สวัสดีครับผม Mr.Leon มาแล้ว วันก่อนดูทีวีเรื่องนักท่องเที่ยวจำนวนมากไปเที่ยวที่เกียวโต บางคนถือวิสาสะเข้าไปในสถานที่ห้ามคนนอกที่ไม่ใช่ลูกค้าเข้า ย่านกิอองก็มีประกาศเตือนนักท่องเที่ยวเกี่ยวกับเรื่องมารยาทต่างๆ ช่วงเทศกาลเป็นช่วงที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวเยอะมาก ส่งผลให้ประชาชนในท้องถิ่นไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ เช่น ไม่สามารถโดยสารรถเมล์ได้เนื่องจากรถเต็มตลอดสาย เกิดปัญหาการจราจรติดขัดและอีกหลายๆ อย่าง แต่ที่โตเกียวยังรับนักท่องเที่ยวได้นะครับ ผมว่าญี่ปุ่นตอนนี้น่าเที่ยว แถมหลายๆ อย่างก็เอื้อต่อการเดินทาง เรื่องราคาก็ไม่ได้แพงมาก ร้านอาหารบางร้านในกรุงเทพฯ ยังแพงกว่าเสียอีกนะครับ
อาทิตย์ที่แล้วผมพูดถึง Akihabara จะเป็นอีกย่านหนึ่งที่มีนักท่องเที่ยวและคนต่างชาติเดินทางมาเที่ยวและชอปปิ้งกันเยอะมากๆ เดือนที่แล้ววันที่ผมไปซื้อของที่อากิฮาบาระ ไม่ว่าผมเดินไปทางไหน ร้านอะไรผมก็ได้ยินเสียงคนไทยตลอดเลย มีนักท่องเที่ยวชาวไทยเยอะมากจริงๆ คิดว่าที่นี่เป็นอีกย่านยอดฮิตในโตเกียวเลยครับ ฮิตจนมีคนทำคลิปแซว Akihabara ในทวิตเตอร์ว่า เป็นย่านที่นักท่องเที่ยวเยอะมากๆ น่าจะทำประตูให้เข้าแบบที่คนเข้าไปเที่ยวสวนสนุก เรียกว่าประตู “Gated city” แล้วก็เก็บเงินค่าเข้า เพราะท่าทางจะได้เงินค่าเข้าเยอะมากมหาศาล ( ´ノД`)
ย่าน Akihabara ถ้าพูดถึงแหล่งจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ชื่อดังที่สุดของโตเกียวต้องที่นี่ครับ สมัยที่ผมยังเป็นนักศึกษา เมื่อพูดเรื่อง Akihabara จะนึกถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า และพวกวิทยุสื่อสารต่างๆ แต่ว่าเดี๋ยวนี้คงจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการ์ตูนแอนิเมชัน มังงะ มากกว่า และอาจจะนึกถึงพวก Otaku ด้วย นอกจากนั้นยังมีเมดคาเฟ่ (Maid Cafe) จำนวนมาก น่าจะมากที่สุดในโลกเลย
เพื่อนๆ เคยได้ยินคำว่า Otaku ไหมครับ คำนิยามของ Otaku โอตาคุ นั้นใช้เรียกบุคคลที่มีความสนใจอย่างคลั่งไคล้เกี่ยวกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง อย่างเช่น แอนิเมะมังงะ ก็ประมาณพวกที่ชื่นชอบอะไรอย่างหนึ่งมากๆ และอาจใช้ในเชิงเหยียดติดลบอยู่สักหน่อย ประมาณว่าเป็นพวกที่ติดอะไรอย่างมากจนส่งผลต่อการใช้ชีวิต มีความหมกมุ่นอยู่อย่างนั้นจนเข้าสังคมไม่ได้ อาจจะเป็นพวกที่อยู่ติดบ้าน หรือฮิคิโคโมริ (พวกที่แยกตัวออกจากสังคม กักขังตัวเองอยู่แต่ในห้อง กลัวการเข้าสังคม เป็นต้น) และพวกว่างงาน ด้วยลักษณะนิสัยเช่นนี้เป็นลักษณะนิสัยที่ชาวญี่ปุ่นค่อนข้างจะไม่ชอบ จึงทำให้มีภาพลักษณ์ที่ติดลบครับ ที่จริงโอตาคุเขาน่าสงสารนะครับ
แต่เมื่อพูดถึง Otaku “โอตาคุ” ในความหมายที่ใช้ที่เมืองไทยอาจจะถูกตีความในความหมายที่ดีนิดหนึ่ง เช่นเดียวกับคำว่าเนิร์ด ซึ่งในความหมายปัจจุบันที่ใช้ที่เมืองไทยยังเป็นความหมายในแง่ดีกว่าแง่ลบ ผมเคยได้ยินคนไทยหลายคนบอกว่าตัวเองคือโอตาคุ และชื่นชมกันว่ามีความหมายในเชิงบวก ที่หลายคนบอกว่าตัวเองเป็นโอตาคุนั้นคิดว่าเขาคงคิดว่าเป็นความหมายที่ดี แสดงถึงการเป็นคนที่ชื่นชอบคลั่งไคล้ในวัฒนธรรมญี่ปุ่น แอนิเมชัน มังงะ หรือว่าการ์ตูน และก็มักเหมารวมถึงพวกที่มี งานอดิเรก สะสมการ์ตูน หรือชอบอ่านการ์ตูนมังงะเพราะว่าคนที่ชอบอ่านหนังสือหรือแอนิเมชันมังงะต่างๆ ต้องใช้เงินในการซื้อหนังสือ ถ้าพูดถึงราคาต่อเล่มก็ค่อนข้างแพงอยู่เหมือนกัน 100-200 บาทขึ้นไป ก็เหมือนกับมีภาพลักษณ์ว่าเป็นคนที่มีฐานะ แต่ว่าที่ญี่ปุ่น Otaku โอตาคุไม่ใช่ในความหมายนี้ ที่ญี่ปุ่นมีความหมายเชิงมากลบกว่า 60% อย่างที่กล่าวไปครับ
“โอตาคุ” ไม่ได้เป็นกันง่ายๆ นะครับ โอตาคุในไทยนี่ผมว่าไม่มีด้วยซ้ำ เพราะสิ่งแวดล้อมไม่เอื้อให้เกิดคนลักษณะเช่นนั้น สังคมบ้านเรามันไม่ได้กดดันขนาดนั้น ไอ้ความกดดันอย่างรุนแรงในสังคมญี่ปุ่นนี่แหละที่ทำให้เกิดโอตาคุ ฮิคิโคโมริโฮมเลส หรือคนไร้บ้านขึ้นมาจนเป็นปัญหาสังคมในปัจจุบัน ที่จริงแล้วคนญี่ปุ่นมองภาพลักษณ์คำว่าโอตาคุ หรือคนที่เป็นโอตาคุ ค่อนข้างจะติดภาพลบอย่างที่บอก มีเรื่องเล่าคือ เวลาคนที่เป็นโอตาคุจะออกไปซื้อของ เช่น มังงะที่อากิฮาบาระเอย แหล่งขายของเขาก็ตาม เขาจะพกเงินสดไปจำนวนมาก ซึ่งก็จะมีผู้ร้ายคอยดักปล้นชิงทรัพย์ไป ปัญหาเช่นนี้เกิดขึ้นบ่อยอยู่เหมือนกันโดยเฉพาะที่อากิฮาบาระ ตอนที่ผมกำลังจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยช่วงเรียนมัธยมปลาย คุณครูก็เตือนอยู่บ่อยๆ ว่าต้องระวังพวกโจรปล้น โจรวิ่งราว เพราะว่าจะทำให้เราเข้าสอบไม่ทัน เพราะว่าถ้าเราไม่มีเงินเราก็ไม่สามารถที่จะเดินทางไปเข้าห้องสอบหรือขึ้นรถไฟได้
ด้วยความที่คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะติดภาพลบของพวกโอตาคุ ดังนั้น เวลาพวกผู้ร้ายจะปล้นชิงทรัพย์ ก็จะเลือกคนที่เป็นโอตาคุมากกว่าคนธรรมดา เพราะจะรู้สึกว่าช่างมันไม่สนใจ แล้วยังมีพวกหลอกลวงโอตาคุอีกนะ เช่น ทำตัวเป็นเซลส์ขายหนังสือการ์ตูนมังงะ หรือว่าแอนิเมชัน หรือว่าเกม เพื่อตีสนิทโอตาคุกลุ่มเป้าหมาย หรือคนที่เขาเล็งไว้ แล้วหลอกขายโดยเอารูปภาพที่ราคาถูกมากๆ มาหลอกขายที่ราคาแพงมาก แพงขนาดที่ขายที่ราคา 100,000 บาท น่าสงสาร
ส่วนตัวผมเองผมคิดว่าผมไม่ใช่โอตาคุ ถ้ามีคนมาถามว่าคุณเป็นโอตาคุใช่ไหม ผมคงจะตอบว่าไม่ใช่ ผมไม่ได้เป็นโอตาคุ!! แต่จำได้ว่าครั้งหนึ่งตอนที่ผมเป็นนักศึกษา ผมเคยมาเที่ยวเมืองไทย ไปดำน้ำที่เกาะเต่าแล้วมีรุ่นพี่คนหนึ่งบอกว่าโอตาคุแบบผมน่ะมาอยู่เมืองไทยน่าจะสะดวกสบายกว่าอยู่ญี่ปุ่น ตอนนั้นผมยังไม่เข้าใจความหมายเท่าไหร่นัก แต่ว่าตอนนี้ผมเข้าใจความหมายนั้นแล้ว เพราะการใช้ชีวิตที่เมืองไทยสบายและไม่กดดันมากเกินไปแบบญี่ปุ่น
☆ แล้วลักษณะแบบไหนที่เรียกว่าคนแบบนี้ไม่ใช่พวกโอตาคุ!! m9っ`・ω・´)づ
ก็คือคนที่มีบุคลิกภาพตรงข้ามกับคนที่มีบุคลิกภาพหมกหมุ่น อย่างเช่นที่อเมริกามีคนบุคลิกภาพแบบหนึ่งที่เรียกว่า Jock เป็นคำที่ตรงข้ามกับคำว่าเนิร์ด ซึ่ง Jock คงจะเทียบเท่ากับภาษาญี่ปุ่นคือพวกที่เป็นสปอร์ตแมน หรือว่า 体育会系 tai'ikukai-kei ที่ใช้ในการจัดกิจกรรม เช่น กิจกรรมในมหาวิทยาลัย การเคารพการเชื่อฟังผู้บังคับบัญชาและทฤษฎีของความกล้า ซึ่งเน้นโดยสโมสรกีฬาของชมรมต่างๆ นอกจากนี้ หมายถึงคนที่มีอารมณ์ที่แข็งแกร่ง หรือพวกที่มักจะทำงานอย่างขยันขันแข็ง ขะมักเขม้น เอาจริงเอาจัง แต่ว่าก็มีพวกสปอร์ตแมนที่เป็นโอตาคุอยู่ด้วยเหมือนกันนะ ส่วนพวกที่ไม่ใช่โอตาคุ ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า リア充 ria ju ที่แปลว่าความจริง ใช้ในนิยามที่ว่า คนที่มีบุคลิกภาพตรงข้ามดังกล่าวและอาจจะมีเบื่อมีชีวิตบ้าง แต่ก็สามารถตอบสนองในโลกแห่งความจริงได้
แต่กลายเป็นว่าเมื่อสัก 5 ปีก่อนนี้มีคำศัพท์ใหม่เกิดขึ้นมาอีกหนึ่งคำว่า リア充オタク ria ju otaku คือ “โอตาคุคนที่ตอบสนองในโลกแห่งความจริงได้” ซึ่งมันเป็นคำที่ขัดแย้งกันเองไหม?!! (・ω・`) แล้วมันจะเป็นไปได้ยังไง เพราะอะไรจึงเกิดคำว่า リア充オタク ria ju otaku เพราะว่าบริษัทโฆษณาแห่งหนึ่งตั้งแคมเปญเพื่อต้องการกระตุ้นยอดขายของบริษัทเพราะโอตาคุรุ่นแรกในญี่ปุ่นปัจจุบันก็คงจะมีอายุประมาณ 50 กว่าปีแล้วซึ่งเป็นช่วงวัยที่มีเงินเก็บ และน่าจะมีเงินมากกว่าช่วงวัยอื่นของประเทศญี่ปุ่น ดังนั้นทางบริษัทโฆษณาแห่งหนึ่งก็ออกแคมเปญเพื่อกระตุ้นให้คนกลุ่มนี้ออกมาใช้เงินและจับจ่ายใช้สอยจึงกลายเป็นคำเรียก リア充オタク ria ju otaku ขึ้นมานั่นเอง
ส่วน Jock เป็นคำนามที่นิยามถึงความฉลาด กระฉับกระเฉง และเข้าใจผู้อื่นได้เป็นอย่างดี มีความสุขกับการใช้ชีวิตแบบสุดโต่ง แต่ที่จริงแล้วคนญี่ปุ่นก็ไม่ได้ชอบคนที่มีลักษณะแบบ Jock เสียทั้งหมด เพียงแต่ว่าถ้าองค์กรใดๆ มีลูกน้องที่มีลักษณะแบบ Jock หรือว่าที่ญี่ปุ่นเรียกว่า 体育会系 tai'ikukai-kei อยู่เยอะก็เป็นที่ชื่นชอบของหัวหน้าเพราะหัวหน้าก็จะสบายขึ้น สั่งให้ทำอะไรก็จะทำอย่างไว เช่น หัวหน้าสั่งให้ไปซื้อขนมปังไส้ยากิโซบะมาให้หน่อย ลูกน้องคนนั้นก็รีบทำให้อย่างด่วน แต่ถ้ามีแบบลูกน้องแบบ Otaku คนญี่ปุ่นจะมองด้านลบมาก
คนญี่ปุ่นชอบลูกน้องที่มีบุคลิกภาพแบบ Jock แต่สำหรับผู้นำที่มีบุคลิกแบบ Jock คนญี่ปุ่นกลับไม่ชอบ ผู้นำที่มีบุคลิกภาพแบบ Jock เช่นผู้นำอเมริกา ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน เป็นผู้ที่มีลักษณะแบบ Jock แต่ว่าที่ญี่ปุ่นจะไม่ค่อยมีผู้นำลักษณะเช่นนี้นัก อดีตนายกรัฐมนตรีที่มีลักษณะที่ใกล้เคียงที่สุดคงเป็นคุณยาซูฮิโร นากาโซเนะ Nakasone Yasuhiro ที่จะมีบุคลิกภาพเกือบเทียบเท่ากับบุคลิกภาพแบบ Jock มาก แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นสุดโต่ง น่าจะเรียกว่าเป็นแบบ super elite มากกว่าเค้าโดนตั้งฉายาว่า 風見鶏 Kazamidori ไก่กังหันลม แต่ท่านเพิ่งเสียชีวิตไปเมื่ออาทิตย์ก่อนนี้เองครับ สิริรวมอายุ 101 ปี และอีกคนหนึ่งคืออดีตนายกรัฐมนตรี Mori Yoshirō สมัยก่อนที่เป็นนายกรัฐมนตรีเขาก็ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นดีมาก ประวัติการทำงานเขาก็ดี อยู่บริษัทดีๆ ใหญ่โต ปัจจุบันเป็นประธานคณะกรรมการกีฬาโตเกียวโอลิมปิกฤดูร้อนปี 2020 เขามีฉายาว่า ลุงโอลิมปิก แต่ว่าเขาค่อนข้างจะมีลักษณะบุคลิกภาพแบบ Jock ซึ่งทำให้ไม่ค่อยเป็นที่นิยมสำหรับชาวญี่ปุ่น เป็นนายกรัฐมนตรีที่ไม่ค่อยได้รับความนิยมมากที่สุดเลยก็ว่าได้ เพราะคนญี่ปุ่นไม่ได้ชอบผู้นำที่มีบุคลิกภาพแบบ Jock นัก
☆ แล้วคำตรงข้ามของโอตาคุคิดว่าคืออะไร?!
สำหรับผมแล้วผมคิดว่า คือคำว่า ยังกี้ ヤンキ - Yankee หรือผู้ที่มีบุคลิกภาพแบบ Yankee ถ้าเทียบเท่านายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นที่มีลักษณะ Yankee คงจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน คือ คุณชินโซ อาเบะ และอดีตนายกรัฐมนตรี Koizumi
สรุปเลยว่า ถ้ามีคนถามผมว่าคุณเป็นโอตาคุใช่ไหม ผมคงจะตอบว่าไม่ใช่ ผมไม่ได้เป็นโอตาคุ(^ω^) แต่ถึงเป็นโอตาคุ แล้วอยู่ที่เมืองไทยที่มีสภาพแวดล้อมที่อยู่สบาย คนใจดี ผมก็น่าจะพออยู่ได้ วันนี้เล่าสู่กันฟังครับ... สวัสดีครับ