คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่าน วันก่อนฉันได้ยินคนเอ่ยถึงร้านค้าบางแห่งที่ระบุว่า “ไม่ได้ทำการค้าเพื่อแสวงหากำไรเป็นหลัก” แล้วเขาก็สงสัยว่ามีด้วยหรือร้านที่ทำการค้าแล้วไม่หวังกำไร ฉันนึกไปถึงร้านอาหารบุฟเฟ่ต์ราคาถูกแสนถูกแห่งหนึ่งในญี่ปุ่นที่เคยดูในรายการโทรทัศน์ จึงตอบอย่างมั่นใจว่า “มีซิ!”
ร้านอาหารที่ว่าคือร้าน “ฮัตจังช้อป” เป็นร้านอาหารแบบบ้าน ๆ ในจังหวัดกุนมะ คุณยายทามุระ ฮัตสึเอะ หรือ “ฮัตจัง” วัย 85 ปีเป็นเจ้าของและทำอาหารทุกอย่างเพียงคนเดียว ลูกค้าสามารถรับประทานได้ไม่อั้น ไม่จำกัดเวลา ด้วยสนนราคาเพียง 500 เยนเท่านั้น ส่วนเด็กเล็กฟรี นับว่าเป็นราคาที่ถูกมากสำหรับคนญี่ปุ่น
ฉันเคยไปร้านอาหารแบบบุฟเฟ่ต์ที่มีเมนูบ้าน ๆ อยู่ครั้งหนึ่ง แต่ไม่ค่อยมีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันมากนัก ยังคิดหัวละประมาณ 1,500 เยน เมื่อเทียบกับ“ฮัตจังช้อป” ที่ “จัดเต็ม” แล้ว อาจเรียกได้ว่า “ฮัตจังช้อป” เป็นกึ่งโรงทานเสียมากกว่าจะเรียกว่าเป็นร้านอาหาร
ทุกเช้าคุณยายฮัตจังจะใช้ข้าวสาร 60 ถ้วยมาหุงข้าว และเตรียมอาหารสำหรับ 100 ที่ อาหารแต่ละวันมีประมาณ 15 ชนิด ไม่ซ้ำกันในแต่ละวัน คุณยายจะเลือกอาหารตามฤดูกาลมาทำ ทั้งปลาและผัก จึงได้ของที่สดอร่อย อีกทั้งยังเป็นรสชาติแบบทำกินกันเองในครอบครัว ลูกค้ามีทั้งขาประจำในท้องถิ่นและขาจรทั้งในและต่างประเทศที่ได้ยินกิตติศัพท์ของคุณยาย ก็จะมารอคิวกันยาวตั้งแต่ก่อนร้านเปิด พอเปิดปุ๊บ ที่นั่งก็เต็มปั๊บ และอาหารก็หมดภายในเวลาไม่นาน
บรรยากาศในร้านจะมีความเป็นกันเองมาก ไม่ว่าลูกค้าจะมาจากถิ่นไหนหรืออายุเท่าใดก็ไม่รู้สึกแปลกแยก คงเพราะความน่ารักและอัธยาศัยดีของคุณยายเองที่ดูแลลูกค้าในร้านเหมือนเป็นคนในครอบครัว เวลาคุณยายเพิ่งทำอาหารอะไรใหม่ ๆ มาเพิ่มปุ๊บก็จะถามว่าใครจะเอาไหม แล้วเดินไปคีบแจกให้ถึงโต๊ะ ประกอบกับมีลูกค้าประจำที่แวะมาเรื่อย ๆ ซึ่งจะคุยกับคุณยายด้วยเรื่องเม้าท์ชาวบ้านบ้าง เรื่องชวนสรวลเสเฮฮาบ้าง ทำให้ลูกค้าคนอื่น ๆ พลอยผสมโรงในบทสนทนากันอย่างออกรส นอกจากจะได้รับประทานอาหารอร่อยราคาถูกมากแล้ว ยังได้รับความสนุกสนานและความรู้สึกดี ๆ กลับไปด้วย ทำให้มาแล้วก็อยากจะมาอีก
ที่สำคัญในจังหวัดกุนมะซึ่งมีผู้สูงอายุหรือคนที่อาศัยเพียงลำพังเพิ่มขึ้นนั้น “ฮัตจังช้อป” ยังเป็นสถานที่สำคัญที่ให้โอกาสคุณตาคุณยายหรือคนที่อยู่คนเดียวได้อาศัยพบปะพูดคุยกับคนอื่น ๆ ไม่ให้เหงาด้วย บางคนมารับประทานอาหารเที่ยงแต่อยู่คุยยาวไปจนถึงเย็นก็มี บางคนบอกว่าในร้านมีบรรยากาศเสมือนครอบครัวขนาดใหญ่ที่ทุกคนอยู่กันพร้อมหน้า นับว่าเป็นร้านอาหารแสนพิเศษที่ให้ความอบอุ่นใจกับผู้มาเยือนจริง ๆ เลยนะคะ
อันที่จริงคุณยายฮัตจังเธอไม่ได้กำไรจากการเปิดร้าน อีกทั้งยังขาดทุนเดือนละประมาณ 70,000 เยน ซึ่งนับว่าสูงพอ ๆ กับอัตราค่าเช่าอะพาร์ตเมนต์สำหรับหนึ่งคนในกรุงโตเกียวต่อเดือนโดยเฉลี่ยเลยทีเดียว แต่คุณยายฮัตจังก็นำเงินบำนาญมาโปะส่วนที่ขาดทุนนี้
ร้านของคุณยายฮัตจังอาจจะต่างจากร้านอาหารอื่น ๆ ตรงที่ร้านอาหารอื่นนั้นยิ่งไปอุดหนุนยิ่งมีรายได้ แต่ร้านของคุณยายฮัตจังนั้น ยิ่งไปอุดหนุน ยิ่งขาดทุน เพราะหลาย ๆ ครั้งคุณยายก็ไม่คิดสตางค์คนที่มาจากจังหวัดอื่น หรือบางทีก็คิดค่าอาหารเด็กโตแค่สองร้อยเยน หรือหากลูกค้าบางคนเข้าร้านมาตอนที่อาหารหมดไปหลายอย่างแล้ว คุณยายก็จะคิดเงินถูกลงอีก บางทีไม่เอาเงินก็มี แต่แม้จะขาดทุนอย่างไร คุณยายก็ไม่ยอมขึ้นราคา และยังคงทำอาหารด้วยเนื้อปลา เนื้อสัตว์ และไข่แบบจัดเต็มอยู่ในเมนู
หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมคุณยายฮัตจังถึงมาเปิดร้านในวัยที่ใครต่อใครเขารามือจากงานประจำ มาจับจ่ายข้าวของ และทำอาหารให้คนจำนวนนับร้อยด้วยตัวคนเดียว ที่สำคัญคือขาดทุนอย่างหนักทุกเดือนเช่นนี้
เธอตอบง่าย ๆ ว่าเธอ "ไม่ได้ทำเพื่อเงิน" แต่อยากทำในสิ่งที่ให้ความสุขแก่คนอื่นเพื่อตอบแทนที่เคยได้รับน้ำใจจากคนอื่นมาก่อนก็เท่านั้นเอง “ไหน ๆ ก็เอาเงินไปใช้โลกหน้าไม่ได้อยู่แล้ว แล้วยายก็สนุกกับการได้เห็นใคร ๆ มีความสุขด้วย” คุณยายกล่าว
คุณยายฮัตจังใช้ชีวิตอย่างขัดสนมาตั้งแต่เด็ก ไม่มีโอกาสได้ไปโรงเรียน ต้องทำงานหาเงินตั้งแต่อายุแค่สิบขวบ ไม่ว่าจะไปเลี้ยงเด็ก ขายปลา ทอผ้า เธอทำงานหนักเสียจนบางคราวก็เผลอหลับไปในห้องน้ำ ตลอดเวลาที่เธอสู้ชีวิตมาอย่างยากลำบากและไม่ได้เรียนหนังสือนั้น เธอมีความใฝ่ฝันว่าอยากจะไป “ทัศนศึกษา” กับเขาบ้าง
พออายุได้ 57 ปี เธอก็ออกเดินทางไปทั่วประเทศญี่ปุ่นด้วยรถเวสป้าคู่ใจ ระหว่าง “ทัศนศึกษา” อยู่ตามลำพังก็มีช่วงที่ประสบความลำบากขึ้นมา แต่ก็ได้พบเจอผู้คนที่อ่อนโยนและมีน้ำใจแก่เธอ กระทั่งให้ที่พักอาศัย ความซาบซึ้งในน้ำใจและรู้บุญคุณคนในครั้งนั้น ทำให้เธอคิดตอบแทนด้วยการทำสิ่งที่จะสร้างความสุขให้แก่ผู้อื่นต่อไป จึงหันมาเปิดร้านอาหารบุฟเฟ่ต์ 500 เยนเมื่ออายุได้ 62 ปี
วัยขนาดนี้เป็นวัยที่ใครต่อใครพากันนับถอยหลังสู่การเกษียณ แต่คุณยายฮัตจังกลับเพิ่งเริ่มต้นทำงานใหญ่เพื่อผู้อื่นอย่างขยันขันแข็งเพียงลำพัง ไม่ได้มองว่าวัยวุฒิ กำลังกาย และการเงินเป็นข้อจำกัดใด ๆ เลย
คุณยายฮัตจังยังได้สอนให้เรารู้ว่า ความลำบากในชีวิตนั้นมีประโยชน์และคุณค่ามากแค่ไหน สามารถนำมาเป็นเชื้อเพลิงผลักดันให้สู้ชีวิตและก้าวไปข้างหน้า หล่อหลอมให้เป็นคนแกร่ง อดทน รู้คุณคน และเห็นใจคนอื่นเป็น
นอกจากคุณยายฮัตจังจะไม่มีความคิดเอาเข้าตัวแล้ว ยังไม่มีความห่วงกังวลต่ออนาคตด้วย เธอบอกว่า “ยายเตรียมหลุมศพ (ให้ตัวเอง)ไว้แล้ว ไม่มีอะไรให้กังวล เงินก็ไม่มี ไม่มีอะไรเลย ถ้าตายไปตอนนี้ก็มีความสุขที่สุดแล้วละ” นับว่าคุณยายตั้งใจจะเป็นผู้ “ให้” จนวินาทีสุดท้าย มีความสุขกับการใช้ชีวิตแบบวันต่อวันอย่างมีความหมาย ทั้งยังได้สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนอีกมากมายเลยนะคะ
แม้จะเคยยากจนมาก่อน แต่คุณยายก็ไม่ได้หวังความร่ำรวยหรือความสุขสบายในบั้นปลาย เธอกลับมองว่าตายไปก็เอาเงินไปใช้อะไรไม่ได้ สู้เอามาทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นให้สุขใจดีกว่า เธอถึงได้เป็นฝ่ายหยิบยื่นน้ำใจให้แก่ผู้อื่นโดยไม่เลือกหน้า ไม่ได้ห่วงเรื่องได้เปรียบเสียเปรียบ มองอย่างนี้แล้วรู้สึกว่าเธอร่ำรวยน้ำใจอย่างเปี่ยมล้น และนั่นเองก็คงเป็นที่มาแห่งความสุขของคุณยายฮัตจัง
คนบางส่วนมองว่าตนเอง “ขาด” จึงพยายามจะ “เอาเข้าตัว” ให้มากที่สุด ด้วยหวังว่าจะเติมเต็มความขาดนั้นได้ แต่ยิ่งนานวันจิตใจก็ยิ่งแห้งแล้งลงเรื่อย ๆ จึงเป็นเหตุให้ไม่มีความสุขจริง ๆ สักที
ในทางกลับกัน ถ้ามองว่าความ “ขาด” ที่ตนมีก็มีอยู่ในผู้อื่นเช่นกัน แล้วคิดแบ่งปันเจือจานคนอื่นให้เป็นสุข ใจของผู้ให้เองก็เป็นสุข ยิ่งนานวันใจก็อิ่มเอิบ เป็นที่พึ่งอันอบอุ่นให้ทั้งตนเองและผู้อื่นได้ ดังเช่นคุณยายฮัตจังผู้นี้
ถ้าเอาเรื่องของคุณยายฮัตจังมาเป็นแรงบันดาลใจว่า “นับต่อแต่นี้ไปเราจะสามารถทำอะไรให้คนอื่นมีความสุขได้บ้างในแต่ละวัน” โดยเริ่มจากเรื่องง่าย ๆ ใกล้ตัวที่ทำได้และทำอย่างต่อเนื่อง บางทีวันหนึ่งเราอาจจะพบความหมายของชีวิต และเข้าใจขึ้นมาอย่างแท้จริงก็ได้นะคะว่า “ยิ่งให้ก็ยิ่งมีความสุขแบบคุณยายฮัตจัง” เป็นอย่างไร
💗💗💗💗💗
ป.ล. ตั้งแต่สัปดาห์หน้า “มิกิจัง” ผู้ใจดีจะมาช่วยเขียนแทนฉันเป็นเวลาสามสัปดาห์ ขอฝากเธอไว้ในอ้อมใจของเพื่อนผู้อ่านด้วยนะคะ
แล้วพบกันค่ะ
"ซาระซัง" สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.