xs
xsm
sm
md
lg

ศาล Saiban-in : งานอดิเรกคนญี่ปุ่นนั่งฟังศาลตัดสินคดี ?!!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สวัสดีครับผม Mr.Leon มาแล้ว เดือนที่แล้วผมกลับไปเยี่ยมญาติที่ญี่ปุ่น และได้นัดเจอเพื่อนสนิทสมัยเรียนมหาวิทยาลัยคนหนึ่ง พอดีเขาก็เพิ่งย้ายที่ทำงานจากสำงานงานในภูมิภาคคิวชูขึ้นมาอยู่ที่โตเกียว แม้ว่าไม่เจอกันมานานมากแต่ก็ต่อกันติดเหมือนเดิม พวกเราพูดคุยเรื่องสัพเพเหระทั่วไปจากเที่ยงวันจนมืดค่ำ ผมเล่าให้เขาฟังว่าเมื่อเดือนเมษายนไปเที่ยวยุโรปมา แต่ระหว่างที่ต้องต่อเครื่องไปอีกประเทศหนึ่งก็ไปขึ้นเครื่องไม่ทัน เนื่องจากสายการบินล่าช้ามาจากเมืองไทย และต้องบินอ้อมน่านฟ้าปากีสถาน สายการบินจึงจัดไฟท์ให้ใหม่แต่ต้องไปต่อเครื่องอีกต่อหนึ่งที่เดนมาร์กแทน และต้องรอที่สนามบินโคเปนเฮเกน กาสทรัป อีกชั่วโมงกว่า แค่สนามบินผมก็รู้สึกว่าออกแบบได้สวย มีสไตล์ มีการจัดพื้นที่ใช้สอยที่ครบครัน แถมฟังก์ชันการใช้งานที่เหมาะสมดีมากเลย รู้สึกชอบ

ท่าอากาศยานโคเปนเฮเกน กาสทรัป เป็นท่าอากาศยานหลักของแถบสแกนดิเนเวียน เป็นท่าอากาศยานสำคัญและมีผู้ใช้บริการมากที่สุดในกลุ่มประเทศนอร์ดิกครับ เพื่อนผมเองก็บอกว่าเป็นสนามบินที่สวยและออกแบบดีไซน์ได้ดีมากและบอกว่าเพิ่งเคยได้ยินผมออกปากชมฝรั่งปกติเห็นพูดแต่เรื่องทางเอเชีย ใช่ครับปกติผมชอบสไตล์และการตกแต่งแบบเอเชีย แต่ว่าการที่ผมเห็นสนามบินที่เดนมาร์กแล้วผมรู้สึกว่ามีการออกแบบดีไซน์ที่ลงตัวให้ความรู้สึกดึงดูดและโดดเด่น ทำให้ผมรู้สึกเป็นครั้งแรกว่า รู้ล่ะว่าทำไมผู้หญิงญี่ปุ่นถึงคลั่งไคล้ผู้ชายตะวันตกกันจัง


เรื่องเดนมาร์กนี้ทำให้ผมนึกย้อนกลับไปตอนที่ผมมาเที่ยวเมืองไทยแรกๆ ผมไปดำน้ำที่จังหวัดกระบี่ และมีครูดำน้ำเป็นชาวเดนมาร์ก ในระหว่างที่มีการพักรอบการดำน้ำ พวกเราก็คุยกันทั่วไปไม่แน่ใจว่าคุยเรื่องอะไรจึงสนทนากันเรื่องคุกขึ้นมาได้ ครูดำน้ำบอกว่าคุกที่เดนมาร์กหรูหราและน่าอยู่มาก มีห้องเดี่ยวให้พัก มีอาหาร มีกิจกรรม มีเกมส์ PlayStation ให้เล่นด้วยนะ คงเพราะว่าเดนมาร์กเป็นประเทศพัฒนาและก็มีเสน่ห์ที่ทำให้มีผู้คนจากหลายๆ ประเทศเข้าไปเที่ยว และบางคนก็หนีเข้าไปขุดทอง ซึ่งทำให้เกิดปัญหาผู้ลี้ภัยมากขึ้นเรื่อยๆ เกิดปัญหาและคดีต่างๆ มากขึ้น ผมอ่านจากหนังสือพิมพ์บอกว่าที่ประเทศเดนมาร์กต้องมีการสร้างคุกที่เกาะร้างที่อยู่ไกลออกไปจากเมือง แม้แต่ในญี่ปุ่นเองปัจจุบันก็มีคดีความ และคดีอาชญากรรมโหดๆ และแปลกๆ เกิดขึ้นมากมายครับ

ก่อนที่จะคุยกันเรื่องชีวิตที่น่าอยู่ในคุก ผมอยากเล่าเรื่องระบบการพิพากษาของญี่ปุ่นสักหน่อยครับ

แม้ว่าผมเองไม่เคยไปดูการตัดสินคดีต่างๆ ที่ศาลเลย เคยไปตอนเด็กๆ ตอนที่ครูพาไปเยี่ยมชมเมื่อถึงงานวันเด็กเอย งานกิจกรรมเอย แต่ก็พอรู้มาบ้าง ปกติถ้าไม่ใช่คดีที่เป็นความลับก็จะเปิดให้ประชาชนที่สนใจทั่วไปเข้าไปนั่งฟังคำพิพากษาได้ด้วย ดังนั้นก็จะมีคนญี่ปุ่นบางส่วนที่มีงานอดิเรกที่ชอบเข้าไปนั่งดูการพิพากษา ชอบไปดูการตัดสินคดีความ คือบางคนก็เป็นนักเขียนเข้าไปเพื่อหาไอเดียจากเรื่องต่างๆ ทั้งที่เกิดจากการตัดสินคดีของศาล แล้วนำไปเขียนเป็นการ์ตูนมังงะเป็นตอนๆ มีคนติดตามกันมากและเป็นที่ชื่นชอบหลายอยู่เรื่องเหมือนกัน ส่วนใหญ่ศาลที่ญี่ปุ่นจะมีการตัดสินคดีเรื่องทั่วๆ ไปเช่น เรื่องยาเสพติด , เรื่องการการลวนลามหรือการคุกคามทางเพศบนรถไฟ ส่วนบางคดี เช่น คดีฆาตกรรม ที่ถูกนักเขียนเอามาเขียนเรื่องก็จะทำให้ผู้ที่ติดตามเรื่องนั้นเกิดความสนใจมากขึ้น บางทีขายได้หลายแผ่น หลายเล่ม มีคนสั่งซื้อกันมากมาย


การตัดสินของศาล 判決 การพิจารณาพิพากษาคดีความ การดำเนินคดีทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาจะดำเนินตามรัฐธรรมนูญของประเทศญี่ปุ่น การตัดสินคดีโดยการใช้กฎหมายเข้ามาพิจารณาข้อเท็จจริง

หนึ่งในการพิจารณาและพิพากษาคดีอาญาของศาลในประเทศญี่ปุ่นที่เรียกว่า 裁判員制度;
裁判員 Saiban-in หรือ พิพากษาแบบลูกขุนผสม โดยให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินคดีด้วย ประชาชนที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมพิพากษาในทีมลูกขุน จะถูกคัดเลือกมาจากหน่วยงานที่เรียกว่า หน่วยงานพิเศษหนึ่งในหน่วยงานพิเศษของกรมตำรวจ คล้ายๆ ตำรวจหน่วยพิเศษที่จะรู้ประวัติของทุกคนไม่ว่าคนๆ นั้นจะเป็นฝ่ายซ้าย เป็นคอมมิวนิสต์ หรือเป็นโอมชินริเกียวหรือเปล่า เค้ารู้หมด การคัดเลือกอาจจะเรียกว่าเป็นการคัดเลือกแบบสุ่ม ( random ) จากคนญี่ปุ่นที่มีคุณสมบัติทั่วไปในญี่ปุ่น พนักงานสืบสวนพิเศษ นี้หรือหน่วยงานพิเศษจะทำการค้นหาข้อมูลที่จำเป็นที่ต้องการจากชุดของข้อมูลที่มี และเป็นผู้สืบประวัติและคัดเลือกประชาชนตามคุณสมบัติที่เหมาะสมตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ เพื่อมาเป็นส่วนหนึ่งของคณะลูกขุน เพื่อร่วมพิจารณาว่าเห็นพ้องต้องกันในแนวทางไหน การคัดเลือกนี้ไม่ทราบก่อนว่าจะเป็นใคร จึงทำให้ได้ความคิดของคนธรรมดาที่สามารถที่จะเป็นหนึ่งในมติเพื่อที่เป็นเสียงเพื่อลงความเห็นว่าศาลสามารถพิจารณาออกมาได้แบบนี้แบบนั้นได้ไหม ควรจะประหารชีวิตหรือว่าอย่างไร ตามความเห็นที่มีการลงมติ เป็นการรับฟังความคิดเห็นของคนทั่วไปด้วย


ในศาล Saiban-in ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาศาลจะทำหน้าที่เป็นคนกลางเป็นประธาน เมื่อประธานศาลถามพยานว่าเป็นใคร อยู่ที่ไหน เกี่ยวข้องกับคดีในฐานะใด จากนั้นจะให้เป็นหน้าที่ของอัยการและทนายจำเลยในการซักถามพยานเพื่อค้นหาความจริง ส่วนประเภทคดีที่จะต้องดำเนินการโดยการพิจารณาของศาล Saiban-in คือ คดีความผิดร้ายแรง 2 ประเภททั่วไป คือ

●ประเภทที่หนึ่ง คือ ความผิดที่มีโทษถึงประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต

●ประเภทที่สอง คือ ความผิดประเภทที่ผู้เสียหายถึงแก่ความตายอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดโดยเจตนาของผู้ต้องหา เช่น การฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ทำร้ายร่างกาย หรือชิงทรัพย์ และข่มขืนจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตาย เช่น คดีไล่แทงคนบนรถไฟชินกันเซน ก็กำลังอยู่ระหว่างการพิพากษาแบบ Saiban-in อยู่ ณ ขณะนี้ครับ

รูปแบบการตัดสินตามองค์ของการพิจารณาพิพากษาเต็มองค์คณะของศาล Saiban-in จะประกอบด้วยผู้พิพากษา และลูกขุน คะแนนเสียงส่วนใหญ่จะต้องมีคะแนนเสียงของผู้พิพากษา 1 เสียงเป็นอย่างน้อยที่เห็นชอบด้วยกับคำวินิจฉัยดังกล่าว คำพิพากษาของศาล Saiban-in จึงจะมีผลตามกฎหมายได้ หากไม่มีคะแนนเสียงของผู้พิพากษา คำพิพากษานั้นก็ไม่ชอบตามกฏหมาย นั่นหมายถึง ผู้พิพากษายังคงมีความสำคัญและบทบาทเหนือกว่าคะแนนเสียงส่วนใหญ่ของลูกขุน แต่การสร้างระบบลูกขุนผสม Saiban-in ขึ้นมาเพราะเชื่อว่าจะช่วยก่อให้เกิดความโปร่งใส และการตรวจสอบในกระบวนการยุติธรรมได้ดียิ่งขึ้น แต่ว่าแม้จะมีระบบลูกขุนผสม Saiban-in ขึ้นมาถ่วงดุล แต่พนักงานอัยการญี่ปุ่นก็ยังคงมีบทบาทในการกำหนดทิศทางการใช้ศาล Saiban-in อยู่มาก


แต่คิดว่าคนทั่วไปที่ได้รับเลือกเข้าไปช่วยตัดสินหรือรับเลือกเข้าไปร่วมคณะลูกขุนนั้นจะต้องลำบากมากเหมือนกันครับ เพราะว่าต้องมีการอ่านเอกสารคดีทั้งหมดซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ปัจจุบันการตัดสินของศาล Saiban-in มีอยู่หลายคดีที่ถูกทางวิพากษ์วิจารณ์ทางโลกโซเชียล มีการพูดถึงกันมากมายว่า ถึงแม้ว่าจะมีการลงความเห็นโดยให้มติจากคณะลูกขุนจากคนที่เลือกเข้าไปช่วยอ่านและลงความเห็นด้วย แต่สุดท้ายแล้วผู้พิพากษาก็เป็นคนตัดสินคดีอยู่ดี และอุทธรณ์ต่อ ศาลที่สูงขึ้นตัดสินลบล้างคำตัดสินเดิม ซึ่งหลายๆ คดีตัดสินออกมาได้ไม่เป็นธรรมนักก็เลยเกิดอาการเซ็งและเบื่อกันตามๆ กัน

เช่นคดีที่เมือง Kumagaya เมื่อสักสี่ปีก่อนมีเหตุการณ์สะเทือนขวัญ เพราะมีผู้ร้ายชาวเปรูฆ่าคนญี่ปุ่นตาย 6 คนในนั้นรวมทั้งเด็กเล็กด้วย ซึ่งวันก่อนที่จะเกิดเหตุดังกล่าว มีผู้ชายชาวเปรูเข้าไปด้อมๆ มองๆ ในสวนในบริเวณบ้านคุณตาคนหนึ่ง แล้วพูดได้แค่เงินๆ ตำรวจๆ คือพูดภาษาญี่ปุ่นไม่ได้ และทำตัวน่าสงสัย ก็เลยถูกแจ้งความฐานบุกรุกบ้านคนอื่น เมื่อตำรวจจับไปสอบสวนที่ป้อมตำรวจ ผู้ร้ายใช้อุบายหลอกว่าเครียดมาก ขอเข้าห้องน้ำ ขอไปสูบบุหรี่ และหาจังหวะวิ่งหนีตำรวจออกไป แม้ทีมตำรวจจะช่วยกันระดมพลตามหาก็หาไม่เจอ จนมาเกิดคดีฆ่า 6 ศพ วันล่ะศพ สองศพ รวม 6 ศพโดยผู้ชายชาวเปรูคนนี้นี่เอง ถ้ายังตามจับไม่ได้คงมีเรื่องเกิดขึ้นอีกแน่ หนึ่งในผู้เสียชีวิตมีเด็กน้อยด้วยสองคน เป็นข่าวที่ทำให้คนญี่ปุ่นรู้สึกเศร้าใจมาก บางคนวิจารณ์ว่าตำรวจไม่น่าปล่อยให้วิ่งหนีออกมาได้ตั้งแต่วันที่จับไว้ในป้อมตำรวจแล้ว ต่างๆ นานา


ซึ่งคดีนี้มีการขึ้นศาลที่จังหวัดไซตามะไปหลายครั้ง ใช้เวลารวมหลายปี ซึ่งเป็นคดีที่ยาวนานมาก พนักงานสืบสวนพิเศษและประชาชนทั่วไปหลายฝ่ายก็ต้องการให้ประหารชีวิตไปเลย ศาลชั้นแรกตัดสินให้ประหารชีวิต ซึ่งตอนนั้นมีการใช้ระบบ Saiban-in ด้วยความเห็นจากประชาชนในคณะลูกขุน แต่ว่าทางทนายความของผู้ร้ายขออุทธรณ์จึงทำให้ต้องขึ้นศาลอีกครั้งที่สูงขึ้นจากศาลชั้นต้นที่ไซตามะ จึงเปลี่ยนมาขึ้นศาลที่โตเกียว และล่าสุดศาลอุทธรณ์กลับตัดสินว่า ณ เวลานั้น บุคคลผู้นี้เป็นผู้ที่มีความผิดปกติทางจิตใจ เห็นตามคำแก้ต่างของทนายฝ่ายจำเลย จึงตัดสินให้มีการจำคุกตลอดชีวิตแทนการประหารชีวิต!!?

ที่จริงแล้วคดีนี้ควรจะตัดสินประหารชีวิตไปตั้งแต่ต้นซึ่งความเห็นของประชาชนที่เข้าไปร่วมตัดสินมีมติเป็นเอกฉันท์ถึงหกคนว่าอยากให้ประหารชีวิตแต่ก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย เพราะมีเหตุการณ์อย่างนี้ก็ทำให้คนที่รอฟังคดีเกิดความรู้สึกว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้ไปได้ไม่เข้าใจ!!


『裁判長!ここは懲役4年でどうすか』(Saiban- chou! kokowa choueki 4nen de dousuka จะเอายังไงครับ ตัดสินให้เข้าคุกไป 4 ปี ) 北尾トロ Kitao Toro ก็อีกหนึ่งในนักเขียนอิสระของประเทศญี่ปุ่น เขามีความชอบและงานอดิเรกไปคอยนั่งฟังคดีในศาลและนำมาเขียนหนังสือหลายเล่ม จนถูกสร้างเป็นเป็นมังงะ ละคร และภาพยนตร์

บางคนอาจจะมองว่าไม่ใช่เรื่องที่น่าสนใจหรือน่าติดตาม แต่ความจริงเรื่องราวเหล่านี้น่าสนใจมากเลยทีเดียวครับ และแทรกเรื่องกฎหมายที่สามารถจะอ่านด้วยแอพพลิเคชั่นมังงะที่น่าสนใจ วันนี้อาจจะไม่ได้พูดถึงรายละเอียดของมังงะเหล่านั้นนัก ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องราวของระบบการตัดสินคดีความ แบบก่อนและหลังที่ได้รับการวินิจฉัยพิพากษา ไม่ว่าใครจะพูดอะไร หักล้างกันอย่างไร ทั้งทนายความ อัยการ จำเลยตัวจริง แต่เมื่อผู้พิพากษาพูดตัดสินออกมาก็จบ .. มันทำให้ผมรู้สึกหัวเราะเล็กน้อยไปด้วย

คนร้ายที่เข้าไปอยู่ในคุกญี่ปุ่นก็สบาย แต่คนที่สูญเสียจากการกระทำจากคนพวกนั้นก็ไม่ได้รับการเยียวยาอะไร และอีกหลายๆ คดีที่คนทางโซเซี่ยลวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างร้อนแรง วันนี้ไม่เบาสมองนัก แต่ไม่เครียดนะครับ สวัสดีครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น