ผลพวงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 กระจายไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ส่งผลให้วิถีชีวิต การจัดกิจกรรมต่างๆ ถูกยกเลิก ทำให้หลายหน่วยงานงัดกลยุทธ์การทำงาน การจัดกิจกรรมรูปแบบใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้น
แน่นอน "งานเทศกาลศิลปะกรุงเทพฯ ครั้งที่ 5" จัดโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหนึ่งกิจกรรมต้องสะดุดหยุดชะงักเพราะพิษโควิด-19 ซึ่งงานนี้เป็นการเปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชน รวมถึงศิลปิน และผู้ประกอบการร้านค้า D.I.Y. แขนงต่างๆ ได้แสดงไอเดีย ปล่อยพลังความรู้ การสร้างสรรค์ผ่านงานศิลปะสมัยใหม่ และนำสินค้า ผลิตภัณฑ์ มาวางจำหน่าย ขณะเดียวกันยังเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้งานศิลป์ซึ่งกันและกันอีกด้วย
ดร.วิมลลักษณ์ ชูชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) บอกว่า เราไม่รู้เลยว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะผ่อนคลายหรือสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ ซึ่ง "งานเทศกาลศิลปะกรุงเทพฯ ครั้งที่ 5" กำหนดจัดกิจกรรมทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ระหว่างเดือนมีนาคมยาวไปถึงกันยายนนี้ ดังนั้น น้องๆ เยาวชน ศิลปิน ผู้ประกอบการ ที่จะเข้าร่วมกิจกรรมนี้ ส่วนใหญ่ได้ลงทุนซื้อวัสดุมาจัดทำและจำหน่ายในงานนี้ตั้งแต่ต้นปี เมื่อมีการประกาศล็อกดาวน์ ไม่สามารถจัดกิจกรรมได้ ดังนั้น เยาวชน ศิลปินหลายคนได้รับผลกระทบอย่างหนัก
สศร. ได้ทำการสำรวจผู้ที่จะเข้าร่วมงานกิจกรรมครั้งนี้ พบว่า ผู้ประกอบการ หลายเจ้าได้รับผลกระทบเดือดร้อนอย่างหนัก เนื่องจากได้ลงทุนผลิตสินค้ามาจำหน่ายจำนวนมาก ประกอบกับก่อนหน้าที่จะประกาศยกเลิกการจัดกิจกรรม ได้มีลูกค้าหลายรายสนใจสั่งจองสินค้าเอาไว้ แต่ไม่ได้มารับสินค้าที่สั่งจอง ทำให้ตกค้างอยู่ในสต๊อกจำนวนมาก นั่นหมายถึงเงินทุนจมอยู่ในสต็อกนั้นด้วย อีกทั้งบางรายได้มีการกู้เงินมาลงทุนผลิตผลงานเป็นหลักหมื่น หลักแสนบาท จึงขอความช่วยเหลือว่าสามารถบรรเทาความเดือดร้อนของพวกเขาตรงไหนได้บ้าง
จากปัญหาเดือดร้อนดังกล่าว สศร.ไม่ได้นิ่งนอนใจ มีความห่วงใยถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น พร้อมเป็นสื่อกลางและให้กำลังใจกับกลุ่มศิลปินผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกัน จึงเปิดช่องทางการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ ผ่านช่องทาง OCAC Shop เฟซบุ๊ก : Bangkok Art Festival : BAF หรือ https://www.facebook.com/BangkokArtFestivalBAF2020/
ปลายนิ้วคลิ๊กเลือกงานอาร์ตร่วมสมัย
ใครที่ชื่นชอบงานประดิษฐ์ งานแฮนเมด มีชิ้นเดียว สไตล์เก๋ไก๋ ใช้งานได้จริง สามารถคลิ๊กเข้าไปเลือกชมสินค้ากว่า 70 ร้าน ยกตัวอย่างร้าน A piece of case ของคุณธนกร พุ่มนุ้ย จำหน่ายเคสโทรศัพท์ และเครื่องประดับแฮนเมด สำหรับเคสมือถือจะทำจากดอกไม้จริง ใช้ดอกไม้ไทยมาอัดแห้งในกระดาษ จนกว่าดอกไม้จะแห้งสนิท แล้วออกแบบเป็นลวดลายลงบนเคสมือถือ สร้างความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ซึ่งแตกต่างจากเคสมือถือที่วางจำหน่ายตามท้องตลาดทั่วไป
ส่วนผู้ที่รักน้องหมา น้องแมว คุณชาณิดา กวีศิลป์ เจ้าของร้าน 𝒂 𝒏𝒊 เป็นร้านปลอกคอสำหรับน้องแมวและน้องหมา ซึ่งปลอกคอจะผลิตจากผ้าฝ้าย 100% ย้อมคราม มีลวดลาย มีรูปแบบให้เลือกมากมาย ซึ่งคุณแม่ตัดเย็บอย่างพิถีพิถันทุกชิ้น อย่างไรก็ตาม หากสนใจอยากได้ผ้าลวดลายหรือแบบอื่นสามารถพูดคุยกันแลกเปลี่ยนกันได้ เพื่อคนรักสัตว์เลี้ยงเหมือนกัน
ขณะที่ คุณจุฑามณี อาจกล้า เจ้าของร้าน NineShop99 บอกว่า เราไม่ได้เพ้นท์แค่ตัวการ์ตูน แต่"เราสร้างตัวการ์ตูน"ที่มีเรื่องราว ที่ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องจริงของตัวผู้เขียนที่ต้องการจะเปลี่ยนความรู้สึกบางอย่างให้เป็นความสดใส~รอยยิ้มและเสียงหัวเราะ ผ่านเรื่องราวของตัวการ์ตูน ที่เต็มไปด้วยความเชื่อความทรงจำ ความคิดถึง ความรัก โดยจินตนาการด้วยศิลปะการเพ้นท์ ผ่านหมวก เสื้อ รองเท้า และอื่นๆ ที่ล้วนแล้วสามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้
อย่างไรก็ตาม ตลาดนัดออนไลน์ยังมีสินค้ามากมายให้ช็อป ทั้ง เครื่องหนัง เครื่องประดับงานลงยาและจากวัสดุธรรมชาติ สมุดและสติ๊กเกอร์ วาดภาพเหมือน การ์ตูนล้อเลียน ภาพสีน้ำ สีน้ำมัน สีอะคริลิก กระถางต้นไม้สไตล์เก๋ๆ และอื่นๆให้เลือกอย่างละลานตากันเลยทีเดียว
...จากวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลง การปรับตัวของคนไทย มาสู่การทำงาน ซื้อขายผ่านออนไลน์มากยิ่งขึ้น ในอนาคต สศร. มีแนวคิดจะพัฒนาการจำหน่ายสินค้าศิลปะร่วมสมัยออนไลน์สู่ระดับสากล เพื่อให้ประจักษ์ต่อสายตาคนทั่วโลกด้วย