คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"
อย่างที่ทราบว่าสัปดาห์หน้าก็จะเป็นตอนอวสานของละครมาแรงแซงยุคอย่าง “บุพเพสันนิวาส” แล้วหนาออเจ้า...ขอแอบทันกระแสกับเขาบ้างสักนิดนะคะ สัปดาห์นี้เรามาคุยเรื่องเบา ๆ กันอย่างละครไทยกับเทรนด์ละครและภาพยนตร์รักโรแมนติกของญี่ปุ่นกันดีกว่า
ไม่นึกเลยว่าฉันจะเป็นอีกคนที่ติดละครบุพเพสันนิวาสกับเขาด้วย ทั้งที่อยู่ห่างไกลกระแสข้ามน้ำข้ามทะเลไปหลายพันกิโลเมตร ปกติฉันไม่ชอบดูโทรทัศน์เอาเสียเลย แถมยังได้ยินเสมอว่าละครไทยมักมีฉากตบกันอยู่เรื่อยเลยพานยิ่งไม่ดูละครเข้าไปใหญ่ พอดีว่าเพื่อนฉันที่เมืองไทยซึ่งปกติก็ไม่ใช่คนติดละครแนะให้ฉันไปดูละครบุพเพสันนิวาส ทีแรกฉันก็ไม่ได้สนใจ แต่พอลองสืบค้นชื่อละครนี้ดูก็เห็นว่าเป็นละครย้อนยุค ฉันซึ่งชอบประวัติศาสตร์และเรื่องเล่าสมัยเก่าอยู่แล้วก็เลยลองไปหามาดู ปรากฏว่าคราวนี้ละติดงอมแงมถอนตัวไม่ขึ้นเลยค่ะ แล้วก็อดไม่ได้ที่จะรู้สึกชื่นชมทีมงานนับตั้งแต่ผู้เขียนนิยาย ผู้เขียนบทละคร ผู้กำกับ นักแสดง ดนตรีและเพลงประกอบที่ทำได้ดีมาก ๆ จนเรื่องนี้ลงตัวไปเสียแทบทุกอย่าง
ฉันแอบคิดเล่น ๆ ว่าถ้าญี่ปุ่นขอลิขสิทธิ์ไปออกอากาศบ้างจะเป็นอย่างไรนะ เพราะเห็นรายการโทรทัศน์ของญี่ปุ่นก็มักทำรายการเกี่ยวกับประเทศไทยให้เห็นบ่อย ๆ เช่น เทศกาลท้องถิ่น อาหารการกิน หรืออะไรต่าง ๆ ที่ไม่เป็นที่รู้จักในบ้านเขา เวลามีงานเทศกาลไทยในสวนสาธารณะโยโยงิที่กรุงโตเกียวก็มักมีผู้มาร่วมงานกันอย่างล้นหลามกว่าแสนคนใน 2-3 วัน ตอนแรกนึกว่าคนญี่ปุ่นคงมาเพราะจะได้รับประทานอาหารไทยจากหลายร้านในบรรยากาศสบาย ๆ พลางดื่มเหล้าเบียร์กับเพื่อนฝูง หรือไม่ก็จับจ่ายซื้อข้าวของไทยที่มีหลากหลายทั้งผักผลไม้ไปจนถึงเสื้อผ้า เครื่องประดับ และของใช้จุกจิกเท่านั้น แต่กระทั่งการแสดงบนเวทีก็ได้รับความนิยมอย่างมากเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นศิลปินสมัยใหม่ของไทยที่มาร้องเพลง หรือการแสดงทางวัฒนธรรมอย่างการรำประเภทต่าง ๆ เป็นต้น เพื่อนชาวญี่ปุ่นฉันก็มีหลายคนที่ชอบชุดไทยเอามาก ๆ เหมือนกัน
สิ่งเหล่านี้ทำให้ฉันคิดว่าความเป็นไทยก็ได้รับความนิยมหรือความสนใจจากคนญี่ปุ่นอยู่พอสมควร ถ้าได้มาเห็นวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยโบราณ ทั้งการแต่งกาย บ้านเรือน อาหารการกิน (ยกเว้นหมูกระทะ มะม่วงน้ำปลาหวาน และน้ำจิ้มซีฟู้ดที่มีในท้องเรื่อง ซึ่งไม่ใช่ของในยุคนั้น) ก็อาจจะเห็นได้ว่ามีเสน่ห์และเอกลักษณ์ก็ได้ แต่ฉันก็ไม่รู้ว่ากลุ่มคนที่ชื่นชอบเมืองไทยเขาจะชอบดูละครไทยด้วยหรือเปล่าโดยเฉพาะละครย้อนยุคอิงประวัติศาสตร์ เพราะอาจจะไม่ได้ถูกกับรสนิยมของเขา เท่าที่เห็นเขาฮิตกันก็เป็นละครเกาหลีเสียมาก
ฉันพอรู้แต่ว่าความ “มุ-เหนะ-คยุน” (胸キュン)ของละครบุพเพสันนิวาสอาจจะเป็นจุดขายที่ดีจุดหนึ่งได้ คำนี้หมายถึง การที่ใจเต้นตึกตัก ใจระทวย ทำนองเดียวกับที่แม่หญิงการะเกดเธอพูดกับตัวเองหลังคุณพี่เดินคล้อยหลังไปว่า “รู้ไหมว่าใจมันสั่นนะ” แบบนั้นแหละค่ะ เวลาที่ญี่ปุ่นเขาจะโปรโมทภาพยนตร์รักโรแมนติกของญี่ปุ่นสักเรื่องเขาจะบอกว่าเรื่องนี้มัน “มุ-เหนะ-คยุน” นะ บางทีก็ให้พระเอกนางเอกมาพูดพร้อมกันว่า “คยุน-คยุน” (キュンキュン) พร้อมทำท่าทางกุ๊กกิ๊กทิ้งท้ายหลังให้สัมภาษณ์เป็นต้น
บางทีรายการโทรทัศน์ญี่ปุ่นก็ไปสัมภาษณ์สาว ๆ ที่ไปดูภาพยนตร์มาว่าเป็นอย่างไรบ้าง ได้รับคำตอบว่าชอบเพราะมัน “มุ-เหนะ-คยุน” นี่แหละ ถ้าภาพยนตร์เรื่องไหนเป็นที่กล่าวขานกันถึงความ “มุ-เหนะ-คยุน” แบบนี้ก็ค่อนข้างรับรองได้ว่าเรตติ้งใช้ได้ ฉันว่าละครบุพเพสันนิวาสมีความ “มุ-เหนะ-คยุน” ในแบบที่เรียบร้อยด้วยท่าทีแสดงออกที่ไม่เกินเลยระหว่างหญิงชาย น้อยถ้อยคำแต่ความหมายลึกซึ้ง ทำนองว่าพูดน้อยต่อยหนักในความหมายดีอย่างไรอย่างนั้น เพื่อนผู้อ่านที่เป็นแฟนละครเรื่องนี้คงทราบดีอยู่แล้ว
อีกอย่างที่คนญี่ปุ่นสมัยนี้ชอบกันคือการมีพระเอกหรือนางเอกที่ “ซึน-เดะ-เหระ” (ツンデレ)คำนี้อาจจะมีบางคนคุ้นหูอยู่บ้าง หมายถึงการที่ตอนแรกตัวละครฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแสดงท่าทีเย็นชาหรือชิงชังอีกฝ่าย แต่ตอนหลังก็เปลี่ยนทีท่ามาเป็นรู้สึกดีเกินบรรยาย หรือพูดอีกอย่างคือตกหลุมรักอีกฝ่ายเข้าเต็ม ๆ นั่นเอง คำนี้คาดว่ามีจุดเริ่มมาจากหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นก่อน ทีแรกนึกว่าเพิ่งมีมาในช่วงสิบปีนี้ แต่จริง ๆ แล้วดูเหมือนจะมีมาราวสี่สิบปีแล้ว เพียงแต่มาเป็นคำที่นิยมใช้กันในภายหลัง เมื่อก่อนคำว่า “ซึน-เดะ-เหระ” จะใช้อธิบายถึงตัวละครผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ซึ่งที่จริงแล้วมีใจให้ฝ่ายชายแต่ทำเป็นไม่ชอบ พอหลัง ๆ ก็ชักเปลี่ยนท่าทีมาทำตัวหวาน ๆ กับเขาเป็น
เดี๋ยวนี้คำว่า “ซึน-เดะ-เหระ” มักเอามาใช้กับตัวละครชายด้วย ความนิยมคาแรคเตอร์แบบ “ซึน-เดะ-เหระ” นี้เองจึงทำให้การ์ตูนผู้หญิงบางเรื่องขายดีเป็นเทน้ำเทท่าโดยเฉพาะถ้าพระเอกเป็นฝ่าย “ซึน-เด-เหระ” ทั้ง ๆ ที่บางทีไม่มีโครงเรื่องหรือมีเนื้อหาอะไรเลย แต่กระนั้นผู้อ่านก็มีหลายแนว สาวบางคนก็ไม่ได้ชอบพระเอกแบบนี้ บางคนก็ชอบแบบนี้จริงจัง ปกติฉันไม่ได้ชอบพระเอกซึนเดะเหระ แต่สำหรับละครบุพเพสันนิวาสแล้ว ฉันขอยอมแพ้หมดใจ
อยู่ช่วงหนึ่งที่ญี่ปุ่นนิยม “คะ-เบะ-ดง” (壁ドン)กันด้วยนะคะ ถ้าเดาไม่ผิดฉันว่ามันเกิดจากฉากในการ์ตูนผู้หญิงเรื่องหนึ่งที่นางเอกกำลังจะหลบหน้าพระเอกแล้วพระเอกไม่ให้ไป จึงเอามือสองข้างยันกำแพงไว้โดยกั้นนางเอกไว้อยู่ตรงกลาง นับเป็นฉากสุดฮ็อตของเรื่อง เมื่อมีการสร้างภาพยนตร์จากการ์ตูนเรื่องนี้ ฉากนี้จึงเป็นฉากโปรโมทเด็ด และรายการต่าง ๆ ทางโทรทัศน์ก็มีการพูดถึงโดยเรียกมันว่า “คะ-เบะ-ดง” (“คะเบะ” แปลว่ากำแพง ส่วน “ดง” เข้าใจว่าหมายถึงเสียงตอนเอามือยันกำแพงไว้) ว่าเป็นอะไรที่ “มุ-เหนะ-คยุน” ที่สุด จนถึงขนาดว่ามีร้านเสื้อผ้านำไอเดียนี้มาใช้ โดยให้นายแบบหล่อ ๆ มาเล่นฉากนี้กับลูกค้าผู้หญิงที่มาซื้อเสื้อในร้าน มีสาว ๆ มารอเข้าแถวกันมากมาย บางคนพอโดน “คะ-เบะ-ดง” เข้าถึงกับทรุดลงไปนั่งกองอยู่กับพื้น แสดงว่ามันต้อง “มุ-เหนะ-คยุน” ได้ใจจริง ๆ ฉันเดาว่าถ้าโดนแบบนี้กับดาราโปรดเข้าให้ล่ะก็คงกลับบ้านไม่ถูกเลยทีเดียว แถมยังคงมึนต่อไปอีกหลายวัน
ว่าแต่ถ้าสาว ๆ ท่านไหนโดน “คะ-เบะ-ดง” ในเชิงที่ถูกข่มขู่คุกคามแบบอันตรายเต็ม ๆ แล้วล่ะก็ฉันขอแนะนำให้เอาตัวรอดด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น เตะจุดยุทธศาสตร์ของอีกฝ่าย หรือกางกรงเล็บทั้งสองข้างพุ่งใส่ตาเขาเสียเลย แล้วโกยแน่บให้เร็วที่สุด หากเป็นไปได้ให้ไปในที่ที่มีคนพลุกพล่านเช่นตามร้านค้า พร้อมร้องขอความช่วยเหลือ แต่ถ้าไม่ได้เป็นเรื่องอันตรายแล้วก็อย่าทำแบบนี้นะคะเพราะเกิดเขาตาบอดขึ้นมาจะยุ่ง
ตัวละครอีกแบบที่เป็นที่นิยมกันในวงการการ์ตูนผู้หญิงญี่ปุ่นคือผู้ชายแบบ “โดะ-S” คำว่า “โดะ” ในที่นี้หมายถึง “สุดๆ” ส่วน “S” นั้นแม้จะย่อมาจากคำว่า “Sadist” แต่ก็ไม่ได้มีความหมายในเชิงรุนแรงเสียทีเดียว แต่หมายถึงพวกที่ชอบแสดงอำนาจเหนือกว่าเพศตรงข้าม (หรือเพศเดียวกันก็ได้ถ้าเป็นความสัมพันธ์เชิงชู้สาว) รุกรานอีกฝ่าย หรือชอบแกล้งให้เจ็บใจเล่น
เหตุที่ฉันพูดเรื่องละครหรือภาพยนตร์อยู่แต่โยงไปถึงการ์ตูนด้วยก็เป็นเพราะละครหรือภาพยนตร์ญี่ปุ่นหลายต่อหลายเรื่องในปัจจุบันสร้างมาจากการ์ตูน และดูท่าจะยังเป็นกระแสที่นิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย พอมีตัวละครแบบ “โดะ-S” ขึ้นมาในการ์ตูน ก็เลยมีสิทธิ์ที่จะได้มาเห็นในละครหรือภาพยนตร์ตามไปด้วย
ทีนี้ในเมื่อมีคำว่า “โดะ-S” ได้มันก็ต้องมีคำตรงกันข้ามอย่าง “โดะ-M” ขึ้นมาด้วย “M” ย่อมาจาก “Masochist” นั่นเอง ในทีนี้ “โดะ-M” หมายถึงพวกชอบถูกอีกฝ่ายแกล้ง หรือไม่ก็ถูกแกล้งแล้วก็ยังยินดี ยังชอบอีกฝ่ายอยู่นั่นเอง บางทีคำว่า “S” และ “M” นี้ก็เอามาใช้แซวกันในชีวิตประจำวันได้เหมือนกัน อย่างเช่น คู่นี้คนหนึ่งออกแนว “S” อีกคนออกแนว “M” เป็นต้น
สำหรับละครบุพเพสันนิวาสแล้ว “คุณพี่” แม้จะแอบ “ซึน-เดะ-เหระ” อยู่บ้างแต่ก็ไม่จัดอยู่ในข่าย “โดะ-S” เผลอ ๆ อาจจะเป็นฝ่าย “M” เสียมากกว่า เพราะดูไปดูมา “แม่หญิงการะเกด” นั้นเป็นตัวของตัวเองเต็มที่แบบไม่ง้อพระเอก คนที่ต้องตามจึงกลายเป็น “คุณพี่” ไปแทน แต่ก็ถือเป็นคู่ที่ “S” และ “M” แบบเบา ๆ น่ารักน่าเอ็นดูดีค่ะ
ขอให้เพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่านมีความสุขไปกับการรับชมละครเรื่องนี้ แล้วพบกันใหม่สัปดาห์นะคะ.
"ซาระซัง" สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.