คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่าน หากท่านใดเคยไปเยือนฮาวายมาแล้ว คงทราบดีว่าฮาวายเต็มไปด้วยคนญี่ปุ่นทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นคนในท้องที่เองหรือนักท่องเที่ยว อีกทั้งยังมีร้านรวงอะไรต่าง ๆ แบบญี่ปุ่นอีกมากมายราวกับฮาวายเป็นบ้านหลังที่สองของญี่ปุ่นก็ไม่ปาน เพราะอะไรจึงทำให้ฮาวายมีคนญี่ปุ่นมากมายขนาดนั้น?
อันที่จริงฮาวายกับญี่ปุ่นมีประวัติศาสตร์ร่วมกันมาประมาณ 150 ปีแล้ว โดยเริ่มจากการที่คนญี่ปุ่นอพยพไปทำงานในไร่อ้อยที่ฮาวายเมื่อ พ.ศ. 2411 เวลานั้นก็มีชาวตะวันตกและชาวเอเชียชาติอื่น ๆ ที่เข้าไปทำงานแรงงานอีกเช่นกัน แต่จำนวนคนญี่ปุ่นมีมากที่สุด และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนเคยมีอยู่ช่วงหนึ่งที่จำนวนคนญี่ปุ่นสูง จนเกือบถึงครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมดในฮาวายเลยทีเดียว
หลังหมดสัญญาทำงาน คนญี่ปุ่นอพยพจำนวนมากก็ตัดสินใจตั้งรกรากอยู่ในฮาวายเสียเลย กลายเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่น ปัจจุบันคนรุ่นหลังที่พูดอ่านออกเขียนญี่ปุ่นได้ก็ยังมีจำนวนมาก คงเพราะมีโรงเรียนญี่ปุ่นที่เด็กสามารถเรียนเสริมได้ตั้งแต่ชั้นประถมเพิ่มเติมจากการศึกษาภาคบังคับ
ฮาวายยังมีวัดและศาลเจ้าญี่ปุ่น อีกทั้งยังมีเทศกาลตามประเพณีญี่ปุ่นอย่างเทศกาลโอบ้ง(คล้ายเชงเม้งของจีน) ประเพณีลอยโคม รวมทั้งงานรื่นเริงอื่น ๆ ที่จัดโดยชาวญี่ปุ่น บางแหล่งมีศูนย์รวมร้านอาหารญี่ปุ่นหลายสิบเจ้า และมีร้านอาหารญี่ปุ่นกระจัดกระจายโดยทั่วไป ลักษณะอาหารแบบข้าวกล่องเบนโตะและข้าวปั้น ก็มีขายตามร้านสะดวกซื้อ นับว่าชาวญี่ปุ่นได้ก่อตั้งชุมชนที่ฝังรากวัฒนธรรมญี่ปุ่นไว้ในฮาวายอย่างแน่นแฟ้นเลยนะคะ
ไม่เพียงแค่ชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นเท่านั้นที่มีจำนวนมากในฮาวาย แม้นักท่องเที่ยวจากญี่ปุ่นก็ยังมาเยือนฮาวายกันอย่างเอิกเกริก จนเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีจำนวนมากที่สุดในฮาวายเลยทีเดียว อีกทั้งเที่ยวบินระหว่างญี่ปุ่นกับโฮโนลูลูก็มีมากถึงเกือบ 140 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ โอ้โฮ...อะไรจะไปฮาวายกันอย่างถล่มทลายปานนี้
โดยระยะทางแล้วฮาวายถือว่าอยู่ห่างไกลจากญี่ปุ่นอยู่มาก คือราว 7-8 ชั่วโมงหากเดินทางโดยเครื่องบิน กระนั้นฮาวายก็ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมตลอดกาลของคนญี่ปุ่น รายการโทรทัศน์มักถ่ายทอดรายการที่เกี่ยวกับฮาวายอย่างไม่รู้เบื่อ มิวสิควีดีโอที่ถ่ายทำในฮาวายก็มาก ผู้หญิงต่างใฝ่ฝันจะมาจัดงานแต่งที่ฮาวาย แถมคนที่เคยมาฮาวายแล้วก็ยังมาซ้ำกันอีกหลายหน อะไรกันนะที่ทำให้ฮาวายเป็นที่รักของคนญี่ปุ่นขนาดนั้น
เมื่อไม่นานมานี้ฉันกับสามีมีโอกาสได้ไปเยือนฮาวายเป็นครั้งแรก จึงได้เห็นกับตาว่ามีแต่คนญี่ปุ่นทุกหนแห่งอย่างที่เคยได้ยินจริง ๆ จนคิดถ้าไปจ๊ะเอ๋กับคนรู้จักก็คงไม่แปลกใจ นอกจากนี้ ร้านรวงต่าง ๆ ที่มีคนพูดญี่ปุ่นได้ก็เยอะ ป้ายอะไรต่าง ๆ ก็มีภาษาญี่ปุ่นกำกับไปหมด อีกทั้งร้านอาหารญี่ปุ่นเองก็เต็มไปด้วยลูกค้าชาวญี่ปุ่น จนชวนให้สงสัยว่าอย่างนี้คนญี่ปุ่นจะมาเที่ยวฮาวายทำไมกันหนอ? เที่ยวโอกินาวาไม่ดีหรือ? เดินทางง่าย ใกล้กว่าตั้งเยอะ ทะเลก็สวย มีอาหารญี่ปุ่นแท้ ๆ ไม่ต้องกลัวว่าจะพูดอังกฤษไม่ได้ด้วย
แต่พออยู่ไปหลาย ๆ วันเข้าก็เริ่มรู้สึกถึงความพิเศษของฮาวายอยู่อย่างหนึ่งขึ้นมาค่ะ และเป็นเหตุผลสำคัญอย่างหนึ่งที่คนญี่ปุ่นบอกว่าทำไมจึงชอบฮาวาย นั่นก็คือ ความรู้สึกปลอดโปร่งชวนให้สบายอกสบายใจหรือที่เรียกกันว่า “ชิลล์” บรรยากาศแบบนี้หาได้ยากในญี่ปุ่น และแม้โอกินาวาจะเป็นเมืองตากอากาศเหมือนกัน แต่ก็ไม่มีบรรยากาศแบบเดียวกันนี้ จะเป็นเพราะโอกินาวามีบรรยากาศของความเป็นญี่ปุ่นท่วมท้น จนชิลล์ไม่ออกหรือเปล่าก็ไม่ทราบนะคะ
อย่างไรก็ตาม การที่ฮาวายมีคนญี่ปุ่นมาตั้งรกรากอยู่นานแล้ว และร้านรวงต่าง ๆ ก็ต้อนรับคนญี่ปุ่น จึงยิ่งทำให้คนญี่ปุ่นส่วนมากที่ไม่ถนัดภาษาอังกฤษรู้สึกว่าเที่ยวง่ายสบายดี หรือถ้าจะซื้อทัวร์อะไรเพิ่มเติมขึ้นมาก็มีบริษัททัวร์ของญี่ปุ่นให้บริการ ลูกทัวร์ก็จะมีแต่คนญี่ปุ่นทั้งหมด ฉันเคยเห็นเดินแถวกันอย่างเป็นระเบียบไปขึ้นเรือ ดูเรียบร้อยสมเป็นคนญี่ปุ่นจริง ๆ
พูดถึงความเป็นระเบียบเรียบร้อยของคนญี่ปุ่น ก็นึกได้ว่าตอนที่เราขับรถอยู่ในฮาวายแล้วมีคนเอเชียกลุ่มหนึ่งรอข้ามถนน หนึ่งในคนกลุ่มนั้นยกมือขึ้นเพื่อขอข้ามถนนไปและโค้งศีรษะเป็นเชิงขออภัยเมื่อเราหยุดรถ พอข้ามไปแล้วเขาก็โค้งศีรษะให้อีกครั้งหนึ่ง เดาได้ว่าเป็นคนญี่ปุ่นแน่
เห็นความ “เร-หงิ-ทา-ดา-ชี่” (礼儀正しい - มารยาทงาม) อย่างนี้แล้ว ชวนให้คิดถึงญี่ปุ่นจับใจและนึกอยากให้คนทั่วโลกปฏิบัติดีต่อกันแบบนี้มากเลยค่ะ อยู่อเมริกาจะเห็นคนมักเดินข้ามถนนกันตอนรถวิ่งขวักไขว่อยู่เสมอ แล้วพอรถกดแตรเตือนว่าอย่าข้ามตอนนี้เพราะอันตราย คนข้ามก็ไม่พอใจ ทุบรถบ้าง โวยวายเสียงดัง กลายเป็นคนขับรถผิดเสียอีก ที่ไม่ให้คนเดินเท้าข้ามถนนทั้งที่ไฟจราจรสำหรับคนเดินเท้าคือระบุว่าห้ามข้าม
ส่วนฮาวายนั้น แม้จะเป็นอเมริกาเหมือนกัน แต่คนใช้รถใช้ถนนดูมารยาทงามดี(เท่าที่เห็น) ไม่ได้ยินเสียงกดแตรไล่ให้คนขับข้างหน้ารีบ ๆ ไปเมื่อไฟเขียว และนอกจากคนขับจะเตรียมหยุดให้คนข้ามแต่ไกลแล้ว ยังชี้ชวนให้ข้ามไปเสียด้วย แม้นี่อาจจะเป็นเรื่องเล็กน้อยยิบย่อย แต่ความมีมารยาทและมีน้ำใจต่อกันที่รู้สึกได้ในฮาวาย ก็ทำให้รู้สึกว่านี่อาจจะเป็นอีกส่วนหนึ่งด้วยที่เข้ากับคนญี่ปุ่นซึ่งให้ความสำคัญกับมารยาทและน้ำใจ
นอกจากนี้ คนญี่ปุ่นยังบอกว่าเสน่ห์ของฮาวายสำหรับพวกเขาคือการมีทุกสิ่งให้เลือกสรร จะมาเที่ยวช่วงไหนของปีก็อากาศอบอุ่นท้องฟ้าแจ่มใส มีกิจกรรมที่เหมาะสำหรับคนทุกวัยตั้งแต่เด็กยันชรา ถ้าเบื่อโฮโนลูลูแล้ว ก็ยังมีเกาะอื่น ๆ รายรอบให้เที่ยวเปิดหูเปิดตาได้อีกมาก หรือเกิดคิดถึงอาหารญี่ปุ่นขึ้นมาก็มีทั้งร้านญี่ปุ่นที่เปิดในฮาวายเองหรือร้านสาขาของญี่ปุ่นมาตั้งกันหลายร้าน หรืออาหารท้องถิ่นของฮาวายอย่าง “โพคี” (Poke) ซึ่งเป็นปลาดิบปรุงรส รับประทานกับข้าวสวย ก็มีรสชาติถูกปากคนญี่ปุ่นและหารับประทานได้ง่ายทุกหนแห่ง
ฉันเคยไปซื้อโพคีที่ซูเปอร์มาร์เก็ต เห็นเนื้อปลาชนิดหนึ่งดูน่าอร่อยดี ถามคนขายว่านี่เนื้อปลาอะไร พอคนขายบอกชื่อปลามา ฉันก็ไม่รู้จัก เขาลองบอกชื่ออื่นอีก ฉันก็ไม่รู้จักอยู่ดี พอเขาบอกเป็นชื่อภาษาญี่ปุ่นว่า “คาจิกิ” ก็เลยอ๋อขึ้นมา เพราะจำได้ว่าตอนอยู่ญี่ปุ่นเคยซื้อไปทำผัดกะเพรา อันนี้ก็เป็นอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ อีกอย่างที่ทำให้รู้สึกว่าฮาวายน่าจะอยู่ง่ายสำหรับคนญี่ปุ่นจริง ๆ
มีอาหารฮาวายที่เกิดจากวัฒนธรรมลูกผสมแปลก ๆ อยู่อย่างคือข้าวปั้นหน้าสแปม (SPAM - เนื้อแปรรูปกระป๋องของอเมริกา) หน้าตาดูไม่น่ารับประทานเท่าไหร่ แต่คนคงนิยมเลยมีขายทั่วไป
พูดถึงสแปมแล้วนึกถึงเรื่องขำขันอย่างหนึ่งของฮาวายขึ้นมา คือฮาวายนั้นเป็นรัฐที่คนอายุยืนที่สุดในอเมริกา จึงมีคนพูดล้อเลียนว่า เป็นเพราะคนฮาวายรับประทานแต่สแปมจึงอายุยืนอย่างไรล่ะ (ว่าไปโน่น)
ข้อดีอีกอย่างของฮาวายสำหรับคนญี่ปุ่นคือ เขาว่าเป็นที่ที่จะได้ลองใช้ภาษาอังกฤษดูโดยไม่ขัดเขินมากนัก เพราะถ้าสื่อสารกันไม่รู้เรื่องก็ยังมีคนที่รู้ภาษาญี่ปุ่น หรือจะอย่างไรป้ายและเมนูอาหารที่มีภาษาญี่ปุ่นกำกับก็เป็นตัวช่วยได้อยู่ดี คนญี่ปุ่นที่เพิ่งเคยไปต่างประเทศครั้งแรกจึงเลือกมาฮาวายได้อย่างสบายอกสบายใจ
ในสายตาฉันแล้ว คิดว่าฮาวายคงเป็นเหมือนบ้านพักตากอากาศหรือบ้านหลังที่สองสำหรับคนญี่ปุ่น รวมทั้งเป็น “อเมริกาที่(เกือบ)ใกล้ที่สุด” ด้วย การได้เดินออกมาจากบรรยากาศอันเคร่งเครียดที่เต็มไปด้วยกฎระเบียบและความเกรงสายตาคนรอบข้างอย่างญี่ปุ่น มาสู่สถานที่ที่อากาศแจ่มใส ผ่อนคลาย ไร้ความกังวลใด ๆ ในขณะที่ยังมีความเป็นญี่ปุ่นในบรรยากาศสบาย ๆ พอดี ๆ ชวนให้รู้สึกไม่แปลกถิ่นเกินไปแบบนี้ ก็คงอดไม่ได้ที่คนญี่ปุ่นจะรักฮาวายนะคะ
แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.
"ซาระซัง" สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.