xs
xsm
sm
md
lg

ชีวิตที่ญี่ปุ่นใน "บ้านโพรงกระต่าย"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่าน เคยมีท่านไหนที่มีคนรู้จักเป็นคนไทยไปอยู่ญี่ปุ่นแล้วไปขอพักอาศัยกันบ้างไหมคะ ส่วนใหญ่คงจะตกใจว่าต่างจากที่คิดเสียเป็นคนละเรื่อง หลายคนที่คาดหวังว่าจะได้ประหยัดค่าที่พักโรงแรม พอได้มาเยือนบ้านหรือห้องพักของเพื่อนในญี่ปุ่นแล้ว มีแต่นิ่งอึ้งกันไปเป็นแถบ ๆ คนอเมริกันบางคนเรียกบ้านคนญี่ปุ่นว่าเป็น “โพรงกระต่าย” ค่ะ มันเป็นอย่างไรกันนะ

ฉันจำได้ว่าตอนไปญี่ปุ่นครั้งแรก เห็นบ้านเรือนและร้านรวงต่าง ๆ ดูเล็ก ๆ เหมือนขนาดมินิไซส์ไปหมด บ้านที่ปลูกเป็นหลังตามย่านที่อยู่อาศัยในเมืองและมีรั้วกั้นก็ดูน่าอึดอัด เพราะไม่ค่อยมีพื้นที่ปลูกสวนกันแบบบ้านเราเท่าไหร่ เลยดูเหมือนเอาบ้านทั้งหลังไปยัดใส่ไว้ในรั้วที่แทบจะพอดิบพอดีกับตัวบ้าน ส่วนภายในตัวบ้านนั้นก็มีพื้นที่ใช้สอยแบบพอเพียงสำหรับความต้องการแยกเป็นสัดส่วนเล็ก ๆ คงเพราะอย่างนี้ถึงเรียกว่าเป็น “โพรงกระต่าย” ไม่เหมือนบ้านคนอเมริกันที่มีพื้นที่โล่งกว้างมากกว่า เพดานสูงกว่า ไม่ชวนให้รู้สึกอึดอัด

“บ้าน” แห่งแรกที่ฉันอาศัยหลังแต่งงานเป็นห้องในแมนชั่นแห่งหนึ่งแบบที่เรียกว่า 1DK (D คือ dining room , K คือ kitchen) คือมีห้องนอนหนึ่งห้อง มีฉากไม้เลื่อนได้สำหรับกั้นออกจากพื้นที่อีกส่วนที่ใช้เป็นห้องครัวและนั่งทานข้าวหรือทำอะไรต่อมิอะไร ที่เหลือคือห้องอาบน้ำ/ห้องน้ำ พื้นที่ทั้งหมดประมาณ 16 ตารางเมตรเท่านั้น ถ้าอยู่คนเดียวก็สบาย ๆ แต่ถ้าอยู่สองคนก็ค่อนข้างเล็กแต่พออยู่ได้ พื้นที่จะเดินสบาย ๆ นั้นไม่มี มีแต่พอให้ก้าวได้เท่านั้น

วันหนึ่งเพื่อนคนญี่ปุ่นมาเที่ยว ฉันเลื่อนฉากไม้มาปิดกั้นไว้ไม่ให้เห็นห้องนอน ตอนแรกเพื่อนนึกว่าฉากไม้นั้นคือประตูตู้เสื้อผ้า พอเห็นว่าเปิดแล้วมีอีกห้องหนึ่งก็บอกว่าบ้านฉันกว้างดี ฉันนึก “เอ๋?” ในใจ เธอบอกว่าบ้านเธอนั้นเป็นแบบ 1K คือมีครัวเล็ก ๆ แล้วก็มีห้องเพียงห้องเดียวใช้เป็นห้องนอน ห้องนั่งเล่น และห้องรับประทานอาหารไปในตัว หรือเรียกได้ว่าเป็นห้องแบบสตูดิโอแต่พื้นที่น้อยมาก
ภาพจาก http://jmhafen.com/one-bedroom-apartment-design-ideas
เพื่อนสนิทคนไทยเคยขอมาค้างที่บ้านฉัน เธอเพิ่งเคยมาญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก ฉันบอกเธอตามตรงว่าห้องมันแคบมาก ๆ จะอยู่ไม่สบาย แถมทำอะไรต่อมิอะไรเกิดเสียงก็หนวกหูรบกวนกันแล้ว เธอบอกว่าไม่เป็นไร เธออยู่ได้ ฉันก็เลยพยายามจัดพื้นที่ในห้องนั่งเล่นให้มีที่พอให้เธอนอนได้ ท่ามกลางโต๊ะรับประทานอาหาร ตู้กับข้าว ตู้เย็น โต๊ะทำงาน และชั้นหนังสือ ถ้าให้เทียบแล้วก็คงเหมือนพยายามวางที่นอนไว้ในห้องครัวขนาดทั่วไปตามบ้านในเมืองไทย แต่ในห้องนั้นแออัดไปด้วยโต๊ะรับประทานอาหาร โต๊ะทำงาน และชั้นหนังสือด้วย

เมื่อเธอมาถึง พอก้าวเข้ามาในบ้านเท่านั้นแหละ เธอก็เงียบไปไม่พูดอะไร เธออยู่ประมาณวันสองวัน แล้วเธอก็ตัดสินใจไปเช่าโรงแรมพักแทน เพราะรู้สึกเกรงใจ เพื่อนรุ่นน้องของฉันคนหนึ่งก็เคยเจอแบบเดียวกับฉันเป๊ะ คือบอกเพื่อนที่มาจากเมืองไทยที่ขอมาค้างแล้วว่าห้องเล็กจริงๆ แต่เพื่อนก็ยังมาเพราะไม่คิดว่าจะเล็กขนาดนี้ พอมาเห็นก็ตกใจและเกรงใจจนต้องไปอยู่โรงแรมแทน

เมื่อฉันกับสามีย้ายไปบ้านใหม่ซึ่งเป็นห้องแบบ 2LDK (L คือ living room, D คือ dining room, K คือ kitchen) คือมีห้องนอนสองห้อง ห้องนั่งเล่นและรับประทานข้าวเป็นห้องเดียวกันแต่พื้นที่กว้างขึ้นมาหน่อยพอจะจัดเป็นสัดเป็นส่วนได้ และมีห้องครัวเล็ก ๆ แม้จะมีสองห้องนอนแต่ห้องนอนก็เล็กมาก สำหรับห้องนอนใหญ่นั้นเมื่อวางเตียงควีนไซส์และตู้เสื้อผ้าแล้ว ก็เหลือเพียงพื้นที่เพียงแค่ 1 ตารางเมตรกับทางเดินอันแสนแคบจนเกือบต้องเดินเหมือนปูเท่านั้น ตอนที่ซื้อเตียงนอนมาก็กะว่าจะซื้อฟูกควีนไซส์ด้วย แต่คนขายบอกว่าบ้านญี่ปุ่นทั่วไปนั้นประตูเล็กเกินกว่าจะเอาฟูกไซส์ใหญ่เข้าไปได้ จึงแนะนำให้ซื้อฟูกขนาดคนเดียวสองชิ้นแล้วค่อยมาวางเรียงกันแทนฟูกควีนไซส์จะดีกว่า

พูดถึงเรื่องขนาดของเตียงนอนที่ญี่ปุ่นแล้วจะพบว่าเตียงคู่ที่คนญี่ปุ่นนิยมใช้มักเป็นเตียงขนาดดับเบิล (double) ซึ่งมีความกว้าง 140 ซม. หรือแบบเซมิดับเบิล (semi-double) ซึ่งมีความกว้าง 120 ซม. ห้องพักตามโรงแรมธุรกิจในญี่ปุ่นซึ่งมีพื้นที่จำกัดนั้น ถ้าเป็นเตียงคู่ก็มักเป็นขนาดเซมิดับเบิล เวลานอนต้องนอนเบียดกันจนแขนแทบจะบิด คงเพราะโรงแรมธุรกิจเน้นการรองรับนักธุรกิจที่มาทำงานไกลจากบ้านมากกว่าจะไว้รองรับนักท่องเที่ยวกระมัง

คงเพราะบ้านและห้องหับต่าง ๆ ในญี่ปุ่นโดยเฉพาะในเมืองมีขนาดจำกัด เวลาไปซื้อผ้าปูที่นอนหรือผ้าห่มจากร้านขายเฟอร์นิเจอร์ญี่ปุ่นจะเจอขนาดใหญ่สุดแค่ดับเบิลเท่านั้น ฉันเคยไปหาซื้อผ้าห่มที่ห่มแล้วเย็นสบายในหน้าร้อนจากร้านเฟอร์นิเจอร์ที่ผลิตผ้าห่มชนิดนี้ ก็ไม่เจอขนาดที่พอดีกับเตียงที่บ้าน เลยต้องซื้อเป็นขนาดเตียงเดี่ยวสองผืนแทน

กลับมาเรื่องบ้านกันต่อค่ะ ห้องนอนอีกห้องซึ่งเล็กกว่านั้น พวกฉันใช้เป็นห้องทำงานและเก็บหนังสือ พอมีคนจะมาค้างบ้านเราอีกสองคนก็มาในรูปแบบเดิม คือเห็นห้องแล้วก็นิ่งเงียบ คงเพราะตกใจในความแคบ และพื้นที่ที่จะใช้เป็นที่นอนได้ก็มีเพียงห้องทำงานซึ่งฉันขยับเฟอร์นิเจอร์บางชิ้นออกให้มีที่วางฟูกเป่าลมกับฟูกแบบญี่ปุ่นได้เท่านั้น ดู ๆ ไปแล้วก็ออกจะไม่สะดวกสบายอย่างกับมาเข้าค่ายหรืออยู่ในสถานที่หลบภัยพิกล

บ้านญี่ปุ่นนั้นมักเพดานต่ำด้วย ฉันมีส่วนสูงปานกลาง ถ้าชูมือขึ้นแล้วยืดตัวนิดหนึ่งก็สามารถแตะเพดานถึงได้สบาย ๆ ถ้าแรก ๆ ไม่ชินจะรู้สึกอึดอัดกับบ้านคนญี่ปุ่น แต่อยู่ไปนาน ๆ ก็อยู่ได้ เวลาฉันกลับไปเยี่ยมบ้านที่เมืองไทยก็จะลืมเรื่องบ้านแบบญี่ปุ่นไปเสียสนิท เพราะบ้านที่เมืองไทยโดยทั่วไปก็มีพื้นที่โล่งกว้างกว่ากันมากและเพดานสูงกว่า พอกลับมาบ้านที่ญี่ปุ่นก็รู้สึกอึดอัดเพราะมันทั้งเล็กและแคบ ที่เดินก็แทบไม่มี ชวนให้รู้สึกหดหู่และเหงาจับใจได้เหมือนกัน

แต่คนญี่ปุ่นก็เก่งที่สามารถจัดพื้นที่ใช้สอยที่มีอยู่อย่างจำกัดจำเขี่ยได้อย่างมีประสิทธิภาพ บรรดาผู้ผลิตก็ฉลาดในการผลิตสินค้าที่ช่วยเนรมิตพื้นที่ที่แต่เดิมหาไม่ได้ให้เกิดขึ้นในบัดดล อุปกรณ์เหล่านี้อาจต้องไปหาซื้อตามร้านขายอุปกรณ์เครื่องใช้ทั่วไปในบ้าน หรือบางทีก็เจอในนิตยสารแต่งบ้านสำหรับอยู่คนเดียว ซึ่งส่วนหนึ่งของหนังสือเป็นแคตาล็อกสินค้าสำหรับแต่งบ้าน แต่ราคามักแพงเกินควร

อุปกรณ์หลายอย่างสามารถหาซื้อจากร้านร้อยเยนได้ สำหรับเมืองไทยนั้นร้านไดโซอาจมีภาพลักษณ์เป็น “ร้านขายของญี่ปุ่นราคาถูก” แต่จริง ๆ แล้วร้านร้อยเยนสำหรับคนญี่ปุ่นน่าจะเป็นร้านขายของใช้ในชีวิตประจำวันราคาย่อมเยา” มากกว่า ซึ่งเขาเก่งในการผลิตสินค้าที่อำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันของคนหลายกลุ่มตั้งแต่เด็กไปจนถึงวัยชราเลยทีเดียว แต่บางอย่างก็ไอเดียเหมือนสินค้าที่ขายทางทางโทรทัศน์ สินค้าพวกนี้จะมีการพัฒนาการออกแบบและการใช้สอย มีไอเดียใหม่ ๆ ออกมาเรื่อย ๆ แม่บ้านชาวญี่ปุ่นบางคนที่ฉันรู้จักก็ชอบเดินเล่นร้านร้อยเยนเอาสนุก ๆ เหมือนกัน

สำหรับไอเดียในการเพิ่มหรือตกแต่งพื้นที่ใช้สอยของญี่ปุ่นก็อย่างเช่น ตู้เก็บของบริเวณหน้าห้องอาบน้ำซึ่งมักเป็นตู้แคบ ๆ ความกว้างไม่เกิน 1 ฟุต สูงจากพื้นถึงเพดานนั้น หากต้องการใส่ผ้าขนหนูสำหรับเช็ดหน้าหรือเช็ดมือเพิ่มเข้าไปแต่ไม่มีที่จะวางแล้ว ก็ไปหาที่แขวนผ้าเช็ดมือพลาสติกแบบมีจุกยางที่ปลายทั้งสองด้านมาสองอัน แล้วแปะลงไปที่ด้านในประตูตู้ให้ห่างจากกันพอประมาณในแนวตั้งและขนานกัน จากนั้นก็สามารถม้วนผ้าขนหนูให้เป็นแท่งแล้วเสียบไว้ได้ดังรูป
ภาพจาก http://interiro.com/bath-towel-storage
พื้นที่บริเวณเหนือเครื่องซักผ้าซึ่งเป็นที่โล่งเปล่า ๆ นั้น จะหาชั้นวางของแบบตั้งกับพื้นครอบเหนือเครื่องซักผ้าก็มีขาย
ภาพจาก http://interiro.com/bath-towel-storage
หรือจะเอาเพียงชั้นเพิ่มมาหนึ่งชั้นเหนือเครื่องซักผ้า ก็มีอุปกรณ์ดังกล่าวที่สามารถยึดตัวมันเองไว้กับกำแพงสองด้านได้
ภาพจาก https://www.pinterest.jp
ถ้าอยากจะให้มีม่านกั้นระหว่างพื้นที่ไหน หรือจะทำม่านกั้นให้กับชั้นวางของไม่ให้ดูรกตาก็มีอุปกรณ์ให้ทำเองได้ง่ายเช่นกัน เพียงซื้อราวแบบปรับความสั้นความยาวได้ พร้อมผ้าสำหรับทำเป็นม่าน และห่วงที่เป็นตัวหนีบไปในตัวด้วย เอาห่วงใส่ราว แล้วหนีบผ้าไว้ แล้วปรับความยาวของราวให้เข้ากับพื้นที่ที่ต้องการยึดไว้ แค่นี้ก็เสร็จแล้ว
ภาพจาก https://kurashi-no.jp/I0013458
หรือขนาดตู้เก็บของใต้อ่างล่างมือหรืออ่างล้างจานก็ยังจัดสรรพื้นที่ใช้สอยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ภาพจาก https://www.pinterest.jp
คนญี่ปุ่นเก่งในการเพิ่มพื้นที่ใช้สอยก็จริง แต่ก็มีหลายคนที่มักมีของใช้ส่วนตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย นิตยสารแต่งบ้านสำหรับสาว ๆ มักเป็นรูปห้องที่ดูน่ารัก แต่บางทีก็มีอะไรต่อมิอะไรอัดแน่นเต็มห้องไปหมดแม้ว่าจะจัดเข้าที่เข้าทางดี ถ้ามีของใช้พอจำเป็นแต่แรกก็น่าจะสะดวกที่สุด ดีกว่าจะมานั่งคิดว่าจะเพิ่มพื้นที่อย่างไรให้ “เก็บ” ของได้อีก เพราะของส่วนใหญ่ที่เก็บไว้ก็มักไม่ได้ใช้กัน

ใครรู้จักละครเรื่อง “Nodame Cantabile” คงพอจะจำฉากที่พระเอกเข้าไปในห้องของนางเอกได้ ห้องสุดแสนสกปรกและรกรุงรังอย่างนั้นมีในชีวิตจริงที่ญี่ปุ่นทั้งผู้หญิงและผู้ชาย บางทีรายการโทรทัศน์ก็ไปถ่ายห้องของดาราวัยรุ่นหน้าตาน่ารักมาให้ดู ก็จะเห็นห้องที่เต็มไปด้วยข้าวของปนขยะ มีพื้นที่เหลือเพียงให้นั่งนอนได้นิดเดียวเท่านั้น

ดังนั้นเมื่อมีหนังสือให้ไอเดียแต่งห้องแล้ว ก็มีหนังสือสอนจัดห้องอันรกรุงรังให้เป็นระเบียบวางขายด้วยเหมือนกัน แต่ที่ฉันว่าไอเดียแจ่มที่สุดคงไม่เกินหนังสือของคุณมาริเอะ คอนโดที่สอนให้รู้จักจัดบ้านด้วยการทิ้งข้าวของ เพราะนอกจากจะช่วยให้จัดบ้านง่ายแล้ว ยังแปลกตรงที่ทำให้ความคิดและวิธีการมองโลกพลอยเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นด้วย ชื่อหนังสือเป็นภาษาไทยคือ “ชีวิตดีขึ้นทุก ๆ ด้านด้วยการจัดบ้านเพียงครั้งเดียว” ฉันไม่ได้ค่าโฆษณาหรอกค่ะ แต่เผื่อท่านใดสนใจอยากจะลองหาอ่านดู

ที่เล่ามานี้ก็เป็นเพียงตัวอย่างจากห้องหรือแมนชั่นในเมืองที่มีพื้นที่จำกัด แต่ถ้าเป็นพวกห้องหรูหรือแพงขนาดค่าเช่าเดือนละหลายแสนเยนก็อาจจะกว้างและอยู่สบายกว่านี้ ซึ่งก็คงมีจำนวนไม่มากเท่าห้องราคาปานกลางทั่วไปอย่างที่เล่ามาข้างต้นค่ะ.



"ซาระซัง" สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น