ในขณะที่ว่าที่คุณพ่อคุณแม่มือใหม่กำลังเตรียมตัวเตรียมใจกับหลายๆเรื่องเพื่อต้อนรับสมาชิกใหม่ในครอบครัว นอกจากจะต้องการให้สมาชิกตัวน้อยมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงและเลี้ยงง่ายแล้ว สิ่งที่หลายคนมีความคาดหวังที่ไม่แตกต่างกันมากนักคือ อยากให้ลูกเป็นคนที่มีความฉลาดเฉลียว หรืออย่างน้อยก็อยากให้มีความสามารถที่ไม่ด้อยไปกว่าเด็กคนอื่น
การนิยามความหมายของความฉลาดในแต่ละครอบครัวนั้นอาจมีรายละเอียดแตกต่างกันออกไป ที่เข้าใจได้ทั่วไปคงให้น้ำหนักกับความสามารถในการอ่านออกเขียนได้และมีผลการเรียนที่ดีอยู่เสมอ เป็นวิธีการประเมินสติปัญญาแบบง่ายๆที่พอจะเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ ทั้งที่โดยแท้จริงแล้วความฉลาดของเด็กนั้นยังมีอีกหลายด้านที่จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสม
ในเบื้องต้นคุณพ่อคุณแม่ควรได้เข้าใจว่า ความฉลาดทางสติปัญญา (IQ) หรือความสามารถในการคิดคำนวณ การเชื่อมโยงเหตุผลและการจดจำนั้นมักติดตัวเด็กมาตั้งแต่เกิด สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ทำได้คือ ค้นหาความสามารถของเด็กในด้านนั้นๆ และสนับสนุนเพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ขณะเดียวกัน ยังมีความฉลาดในด้านอื่นๆอีกหลายด้าน อาทิ ความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) หรือการจัดการอารมณ์และพฤติกรรมให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ ความสามารถเข้าสังคม (SQ) การคิดริเริ่มสร้างสรรค์ (CQ) หรือความสามารถเอาชนะอุปสรรค (AQ) ที่สามารถส่งเสริมและพัฒนาได้โดยวิธีการเลี้ยงดูที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้เด็กมีความฉลาดในการใช้ชีวิตและสามารถรับมือกับสิ่งต่างๆที่เข้ามาในชีวิตได้เป็นอย่างดี
ความเข้าใจเรื่องความฉลาดของเด็กทั้งในมุมมองกว้างและลึกจึงเป็นส่วนสำคัญในการเตรียมความพร้อมสำหรับการกำหนดรูปแบบและวิธีการเลี้ยงดูเด็ก โดยเฉพาะในช่วงขวบปีแรกถึงขวบปีที่สาม ซึ่งเป็นช่วงที่สมองมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้เด็กมีพัฒนาการในการเรียนรู้ทั้งในด้านการสื่อสาร การตอบสนองและรับฟังคำสั่ง การเคลื่อนไหวหยิบจับและใช้ประสาทสัมผัสส่วนต่างๆได้อย่างรวดเร็ว กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เด็กจะฉลาดมากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับวิธีการเลี้ยงลูกตั้งแต่ช่วงแรกเกิดเป็นสำคัญ
ด้วยเหตุนี้ วิธีการเลี้ยงลูกให้เป็นเด็กฉลาดจึงควรให้ความสำคัญกับ 5 ข้อเสนอแนะ ดังต่อไปนี้
1.สร้างความไว้วางใจ เด็กในช่วงขวบปีแรกจะใช้ภาษากายและการร้องไห้เป็นหลักในการสื่อสารแทนคำพูด แต่ถึงอย่างนั้นคุณพ่อคุณแม่ก็สามารถสร้างความใกล้ชิดกับลูกด้วยการให้ความสนใจและตั้งใจฟัง หมั่นสัมผัสและโอบกอด ทำกิจกรรมต่างๆร่วมกันเสมอ รวมทั้งพูดคุยและเล่าเรื่องต่างๆให้เด็กคุ้นเคยกับน้ำเสียง สีหน้า แววตาและท่าทาง เพื่อสร้างความเชื่อมโยงความสัมพันธ์และเกิดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยและความอบอุ่นใจจะช่วยให้เด็กพร้อมเรียนรู้สิ่งต่างๆได้อย่างรวดเร็ว
2.กระตุ้นการใช้ประสาทสัมผัส การกระตุ้นให้เด็กได้ใช้อวัยวะในการรับรู้และสัมผัสอย่างเหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญต่อการพัฒนาการทำงานของระบบประสาทและสมองให้เป็นไปได้ด้วยดี โดยเฉพาะการทำกิจกรรมที่ทำให้เด็กได้มองดูรูปภาพที่มีสีสันสะดุดตา การหยิบจับสิ่งของต่างๆที่มีผิวสัมผัสและรูปร่างที่หลากหลาย การฟังเสียงดนตรีและฝึกร้องตามในจังหวะที่น่าเพลิดเพลินใจ หรือการกินอาหารที่มีกลิ่นและรสชาติแตกต่างกัน ล้วนช่วยฝึกฝนการใช้ประสาทสัมผัสในการเรียนรู้และแยกแยะสิ่งต่างๆได้ดีขึ้น
3.สร้างความสุขด้วยเสียงหัวเราะ สังเกตได้เสมอว่าเวลาเด็กหัวเราะจะเป็นเสียงหัวเราะที่เปี่ยมด้วยความสุขอย่างแท้จริง แสดงถึงความสุขทั้งทางกายและใจซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาทักษะและบุคลิกภาพเฉพาะตัวของแต่ละคน เด็กที่เติบโตอย่างมีความสุขมีแนวโน้มที่จะมีความคิดทางบวกและมองโลกในแง่ดี มีความมั่นคงทางจิตใจที่พร้อมเปิดรับและเรียนรู้สิ่งใหม่อยู่เสมอ ดังนั้น การที่คุณพ่อคุณแม่ให้เวลาในการเล่นสนุกและหยอกล้อกับลูกเป็นประจำจะช่วยให้เด็กอารมณ์ดีและมีความสุขได้เสมอ
4.ปลดปล่อยพลังงาน เด็กเรียนรู้จากการเล่นที่หลากหลาย ซึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะทำให้เด็กเกิดพัฒนาทักษะจำเป็นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นทักษะในการคิด การตัดสินใจ ความคิดสร้างสรรค์ การฝึกความอดทน หรือแม้แต่ทักษะการเข้าสังคม นอกจากนี้ การเล่นบางประเภทที่ต้องออกแรงจะช่วยปลดปล่อยพลังงาน ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย รวมทั้งได้เสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่จำเป็นต่อการเคลื่อนไหวและการทรงตัว ทำให้ไม่เป็นอุปสรรคหรือข้อจำกัดต่อการเรียนรู้สิ่งต่างๆได้ด้วยตัวเอง
5.จัดระเบียบการใช้ชีวิต การจัดระเบียบสำหรับเด็กเล็กอาจดูเป็นเรื่องยาก แต่ก็เป็นสิ่งที่สามารถทำได้โดยการฝึกฝนอย่างค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจากเรื่องพื้นฐานอย่างเช่นเรื่องการกิน เล่น นอนและขับถ่ายให้เป็นเวลา เมื่อมีกิจกรรมอื่นเพิ่มขึ้นก็ให้จัดสรรเวลาและความรับผิดชอบเพิ่มเติม เด็กจะค่อยๆซึมซับและเคยชินกับการรักษาระเบียบในการดำเนินชีวิตได้ในที่สุด ปัจจัยสนับสนุนที่จะทำให้เกิดผลสำเร็จได้ก็ขึ้นอยู่กับตัวคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องมีวินัยในการกำกับดูแลและทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีด้วยเช่นกัน
การเลี้ยงลูกถือเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบที่ติดตัวคุณพ่อคุณแม่ไปตลอดชีวิต จึงย่อมทำให้แต่ละครอบครัวมุ่งหวังที่จะทำหน้าที่นี้ให้ดีที่สุดด้วยการพยายามเลี้ยงลูกให้ฉลาด ซึ่งมีความหมายที่มากกว่าการมีสติปัญญาที่ดีเพียงอย่างเดียว หากแต่ต้องวางรากฐานวิธีการเลี้ยงดูตั้งแต่แรกเกิดเพื่อให้เด็กเติบโตขึ้นมาในทิศทางที่เหมาะสมและสามารถนำความฉลาดในด้านต่างๆมาใช้เป็นเครื่องนำทางในการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้อย่างราบรื่นและเป็นสุข