คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"
สวัสดีค่ะ หลายปีมานี้มีคำภาษาญี่ปุ่นคำหนึ่งที่เริ่มเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในประเทศไทย ถึงขนาดที่มีหนังสือ การอบรมสัมมนา และพูดถึงในหลายวงการ นั่นคือคำว่า “อิคิไก”
“อิคิไก” ถูกกล่าวถึงว่าเป็นการตามหาความหมายของการมีชีวิต, วิถีชีวิตและการทำงานแบบญี่ปุ่น, ศาสตร์แห่งความสุขของคนญี่ปุ่น จนถึงเคล็ดลับที่ทำให้คนญี่ปุ่นมีอายุยืน แต่หลายคนอาจไม่รู้ว่า ผู้ที่ทำให้ “อิคิไก” ไม่ใช่ชาวญี่ปุ่น แต่เป็นฝรั่ง !!
พจนานุกรมภาษาญี่ปุ่นให้ความหมาย “อิคิไก” 生きがい ว่า ความรู้สึกของคุณค่าทางจิตวิญญาณ หรือจุดประสงค์ที่ช่วยให้มีชีวิตอยู่ต่อไป
แนวคิดนี้เริ่มแพร่หลายไปทั่วโลกจากนักเขียนชาวสเปน 2 คนเขียนหนังสือเล่มหนึ่งเกี่ยวกับอิคิไกขึ้นมา หนึ่งในนั้นคิอ เอกตอร์ การ์เซีย เขาเดินทางมาที่กรุงโตเกียวเมื่อปี 2549 ทำงานเป็นวิศวกรในบริษัทไอทีแห่งหนึ่ง เขาทำงานหนักมากตั้งแต่ช่วงเช้าจนถึงกลางคืน ทำให้เขาเริ่มไม่มีความสุขในวิถีชีวิตของตัวเอง และคิดว่าทำไมมาอยู่ที่นี่ ? ทำไมถึงมีชีวิตอยู่ ? ชีวิตคืออะไร ?
ในช่วงเวลานั้น เขาได้รู้จักหมู่บ้านโองิมิ ที่อยู่ทางตอนเหนือของจังหวัดโอกินาวา ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ชาวบ้านจำนวนมากมีอายุยืนยาวอย่างยิ่ง เมื่อเขาไปเยือนหมู่บ้านที่มีประชากรราว 3,000 คนนี้ เขาพบว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข แม้แต่คนที่มีอายุกว่า 80 ปีก็ยังทำงานที่ทุ่งนาและช่วยเหลือกัน คุณการ์เซียสงสัยว่า อะไรที่อยู่เบื้องหลังความสุขของผู้สูงอายุเหล่านี้ ?
เขาพบว่า ผู้คนที่นั่นใช้ชีวิตด้วยรอยยิ้ม ชาวบ้านช่วยเหลือกันและกัน และทุกคนเชื่อมั่นว่าเพื่อนบ้านจะคอยช่วยเหลือ เพื่อทำให้ทุกอย่างลุล่วงลงด้วยดี พวกเขาจึงมีความสุข
คุณการ์เซียได้ประมวลสิ่งที่เขาได้ไปพบที่หมู่บ้านโองิมิ ออกมาเป็นหลักการใช้ชีวิตอย่างสมดุลว่าเป็นจุดร่วมของปัจจัยทั้ง 4 คือ มีรายได้, เป็นประโยชน์ต่อสังคม, ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ และ ได้ทำในสิ่งที่ถนัด
คุณการ์เซียและนักเขียนอีกคนหนึ่งได้เขียนหนังสือชื่อ “อิคิไก” ขึ้นมา โดยอิงจากประสบการณ์ที่หมู่บ้านโองิมิ จนเป็นหนังสือขายดีและมีการตีพิมพ์ในกว่า 40 ประเทศ
เขาบอกว่า ภาษาสเปนและภาษาอังกฤษไม่มีคำที่ตรงกับคำว่าอิคิไก ภาษาอังกฤษแปลคำนี้ว่า ‘meaning of life’ หรือ ความหมายของชีวิต แต่การแปลแบบนี้ไม่ตรงเท่าไหร่ เพราะอิคิไกมีความหมายที่ลึกซึ้งมากกว่านั้น
อิคิไกทำให้ผู้คนรู้ความหมายในการใช้ชีวิต การทำงาน และสร้างความสุขมาสู่ชีวิต คุณฟลอเรียน ลาฟานี บรรณาธิการของหนังสือเล่มนี้อธิบายว่า สังคมตะวันตกกำลังเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก ผู้คนจะคิดเกี่ยวกับวันนี้และวันพรุ่งนี้เท่านั้น หนังสือเล่มนี้ได้ส่งสารที่มีพลังอย่างยิ่งเกี่ยวกับความหมายของชีวิต โดยเฉพาะในยุโรป ที่กำลังผู้คนรู้สึกถึงความไม่มั่นคง จากเศรษฐกิจที่ซบเซา และความกดดันทางสังคมอื่น ๆ
ด้านผู้อ่านหลายคนบอกว่า หนังสือเล่มนี้ทำให้เขาคิดอย่างลึกซึ้งมากขึ้น ไม่เพียงแค่เรื่องการใช้ชีวิตและการทำงาน แต่ยังรวมถึงความหมายของรักแท้ ความถนัดในบางสิ่ง และการทำประโยชน์ต่อสังคม บางคนได้รู้ว่าตัวเองสามารถทำอะไรได้อีกมากมาย โดยที่ไม่เคยรู้มาก่อน
“อิคิไก” คือคำที่ชาวญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยมองว่าเป็นคำธรรมดา ๆ แต่ชาวต่างชาติที่มีวัฒนธรรมแตกต่างจากญี่ปุ่นมาก ได้มีคำนี้ไปใช้ในความหมายใหม่ และสร้างเป็นแนวคิดจนเป็นที่รู้จักทั่วโลก
แต่ที่น่าขมขื่นก็คือชาวญี่ปุ่นจำนวนมากไม่สามารถใช้ชีวิตตาม “อิคิไก” ได้ ฉันนึกถึงเพลงเก่าเพลงหนึ่งชิ่อว่า “อิคิไกของผู้หญิง” 女の生きがい ผลงานของเติ้ง ลี่จวิน (ชาวญี่ปุ่นรู้จักเธอในชื่อ เทเรซา เต็ง) นักร้องชาวไต้หวันที่มีเพลงภาษาญี่ปุ่นมากมาย เพลงนี้พูดถึงผู้หญิงที่เฝ้ารอผู้ชาย ทำกับข้าว ซื้อเหล้าไว้รอ เฝ้าคอยเสียงรองเท้ากลับมาที่บ้าน ถ้าดูมิวสิกวิดีโอก็จะยิ่งรู้สึกว่า “อิคิไกของผู้หญิง” มีแค่นี้จริงหรือ ?
ในญี่ปุ่น เรามักเห็น “ซาลารี่มัง” หรือ “มนุษย์เงินเดือน” ที่อมทุกข์เต็มไปหมด คนญี่ปุ่นหลายคนทำงานไปเรื่อย ๆ จนเกษียณ แล้วก็ใช้เงินบำนาญยามชรา ถ้าเทียบตามปัจจัยทั้ง 4 ของอิคิไกแล้ว คนทำงานส่วนมากแน่นอนว่ามีรายได้ และเป็นประโยชน์ต่อสังคม แต่คนมากมายใช้เวลาทั้งชีวิต ก็ไม่ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ และก็อาจไม่รู้ว่าสิ่งที่ถนัดคืออะไร
แต่ทว่าต้องขอบคุณเทคโนโลยีดิสรับชั่นและโลกาภิวัตร ที่ทำให้สังคมอนุรักษ์ของญี่ปุ่นจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง ทุกวันนี้ ชาวญี่ปุ่นมีทางเลือกมากขึ้นในการค้นหา “อิคิไก” ของตัวเอง บางคนยอมทิ้งงานเงินเดือนสูงๆ เพื่อใช้ชีวิตอย่างที่ตนต้องการ บางคนก็ไปค้นหาตัวเองในต่างแดน หนุ่มสาวญี่ปุ่นกล้าหาญที่จะเลือกเส้นทางชีวิตของตน
โลกเปลี่ยนไป ใจเปลี่ยนตาม! ดิฉันหวังว่าผู้อ่านจะได้พบ “อิคิไก” และมีชีวิตที่มีความหมายยิ่งขึ้นนะคะ แล้วพบกันใหม่ค่ะ.
❤️ ช่วง 2 สัปดาห์นี้ "ซาระซัง" ไปเยี่ยมครอบครัวที่ประเทศไทย เธอจึงให้ "มิกิจัง" สาวญี่ปุ่นที่รักประเทศไทยมาช่วยเล่าเรื่องญี่ปุ่นแทนชั่วคราวนะคะ ขอฝากเนื้อฝากตัวด้วยค่ะ ❤️