คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"
สวัสดีปีใหม่ค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่าน 😊 ช่วงวันหยุดที่ผ่านมาเป็นอย่างไรกันบ้าง ทำอะไร รับประทานอะไรกันเป็นพิเศษบ้างหรือเปล่าคะ ที่ญี่ปุ่นนั้นมีวัฒนธรรมการเฉลิมฉลองปีใหม่ที่เป็นแบบแผน ฉันอธิบายเรื่องของตกแต่งบ้านช่วงปีใหม่ไปแล้วเมื่อสัปดาห์ก่อน คราวนี้มาคุยกันเรื่อง “โอะเซจิ”(お節)อาหารปีใหม่สุดหรูชวนตื่นตาตื่นใจกันบ้างดีกว่า
ทำไมคนญี่ปุ่นเรียกอาหารปีใหม่ว่า “โอะเซจิ”? คำนี้มีความหมายย้อนไปไกลถึงยุคโบราณทีเดียวค่ะ “เซะจิ”(節)เป็นงานประจำฤดูกาลที่เฉลิมฉลองกันทุกปีในวังของสมเด็จพระจักรพรรดิ มีด้วยกันทั้งหมดห้างาน ปีใหม่ก็เป็นหนึ่งในงานประจำที่ว่านี้ด้วย
แม้ว่าเดิมทีโอะเซจิจะเป็นอาหารที่ตระเตรียมกันเองในครอบครัว แต่เดี๋ยวนี้สามารถสั่งจองโอะเซจิจากห้างสรรพสินค้าหรือร้านสะดวกซื้อได้ด้วย จึงนับเป็นความสะดวกสบายอย่างยิ่ง และแม่บ้านไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยกับการทำอาหารจำนวนมากให้ทุกคนในครอบครัว โดยเฉพาะบ้านที่มีลูกหลานมารวมตัวกันพร้อมหน้า
แต่ราคาของความสะดวกสบายนี้ก็ปรากฏอยู่ในราคาของโอะเซจิด้วยเช่นกัน ที่จัดว่าดีหน่อยราคาจะอยู่ที่ประมาณหลักหมื่นเยนขึ้นไปจนถึงหลักแสนเยน แล้วแต่ประเภทของอาหารและปริมาณ บางคนก็ว่าไม่คุ้มราคา เพราะราคานั้นเท่ากับไปรับประทานอาหารดี ๆ ตามภัตตาคารได้ แต่คนจำนวนมากก็ยังนิยมโอะเซจิแบบสั่งจองอยู่ดี คงเพราะถือว่าปีละหนเดียว และแลกกับความสะดวกสบายกระมังคะ
โดยธรรมเนียมแล้วโอะเซจิจะทำเป็นกล่องซ้อนกัน 4 ชั้น แต่ด้วยความที่ครอบครัวยุคนี้มีสมาชิกลดลงจากเดิมมาก จึงมักเป็นกล่องขนาด 1-3 ชั้น ห่อไว้ด้วยกระดาษสีสวยที่ทำเลียนแบบฟุโรชิกิ (風呂敷 - ผ้าสำหรับห่อของและหิ้วได้แบบญี่ปุ่นสมัยก่อน) เมื่อแกะห่อออกจะเห็นกระดาษพับที่ระบุว่าในโอะเซจิชุดนี้ประกอบไปด้วยอาหารอะไรบ้าง และมีตะเกียบที่บรรจุในกระดาษมงคลสวยงาม(อิไวบาฉิ - 祝箸)มาให้ด้วย
ตอนที่น่าตื่นเต้นที่สุดก็คือตอนเปิดฝากล่องอาหาร แล้วยกกล่องแต่ละชั้นออกมาวางเรียงกันนี่แหละค่ะ แม้แต่ละปีก็มักเป็นอาหารหน้าตาคล้าย ๆ กันเพราะตามธรรมเนียมจะกำหนดไว้แล้วว่าต้องมีอะไรบ้าง (เดี๋ยวจะเล่าต่อไป) แต่ก็จะมีรายละเอียดของอาหารอื่น ๆ รวมทั้งความประณีตบรรจงในการบรรจุอาหารลงเต็มช่องสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ แต่ละช่อง ที่ชวนให้รู้สึกทึ่งและตื่นตาตื่นใจไปเสียทุกที
ตามธรรมเนียมแล้วเขาว่าโอะเซจิจะรับประทานต่อกันสามวันช่วงปีใหม่ และคงเพื่อให้แม่บ้านได้หยุดพัก จึงไม่ให้ใช้เครื่องครัวในการทำอาหารตลอดสามวันนี้เว้นแต่จะทำโอะโซนิ (お雑煮 - น้ำแกงที่รับประทานตอนปีใหม่) ดังนั้นแม้อาจจะตื่นตาตื่นใจกับอาหารปีใหม่ในวันแรก แต่พอวันต่อ ๆ ไปก็อาจจะเริ่มเบื่อเพราะต้องรับประทานอย่างนั้นต่อไปอีกจนกว่าจะหมด แม้บางครัวเรือนที่ไม่ได้เคร่งว่าห้ามทำกับข้าวอาจจะมีการทำอาหารอื่น ๆ เสริมเข้ามา หรือออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านบ้างก็ตาม
ทีนี้เรามาดูกันดีกว่าว่าอาหารมงคลที่ต้องมีในโอะเซจิมีอะไรบ้าง แต่ละชนิดมีความหมายอย่างไร
1. คุโระมาเมะ (黒豆 - ถั่วดำ) - เป็นถั่วดำเชื่อมที่ต้มจนนิ่มได้ที่ คำว่า “มาเมะ” ซึ่งหมายถึง “ถั่ว” นั้น เดิมทีมีความหมายว่า “แข็งแรง” “สุขภาพดี” จึงนำมาใช้ในความหมายว่า “ทำงานได้อย่างแข็งแรงตลอดปี”
2. คาซุโนะโกะ (数の子 - ไข่ปลาเฮอร์ริ่ง) - ไข่ปลาชนิดนี้เป็นแท่งแข็งมีความกรอบ ไข่ไม่หลุดออกจากกันเหมือนไข่ปลาแซลมอน หรือไข่ปลาคอดที่นิยมทำ “เม็นไตโกะ” (ไข่ปลาปรุงรสเค็ม) “คาซุ”(数)แปลว่า “จำนวน” และ “โกะ”(子)แปลว่า “เด็ก,ลูก” จึงใช้ในความหมายว่ามีลูกหลานมาก
3. ทะซึคุหริ (田作り - ปลาซาร์ดีนแห้งปรุงรส) - สมัยก่อนนิยมใช้ปลาพวกนี้เป็นปุ๋ยในนาข้าว จึงใช้ในความหมายว่าขอให้ปลูกข้าวได้อุดมสมบูรณ์
4. คมบุ (昆布 - สาหร่ายชนิดหนึ่ง) - เสียงคล้ายคำว่า “โคบุ” ใน “โยโรโคบุ”(喜ぶ)ซึ่งมีความหมายว่า “ยินดี” จึงเป็นเมนูหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในโอะเซจิ โดยมักทำเป็นม้วนห่อไส้อาหารไว้ภายในเป็นคำเล็ก ๆ
5. เอบิ (海老 - กุ้ง) - เนื่องจากกุ้งนั้นมีหนวดและเมื่อสุกแล้วก็ตัวขดเป็นวง จึงใช้ในความหมายว่าแม้จะแก่ (จนหนวดยาวหลังค่อม) แล้ว ก็ยังใช้ชีวิตอยู่อย่างแข็งแรง
6. คุริคินตง (栗きんとん - เกาลัดเชื่อมบด) - เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงเงินทอง สื่อความหมายถึงโชคลาภในด้านการเงิน
7. ดะเทมากิ (伊達巻 - ไข่ม้วน) - ทำจากไข่ผสมปลาหรือกุ้งบดแล้วปรุงรส นำไปย่างแล้วม้วน ความหมายของดะเทมากินั้นดูเหมือนจะมีหลายตำรา บ้างก็ว่าสีเหลืองอร่ามนั้นดูเป็นของสูงเหมาะถวายแด่เทพเจ้า บ้างก็ว่ารูปร่างเหมือนสาส์นในสมัยโบราณ จึงมีความหมายว่าเพื่อความรุ่งเรืองทางวัฒนธรรม บ้างก็ว่าเพื่อให้มีความรอบรู้เพิ่มพูน เป็นต้น
8. คามาโบโกะ (かまぼこ- ลูกชิ้นปลาญี่ปุ่น) - คามาโบโกะมีกลิ่นและรสชาติคล้ายลูกชิ้นปลาบ้านเรา เวลาซื้อจากซูเปอร์มาร์เก็ตจะมาเป็นแท่งยาว เมื่อจะรับประทานจึงค่อยเอามาหั่นเป็นแว่น ในอาหารโอะเซจิจะใช้คามาโบโกะสีขาวและชมพู (แดง) เพราะเป็นสีที่ใช้เวลาเฉลิมฉลอง สีแดงเป็นสัญลักษณ์หมายถึงความยินดี สีขาวเป็นสัญลักษณ์หมายถึงเทพเจ้า อีกทั้งรูปร่างคล้ายครึ่งวงกลมก็ยังเปรียบเสมือนว่าเป็นพระอาทิตย์ขึ้นในวันปีใหม่ด้วย
9. ทาตากิโกะโบ (たたき牛蒡 - รากไม้ชนิดหนึ่งปรุงรส) - เนื่องจากรากไม้ชนิดนี้มักฝังอยู่ลึกลงไปในดิน จึงสื่อความหมายว่ามีครอบครัวที่มั่นคง
ความหมายของอาหารเหล่านี้ คนญี่ปุ่นเองก็จำได้บ้างจำไม่ได้บ้าง คุณยายกับคุณแม่สามีฉันเองก็ทราบเป็นบางอย่าง ส่วนฉันนั้นพอเห็นอาหารก็จะลืมทุกสิ่งทุกอย่างหมดสิ้น จึงจำอะไรไม่ได้สักอย่างเดียว 😋
นอกเหนือจากอาหาร “ที่ต้องมี” แล้ว ในกล่องอาหารโอะเซจิก็จะมีเมนูอย่างอื่นประกอบอีกซึ่งคงแล้วแต่ผู้ผลิตจะสร้างสรรค์อะไรมา ที่นิยมก็มักใส่หมูย่างหั่นเป็นแผ่น เนื้อเป็ดรมควัน เนื้อปลาย่าง รากบัว เป๋าฮื้อ และอาหารอีกหลายอย่างที่สีสันและรูปร่างสวยงาม แต่บางทีก็ดูไม่ออกว่าคืออะไร
ดูเหมือนว่าอาหารโอะเซจิสมัยก่อนไม่ได้มีมากหลากหลายเหมือนยุคนี้ จะเน้นของต้ม เช่น ผักต้มกับโชยุ มิริน และน้ำตาล เดี๋ยวนี้นอกจากจะขยับขยายไปมีอาหารญี่ปุ่นแบบอื่น ๆ อีกหลายสิบชนิดแล้ว ยังมีโอะเซจิอาหารจีน โอะเซจิอาหารฝรั่ง โอะเซจิอาหารเกาหลีเพิ่มเข้ามาด้วย สงสัยคงเปลี่ยนไปตามยุคสมัยที่มีคนต่างชาติเข้ามาอยู่อาศัย หรือไม่ก็ตามความนิยมของยุคสมัยที่หันมารับประทานอาหารชาติอื่น ๆ กันเป็นปกติก็ได้
ฉันคิดเล่น ๆ ว่าอีกหน่อยจะมีโอะเซจิอาหารไทย โอะเซจิอาหารเวียดนาม โอะเซจิอาหารแขกบ้างไหมนะ แต่เดาว่าอาจจะยากหน่อย เพราะอาหารโซนนี้จะส่งกลิ่นสมุนไพรและเครื่องเทศ ถ้าเอามาจัดรวมอัดกันไว้ในกล่องที่มีอาหารหลากประเภท กลิ่นคงตีกันจนอาหารอื่น ๆ จะพลอยเสียกลิ่นและรสชาติดั้งเดิมไปด้วย แต่ถ้าเป็นขนมไทยจัดเสริมคู่กับอาหารญี่ปุ่นก็น่าจะเป็นโอะเซจิที่มีความโดดเด่นและน่าสนใจมากเลยทีเดียว น่าจะดูเท่ไม่หยอกเลยนะคะ
แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.
"ซาระซัง" สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.