ตราด - สพฐ.เรียกผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ รับนโยบายยกระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ย้ำแยกครูกับ จนท.ธุรการ ลดการสัมมนาของครูเพื่อให้มีเวลามากขึ้น ระบุยุบโรงเรียนขนาดเล็กไม่มีปัญหา พร้อมยกโรงเรียนเป็นนิติบุคคลเต็มรูปแบบ
วันนี้ (7 พ.ย.) ที่อาคารอเนกประสงค์ โรงเรียนตราษตระการคุณ สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นายอำนาจ วิชยานุวัฒน์ เลขาธิการ สพฐ.เป็นประธานในการประชุมสัมมนาผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ โดยมีผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ พร้อมเจ้าหน้าที่กว่า 500 คนร่วมประชุม โดย ว่าที่ ร.ต.พิเชียน ลิมป์หวังอยู่ ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด ได้กล่าวต้อนรับ และเชิญชวนผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษามาท่องเที่ยวใน จ.ตราด อีกทั้งในช่วงนี้เป็นช่วงการจัดการแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติ คัดตัวแทนเขตภาค 1 และช่วงกลางเดือนมีนาคม 2563 เพื่อให้กำลังใจลูกหลานที่มาแข่งขัน
นายอำนาจ วิชยานุวัฒน์ เลขาธิการ สพฐ. ได้กล่าวเปิดและมอบนโยบายให้แก่ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา โดยกล่าวว่า การเดินทางมาสัมมนาครั้งนี้ เพื่อเป็นการมามอบนโยบายของรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการให้แก่ทุกคนเพื่อนำไปปรับใช้และปฏิบัติให้เกิดผล โดยมุ่งที่จะเกิดผลสัมฤทธิ์ไปยังนักเรียน โดยผู้บริหารโรงเรียนจะต้องหารือกับครูผู้สอน และครูผู้สอนจะต้องคุยกับนักเรียน
โดยต้องทำให้ห้องเรียนเป็นที่เรียนรู้ของนักเรียนให้มากที่สุด เราเชื่อว่าครูทุกคนมีความสามารถ แต่จะทำอย่างไรที่จะนำโนว์ฮาว จากครูผู้สอนมาให้นักเรียนได้มากที่สุด นี่คือสิ่งที่ผู้บริหารจะต้องทำให้สำเร็จ เหมือนคำถามที่ว่า 1+1 ได้เท่ากับ 2 แต่กระบวนการมีมากมายที่จะทำให้ได้ผลลัพธ์เท่ากับ 2 ซึ่งวิธีการเหล่านั้นคือสิ่งที่ครูจะต้องคิดและทำให้เด็กได้เข้าใจ
นายอำนาจ ยังเผยอีกว่า ในการยกระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานของรัฐบาลและของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ว่า กระบวนการศึกษาของไทยถูกสังคมมองว่าไม่ตอบโจทย์ของสังคม จึงทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนแก้ไข โดยเฉพาะการให้ครูผู้สอนมีเวลามากขึ้นในการสอน ที่ผ่านมา ครูผู้สอนต้องออกไปสัมมนาปีหนึ่งมีเหลือเวลาเพียง 200 กว่าวัน และยังมีครูที่ต้องรับผิดชอบงานด้านธุรการ จึงต้องทำให้ครูมีเวลากับการสอนนักเรียนมากขึ้น การเพิ่มอำนาจให้แก่โรงเรียนด้วยการทำให้เป็นนิติบุคคล ที่สามารถบริหารงานบุคคลได้ดี ทั้งการจ้างภารโรง จ้างเจ้าหน้าที่ให้มาทำงานต่างๆ ซึ่งจะทำให้การเรียนการสอนได้ประสิทธิผลมากขึ้น
สำหรับการยุบโรงเรียนขนาดเล็กนั้น นายอำนาจ กล่าวว่า ต้องการยุบโรงเรียนขนาดเล็กเพื่อคุณภาพในการเรียนการสอนของเด็กมากกว่า ขณะที่ครูผู้สอน และผู้บริหารยังมีตำแหน่งเหมือนเดิม แต่การยุบต้องเป็นไปตามคำยินยอมของ ชุมชนด้วย เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อนักเรียนที่เดินทางไปเรียน อย่างไรก็ตาม ทาง สพฐ. มีงบประมาณในการสนับสนุนเรื่องนี้ ซึ่งเมื่อมีการยุบแล้ว จะพัฒนายกระดับให้โรงเรียนดีตำบลเพื่อส่งเสริมให้นักเรียนไม่ต้องเดินทางไกลไปในเมืองที่เป็นโรงเรียนในระดับจังหวัด