กสศ.มอบ 2 ของขวัญวันเด็กแห่งชาติ เปิดบ้าน กสศ.เป็นพื้นที่เรียนรู้ ชวนทุกภาคส่วนร่วมสร้างนวัตกรรมลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา พร้อมลุยสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาเด็ก 4 กลุ่ม ขยายผลจัดสรรเงินอุดหนุนยังกลุ่มเป้าหมาย 9.4 แสนคน ดึงเด็กกลับเข้าระบบ
วันนี้ (11 ม.ค.) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติ 2563 “วาดฝัน สร้างสรรค์ อนาคต" โดยมีนักเรียนทุนเสมอภาค และเด็กๆ จากชุมชนในพื้นที่รอบ กสศ.ร่วมกิจกรรมอย่างอบอุ่น ผ่าน 5 ฐานกิจกรรม “Dream Rally มุ่งสู่ฝัน” จากความร่วมมือของหลายภาคส่วน เช่น กิจกรรมสร้างแรงบันดาลใจอาชีพในฝัน โดยอาสาสมัคร นิสิตคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กิจกรรมส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ความคิดวิเคราะห์ ด้วยนวัตกรรมจากOECD โดยสำนักวิจัยและวิทยบริการ มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี กิจกรรมวัดความพร้อมก่อนเข้าเรียน โดยสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้า กิจกรรมระเบิดจินตนาการโดยเครือข่ายครูสอนศิลปะจิตอาสา รวมถึงมินิคอนเสิรต์วาดฝันจากชมรมดนตรีและการแสดงมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ SWU BAND
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร กสศ. กล่าวว่า วันเด็กปีนี้ กสศ.ขอมอบของขวัญให้เด็กๆ 2 เรื่อง โดยเรื่องแรก ถือเป็นครั้งแรกที่กสศ.เปิดบ้านให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ของเด็กๆ ทุกคน เราพัฒนาให้มีพื้นที่ซึ่งเป็นห้องเรียนเสมอภาค พื้นที่การเรียนรู้สำหรับเด็กในศตวรรษที่ 21 เน้นกิจกรรมที่สร้างทัศนคติเชิงบวก มองเห็นคุณค่าในตัวเอง กล้าฝัน กล้าเรียนรู้ กล้าลงมือทำ หลังจากนี้ กสศ.ขอเชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมออกแบบกิจกรรมหรือสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ทั้งในระดับครอบครัว ห้องเรียน ชุมชน ท้องถิ่น เพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ ทักษะชีวิต ให้กับเด็กๆกลุ่มเป้าหมายต่างๆ อย่างเสมอภาค โดยไม่มีอุปสรรคใดใดขวางกั้น ไม่ว่าจะเป็น ฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของคุณครู เครือข่ายนิสิตนักศึกษา ภาคธุรกิจเอกชนเพื่อสังคม ร่วมสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา โดยจะมีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของกิจกรรมต่างๆได้ที่ www.eef.or.th หรือเฟสบุ๊ค กสศ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
ดร.ประสาร กล่าวว่า สำหรับของขวัญชิ้นที่สอง คือ การส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษาให้แก่เด็กๆและเยาวชนทุกช่วงวัย โดยในปีการศึกษา 2563 กสศ.จะสามารถเดินหน้างานสำคัญเพื่อช่วยเหลือเด็กๆและเยาวชน รวม 4 กลุ่มสำคัญ คือ กลุ่มที่ 1 ขยายผลการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนอย่างมีเงื่อนไขหรือทุนเสมอภาคไปยังกลุ่มเป้าหมาย ประมาณ 949,941 คน ครอบคลุมนักเรียนยากจนพิเศษตั้งแต่ระดับอนุบาลถึง ม.ต้น ในสังกัด สพฐ. อปท.ตชด.และ พศ.ทั่วประเทศ โดยมีกลุ่มเป้าหมายใหม่ที่สำคัญได้แก่ นักเรียนยากจนพิเศษระดับอนุบาล จำนวนราว 150,000 คน
กลุ่มที่ 2 การช่วยเหลือเด็กที่หลุดออกนอกระบบกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นและการฝึกทักษะอาชีพตามศักยภาพ โดย กสศ. จะสามารถช่วยเหลือเด็กนอกระบบในพื้นที่ 20 จังหวัดและภาคีเครือข่าย จำนวน 55,000คน กลุ่มที่ 3 เด็กปฐมวัย โดยพัฒนาคุณภาพและศักยภาพของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตามมาตราฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ในลักษณะศูนย์บริการต้นแบบประมาณ 300 ศูนย์ ใน17จังหวัด ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายอย่างน้อย 60,000 คน กลุ่มที่ 4 เยาวชนที่ยากจนอายุ 15-17ปี โดยส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาสายอาชีพ (ปวส./อนุปริญญา) ในส่วนของทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงราว 5,000 คน ประกอบด้วยทุนต่อเนื่อง 2,113 คน และทุนใหม่ 2,500 ทุน โดยนักศึกษาทุนรุ่นแรกจะจบการศึกษาในปี 2564 จำนวน1,000 คน
ด้านดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกสศ. กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูล PISA 2018 ของ OECD พบว่าเด็กเยาวชนในครัวเรือนที่ยากจนด้อยโอกาส มีแนวโน้มจะขาดการสนับสนุนพัฒนาการทางอารมณ์จากพ่อแม่ รวมไปถึงการขาดปัจจัยที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของชีวิต เช่น การคิดแบบเติบโต (Growth Mindset), การตระหนักถึงความสามารถของตนเอง (Self-Efficacy) ทัศนคติในเชิงบวกต่อชีวิต (Positive Thinking) ความคาดหวังในการเรียนต่ออุดมศึกษาหรือแม้แต่การตกเป็นเหยื่อของการกลั่นแกล้งในโรงเรียน (Bullying) ยังมีแนวโน้มจะเป็นปัญหาที่สำคัญในกลุ่มเด็กยากจนมากกว่ากลุ่มอื่นๆ อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าเด็กที่เกิดมาในครัวเรือนที่ยากจนที่สุดทุกคน จะต้องเผชิญกับชะตากรรมเช่นนี้เสมอ
จากการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกยังพบว่า มีเด็กในกลุ่มยากจนที่สุด (25% ล่างสุด) ถึงประมาณ 13% ที่ยังมีกำลังใจที่ดี มีพ่อแม่ มีโรงเรียนและครูที่สนับสนุนทางอารมณ์ ถึงแม้พ่อแม่ของพวกเขาจะได้รับโอกาสทางการศึกษาน้อย (พ่อแม่มีการศึกษาในระดับสูงกว่ามัธยมศึกษาตอนปลายน้อยกว่า1%) มีฐานะยากจน ขาดแคลนทรัพยากรทางการศึกษา แต่พวกเขาก็สามารถประสบความสำเร็จในการศึกษา ยังมีทัศนคติที่ดี มีแนวคิดในเชิงบวกต่อชีวิต เด็กกลุ่มนี้ทาง OECD เรียกว่าเด็กกลุ่มช้างเผือก (Resilient Students)
“ชีวิตของเด็กยากจนทุกคนยังมีความหวัง หากทุกภาคส่วน ตั้งแต่พ่อแม่ ครู โรงเรียน ชุมชน และภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมร่วมมือกันเพื่อช่วยให้พวกเขามีโอกาสที่เสมอภาคเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพ และส่งเสริมเรื่อง Growth Mindset และการตระหนักถึงความสามารถของตนเอง รวมทั้งทัศนคติในเชิงบวกต่อชีวิต ทั้งในโรงเรียนและในครัวเรือน จะช่วยให้พวกเขาสามารถพัฒนาตนเองเป็นเด็กช้างเผือกได้เช่นกัน กสศ. จะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยทำให้เด็กกลุ่มยากจนที่สุดมีโอกาสที่เสมอภาคที่จะพัฒนาคนเองเป็นเด็กช้างเผือกได้” ดร.ไกรยส กล่าว
น.ส.มารีญา พูลเลิศลาภ มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ ปี 2560 กล่าวว่า รู้สึกเศร้าที่ได้รู้ข้อมูลว่าประเทศมีเด็กยากจนขาดโอกาสทางการศึกษาเป็นจำนวนมาก จึงมองว่าสังคมต้องเริ่มช่วยกันแก้ไขปัญหา หากใครมีเวลาและโอกาสอยากเชิญชวนให้มาช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ หากทุกคนช่วยกัน เชื่อว่า ความมีน้ำใจและความเมตตาจะสามารถเปลี่ยนเป็นพลัง ช่วยแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยได้
“การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ หากเราได้รับโอกาสทางการศึกษาที่มากขึ้น ก็จะทำให้ประเทศไทยมีต้นทุนทรัพยากรบุคคลที่เก่งขึ้น ดังนั้นทุกภาคส่วน ควรให้ความสำคัญและเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กที่ขาดแคลน ทั้งนี้ ขอชื่นชม กสศ. ที่เข้ามาเติมเต็มช่องว่าง และสร้างกำลังใจให้กับเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียม เพราะเราเชื่อว่า เด็กไทยมีความสามารถไม่แพ้เด็กต่างชาติ แต่ขาดเพียงแค่โอกาส ดังนั้นการทำงานของกสศ.ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เด็กไทยมีอนาคตที่สดใส และมีกำลังใจที่จะเติบโต ไปเป็นทรัพยากรที่ดีของประเทศได้” น.ส.มารีญา กล่าว