คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่าน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเราคงได้ยินกันบ่อยครั้งว่าคนที่อายุยืนที่สุดในโลกเป็นชาวญี่ปุ่น แม้ปัจจุบันญี่ปุ่นก็ยังคงครองแชมป์อายุยืนที่สุดในกลุ่มประเทศ OECD (สถิติ ณ พ.ศ. 2560) อีกทั้งผู้เฒ่าอายุ 90 ปีขึ้นไปในญี่ปุ่นก็ยังมีจำนวนมากถึงสองล้านคนเลยทีเดียว อะไรกันนะทำให้อายุขัยของคนญี่ปุ่นยาวนานอย่างคงเส้นคงวาเช่นนี้
สาเหตุที่ทำให้คนญี่ปุ่นอายุยืนน่าจะมาจากหลายปัจจัยประกอบเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกินที่ดีต่อสุขภาพ อากาศที่ดี การเมืองที่เสถียร ระบบประกันสุขภาพที่ยอดเยี่ยม ไปจนถึงยีนของคนญี่ปุ่นเองและอื่น ๆ อีกมากมาย
เมื่อดูจากข้อมูลล่าสุดและองค์ประกอบหลาย ๆ อย่างรวมกันแล้ว คิดว่าปัจจัยหลักส่วนหนึ่งที่ทำให้คนญี่ปุ่นอายุยืนน่าจะมาจากการให้ความสำคัญกับอาหารการกิน วิถีชีวิตที่กระฉับกระเฉงของผู้สูงอายุ สุขอนามัยที่ดีเลิศ และระบบประกันสุขภาพที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างมีคุณภาพ มาดูกันดีกว่าค่ะว่ามีรายละเอียดอย่างไรบ้าง
1. อาหารการกิน
คนญี่ปุ่นนิยมรับประทานอาหารตามฤดูกาลไม่ว่าจะเป็นผักผลไม้หรืออาหารทะเล และให้ความสำคัญกับความสดใหม่ของอาหารมาก อีกทั้งอาหารญี่ปุ่นก็มีคุณค่าทางโภชนาการที่หลากหลายในหนึ่งมื้อ มีความหลากหลายของวิธีปรุงอาหาร ไม่ค่อยหนักไปทางใดทางหนึ่งมากนัก เช่น ข้าวสวย ปลาย่าง ซุปเต้าเจี้ยว ผักต้ม ผักดอง สาหร่ายแห้ง เป็นต้น
แต่กระนั้นก็มีบางจังหวัดที่พฤติกรรมการบริโภคอาหารเปลี่ยนไปหรือสุดโต่งไปทางใดทางหนึ่ง ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา ส่งผลต่ออายุขัยตามไปด้วย จังหวัดโอกินาวาและจังหวัดนางาโนะน่าจะเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดทีเดียวค่ะ
ที่ผ่านมาจังหวัดโอกินาวาได้ชื่อมานานว่าเป็นจังหวัดที่คนอายุยืนยาวที่สุดในญี่ปุ่น อายุขัยเฉลี่ยของผู้หญิงชาวโอกินาวาครองอันดับ 1 มาตลอดช่วง 30 ปี คือช่วง พ.ศ. 2518 - 2548 ปัจจุบันหล่นมาอยู่ในอันดับที่ 7 ส่วนผู้ชายชาวโอกินาวาครองอันดับ 1 ในช่วงสั้น ๆ ระหว่าง พ.ศ. 2523 - 2528 ปัจจุบันร่วงระนาวมาอยู่ในอันดับที่ 36 (จากข้อมูลล่าสุด พ.ศ. 2558)
เขาว่าความเปลี่ยนแปลงด้านอาหารการกินของชาวโอกินาวามีส่วนเกี่ยวข้องอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการบริโภคอาหารฝรั่งมากขึ้นหลังสงครามโลก โอกินาวามีจำนวนร้านแฮมเบอร์เกอร์และร้านไก่ทอดต่อประชากร 1 แสนคนมากที่สุดในญี่ปุ่น (คาดว่าคงเป็นเพราะฐานทัพอเมริกันในญี่ปุ่นตั้งอยู่ในโอกินาวา) นอกจากนี้ยังมีการดื่มเหล้ามากขึ้นด้วย ส่งผลให้ชาวโอกินาวามีค่าไขมันในร่างกายสูงสุดในญี่ปุ่นอยู่ช่วงหนึ่งเลยทีเดียว
ในขณะเดียวกันจังหวัดนางาโนะซึ่งประชาชนเคยมีปัญหาสุขภาพ ได้พยายามปรับปรุงด้านอาหารการกินให้ดีขึ้นอย่างจริงจัง เลยขึ้นแท่นตำแหน่งจังหวัดที่มีคนอายุยืนที่สุดในญี่ปุ่นมาตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้โดยไม่ได้เจตนา ดีดโอกินาวาตกกระป๋องไปอย่างกู่ไม่กลับ
เดิมทีผู้ชายชาวนางาโนะเป็นโรคหัวใจ หลอดเลือดสมองอุดตัน และหลอดเลือดสมองโป่งพองกันมาก เชื่อว่าเป็นเพราะการบริโภคเค็มเกินไป โดยเฉพาะผักดองที่นิยมกันในทุกครัวเรือน เนื่องจากฤดูหนาวมักหนาวจัดและหาผักยาก ครั้นพอถึงฤดูหนาวก็พากันนั่งล้อมวงคุยกันไปรับประทานผักดองไปได้ทั้งวี่ทั้งวัน จวบจนกระทั่ง พ.ศ. 2524 ถึงพบว่าจังหวัดนางาโนะมีผู้เป็นโรคหลอดเลือดสมองอุดตันสูงสุดในญี่ปุ่น
นับแต่นั้นมาจังหวัดนางาโนะจึงเริ่มรณรงค์ให้เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค โดยเฉพาะการลดเค็ม ปัจจุบันจังหวัดนางาโนะมีการบริโภคผักมากที่สุดคือ 365 กรัมต่อวัน สูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วประเทศซึ่งอยู่ที่ 280 กรัมต่อวัน เห็นเขาว่าหนึ่งในสาเหตุที่บริโภคผักมากขึ้นเป็นเพราะใส่ผักลงในซุปเต้าเจี้ยวเยอะ ๆ ปริมาณน้ำแกง(ซึ่งเค็ม)จะได้น้อยลง เป็นการลดปริมาณเกลือที่ได้รับไปโดยปริยาย
ความพยายามอย่างต่อเนื่องและเอาจริงนี้ ส่งผลให้อายุขัยของทั้งชายและหญิงในจังหวัดนางาโนะสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งครองอันดับ 1 ใน พ.ศ. 2553 ปัจจุบันอายุขัยเฉลี่ยของผู้หญิงชาวนางาโนะยังคงสูงสุดในญี่ปุ่น ส่วนอายุขัยเฉลี่ยของผู้ชายชาวนางาโนะอยู่ในอันดับ 2 อีกทั้งอัตราการตายในจังหวัดนางาโนะก็ยังต่ำที่สุดในญี่ปุ่นทั้งสำหรับชายและหญิงด้วย (ข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่น ณ พ.ศ. 2558) ส่วนอัตราการตายจากโรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคตับ และนิวมอเนียต่ำก็กว่าค่าเฉลี่ยทั่วประเทศ
ที่เขาว่า “You are what you eat” นี่ท่าจะจริงแท้นะคะ
2. การใช้ชีวิตอย่างกระฉับกระเฉงของผู้สูงอายุ
ฉันเห็นผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นจำนวนมากทำกิจกรรมสันทนาการหรือมีงานอดิเรกกันเป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว ชมธรรมชาติ ดูนิทรรศการ ดูแข่งกีฬา เข้ากลุ่มทำกิจกรรม ทำอาสาสมัคร เดินออกกำลัง ขนาดในฟิตเนสช่วงวันธรรมดาก็ยังเต็มไปด้วยผู้สูงวัย คุณยายแต่งชุดเปรี้ยวแบบอวดหุ่นไร้ไขมันก็มีให้เห็นประปราย
แน่นอนว่าจังหวัดนางาโนะที่มาแรงเรื่องคนอายุยืนที่สุดในญี่ปุ่นก็ไม่พลาดเรื่องนี้เช่นกัน นอกจากจะปรับอาหารการกินให้ดีขึ้นแล้ว ภาครัฐและภาคประชาชนยังช่วยกันส่งเสริมให้คนออกกำลังกันมากขึ้นด้วยค่ะ มีการแนะนำเส้นทางสำหรับเดินเท้ากว่าร้อยเส้นทาง จัดกิจกรรมกลุ่มให้เดินไปด้วยกัน ทำให้แม้กระทั่งในฤดูหนาวก็ยังมีประชาชนขยันเดินกันตามถนนหนทาง สวนสาธารณะ และตามสถานที่เก่าแก่ในดาวน์ทาวน์ นอกจากได้ออกกำลังเพื่อสุขภาพแล้ว ยังได้มีเพื่อนคุย ได้รู้จักคนในชุมชนมากขึ้นด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น จังหวัดนางาโนะยังมีผู้สูงอายุที่ยังคงทำงานมากที่สุดในญี่ปุ่นด้วย โดยมีผู้สูงอายุ 1 ใน 4 ที่ยังทำงานอยู่ พอเกษียณจากบริษัทก็ออกมาทำไร่ทำสวนต่อ
ฉันเคยดูรายการหนึ่งในโทรทัศน์ ไม่ทราบว่าเป็นเรื่องของจังหวัดอะไร เขาให้ผู้สูงอายุช่วยปลูกผักและให้เงินตอบแทนเล็กน้อย พอผักโตได้ที่ก็ส่งขายให้ร้านอาหารในท้องถิ่น ผู้สูงอายุเห็นว่าตัวเองมีรายได้ก็ดีใจ รู้สึกว่าตัวเองยังมีค่าอยู่ และสุขภาพร่างกายก็แข็งแรงจากการได้เคลื่อนไหวร่างกายด้วย ส่วนร้านอาหารก็ได้วัตถุดิบในท้องถิ่น เป็นการส่งเสริมคนให้คนในท้องถิ่นพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ดูน่ารักอบอุ่นดีนะคะ
3. สุขอนามัยที่ดีเลิศ
ญี่ปุ่นขึ้นชื่อลือชาไปทั่วโลกเรื่องการรักษาความสะอาดไปหมดทุกหนทุกแห่ง ทั้งยังคุณภาพอากาศดี ไม่มีรถควันดำ แม่น้ำไม่สกปรกเน่าเหม็น มีการปลูกฝังกันแต่เด็ก ๆ เรื่องความสะอาด เช่น ต้องล้างมือก่อนรับประทานอาหาร หรือกลับจากข้างนอกมาถึงบ้านต้องล้างมือ กลั้วคอ เพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย เป็นหวัดต้องใส่หน้ากากอนามัย เป็นต้น
วิธีล้างมือนี่ไม่ใช่ล้างด้วยสบู่ผิวเผินแล้วจบนะคะ ฉันเห็นลูกเพื่อนอายุ 4 ขวบล้างมือถูสบู่อยู่ เขาเอาเล็บถูที่ฝ่ามือทั้งสองข้าง ล้างซอกนิ้วซอกเล็บอย่างพิถีพิถัน พอชมเปาะเข้าให้ เด็กน้อยก็พูดซื่อ ๆ ว่า “ใคร ๆ เขาก็ล้างมือแบบนี้เป็นทั้งนั้นแหละ” ทำเอาคนชมหน้าหงายไปเลยค่ะ
ฉันเชื่อว่าการรักษาความสะอาดของบ้านเมือง และการปลูกฝังให้ประชาชนเคยชินกับการรักษาความสะอาดในชีวิตประจำวันอย่างนี้ มีส่วนสำคัญมากที่ทำให้ประชาชนสุขภาพดี อีกทั้งยังเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคได้ดีมาก มีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการรักษาเมื่อเจ็บป่วยหรือแก้ไขปัญหาที่เกิดจากปล่อยให้บ้านเมืองสกปรกอีก
4. ระบบประกันสุขภาพที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงการแพทย์ที่เจริญ
ระบบประกันสุขภาพในญี่ปุ่นครอบคลุมประชาชนโดยเท่าเทียมกัน โดยมีค่ารักษาและค่ายาที่ต่ำมาก คือจ่ายเพียงแค่ 30% เท่านั้น (แต่ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันทุกเดือน มากน้อยแล้วแต่ฐานเงินเดือนของเรา) รวมทั้งการแพทย์ที่เจริญก็ทำให้ประชาชนได้รับการรักษาอย่างมีคุณภาพด้วย
อีกอย่างคือญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการป้องกันโรคมาก เหตุผลหนึ่งก็เพราะอยากให้ประชาชนมีสุขภาพดี จะได้ไม่ต้องเปลืองงบประมาณของชาติที่หมดไปกับค่ารักษา รัฐจึงมักส่งเสริมให้ประชาชนตรวจสุขภาพทุกปี อย่างที่ทำงานของสามีฉันก็มีหมอมาตรวจสุขภาพฟรีถึงที่ทำงานทุกปี ตัวฉันเองก็เคยได้รับจดหมายจากระบบประกันสุขภาพว่าสามารถตรวจมะเร็งบางชนิดได้ฟรีในช่วงเวลาใดและที่คลินิกใดบ้าง เป็นต้น
เชื่อว่าปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมานี้น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญต่อเบื้องหลังความอายุยืนของคนญี่ปุ่น ยิ่งชาวนางาโนะเดี๋ยวนี้สุขภาพดีขึ้นจนกลายเป็นจังหวัดที่มีค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลต่อหัวต่ำสุดในญี่ปุ่น ช่วยประหยัดงบประมาณของรัฐไปได้มากทีเดียว
เราสามารถนำวิธีเหล่านี้ไปปรับใช้ได้หลายอย่างนะคะ เช่นการปรับเปลี่ยนอาหารการกินให้ถนอมสุขภาพมากขึ้น และใช้ชีวิตให้เอื้อต่อการมีสุขภาพดีแบบที่ชาวนางาโนะทำ แต่ต้องเอาจริงและทำต่อเนื่อง อาจใช้เวลาบ้างกว่าจะคุ้นชินกับการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต แต่คุ้มกับการมีชีวิตยืนยาวอย่างมีสุขภาพดี แถมยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในอนาคตไปได้อีกมาก
ขอให้เพื่อนผู้อ่านท่ีรักทุกท่านมีชีวิตยืนยาวอย่างมีสุขภาพดีเหมือนชาวนางาโนะด้วยการดูแลสุขภาพตนเองนะคะ แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.
"ซาระซัง" สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.