมินโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (PISA 2018) ว่า PISA เป็นการประเมินความฉลาดรู้ คือ การใช้ความรู้และทักษะในชีวิตจริง แบ่งเป้น 3 ด้าน คือ การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ สำหรับรอบการประเมิน PISA 2018 เน้นการประเมินด้านการอ่านมากกว่า คือสัดส่วน 60% คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ด้านละ 20% มีนักเรียนทั่วโลกเข้าร่วมการประเมินประมาณ 600,000 คน จากนักเรียนอายุ 15 ปี จำนวน 32 ล้านคน จำนวน 79 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ สำหรับประเทศไทย สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ดำเนินการจัดสอบเมื่อ ส.ค.2561 มีนักเรียนกลุ่มตัวอย่างจำนวน 8,633 คน จาก 290 โรงเรียนในทุกสังกัดการศึกษา ส่วนใหญ่ 76.6% เป็นเด็ก ม.4 หรือปวช. ที่เหลือเป็นเด็ก ม.3 โดยนักเรียนได้ทำแบบทดสอบและแบบสอบถามทางคอมพิวเตอร์ผ่านแฟลชไดรฟ์

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ประธานคณะกรรมการ PISA แห่งชาติ กล่าวว่า ผลการประเมิน PISA 2018 พบว่า คะแนนเฉลี่ยประเทศ/เขตเศรษฐกิจ (OECD) ทั้ง 3 ด้านลดลงทั้งหมด โดยเฉพาะด้านการอ่านที่ลดลงอย่างมาก รวมถึงประเทศไทยที่คะแนนด้านการอ่านลดลงเช่นกัน โดยคะแนนเฉลี่ย OECD ด้านการอ่านอยู่ที่ 487 คะแนน ไทยได้ 393 คะแนน ลดลงจากคราวก่อน 16 คะแนน ด้านคณิตศาสตร์ค่าเฉลี่ย OECD อยู่ที่ 489 คะแนน ไทยอยู่ที่ 419 คะแนน เพิ่มขึ้นจากรอบก่อน 3 คะแนน และด้านวิทยาศาสตร์ ค่าเฉลี่ย OECD อยู่ที่ 489 คะแนน ไทยอยู่ที่ 426 คะแนน เพิ่มขึ้นจากรอบก่อน 4 คะแนน ดังนั้น โดยรวมแล้วนอกจากด้านการอ่านที่ลดลงเหมือนกันทั่วโลก แต่ด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่ว่าเพิ่มขึ้น ทำให้ช่องว่างของคะแนนลดลง อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาตามระดับความสามารถของนักเรียน ซึ่งแบ่งเป็น 6 ระดับ โดยระดับ 2 ถือเป็นระดับพื้นฐานที่นักเรียนเริ่มแสดงว่ารู้และพอจะใช้ประโยชน์จากความรู้ในชีวิตจริงได้ โดยพบว่า นักเรียนที่ความสามารถด้านการอ่านระดับ 2 ขึ้นไป ของค่าเฉลี่ย OECD อยู่ที่ 77% ส่วนประเทศไทยอยู่ที่ 40% ความสามารถด้านคณิตศาสตร์ระดับ 2 ขึ้นไป OECD อยู่ที่ 76% ส่วนไทยอยู่ที่ 47% ขณะที่ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ระดับ 2 ขึ้นไป OECD อยู่ที่ 78% ส่วนไทยอยู่ที่ 56% โดยเานคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์นักเรียนไทยมีความสามารถระดับสูง ระดับ 5 และ 6 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับ PISA 2015 ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาความแตกต่างระหว่างเพศ พบว่า นักเรียนหญิงมีคะแนนสูงกว่านักเรียนชายในทุกด้าน โดยเฉพาะด้านการอ่านที่นักเรียนหญิงมีคะแนนสูงกว่านักเรียนชายถึง 39 คะแนน

นพ.ธีระเกียรติ กล่าวว่า การประเมิน PISA ในครั้งนี้ไม่ได้มีการจัดอันดับว่าประเทศใดอยู่ในลำดับใด เพราะคะแนนในแต่ละด้านไม่เท่ากันในแต่ละประเทศทำให้มีการจัดลำดับยาก ที่สำคัญคะแนนที่ออกมาอยากให้แต่ละประเทศให้ความสำคัญและนำมาปรับปรุงตัวเองหรือแข่งขันกับมากกว่าที่จะมาเปรียบเทียบหรือแข่งกับประเทศอื่น สำหรับปัญหาคะแนนด้านการอ่านที่ลดลง ย้ำว่าลดลงทั่วโลก ซึ่งพื้นฐานการอ่านถือว่ามีส่วนสำคัญต่อคะแนนด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ด้วย ส่วนข้อที่น่าห่วง คือ ปัจจุบันเด็กใช้โซเชียลมีเดีย อ่านอย่างรวดเร็ว อ่านแบบลวกๆ ไม่จับใจความ เดี๋ยวนี้การย่อความก็ไม่มี จึงมองว่าต้องพัฒนาในเรื่องนี้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ที่น่าสนใจ คือ นักเรียนด้อยโอกาสของไทยมี 13% ที่สามารถทำคะแนนอยู่ในระดับเปอร์เซ็นไทล์ที่ 75 ขึ้นไปได้ แสดงว่าความด้อยโอกาสไม่ใช่โชคชะตาที่กำหนดว่าเด็กด้อยโอกาสต้องมีคะแนนต่ำเสมอ จึงต้องพยายามเน้นให้เด็กด้อยโอกาสมาเรียนในโรงเรียนที่มีสถานะได้เปรียบ ขณะที่ผลการสอบของนักเรียนสังกัดเอกชนทำคะแนนได้ดีเพิ่มขึ้น จึงอยากให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่มีศูนย์ PISA เปิดพื้นที่ให้โรงเรียนสังกัดอื่นเข้าร่วมใช้ด้วย

เมื่อถามว่าจะแก้ปัญหาเรื่องคะแนนการอ่านอย่างไร  นายณัฏฐพล กล่าวว่า ต้องบอกว่าภูมิใจและพอใจที่สามารถรักษาระดับไว้ได้ เพราะขยับขึ้นในส่วนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ แสดงให้เห้นว่าการทำงานของ ศธ.ช่วงหลายปีที่ผ่านมาที่เน้น 2 ด้านนี้ถือว่าประสบผลสำเร็จ ต้องรักษาระดับนั้นต่อไปและขยายผลมากขึ้น ส่วนประเด็นการอ่านที่ต้องปรับปรุง เกี่ยวข้องกับทุกเรื่องที่เรากำลังดำเนินการ ทั้งหลักสูตรที่ต้องปรับการอ่านและวิเคราะห์มากขึ้น ไม่ใช่เพื่อการสอบ เพราะเป็นทักษะการใช้ชีวิตในศตวรรษที่ 21 ส่วนการส่งเสริมให้ขยายคุณภาพการศึกษาทั่วประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำก็ต้องทำ เพราะผลของ PISA เป็นการสุ่มสอบ วิธีปกป้องดีที่สุด คือ ทำให้เด็กทั่วประเทศไทยมีความสามารถใกล้เคียงกัน จะมั่นใจได้ว่าอีก 2 ปีข้างหน้าเมื่อสอบอีกครั้ง ไม่ว่าสุ่มไปที่ไหนเด็กเราน่าจะทำคะแนนได้ดีทุกภาคส่วน อย่างไรก็ตามเรื่องของงบประมาณเราได้สม่ำเสมอในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จึงไม่เกี่ยวที่ว่าได้รับงบมากแล้วผลออกมาแย่ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร 2 ปีข้างหน้าประเทศไทยต้องปรับปรุงมีผลลัพธ์ที่ดีกว่านี้

ถามถึงกรณีเด็กอ่านแบบฉาบฉวยจากการใช้โซเชียลมีเดีย จนไม่ค่อยเกิดการวิเคราะห์จะแก้อย่างไร  นายณัฏฐพล กล่าวว่า คิดว่าเหมือนการทำงานทุกแห่ง ทักษะการใช้ชีวิตจริงเมื่อเป้นเนื้องานแล้วต้องใช้เวลากับการอ่านตรงนั้นเพื่อนำมาวิเคราะห์ให้ถูก การอ่านฉาบฉวยไม่สามารถวิเคราะห์แยกแยะในความเหมาะสมหรือถูกต้องเป้นเรื่องปัญหาพอสมควรในสังคม ก็ต้องช่วยกัน กลับมาที่หลักสูตรและครูในการสอนที่จะต้องปรับบ้างเรื่องของวิธีการสอน หลักสูตรการสอนที่ให้อิสระภาพในการให้เด็กให้ความคิดหรือวิเคราะห์ออกมา








กำลังโหลดความคิดเห็น