นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์เฟซบุ๊กชื่อ Thirachai Phuvanatnaranubala ระบุว่า วันที่ 7 พ.ย.62 นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยถึงกรณีที่มีกระแสการส่งต่อข้อมูลทางสังคมออนไลน์ ซึ่งเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนอิสลามศึกษานั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเข้าใจที่ผิดพลาดขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ขอชี้แจงว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เริ่มสอนรายวิชาอิสลามศึกษาในโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีนักเรียนนับถือศาสนาอิสลามเกินร้อยละ 50 มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2518
โดยจัดให้อิสลามศึกษาอยู่ในกลุ่มสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต และกลุ่มสร้างเสริมลักษณะนิสัยในหลักสูตรประถมศึกษา และจัดเป็นรายวิชาในหมวดสังคมศึกษาในหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย ซึ่งได้พัฒนาหลักสูตรอิสลามศึกษามาเป็นระยะ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสูตรของ ศธ.
ปัจจุบันการจัดการเรียนการสอนอิสลามศึกษาในโรงเรียนสังกัด สพฐ. มี 2 มิติ ได้แก่
มิติแรก สาระการเรียนรู้อิสลามศึกษา ในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551
มิติที่สอง การเรียนการสอนวิชาสามัญควบคู่ศาสนาหรืออิสลามศึกษาแบบเข้ม ตามนโยบาย ศธ.
ปัจจุบันมีโรงเรียนของรัฐที่เปิดสอนวิชาสามัญควบคู่ศาสนา ทั้งสิ้น 350 โรงเรียน โดยการจัดการเรียนการสอนอิสลามศึกษาทั้ง 2 มิตินั้น มุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายเฉพาะผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามเท่านั้น
ไม่ได้บังคับให้ทุกคนต้องเรียนอิสลามศึกษาตามที่มีกระแสการส่งต่อข้อมูลในสังคมออนไลน์แต่อย่างใด กระแสข่าวกระทรวงศึกษาธิการ บรรจุหลักสูตรวิชาอิสลามศึกษา โดยบังคับให้เด็กชั้นประถมศึกษา-มัธยมศึกษาทุกคนเรียน สร้างความปั่นป่วนบนโลกออนไลน์ กับข้อกังวลเรื่องความเชื่อที่แตกต่างกันระหว่างศาสนาอิสลาม และพุทธ
ข้อเท็จจริง คือ กระทรวงศึกษาธิการ เริ่มสอนรายวิชาอิสลามศึกษาในโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2518
ปัจจุบันหลักสูตรนี้ มุ่งเป้าหมายเฉพาะผู้นับถือศาสนาอิสลาม ไม่ได้บังคับให้ทุกคนต้องเรียนวิชานี้ตามที่มีการส่งต่อข้อมูลในสังคมออนไลน์