คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่าน ถ้าเพื่อน ๆ เคยรับประทานอาหารจีนในต่างประเทศมาก่อน คงทราบดีว่าแต่ละประเทศจะมีรูปแบบอาหารจีนที่เป็นลักษณะเฉพาะตัวไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง เช่นใส่วัตถุดิบต่างกัน มีเครื่องปรุงรสให้ไม่เหมือนกัน รสชาติต่างกัน อะไรอย่างนี้ใช่ไหมคะ ที่ญี่ปุ่นและอเมริกาก็มีความแตกต่างแบบนั้นเช่นกัน วันนี้ฉันขอเอาประสบการณ์ที่เจอมาเล่าให้ฟังเพลิน ๆ นะคะ
อาหารจีนตามร้านทั่วไปที่เห็นได้ในกรุงโตเกียวนั้น หากเป็นช่วงเวลากลางวันในวันธรรมดามักจะมาเป็นอาหารชุด คืออย่างน้อยต้องมีข้าวสวย กับข้าวจานหลัก และซุปไข่ อาจมีกับข้าวจานเล็กแยกย่อยอย่างอื่นมาให้อีกในชุดแล้วแต่ทางร้านจะให้อะไร หลายแห่งมักให้เต้าฮวยเย็นถ้วยจิ๋วมาด้วย การที่ร้านอาหารจีนทำเป็นอาหารชุดอย่างนี้ ฉันคิดว่าเขาคงปรับให้เข้ากับคนญี่ปุ่นที่มักรับประทานกับข้าวหลายอย่างในคราวเดียว
เมนูอาหารประจำที่แทบทุกร้านต้องมีคือ เต้าหู้ทรงเครื่อง (มาโบโดฝุ / สำเนียงภาษาจีนอ่าน "หมาโผโต้วฝุ") หมูสามชั้นแล่บางผัดกะหล่ำปลี (โฮยโคโล / สำเนียงภาษาจีนอ่าน "หุยกัวโร่ว" ) ตับผัดกุยช่าย (นิหระเลบ่า) และกุ้งผัดซอสหวานเผ็ด (เอบิชิหลิ) เป็นต้น เขียนไปก็กลืนน้ำลายเอื้อก ๆ ไปด้วย 😋 เอ๊ะ? ได้ข่าวว่าคนเขียนเพิ่งรับประทานข้าวเสร็จหมาด ๆ เองนะคะนี่
วันหนึ่งฉันไปร้านอาหารจีนกับเพื่อนร่วมงาน นั่งดูรายการเมนูอาหารเห็นคำว่า “回鍋肉” ก็ไม่แน่ใจว่าคืออะไร เมื่ออ่านไม่ออกจึงมั่วนิ่ม ถามพนักงานเสิร์ฟชาวจีนเอาซื่อ ๆ ว่า “นี่อะไรเหรอคะ ไคนาเบะนิขุ?” คนจีนได้ยินชื่ออาหารที่ไม่เคยได้ยินมาก่อนก็เลิกคิ้วทำตาโต “หืม?” ส่วนผู้ใหญ่ที่ไปด้วยสะดุ้ง ก่อนจะกลั้นหัวเราะพลางเอ่ยเสียงเข้มว่า “โฮยโคโล!” ฉันเลยอ๋อ! หมูผัดกะหล่ำปลีน่ะเอง
นึกแปลกใจว่าที่ผ่านมาฉันก็รู้จักอาหารชนิดนี้ดี สั่งก็ออกบ่อย ทำไมอ่านไม่ออกกันนะ พอเล่าให้สามีฟัง เขาบอกว่าปกติเมนูนี้ไม่ค่อยเขียนเป็นภาษาจีน แต่จะเขียนเป็นตัวคาตาคานะ พอเขียนเป็นตัวหนังสือจีนไม่คุ้นตาฉันจึงเกิดอาการใบ้กิน ส่วนผู้ใหญ่ที่ไปด้วยนั้นเชี่ยวชาญด้านภาษาอย่างหาตัวจับยากจึงอ่านชื่อเมนูนี้ได้คล่อง หรือไม่อย่างนั้น ก็คงเป็นเพราะท่านสั่งแต่โฮยโคโลอยู่อย่างเดียวทุกครั้งที่เข้าร้านอาหารจีนจึงจำได้ดี
ร้านอาหารจีนในญี่ปุ่นบางร้านก็ของคนจีนเปิด บางร้านก็ของคนญี่ปุ่นเปิด บางทีรสชาติไม่ต่างกันมากเท่าใดนัก จึงเข้าได้อย่างสบายใจแทบทุกร้าน แต่ก็เคยเจอบางร้านที่มีชื่อและสูตรอาหารต่างจากร้านอื่น ๆ โดยสิ้นเชิง อาหารมีรสชาติอร่อยโดดเด่นไปอีกแบบ แต่คนก็จะมารอคิวกันยาว
ฉันเคยไปรับประทานมื้อเที่ยงที่ร้านอาหารจีนของคนญี่ปุ่น มีที่นั่งเป็นเคาน์เตอร์ราวกับบาร์ร้านเหล้า ฉันสั่งเต้าหู้ทรงเครื่องมา อร่อยมาก เนื่องจากฉันนั่งรับประทานอยู่กับน้องจึงคุยกันเป็นภาษาไทย คุณลุงเจ้าของร้านถามว่ามาจากไหนกันหรือ พอตอบว่ามาจากไทย คุณลุงก็พูดว่า “สวัสดีค่ะ” พวกเราได้ยินอย่างนั้นก็ยิ้มกว้าง พอถามกลับไปขำ ๆ บ้างว่าแล้วคุณลุงมาจากไหน คุณลุงก็เล่นมุกตอบ “อเมริกา” เรียกเสียงหัวเราะจากลูกค้าคนอื่นที่นั่งใกล้ ๆ กันไปด้วย
นอกจากอาหารประเภทกับข้าวแล้ว หม้อไฟเผ็ดของจีนที่คนไทยรู้จักในนาม “หมาล่า” ก็ได้รับความนิยมในหมู่คนญี่ปุ่นพอดูเหมือนกัน คนญี่ปุ่นจะเรียกว่า “ฮินาเบะ” (火鍋 สำเนียงจีนอ่าน "หั่วกัว") โดยมากเป็นร้านของคนจีนเปิด มีทั้งร้านที่ให้สั่งตามเมนูกับร้านแบบบุฟเฟ่ต์ สามารถเลือกระดับความเผ็ดได้ นอกจากนี้ก็ยังมีก๋วยเตี๋ยวที่เรียกว่า “โทโชเม็น” (刀削麺 สำเนียงจีนอ่าน "เตาเซียวเมี่ยน" ) ลักษณะคล้ายเส้นใหญ่ของไทยแต่หนาและหนึบ นิยมทำเป็นก๋วยเตี๋ยวหมาล่า พอสั่งแล้ว คนจดออเดอร์จะถามว่า “ใส่ผักชีด้วยนะ ทานได้ไหม” แต่เดี๋ยวนี้คนญี่ปุ่นชอบผักชีเยอะขึ้น อาจจะไม่ต้องถามแล้วก็ได้นะคะ
สำหรับอาหารประเภทติ่มซำนั้น ฉันคิดบ้านเราโชคดีที่มีร้านอร่อยหลายเจ้า โดยเฉพาะร้านเก่าแก่ที่เปิดมานาน เคยพาคนญี่ปุ่นไปลอง คนญี่ปุ่นอุทาน บอกติ่มซำของไทยอร่อยกว่าที่ญี่ปุ่นมาก ฉันก็รู้สึกอย่างนั้นเหมือนกัน ถ้าถามฉันว่าติ่มซำร้านไหนในญี่ปุ่นอร่อย ฉันยังนึกไม่ออกเลยแม้แต่ร้านเดียว จนอดสงสัยไม่ได้ว่า เอ...หรือว่าเชฟฮ่องกงเก่ง ๆ เขาไม่ค่อยไปญี่ปุ่นกันก็ไม่รู้
ส่วนร้านบุฟเฟ่ต์อาหารจีนในไชน่าทาวน์ของเมืองโยโกฮามะก็เป็นที่นิยม แต่รสชาติอาหารในหลายร้านที่ฉันเคยไปก็ไม่ได้ต่างจากร้านอาหารจีนอื่น ๆ ทั่วไป เวลาฉันไปไชน่าทาวน์จึงไปเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศมากกว่าจะหาร้านอร่อย แต่ละร้านจะแข่งกันเรียกลูกค้ามาก เดิน ๆ อยู่จะได้รับใบปลิวโฆษณาของร้านบุฟเฟ่ต์ต่าง ๆ ที่บอกว่าราคาต่อหัวเท่าไหร่ มีอาหารอะไรบ้าง ฉันเคยไปร้านหนึ่งที่เขาเน้นว่ามีเป็ดปักกิ่งด้วย แต่เอาเข้าจริงพนักงานจะไม่ค่อยยกมาเสิร์ฟ และพอยกมาตั้งที หนังเป็ดก็ชิ้นเล็กนิดเดียวและเย็นชืด เป็ดปักกิ่งแบบดี ๆ หน่อยมีเหมือนกัน แต่อาจต้องไปร้านอาหารจีนแบบหรูหรา เขาจะจัดมาเสิร์ฟคนละจาน คนหนึ่งจะได้หนังเป็ดเพียงชิ้นเดียว รับประทานคู่กันหมั่นโถวก้อนหนาเตอะ
เอาละ เรามาข้ามทะเลไปดูอาหารจีนในอเมริกากันบ้างดีกว่า ฉันสังเกตว่ากับข้าวประเภทผัดของจีนมักใส่บร็อคโคลี่ พอเปรยเรื่องนี้ให้หมอกระดูกชาวจีนในอเมริกาฟัง หมอก็พยักหน้าหงึก ๆ บอกว่า “ตอนผมอยู่เมืองจีนไม่เคยเห็นอาหารจีนที่ไหนเขาใส่บร็อคโคลี่กันเลยนะ แล้วพอมาอเมริกาแรก ๆ พ่อเปิดร้านอาหารจีน วัน ๆ ผมหั่นแต่บร็อคโคลี่ยิก ๆ เลย”
แถมร้านอาหารจีนในอเมริกาบางเจ้าก็มักขายอาหารชาติอื่น ๆ ปนเปกัน เช่น ซูชิ ซาชิมิ ผัดไทย แกงเขียวหวาน เฝอ และมักมีเมนูมากมายก่ายกองเป็นร้อยอย่างเลยทีเดียว จากประสบการณ์ฉันพบว่าร้านสไตล์นี้มักทำอาหารไม่อร่อย ถ้าเลือกได้ก็จะเลือกร้านที่ทำแต่อาหารจีนอย่างเดียวจะไม่ค่อยผิดหวังมาก
สังเกตว่าอาหารจีนตอนกลางวันที่อเมริกาจะไม่มาเป็นอาหารชุดเหมือนญี่ปุ่น จะมีแค่ข้าวสวย กับข้าวหนึ่งอย่าง และซุป แต่ว่าปริมาณกับข้าวนั้นมโหฬารมาก!! ครั้งแรกที่ฉันสั่งมาแล้วเห็นกับข้าวจานมหึมาขนาดนั้น ก็ตกใจว่าถ้าจะรับประทานให้หมดคงต้องแบ่งเป็นสามมื้อ พอเล่าให้เพื่อนสนิทที่ไทยฟัง เพื่อนก็เลยพูดขำ ๆ ขึ้นมาว่า “Buy one meal, eat all day.” (ซื้ออาหารมื้อเดียว กินได้ทั้งวัน)
เวลาซื้ออาหารจีนใส่กล่องกลับบ้าน เขามักใส่ข้าวสวยหรือกับข้าวที่ของเหลวไม่มากลงในกล่องกระดาษพับแบบนี้ ซึ่งถ้าแกะออกดี ๆ ก็สามารถใช้เป็นจานข้าวได้ คงคล้าย ๆ ห่อข้าวมันไก่บ้านเราที่ไม่ต้องเทใส่จาน แต่รับประทานในห่อได้เลย ส่วนพวกกับข้าวที่มีของเหลวเยอะอย่างน้ำแกง โจ๊ก เต้าหู้ทรงเครื่อง ก็จะใส่มาในถ้วยพลาสติกที่ปิดฝาแน่นสนิทไม่หก
เพื่อนชาวยุโรปคนหนึ่งเคยบอกฉันว่า เธอไม่ยอมสั่งอาหารจีนให้มาส่งที่บ้านเลย เพราะจะมีของสิ้นเปลืองมาด้วยเยอะมาก ทั้งกล่องบรรจุ ช้อนส้อมพลาสติก ตะเกียบแบบใช้แล้วทิ้ง และทิชชูเช็ดปากกองพะเนิน เธอว่ามันสร้างขยะเยอะเกินไป
อย่างไรก็ดี กล่องอาหารพลาสติกในอเมริกาส่วนใหญ่สามารถนำไปอุ่นในไมโครเวฟ รวมทั้งล้างในเครื่องล้างจานได้ แต่ต้องสังเกตดูที่ฝากับตัวกล่องว่ามีระบุไว้หรือเปล่า ฉันมักนำกล่องเหล่านี้กลับมาใช้ใหม่ที่บ้าน บางทีก็นำไปใส่อาหารที่รับประทานไม่หมดเวลาไปร้านอาหาร หรือนำไปใช้แทนกล่องของร้านเวลาซื้อกลับ และไม่รับช้อนส้อมพลาสติก เคยนำกล่องจากบ้านไปซื้อขนมจากร้าน เขาแถมขนมมาให้เพิ่มด้วยค่ะ ปกติมีไอศครีมมา 2 ลูก ได้มาเพิ่มอีกลูกนึง :)
ที่อเมริกาก็มีร้านหม้อไฟเผ็ดและร้านก๋วยเตี๋ยวโทโชเม็นเหมือนญี่ปุ่น แต่คนฝรั่งจำนวนมากคงจะไม่คุ้นเคยกับการรับประทานอาหารประเภทน้ำแกง รวมทั้งไม่ชินกับการล้อมวงรับประทานอาหารจากหม้อเดียวกันด้วยกระมัง นาน ๆ ทีจึงจะได้เห็นลูกค้าที่เป็นคนผิวขาวเสียทีหนึ่ง ส่วนร้านก๋วยเตี๋ยวโทโชเม็นมีอยู่ร้านหนึ่งในนิวยอร์กที่ดังมากและมีหลายสาขา ยิ่งเป็นช่วงพักเที่ยงจะมีคนต่อคิวกันยาวเหยียดทีเดียว
ถ้าจะถามหาร้านอาหารจีนเด็ด ๆ ของแมนฮัตตันคงหนีไม่พ้นไชน่าทาวน์ มีร้านอาหารจีนอร่อยเยอะมาก ต่างจากไชน่าทาวน์โยโกฮามะของญี่ปุ่นที่รสชาติไม่ได้โดดเด่นกว่าร้านข้างนอกทั่วไป อาจเพราะไชน่าทาวน์ของแมนฮัตตันมีชุมชนชาวจีนที่เหนียวแน่น แถมคนค้าขายส่วนใหญ่ก็พูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้ จนดูเหมือนทั้งบริเวณเป็นเมืองจีนมากกว่าจะเป็นอเมริกา อาหารจึงยังคงรสชาติแบบจีนไม่กลายพันธุ์ ฉันเดานะคะ
ในไชน่าทาวน์ของแมนฮัตตัน มีอาหารจีนฮ่องกงประเภทบะหมี่ เกี๊ยวน้ำ เป็ดย่าง หมูย่าง โจ๊ก อยู่หลายเจ้า บางร้านได้รับตรารับรองความอร่อยต่อกันหลายปี ที่สำคัญราคาอาหารร้านเหล่านี้ไม่แพง คืออยู่ที่ประมาณ 2 ใน 3 เมื่อเทียบกับราคาอาหารกลางวันทั่วไปในที่อื่น ๆ แต่รสชาติดีมากและให้เยอะจนแทบจะรับประทานได้สองมื้อเต็ม ๆ ส่วนติ่มซำก็มีร้านอร่อยพอ ๆ กับที่เมืองไทยอยู่ด้วย แต่ต้องกะเวลาไปถึงร้านให้ดี ไม่อย่างนั้นต้องยืนรอคิวกันเป็นชั่วโมงเลยละค่ะ
อาหารนั้นไม่ว่าชาติไหน ๆ พอได้ข้ามพรมแดนออกนอกประเทศไป รสชาติและหน้าตาของอาหารก็เปลี่ยนไป บางทีก็ราวกับกลายเป็นอาหารคนละชนิดกันเลยนะคะ สำหรับท่านที่ไปญี่ปุ่นและนึกเบื่ออาหารญี่ปุ่น อยากรับประทานอาหารจีนขึ้นมา จะเข้าร้านไหนก็ไม่ค่อยมีปัญหา เพราะเมนูและรสชาติก็ไม่ต่างกันมาก และรสชาติน่าจะถูกปากคนไทยอยู่ แต่ถ้ามานิวยอร์กและอยากรับประทานอาหารจีนอร่อย ๆ ก็แนะนำให้ไปไชน่าทาวน์ของแมนฮัตตัน (หรือไม่ก็ในควีนส์) น่าจะไม่ผิดหวังค่ะ
แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.
"ซาระซัง" สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.