xs
xsm
sm
md
lg

ไป "ฮะนะมิ" กันเถอะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"

ฤดูใบไม้ผลิมาเยือนแล้ว…ฉันมักรู้สึกอย่างนี้จริง ๆ ก็เวลาที่เห็นดอกซากุระบานพร้อมกับอากาศที่อุ่นขึ้น คนญี่ปุ่นจะชอบช่วงเวลาแบบนี้และพร้อมใจกันมาร่วม “ฮะนะมิ” หรือชมดอกซากุระบานสะพรั่งไปพลางรับประทานข้าวกล่องและเครื่องดื่มกันอย่างรื่นเริงทุกปี ฉันเองก็เคยไปร่วมวงฮะนะมิกับเพื่อน ๆ เหมือนกัน สนุกดีค่ะ

ดูเหมือนว่าปีนี้ซากุระจะเริ่มบานแล้วที่กรุงโตเกียว เวลาเห็นต้นซากุระที่มีดอกสีชมพูอ่อนบานเต็มต้นเรียงรายกันเต็มข้างทางแล้วรู้สึกมีความสุขอย่างบอกไม่ถูกเลยทีเดียว

ช่วงที่ซากุระเริ่มผลิบานจนถึงช่วงร่วงโรยจะเป็นช่วงที่คนมักรู้สึกถึงความเปลี่ยนผ่านจากสิ่งหนึ่งไปสู่สิ่งหนึ่ง ทั้งพิธีจบการศึกษา การเข้าสถานศึกษาแห่งใหม่ หรือการเริ่มเข้าทำงานหลังจบการศึกษาใหม่ ๆ เป็นต้น

สมัยเรียนมัธยมปลาย(ในไทย) ที่โรงเรียนฉันก็มีต้นชมพูพันธุ์ทิพย์หลายต้นปลูกอยู่รอบสระบัวซึ่งมักจะออกดอกราว ๆ ต้นปีและมีดอกร่วงหล่นตามพื้นในช่วงเวลาสอบไล่เสร็จตอนต้นเดือนมีนาคม ดูสวยมาก ๆ ตอนนั้นฉันยังไม่เคยเห็นดอกซากุระก็เลยอนุมานเอาว่าซากุระคงสวยอย่างนี้ แต่เอาเข้าจริงมันก็เป็นบรรยากาศอีกแบบ
ชมพูพันธุ์ทิพย์สวย ๆ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน
คงเพราะซากุระดอกเล็ก และพอถึงเวลาที่ดอกใกล้จะร่วงแล้วกลีบก็จะหลุดออกจากดอก เมื่อลมพัดมาก็จะหอบเอากลีบซากุระให้โปรยปรายอยู่ในสายลม ก่อนจะพร่างพรมลงบนพื้นราวกับเป็นพรมสีชมพูอ่อนก็ไม่ปาน ยิ่งเวลากลีบดอกซากุระร่วงโปรยลงบนสระน้ำแล้วยิ่งสวยมาก กลีบดอกจะไปเรียงตัวกันคล้าย ๆ กับแหนในสระหรือคลองบ้านเราที่เรียงกันเป็นระเบียบเหมือนสนามหญ้า (สมัยนี้คงหายากเต็มที) แต่นี่เป็นเหมือนทุ่งดอกไม้สีชมพูลอยเป็นแพอยู่บนผิวน้ำ ในช่วงเวลาแบบนี้สวนสาธารณะที่มีเรือพายจะได้รับความนิยมมาก ฉันเองยังคิดอยากไปลองพายเรือเล่นท่ามกลางดอกซากุระที่โปรยปรายลงมากับเขาบ้าง แต่ก็ยังไม่เคยมีโอกาสเสียที
ภาพจาก http://www.haruhino.com
เนื่องจากว่าใคร ๆ ต่างก็อยากไปนั่งใต้ต้นซากุระชมบรรยากาศและนั่งเฮฮากัน จึงต้องมีการจองที่ล่วงหน้าด้วยการเอาผืนพลาสติกไปวางไว้แล้วหาก้อนหินหรืออะไรทับไว้ ที่ว่าจองล่วงหน้าไม่ได้แปลว่าจองกันในวันนั้นเท่านั้น แต่อาจจองกันก่อนแต่เช้ามืดหรือกระทั่งวันก่อน ๆ เลยทีเดียว

นานมาแล้วเคยมีคนเล่าให้ฟังว่าเวลาบริษัทญี่ปุ่นเขาจะไปฮะนะมิกันทีนี่จะให้พนักงานบริษัทที่เด็กที่สุดไปจองกันล่วงหน้าสองสามวัน โดยต้องไปปักหลักกันอยู่อย่างนั้นจนกว่าจะถึงวันที่บริษัทนัดมาชมซากุระกัน ไม่แน่ใจว่าเดี๋ยวนี้ยังเป็นแบบนั้นอยู่หรือเปล่านะคะ

อาจจะเพราะฉันไม่ได้ซีเรียสกับการต้องได้นั่งใต้ต้นซากุระที่สวยที่สุด เมื่อฉันและเพื่อนนึกอยากไปชมซากุระก็แค่หอบผ้าปูหรือแผ่นพลาสติกไปด้วย แล้วพอเจอที่เหมาะ ๆ ก็ปูที่นั่งก่อนจะหยิบอาหารและเครื่องดื่มที่เตรียมออกมารับประทาน ฉันมักเห็นที่ ๆ มีคนปูผ้ากันไว้เยอะแยะโดยไม่มีคนนั่งจอง แต่ก็ไม่เคยเห็นใครไปไล่ ขโมย หรือแย่งที่กันเสียที

วันหนึ่งเพื่อนร่วมงานที่สนิท ๆ กันก็ชวนกันไปฮะนะมิในย่านที่เป็นจุดชมซากุระมีชื่อแห่งหนึ่งในกรุงโตเกียว วันนั้นเป็นวันเสาร์หรืออาทิตย์นี่แหละค่ะ เราต่างก็เอาอาหารที่ทำเองหรือซื้อมา ขนม และเครื่องดื่มมากันอย่างครึกครื้น จำได้ว่าเพื่อนคนหนึ่งเอากุ้งหวานมาพร้อมทำน้ำจิ้มทะเลรสเด็ดมาด้วย เป็นอาหารชนิดเดียวที่ฉันจำได้ดีสำหรับวันนั้นเพราะมันอร่อยมาก

ระหว่างที่เรากำลังเริ่มดื่มกินและคุยกันสนุกสนานอยู่นั่นเอง ใครคนหนึ่งก็เห็นนายของพวกเราพร้อมภรรยากำลังมุ่งตรงมาทางนี้ พวกเราจึงออกอาการ “วงแตก” กันอย่างโกลาหล อันที่จริงนายก็เป็นคนอารมณ์ดีและเป็นที่รักของลูกน้อง แต่ที่อยู่ดี ๆ เราทำอะไรไม่ถูกนั้นคงเป็นสัญชาตญาณของ “มนุษย์ลูกน้อง” ที่ว่าพอเจอนายแล้วต้องผวาก่อน คล้ายกับเวลาเราเห็นตำรวจแล้วรู้สึกกลัวว่าจะถูกจับทั้ง ๆ ที่เราก็ไม่ได้ทำอะไรผิด พอนึกได้ว่าพวกเราจะหลบกันไปทำไมและที่สำคัญไม่มีที่ให้หลบด้วย ก็เลยเตรียมพร้อมรับกันเต็มที่

พอนายเดินผ่านมาเห็นพวกเรา นายก็มีสีหน้าแปลกใจระคนดีใจ และหยุดคุยด้วยอย่างเป็นกันเองอยู่พักหนึ่งเหมือนผู้ใหญ่ใจดีคุยกับเด็ก ๆ ก่อนที่พวกเราจะชักภาพกันเป็นที่ระลึกไปตามประสา พอนายไปแล้วพวกเราก็หัวเราะคิกคักขำตัวเองกัน ฉันนึกถึงเรื่องวันนั้นไปเขียนไปยังรู้สึกขำอยู่เลย

ที่ทำงานฉันเคยจัดไปฮะนะมิอย่างค่อนข้างเป็นทางการด้วย คือใช้เวลาพักเที่ยงไปนั่งรับประทานข้าวพลางชมซากุระร่วมกับเจ้านายและเพื่อนร่วมงานกลุ่มใหญ่ มีการสั่งจองข้าวกล่องไว้ล่วงหน้า และสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของฤดูกาลอย่างหนึ่งที่รับประทานกันในวันนั้นคือ "ดังโงะ" (ขนมหวานทำจากข้าวเหนียว)สามสี ได้แก่ สีชมพู สีขาว และสีเขียว

เห็นสีแบบนี้ก็เห็นถึงภาพของฤดูใบไม้ผลิแบบญี่ปุ่นเลยใช่ไหมคะ เขาว่าสีชมพูก็คือซากุระหรือดอกท้อ สีขาวหมายถึงเหล้าขาวที่ใช้ในวันที่ 3 มีนาคมซึ่งเป็นวันเด็กผู้หญิง (แต่ไม่ใช่ให้เด็กดื่ม) สีขาวอาจหมายถึงท้องฟ้าอันอบอุ่น หรือไม่ก็หิมะที่ยังหลงเหลืออยู่บ้างในบางแห่ง ส่วนสีเขียวเข้าใจว่าน่าจะหมายถึงพวกพืชพันธุ์ที่แตกใบรับฤดูใบไม้ผลิอะไรทำนองนี้ แม้ดังโงะสามสีนี้จะไม่ได้อร่อยอะไร แต่ด้วยความที่สีมันหวาน ๆ น่ารักก็ทำให้ดูน่ารับประทานไปเอง
ภาพจาก http://www.kasyuan.jp
เมื่อก่อนฉันเคยเข้าใจผิดว่า “ซากุระโมจิ” เป็นสัญลักษณ์และสิ่งที่ต้องรับประทานในการชมดอกซากุระเสียอีก คงเพราะด้วยชื่อขนมและหน้าตาของมันที่ชวนให้นึกถึงการชมซากุระ แต่จริง ๆ แล้วซากุระโมจิเป็นของที่รับประทานในวันเด็กผู้หญิง และใช้เป็นสัญลักษณ์ของฤดูใบไม้ผลิ

ทีแรกฉันนึกว่าซากุระโมจิมีแบบเดียว คือแบบที่เป็นข้าวเหนียวสีชมพูพันด้วยใบซากุระดอง ข้างในเป็นไส้ถั่วแดงหวานบด ฉันเคยสงสัยว่าทำไมบางทีเขาก็เรียกซากุระโมจิแบบนี้ว่า “โดเมียวจิ” เพิ่งทราบไม่นานนี้ว่าจริง ๆ แล้วซากุระโมจิมีทั้งแบบคันไซ (ญี่ปุ่นฝั่งตะวันตก) และคันโต (ญี่ปุ่นฝั่งตะวันออก) แบบที่เรียกว่า “โดเมียวจิ” เป็นของคันไซ ส่วนที่เป็นแป้งสีชมพูม้วนถั่วแดงพันด้วยใบซากุระเป็นของคันโต ปกติฉันไม่ชอบถั่วแดงหวานที่มักโปะอยู่บนขนมหรือไอศครีมชาเขียวเพราะทนความหวานจัดไม่ไหว แต่โดเมียวจิกลับเป็นขนมญี่ปุ่นอย่างหนึ่งที่ฉันชอบ ทั้งสัมผัสนุ่ม ๆ ของข้าวเหนียวและรสเค็มปะแล่มของใบซากุระดองที่เข้ากันทำให้ไม่รู้สึกเลี่ยนกับความหวานของถั่วแดงมากเกินไป
“โดเมียวจิ” ซากุระโมจิของแถบคันไซ ภาพจาก http://trend-blog-site.com/sakuramochi-doumyouzi
การชมดอกซากุระของญี่ปุ่นนั้นไม่ใช่เพียงแค่ไปเดินดูหรือนั่งตามสวนสาธารณะเท่านั้น ยังสามารถไปดูที่สวนซึ่งต้องเสียค่าธรรมเนียมเข้าชมด้วย จะมีดอกซากุระหลากชนิดให้ดู มีทั้งสีขาว สีชมพูเข้ม และลักษณะของดอกและก้านของต้นซากุระที่แตกต่างกันไปตามแต่ละชนิด และถ้าเป็นเวลากลางคืนก็จะมีจัด light-up คือฉายไฟให้เห็นดอกซากุระในยามค่ำคืนที่สวยไปอีกแบบ
ภาพจาก https://matome.naver.jp/odai/
นานมาแล้วครั้งหนึ่งฉันกับน้องเผอิญอยู่ในกรุงโตเกียวในช่วงที่ดอกซากุระใกล้บาน พอเพื่อนสนิทชาวญี่ปุ่นทราบว่าพวกฉันยังไม่เคยเห็นดอกซากุระ จึงอยากให้ได้เห็นความงามของซากุระทั้งกลางวันและกลางคืน ก็เลยพาไปดูตามจุดชมซากุระที่มีชื่อเสียง และถึงกับจองร้านอาหารญี่ปุ่นในโรงแรมเก่าแก่ที่สามารถชมซากุระยามค่ำคืนไว้ล่วงหน้า โชคดีมากว่าวันนั้นซากุระบานสะพรั่งสวยมาก ฉันยังจำความประทับใจในเวลานั้นได้ รวมทั้งความมีน้ำใจของเพื่อน ๆ ที่แม้จะยุ่งแต่ก็อุตส่าห์จัดเตรียมทุกอย่างให้ หาเวลามา และยังเลี้ยงข้าวอีก

จำได้ว่าเพื่อนรุ่นน้องผู้ชายคนไทยคนหนึ่งไม่เข้าใจว่าทำไมคนถึงได้ตื่นเต้นหนักหนากับการที่ซากุระบาน เพราะมันก็บานทุกปีตามช่วงของมัน เขาเปรยว่า “มันก็แค่ดอกไม้” แต่สำหรับคนญี่ปุ่นที่ใช้ชีวิตมากับความอุดมสมบูรณ์ของฤดูกาลที่เด่นชัด ซากุระที่บานแล้วร่วงโรยในฤดูใบไม้ผลิอันอบอุ่นเป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ ของคนไว้มากมาย ซากุระนั้นมีบทบาทอยู่ในวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่นนับตั้งแต่ครั้งอดีตมาแล้ว ดังจะเห็นได้ว่ามีการกล่าวถึงซากุระปรากฏอยู่ในบทเพลงหรืองานเขียนยุคโบราณของญี่ปุ่นหลายชิ้น และคาดว่าซากุระก็จะยังเป็นที่รักของคนญี่ปุ่นต่อไปอีกนานเท่านาน.



"ซาระซัง" สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น