xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนรอย “แอมเนสตี้” เคลื่อนไหว “ยุติโทษประหารชีวิต” ก่อนคดี “สมคิด” ฆ่าศพที่ 6 ไม่กี่เดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ย้อนรอยความเคลื่อนไหว “แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย” ยกเลิกโทษประหารชีวิต นับตั้งแต่ประหารนักโทษคดีฆ่าชิงทรัพย์ปี 61 ล่าสุดไม่กี่เดือนก่อน ร่วมมือตั้งเครือข่าย “เครือข่ายยุติโทษประหารชีวิต” เสนอเหลือแค่สูงสุดจำคุกตลอดชีวิต แล้วเยียวยาผู้เสียหายแทน

จากกรณีที่นายนายสมคิด พุ่มพวง อายุ 55 ปี ก่อเหตุฆ่าสาวใหญ่วัย 51 ปี ที่ ต.หนองโก อ.กระนวน จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2562 เป็นศพที่ 6 หลังพ้นโทษจำคุกคดีฆ่าสาว 5 ศพ เมื่อปี 2548 กระทั่งมีพลเมืองดีแจ้งเบาะแสว่าพบชายที่มีรูปพรรณสัณฐานคล้ายนายสมคิดอยู่ในตู้โดยสารรถไฟขบวนที่ 234 สุรินทร์-กรุงเทพ ก่อนตำรวจเข้าจับกุมได้ที่สถานีรถไฟปากช่อง เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2562 ที่ผ่านมา ทำให้สังคมตั้งคำถามถึงกระบวนการลดโทษฆาตกรรายนี้ หลังศาลตัดสินจำคุกตลอดชีวิต ซึ่งพบว่าพ้นโทษออกมาเมื่อ 27 พ.ค. 2562 หลังได้รับการลดโทษมาแล้ว 4 ครั้ง ถูกจำคุกจริงรวมประมาณ 14 ปี ก่อนได้รับการปล่อยตัว ซึ่งกรมราชทัณฑ์ยอมรับว่ากรณีลดโทษนายสมคิดนั้นมีปัญหา ขณะที่สังคมเรียกร้องให้ใช้โทษประหารชีวิตแก่นายสมคิด เนื่องจากไม่มีความสำนึกในการกระทำ ยังกลับมาก่อเหตุซ้ำ

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 10 ต.ค. ที่ผ่านมา เว็บไซต์แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยแพร่ความเคลื่อนไหวเครือข่ายยุติโทษประหารชีวิต ซึ่งแอมเนสตี้ฯ เป็นภาคีเครือข่าย จัดงานเสวนาเพื่อยุติโทษประหารชีวิตในประเทศไทย ในโอกาสวันยุติโทษประหารชีวิตในประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนจากสถานทูตฝรั่งเศส เนื่องในวันต่อต้านโทษประหารชีวิตแห่งโลก โดยมีการเสวนาเรื่อง “ยุติโทษประหารชีวิตในมุมมองสากล” และ “ความจำเป็นและอุปสรรคในการยุติโทษประหารชีวิตในประเทศไทย”ดำเนินรายการโดย น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา หรือโบว์

ภาพ : แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

ภาพ : แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย
จากนั้น นายโคทม อารียา แกนนำเครือข่ายยุติโทษประหารชีวิต ออกแถลงการณ์มีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1. ขอให้มีการศึกษาเรื่องบทลงโทษทางอาญา (โดยเฉพาะโทษจำคุกตลอดชีวิตและโทษประหารชีวิต) วิธีการป้องกันอาชญากรรม และการเยียวยาผู้เสียหายจากอาชญากรรมร้ายแรง 2. ขอให้พิจารณายุติโทษประหารชีวิตซึ่งจะแทนที่ด้วยโทษจำคุกตลอดชีวิต โดยแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาหมวดโทษ มาตรา 18 เป็น “โทษสำหรับลงแก่ผู้กระทำความผิดมีดังนี้ 1. จำคุก 2. กักขัง 3. ปรับ 4. ริบทรัพย์สิน” และขอให้ยกเลิกข้อความในมาตรา19 “ผู้ใดต้องโทษประหารชีวิต ให้ดำเนินการด้วยวิธีฉีดยาหรือสารพิษให้ตาย” และ 3. ในระหว่างที่ยังไม่มีการแก้ไขกฎหมายในเรื่องนี้ ขอให้พักการบังคับโทษประหารชีวิต

“โทษสูงสุดและเด็ดขาดทางอาญาคือโทษประหารชีวิต แต่มีข้อศึกษาทางอาชญาวิทยาว่า โทษประหารชีวิตไม่ใช่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการป้องกันอาชญากรรมและป้องปรามผู้ที่จะกระทำความผิดให้ยับยั้งชั่งใจก่อนลงมือกระทำการ ประเทศส่วนใหญ่ (ประมาณ 106 ประเทศ) ได้ยุติโทษประหารชีวิต อีกหลายประเทศ (ประมาณ 28 ประเทศ) มีการตัดสินลงโทษแต่ไม่มีการบังคับโทษประหารชีวิต (moratorium) โดยที่สถิติอาชญากรรมร้ายแรงในประเทศเหล่านี้ไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ประเทศที่เหลือ (ประมาณ 56 ประเทศ) มีการตัดสินและการบังคับโทษประหารชีวิต

“การลงโทษประหารชีวิตไม่เปิดโอกาสการกลับตัวกลับใจของผู้ถูกลงโทษ อีกทั้งกรณีการตัดสินคดีที่มีข้อผิดพลาดด้านพยานหลักฐานก็ไม่สามารถคืนความยุติธรรมได้ ในประการสำคัญการประหารชีวิตเป็นการลิดรอนสิทธิในชีวิตซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ และการปลิดปลงชีวิตน่าจะขัดกับหลักคำสอนของหลายศาสนา” นายโคทมกล่าว

ภาพ : แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2561 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ชุมนุมไว้อาลัยแด่การตัดสินโทษประหารชีวิต ที่หน้าเรือนจำบางขวาง จ.นนทบุรี หลังกรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินการบังคับโทษตามคำพิพากษาของศาลด้วยการประหารชีวิตนักโทษเด็ดขาดชายธีรศักดิ์ (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 26 ปี ผู้ต้องขังในคดีฆ่าผู้อื่นอย่างทารุณโหดร้ายเพื่อชิงทรัพย์ โดยคัดค้านโทษประหารชีวิตทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นความผิดทางอาญาประเภทใด ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะมีบุคลิกลักษณะใด หรือไม่ว่าทางการจะใช้วิธีประหารชีวิตแบบใด รวมทั้งงานวิจัยมากมายจากนานาประเทศได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโทษประหารชีวิตไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ กับการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของอาชญากรรม



อนึ่ง ข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์ระบุว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2478 ถึงปัจจุบันมีการบังคับโทษประหารชีวิตมาแล้ว จำนวน 325 ราย โดยแยกเป็นการใช้อาวุธปืนยิง 319 ราย ยิงรายสุดท้ายเมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2546, การฉีดยาสารพิษ 6 ราย ฉีดสารพิษครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2546 และครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2552 กระทั่งรายล่าสุดในรอบ 9 ปี เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2561 ซึ่งการประหารชีวิต ถือเป็นบทลงโทษทางอาญาที่หนักที่สุดตามกฎหมายไทย ซึ่งมีโทษ 5 อย่าง คือ ปรับ ริบทรัพย์สิน กักขัง จำคุก และประหารชีวิต แม้หลายประเทศได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตไปแล้วก็ตาม แต่ก็มีอีหลายประเทศที่ยังคงมีโทษประหารชีวิตอยู่เช่นเดียวกับประเทศไทย อาทิ สหรัฐอเมริกา และจีน ซึ่งเน้นการปกป้องสังคมและพลเมืองส่วนใหญ่ให้พ้นจากการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม มากกว่าเน้นสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคลที่กระทำผิดกฎหมาย

อ่านประกอบ : “แอมเนสตี้” ค้านประหารชีวิต อ้างละเมิดสิทธิมนุษยชน นัดพบหน้าเรือนจำบางขวาง
กำลังโหลดความคิดเห็น